วิจารณ์เรื่องสั้นแม่ฮ้างกล่อมลูก


แม่ฮ้างกล่อมลูก

      

        แม่ฮ้างกล่อมลูก โดย ธนณัฏฐ์ อารยสมโพธิ์ เรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดเรื่องสั้นส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เทิดพระเกียรติสมเด็ดพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามทฤษฎีของ ไอ.เอ.ริชาร์ด (I.A.Richard) สามารถวิจารณ์ตามองค์ประกอบดังต่อไปนี้   

       โครงเรื่องหลักเป็นเรื่องราวของ ไหมเด็กผู้หญิงที่ถูกแม่บังคับให้รำทั้งที่ตัวเองไม่ชอบเลย รำไปหวังแต่รางวัลไม่เคยรำด้วยใจตามที่แม่พร่ำบอกเสมอมา แต่เมื่อแม่ของไหมได้เสียชีวิตไป ทำให้ไหมได้เข้าใจแจ่มชัดอยู่เต็มหัวใจของตนเองว่าการรำด้วยใจนั้นมันเป็นอย่างไร

      จากเรื่องแม่ฮ้างกล่อมลูก ไหมเป็นเด็กที่พ่อแม่แยกทางกัน ไหมอาศัยอยู่กับแม่ ไหมโหยหาความรักที่ต้องการจากพ่อในวัยเด็กซึ่งมีแต่แม่ที่คอยดูแลไหมอยู่คนเดียวจึงทำให้แม่นั้นเข้มงวดกับไหมอย่างมาก แม่เป็นครูสอนนาฏศิลป์ บังคับให้ไหมรำตั้งแต่ยังเด็กซึ่งไหมไม่ชอบเลย เมื่อเริ่มโตขึ้นไหมเริ่มสนใจการรำมากขึ้นไปประกวดก็ได้รางวัลจนหวังแต่รางวัล มีการประกวดอีกครั้งหนึ่งที่ไหมหวังที่จะได้รับรางวัล แต่ไหมก็ทำไม่สำเร็จ ไหมจึงคิดโกรธทุกคน ที่มีส่วนทำให้ไหมไม่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ รวมทั้งแม่ที่ช่วยไหมเลือกเพลงและคิดท่าใหม่ในการรำ และในขณะที่ไหมโกรธแม่อยู่นั้นไม่คุยกับแม่เลยจนมันสายไปเสียแล้วแม่เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตไหมไม่ได้คุยกับแม่อีกเลย จนงานวันเผาศพแม่ไหมรำหน้าศพและรำเพลงที่แม่เลือกให้และท่าใหม่ที่ช่วยคิดกับแม่ขณะนั้นเองไหมก็ได้ตระหนักรู้และซาบซึ้งถึงศิลปะการรำที่รำออกมาจากใจโดยไม่หวังรางวัลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น เพียงเพราต้องการถ่ายทอดวัฒนธรรมการรำนี้ให้คงอยู่สืบไป

       จากเนื้อเรื่องและโครงเรื่องที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้แล้วจะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุการณ์ต่างๆ ตามโครงเรื่องที่ผู้แต่งได้เขียนไว้ให้มีความเป็นไปในลักษณะดังกล่าว

      การเปิดเรื่องเป็นการบรรยายฉากของเรื่อง ซึ่งพรรณนาให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน มีข้อความบรรยายว่า “หน้าหนาวปีนี้ ฤดูเก็บเกี่ยวผ่านไปแล้ว ต้นข้าวเหลือแต่ตอซัง พระอาทิตย์เพิ่งลอยสูงได้เพียงเส้นขอบฟ้า หมอกขาวยามเช้าโรยตัวละเลียดอยู่เหนือยอดต้นมันสำปะหลัง เสียงหมาเห่าฟังได้ยินมาจากไกล ๆ กลิ่นควันที่ชาวบ้านก่อไฟเพื่อหุงหาอาหารฟุ้งอยู่ในอากาศ กีบเท้าวัวควายนับสิบเดินเชื่องช้าผ่านหน้าบ้านไป” เมื่ออ่านแล้วทำให้ผู้อ่านอยากติดตามอ่านต่อไปว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เป็นการสร้างความน่านสนใจและดึงดูดให้ผู้อ่านอยากอ่านมากขึ้น

     การดำเนินเรื่อง มีการผูกปมของเรื่อง เป็นการสสร้างความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ของไหมที่มีปัญหาขัดแย้งกันจนต้องแยกทางกัน และตัวไหมเองกับแม่ที่มีปัญหาขัดแย้งกัน โดยปัญหาปมขัดแย้งกันระหว่างไหมกับแม่นั้น เป็นปัญหาที่ไหมไม่อยากรำแต่ด้วยความที่แม่ไหมเป็นครูสอนรำไหมจึงถูกแม่บังคับให้ไหมรำตั้งแต่เด็กโดยที่ไหมไม่เต็มใจเลย แม่สอนให้ไหมรำด้วยใจแต่ไหมไม่เคยเข้าใจเลยจึงคิดที่จะเลิกรำไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร ทำให้ไหมกับแม่มีปัญหาขัดแย้งกันตลอดเป็นการดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งการที่ผู้แต่งได้สร้างปมปัญหาความขัดแย้งขึ้นมานั้น ทำให้เรื่องมีความสมจริงและน่าสนใจมากขึ้น เพราะไหมเป็นเหมือนเด็กสมัยใหม่ที่ไม่ชอบวัฒนธรรมซึ่งเหมือนกับคนในปัจจุบันที่ได้หลงลืมวัฒนธรรมไปบ้าง ที่ถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำจึงไม่เต็มใจทำ และหาทางปฏิเสธจึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในที่สุด

     การปิดเรื่องและการคลายปมปัญหาของเรื่องเป็นการจบลงแบบโศกนาฏกรรมที่แม่ของไหมได้เสียชีวิต แต่สมความปรารถนาของผู้อ่านที่ไหมได้เข้าใจวัฒนธรรมการรำอยากที่แม่พร่ำสอนเสมอมาว่าให้ไหมรำด้วยใจไม่ต้องหวังรางวัลใดๆ ถึงแม้ว่าแม่ของไหมจะต้องเสียชีวิตไปแต่มันทำให้ไหมได้รู้และซาบซึ้งในศิลปะการรำของไทยและอยากที่จะสืบทอดศิลปะการรำของไทยให้มีอยู่สืบไป และทำให้ไหมได้รู้ถึงความรักและหวังดีของแม่ที่คอยบังคับให้ไหมรำ รำออกมาจากใจ และไหมก็ทำได้ ซึ่งเป็นความปรารถนาของแม่และผู้อ่านที่ติดตามมาตลอดทั้งเรื่อง

      การปิดเรื่องยังสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านโดยทิ้งท้ายข้อความไว้ว่า “เมื่อกาลเวลาเดินทางไปถึงฤดูฝนของปีหน้าต้นข้าวที่เหลือแต่ตอซังก็คงจะถูกไถกลบเป็นปุ๋ยให้เมล็ดข้าวรุ่นใหม่ได้งอกงาม เช่นเดียวกันกับเมล็ดพันธุ์วัฒนธรรมที่แม่ได้ปลูกไว้ในใจของไหม

อีกไม่นาน ก็คงเจริญงอกงามออกดอกออกผลให้ได้ชื่นใจ” จะเห็นว่าผู้แต่งได้มีกาเปรียบเทียบการเกิดการเจริญงอกงามของต้นข้าวกับวัฒนธรรม เมื่อมีการปลูกข้าวแน่นอนว่าเมื่อวานเมล็ดข้าวแล้วย่อมรอเวลาออกผลและเมื่อออกผลต้นข้าวจะเจริญงอกงามและให้เมล็ดพันธ์อีกครั้งเพื่อให้เกิดเป็นข้าวใหม่ๆต่อไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับวัฒนธรรม ถ้ามีคนปลูกฝังและถ่ายทอดไปยังรุ่นสู่รุ่น วัฒนธรรมก็ยังอยู่และเจริญงอกงามไปได้เรื่อยๆเช่นกัน

 

       กลวิธีในการดำเนินเรื่อง เรื่องสั้น เรื่องแม่ฮ้างกล่อมลูก โดยการเล่าเรื่องนั้นผู้แต่งเป็นผู้เล่าเอง ผู้แต่งได้เล่าถึงเหตุการณ์แบบสลับไปมา เพราะการเปิดเรื่องของผู้แต่งเป็นการเปิดเรื่องในเหตุการณ์ปัจจุบันและเล่าย้อนไปในอดีต และกลับมาที่เหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งการเล่าเรื่องแบบสลับไปมาทำให้เกิดความน่าสนใจ เพราะการเปิดเรื่องขึ้นมาเป็นเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบันและมีประโยคหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านอยากรู้เรื่องราวว่าเหตุการณ์อะไรทำไมถึงทำให้ไหมรู้สึกแบบนี้ คือข้อความ “ไหมไม่ได้อยากโกรธใคร แต่มันก็โกรธ โกรธแม่ โกรธพ่อ โกรธกรรมการโกรธคู่แข่ง โกรธสังคม โกรธตัวเอง โกรธทุกอย่าง” ทำให้ผู้อ่านสงสัยและอยากรู้ว่าไหมเจอเหตุการณ์อะไรทำไมถึงโกรธทุกอย่างแบบนี้ และผู้เขียนค่อยคลายปมสงสัยนี้ทีละน้อยโดยการเล่าเรื่องย้อนกลับไปในอดีตถึงสาเหตุที่ทำให้ไหมโกรธทุกๆคน และคลายปมสงสัยให้ผู้อ่านได้ทราบในที่สุด

       ตัวละครในเรื่องสั้น แม่ฮ้างกล่อมลูก มีทั้งตัวละครหลักและตัวละครรอง ตัวละครหลักของเรื่อง มีไหมและแม่ของไหม ส่วนตัวละครรองคือพ่อของไหม

       ไหมเป็นตัวละครหลักเป็นลูกคนเดียวที่พ่อแม่แยกทางกัน ไหมอาศัยอยู่กับแม่ เป็นตัวละครที่มีหลายบุคลิก จะเห็นได้ว่าเมื่ออยู่กับแม่ ไหมทะเลาะกับแม่บ่อยครั้ง และดูเหมือนคนอารมณ์ร้อน ไม่ขยันที่จะซ้อมรำ จึงทะเลาะกับแม่ แต่เมื่ออยู่กับพ่อไหมจะมีลักษณะนิสัยร่าเริงคุยกับพ่ออย่างอารมณ์ขัน และในขณะเดียวกันที่ไหมดูเหมือนจะมีนิสัยก้าวร้าวที่เถียงแม่เสมอแต่ภายในจิตใจลึกๆไหมก็เชื่อฟังแม่ ยอมซ้อมรำตามที่แม่บอกและสุดท้ายไหมก็รำ รำด้วยใจ รำด้วยความรักที่มีให้กับแม่ ซึ่งการสร้างตัวละครไหมก็มีความสมจริงเพราะมีลักษณะหลายบุคลิกหลายอารมณ์ตามความเป็นจริง

           แม่ ตัวละครที่มีความขัดแย้งกับไหมเกือบตลอดทั้งเรื่อง แม่ของไหมเป็นครูสอนนาฏศิลป์ มีลักษณะหลายบุคลิกทั้งอารมณ์ ร้อน และความอ่อนโยนจากความเป็นแม่ อารมณ์ร้อนโมโหเด็ดเดี่ยวในตอนที่แม่ทะเลาะกันกับพ่อเรื่องไหมเช่น “แม่ขึ้นเสียงกับพ่อในคืนวันอาทิตย์วันหนึ่งที่พ่อพาไหมกลับมาส่งบ้านหลังจากที่ไปดูหนังกลับมา” “คืนนั้นพ่อกลับไปอย่างผู้แพ้ แม่ยื่นคำขาดว่าเรื่องการรำของไหม ห้ามพ่อมายุ่งอีก พ่อกับแม่ทะเลาะกันเป็นชั่วโมงสุดท้ายพ่อก็ยอมแพ้แม่แต่โดยดี” จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม่ไหม เป็นคนที่มีจิตใจโดดเดี่ยวชัดเจนและอารมณ์ร้อน และลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือ มีความรักความอ่อนโยนของความเป็นแม่เช่นในเหตุการณ์ที่ไหมจะประกวดรำ แม่ก็ให้คำปรึกษาและคอยให้คำแนะนำให้กับไหมเสมอโดยไม่ด่าและบังคับไหมเลย

          

            พ่อเป็นตัวละครรองที่เข้ามาเสริมเรื่องราวให้สมจริงและสมบูรณ์มากขึ้น การที่เอาตัวละครพ่อเข้ามามีบทบาทให้สมจริงนั้นเพราะว่าในความเป็นจริงทุกคนมีแม่และมีพ่อ เมื่อผู้อ่านทราบแล้วว่าพ่อไม่ได้อยู่กับไหมเพราะพ่อแม่แยกทางกันนั่นก็สมเหตุสมผลที่ว่าไหมทำไมอยู่กับแม่แค่สองคน แต่ถ้าผู้แต่งไม่ได้สร้างตัวละครที่เป็นพ่อขึ้นมาก็ดูไม่สมจริงเพราะไม่รู้ว่าที่ไหมไม่มีพ่อเพราะอะไร

           สารัตถะ สาระสำคัญของเรื่องแม่ฮ้างกล่อมลูก ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมศิลปะการร่ายรำเพราะเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามควรแก่การรักษาไว้คนรุ่นหลังควรได้รับวัฒนธรรมและสืบทอดต่อๆไปซึ่งถ้าคนรุ่นหลังไม่ใส่ใจที่จะรักษาวัฒนธรรมก็จะสูญสิ้นไปในที่สุด ผู้เขียนยังได้ย้ำสาระสำคัญของเรื่องไว้ในท้ายเรื่องอีกว่า " เช่นเดียวกันกับเมล็ดพันธุ์วัฒนธรรมที่แม่ได้ปลูกไว้ในใจของไหมอีกไม่นาน ก็คงเจริญงอกงามออกดอกออกผลให้ได้ชื่นใจ" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย

อีกไม่นาน ก็คงเจริญงอกงามออกดอกออกผลให้ได้ชื่นใจ

         ฉากและบรรยากาศของเรื่องสั้น เรื่อง แม่ฮ้างกล่อมลูก ฉากมีความสมจริงตามสภาพความเป็นจริง เพราะผู้แต่งสร้างฉากที่เป็นฉากธรรมดาที่คนทั่วไปเข้าถึงได้คือฉากที่เป็นบ้านของไหมเอง ดังในตอนเปิดเรื่องผู้แต่งได้พรรณนาฉากเอาไว้อย่างน่าสนใจ และสมจริง บรรยากาศของเรื่อง ผู้แต่งได้สร้างบรรยากาศของเรื่อง ให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามและเกิดอารมณ์ร่วมไปด้วย เช่น เมื่อพ่อแม่ของไหมทะเลาะกันและเกิดการโต้แย้งกัน "เสียงตึงตังดังมาจากในครัว ตามมาด้วยเสียงตะคอกของพ่อ" ผู้เขียนใช้เสียงดังตึงตังเพื่อสร้างบรรยากาศให้กับผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมไปด้วยถึงบรรยากาศที่พ่อแม่ไหมทะเลาะกัน และบรรยากาศโศกเศร้า เช่น "งานวันเผา คนที่รู้จักแม่มากันมากมาย รวมถึงพ่อและครอบครัวของพ่อ ไหมรัดเข็มขัดเงินที่เอวเสร็จก็เป็นอันเรียบร้อย ไหมรำ หน้าไฟให้แม่โดยใช้การ

แสดงเพลงแม่ฮ้างกล่อมลูกและท่ารำ ที่ช่วยกันคิดกับแม่ ความรู้สึกที่เอ่อท้นอยู่ในใจหลั่งไหลออกมาสู่ทุกท่วงท่ารำ ของไหม ใจของไหมสั่นอย่างรุนแรงอยู่ข้างใน " ผู้เขียนบรรยายบรรยากาศความเศร้าที่มีในงานศพของแม่ไหมโดยใช้ความรู้สึกของไหมทำให้ผู้อ่านคล้อยตามและเห็นความสมจริงของบรรยากาศ

    การประเมินคุณค่า

        คุณค่าด้านวรรณศิลป์ ผู้อ่านได้บรรยายฉากให้มีความไพเราะของบทความ ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกและจินตนาการตามที่ผู้แต่งได้บรรยายไว้ เช่น "หน้าหนาวปีนี้ ฤดูเก็บเกี่ยวผ่านไปแล้ว ต้นข้าวเหลือแต่ตอซัง พระอาทิตย์เพิ่งลอยสูงได้เพียงเส้นขอบฟ้า หมอกขาวยามเช้าโรยตัวละเลียดอยู่เหนือยอดต้นมันสำ ปะหลัง เสียงหมาเห่าฟังได้ยินมาจากไกล ๆ กลิ่นควันที่ชาวบ้านก่อไฟเพื่อหุงหาอาหารฟุ้งอยู่ในอากาศ กีบเท้าวัวควายนับสิบเดินเชื่องช้าผ่านหน้าบ้านไป" เมื่ออ่านข้อความข้างต้นทำให้ผู้อ่านจินตนาการสัมผัสได้ถึงบรรยากาศในฤดูหนาวที่ผู้เขียนต้องการสื่อได้ และภาษาที่ผู้แต่งเลือกใช้นั้น เป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน และผู้เขียนยังมีการใช้คำเปรียบเทียบเพื่อเกิดความน่าสนใจให้กับผู้อ่านอีกด้วย เช่น เปรียบเทียบการปลูกข้าวที่หว่านไปก็รอวันเจริญงอกงาม ดังเช่นกับ วัฒนธรรมต้องมีการถ่ายทอดและรอวันที่เมล็ดพันธุ์วัฒนธรรมนั้นจะเจริญงอกงามต่อไป ดังข้อความที่ว่า "เมื่อกาลเวลาเดินทางไปถึงฤดูฝนของปีหน้าต้นข้าวที่เหลือแต่ตอซังก็คงจะถูกไถกลบเป็นปุ๋ยให้เมล็ดข้าวรุ่นใหม่ได้งอกงาม เช่นเดียวกันกับเมล็ดพันธุ์วัฒนธรรมที่แม่ได้ปลูกไว้ในใจของไหม

อีกไม่นาน ก็คงเจริญงอกงามออกดอกออกผลให้ได้ชื่นใจ" ทำให้ผู้อ่านซาบซึ้งและเห็นถึงความงามในภาษาที่ผู้เขียนได้ใช้

        คุณค่าด้านเนื้อหาสาระและกลวิธีการแต่ง ด้านเนื้อหาผู้แต่งใช้คำได้เหมาะสมกับเรื่องใช้คำที่ง่ายห้ผู้อ่านอ่านเข้าใจได้ง่าย และกลวิธีการนำเสนอ เป็นการนำเสนอแบบตรงไปตรงมา ทำให้ผู้อ่านไม่ต้องตีตามในขณะที่อ่านทำให้อ่านอย่างลื่นไหลไม่ติดขัดที่ต้องมาตีความอีก

        คุณค่าด้านสังคม เรื่องแม่ฮ้างกล่อมลูกสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมที่พ่อแม่แยกทางกัน แล้วภาระต้องตกอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งในเรื่องนี้ ภาระการเลี้ยงดูลูกตกอยู่ที่แม่ที่คอยดูแล

ไหมอยู่คนเดียว และสะท้อนให้เห็นสถานะภาพของเพศหญิงในปัจจุบัน เมื่อแยกทางกัน ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูลูกตามลำพังจะเห็นได้จากดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงที่เลี้ยงลูกตามลำพังโดยไม่มีพ่อ และผลกระทบที่ตามมาส่งผลใ้ห้ลูกอาจขาดความรักความอบอุ่นจากพ่อได้

        คุณค่าด้านการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันผู้อ่าน ผู้อ่านสามารถนำแนวคิดที่ได้จากเรื่องแม่ฮ้างกล่อมลูกไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้ โดยการตระหนักรู้คุณค่าของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไว้ให้คงอยู่สืบไป

        สุดท้ายนี้ เรื่องสั้น เรื่องแม่ฮ้างกล่อมลูกเป็นวรรณกรรมที่ให้คุณค่าแก่ผู้อ่านเป็นอย่างมาก โครงเรื่องและเนื้อเรื่องมีความสัมพันธ์กัน ฉากบรรยยากาศ ตัวละครให้ความสมจริง  ให้แง่คิด สาระความรู้และความบันเทิงแก่ผู้อ่าน อีกทั้งให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงการรักษาและสืบสานวัฒนธรรมไทยเอาไว้ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 645796เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2018 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2018 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท