บทวิจารณ์ เรื่อง สายน้ำ


           สายน้ำ ของนิติพร ชุมศรี เป็นเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง จากโครงการ“ประกวดเรื่องสั้นส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อน้อมสำ นึก ในและพระมหากรุณาธิคุณด้านการพัฒนาท้องถิ่น และระลึกถึงพระอัจฉริยภาพทาง ด้านอักษรศาสตร์ อีกทั้งเพื่อส่งเสริมปณิธานของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนา ท้องถิ่น และส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ได้เรียนรู้และเห็น คุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น นำ ไปสู่การสร้างสรรค์ผลงาน การเขียนประเภทเรื่องสั้น โดยมีเรื่องสั้นที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด ๑๓ เรื่องด้วยกัน และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง สายน้ำ

           สายน้ำ เป็นเรื่องสั้นที่มีโครงเรื่องที่ไม่สลับซับซ้อน โดยเป็นเรื่องของ สายน้ำ ชายหนุ่มที่ต้องมาแข็งเรือแทนพี่ชายที่ประสบอุบัติเหตุ จากคนที่เอาแต่เล่นโทรศัพท์เล่นคอมพิวเตอร์ไม่สนใจอะไร กลับต้องตื่นเช้าทุกวันเพื่อฝึกซ้อม และฝึกฝนตนเองจนพร้อมที่จะลงแข่ง และการแข่งขันเรือยาวครั้งนี้เองก็ทำให้สายน้ำได้เรียนรู้อะไรมากมาย รวมทั้งได้ค้นพบว่าชัยชนะที่แท้จริงนั้นคืออะไร   

           ผู้เขียนมีการเปิดเรื่องด้วยการบรรยายฉาก ตัวละครและเหตุการณ์  คือ “เขาไม่คิดมาก่อนเลยว่าเสี้ยวหนึ่งของชีวิตจะต้องมาล่องลอยท่ามกลาง สายน้ำอันกว้างใหญ่แห่งนี้ มันเป็นแม่ ที่เปรียบดั่งสายโลหิตคอยหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ พ่อแก่แม่เฒ่าตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษยุคก่อนประวัติศาสตร์ จวบจนยุคที่อะไร ๆ ก็ไม่ แน่นอน ยุคที่โลกแคบลงกว่าที่เป็นอยู่ โลกที่ใครต่อใครต่างเข้าถึงพื้นที่ส่วนตัวของ กันและกันได้ง่ายขึ้น ยุคที่... สิ่งที่เคยมีอยู่อาจเลือนรางหายไปตามกาลเวลา ซึ่งเป็นการบรรยายผ่านความคิดความรู้สึกของตัวละคร

           อีกทั้งผู้เขียนสร้างปมของเรื่องให้ตัวละครมีความคิดขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจตนเอง  กล่าวคือ “ฝีพายทั้งหมดรอเสียงสัญญาณเตรียมปล่อยตัว เป้าหมายของทุกคนคือ เส้นชัยเบื้องหน้า เขาเองก็มีเป้าประสงค์เดียวกับเพื่อนร่วมทีม เพียงแต่เขาแค่ไม่นึก ว่าตัวเองจะมาอยู่ในจุด ๆ นี้ได้...ซึ่งจากข้อความนี้จะเห็นว่าตัวละครมีความคิดที่ขัดแย้ง คือการที่ไม่นึกว่าตัวเองจะมาถึงจุดนี้ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแต่เดิมตัวละครไม่ได้ใส่ใจหรือทุ่มเทกับการพายเรือ แต่กลับได้มาแข่งเรือ ที่ไม่รู้ว่าจะแข่งไปเพื่ออะไร และที่มาของปมนี้ ก็คือ การที่พี่ชายของสายน้ำ ซึ่งก็คือสายลม เกิดอุบัติเหตุทำให้ไม่สามารถแข่งเรือได้ สายน้ำจึงลงแข่งแทน เพราะได้เห็นถึงความทุ่มเทของพี่สายน้ำจึงตั้งใจทำหน้าที่แทนพี่ให้ดีที่สุด

          เมื่อสายน้ำได้ผ่านการฝึกฝน จนมาถึงวันแข่ง ก็ทำให้เขาได้ค้นพบว่า เขาแข่งเรือยาวทำไม เขาแข่งเพื่อเอาชัยชนะ ชัยชนะที่ได้จากตนเองไม่ใช่ผู้อื่น ดังข้อความที่ว่า “สายน้ำ พิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วว่าเขาเอาชนะใจ ตัวเองได้ ยิ่งเห็นความเข้มแข็งของเพื่อนร่วมทีมคนอื่นกลับยิ่งกระตุ้นให้เขามีแรง ผลักดันเพิ่มขึ้น และความสมัครสมานสามัคคีเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำ เรือลำ นี้ ทะยานสู่เป้าหมายจนสำ เร็จ” เป็นการคลายปมที่ตัวละครได้ค้นพบตัวเอง และได้เข้าใจสิ่งที่พี่ชายและทุกคนในหมู่บ้านที่ทุ่มเทแรงกายและใจในการแข่งเรือ

          สายน้ำ ปิดเรื่อง ด้วยความดีใจของชาวบ้านอำเภอสตึก ที่เห็นเรือของตนนั้นเข้าเส้นชัย เป็นการปิดเรื่องที่ให้ข้อคิดกับผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านได้คิดตาม คือ  “การแข่งขันเป็นเรื่องของแพ้กับชนะ แต่ชัยชนะที่สำ คัญที่สุดคือการเอาชนะใจตัวเอง”

          ผู้เขียน ผูกเรื่องอย่างรัดกุมและดำเนินเรื่องโดยใช้การบรรยายผ่านตัวละครและแทรกบทสนทนาที่ตัวละครโต้ตอบกัน ทำให้ทราบเรื่องราวที่ดำเนินไป และทราบเบื้องหลังของเนื้อเรื่องและตัวละครแต่ละตัว  อีกทั้งยังมีการดำเนินเรื่องโดยการเล่าแบบสลับไปสลับมา กล่าวคือ ดำเนินเรื่องจากปัจจุบัน แล้วเล่าย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์และที่มาในอดีต ที่ทำให้ตัวละครต้องมาแข่งเรือ เป็นการเล่าต่อมาจนมาถึงเหตุการณ์ปัจจุบันที่ตัวละครกำลังจะแข่งเรือ ซึ่งผู้เขียนใช้กลวิธีในการดำเนินเรื่องได้น่าสนใจ เป็นเหตุเป็นผลกัน ทำให้เนื้อเรื่องมีความสมจริง และผู้อ่านสามารถคิดภาพตามได้

           ในเรื่องมีตัวละครหลักซึ่งก็คือ สายน้ำ ชายหนุ่มที่เรียนจบปริญญามาแต่กลับมาอยู่บ้านเฉย เพราะไม่มีงานทำ สายน้ำเปรียบเสมือนตัวแทนของคนในยุคปัจจุบันที่หลงไปกับสิ่งสะดวกสบายทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ ความทันสมัยต่างๆนานา จนทำให้หลงลืมสิ่งสวยงาม สิ่งดีๆที่ถูกสืบทอดกันมาอย่างช้านาน อย่างประเพณีการแข่งเรือ ที่เป็นประเพณีสำคัญของท้องถิ่นตนแต่เขากลับไม่ให้ความสนใจ จนในที่เมื่อเขาได้ลองทำก็ทำให้เขารู้ว่าการแข่งเรือนี้ได้ให้อะไรกับเขามากมาย

           และตัวละครรองของเรื่องอย่าง สายลม พี่ชายของสายน้ำ ก็ถือว่าเป็นตัวละครที่เป็นตัวแปรสำคัญของเรื่องเช่นกัน คือ เป็นผู้ที่ทำให้สายน้ำตัดสินใจลงแข่งเรือ สายลมเป็นละครที่เปรียบเสมือนตัวแทนของชาวบ้านทั่วไปที่รักและให้ความสำคัญการประเพณีการแข่งเรือซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำสืบทอดกันมาอย่างช้านาน และเขาก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องการจะสืบทอดมันต่อไป แต่เขาก็ประสบอุบัติเหตุเสียก่อนจึงทำให้ไม่สามารถเข้าแข่งขันได้ จึงขอให้น้องเป็นผู้แข่งต่อจากตนเอง

           เนื่องจากเรื่อง สายน้ำ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการแข่งเรือยาวที่เป็นประเพณีสำคัญของชาวอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ จึงมีฉากสำคัญของเรื่อง คือ ฉากการแข่งเรือยาวที่แม่น้ำมูล ที่ผู้เขียนได้บรรยายให้เห็นถึงบรรยากาศทั้งวันซ้อมและวันแข่งจริง บรรยากาศที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มาเป็นกำลังใจให้ผู้เข้าแข่งเรือและคนที่มาเที่ยวชมงานประเพณีนี้ ซึ่งผู้เขียนก็สามารถบรรยายออกมาได้อย่างสมจริง

           สารัตถะ ของเรื่องสายน้ำ คือ การเผยแพร่ประเพณีการแข่งเรือยาวให้เป็นที่รู้จัก และช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานประเพณีให้คงอยู่แม้กาลเวลาจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม เพราะการแข่งเรือยาวนั้นไม่ใช่แค่แข่งเพื่อชิงถ้วยรางวัลเท่านั้น แต่คือการแข่งที่จะแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน และที่สำคัญคือการเอาชนะตัวตัวเอง ซึ่งสุดท้ายตัวละครก็สามารถเอาชนะการแข่งขันได้ และทำให้รู้ว่าชัยชนะที่สำคัญที่สุดคือการ ชนะใจตัวเอง

           เรื่องสั้นเรื่องนี้สะท้อนถึงสภาพชีวิตและสังคมในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และแน่นอนเมื่อทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้จิตใจของมนุษย์เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย มนุษย์เปลี่ยนไปตามโลกโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่เคยใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เมื่อได้รับเทคโนโลยีความสะดวกสบายต่างๆเข้ามาก็ทำให้มองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เป็นตัวตนของตนเอง สิ่งที่อยู่คู่กับตนมาอย่างยาวนาน ซึ่งก็คือวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ที่สืบทอดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างมา ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดีและมีคุณค่าทั้งสิ้น

            การดำรงวัฒนธรรมประเพณีของตนเป็นสิ่งที่น่ากระทำยิ่ง เพราะไม่ใช่แค่เป็นการช่วยสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้จะสอนให้เราค้นพบอะไรมากมายที่เราไม่เคยรู้และไม่เคยสัมผัส ประสบการณ์ที่ตัวละครได้รับ และคุณค่าที่ตัวละครได้ค้นพบในเรื่อง สายน้ำ จะช่วยให้ผู้อ่านได้หันกลับมาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมประเพณีของตนเองมากขึ้น แล้วผู้อ่านจะค้นพบว่าคุณค่าที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ดังที่สายน้ำได้ค้นพบว่า  การแข่งขันเป็นเรื่องของแพ้กับชนะ แต่ชัยชนะที่สำ คัญที่สุดคือการเอาชนะใจตัวเอง

                                                                                                                                                                                     Kana

หมายเลขบันทึก: 645794เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2018 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2018 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท