ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ภายใต้การกำกับดูแลโดยมหาวิทยาลัย วมว. มข.


ถ้าจะเริ่มต้นเรื่องด้วยวลี "ไม่ได้เขียนอะไรมานานมาก" ก็คงจะต้องเริ่มอะไรอย่างนี้ไปตลอด เอาเป็นว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะได้มาเรียบเรียงกล่าวถึงโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย หรือ โครงการ วมว. ที่จะพอพูดถึงได้ก็คงเป็นส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 

ไปอย่างไรมาอย่างไรจึงได้มาเริ่มต้นทำงานกับ วมว.
เริ่มต้นที่ย้อนกลับไปราวปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่ตอนนั้นรัฐบาลมีความต้องการจะสร้างโรงเรียนวิทยาศาสตร์โดยอาศัยประสบการณ์จากการมีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยวางแผนจะสร้างที่ภาคต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่โรงเรียนวิทยาศาสตร์นั้น จึงมีโครงการคู่ขนานคือ โครงการส่งเสริมอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (ชื่อจะเหมือน ๆ กับโครงการส่งเสริมอัจฉริยภาพ ฯ ของ สสวท. ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด) แม้โครงการนี้จะมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการเพียงสองรุ่น แต่ก็ทำให้เกิดทีมงานค่ายวิทยาศาสตร์ระดับคุณภาพขึ้นที่คณะวิทยาศาสตร์ของหลาย ๆ สถาบัน รวมทั้งที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ต่อเมื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เล็งเห็นถึงการส่งเสริมให้เยาวชนกลุ่มผลการเรียนในระดับต้นได้มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ จึงได้ริเริ่มโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ฯ หรือ วมว. มาเพิ่มเติมหลังจาก มีทุน พสวท. ทุนเรียนดี ฯ มาก่อนหน้านี้ โดยที่โครงการ วมว. นี้เป็นลักษณะของการจัดงบประมาณสนับสนุนการศึกษา (ไม่ใช่การให้ทุน จึงไม่มีการผูกมัดเมื่อสำเร็จการศึกษา) โดยเป็นการจับคู่ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและคณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย โดยคู่ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นเข้ามาร่วมโครงการเป็นรุ่นที่ ๓ พร้อม ๆ กับคู่โรงเรียนสาธิต ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน นักเรียนที่ต้องการเข้าร่วมเรียนในโครงการนี้จะต้องสอบผ่านการสอบรอบแรกซึ่งจะใช้ข้อสอบเดียวกันกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และกลุ่มโรงเรียนเครือจุฬาภรณ์ ฯ และสอบผ่านรอบที่สองซึ่งดำเนินการออกข้อสอบและจัดสอบโดยมหาวิทยาลัยแต่ศูนย์ นักเรียนรุ่นแรกของ วมว. มข. จำนวน ๓๐ คน มาจากหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยยังไม่มีนักเรียนจากภาคอื่น ๆ กระนั้นยอดผู้สมัครสอบในปีแรกก็สูงกว่าศูนย์อื่น ๆ มากมาย อันแสดงให้เห็นถึงความสนในของนักเรียนและผู้ปกครองต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นักเรียนรุ่นบุกเบิกของเรากว่าจะได้เข้าอาศัยในหอพัก วมว. หรือ หอต้นกล้ากัลปพฤกษ์ นั้น ก็เป็นช่วงปลาย ๆ ของชั้น ม.๖ เสียแล้ว โดยในช่วงแรก ๆ นั้นเด็ก ๆ และคณาจารย์หอพักได้เช่าอยู่กัน ณ หอ "บ้านนำโชค" ซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนกัลปพฤกษ์ ใกล้ศูนย์ประชุมเอนกประสงค์กาญจนาภิเษก อยู่ที่นั่นกันสองปีจนเกือบจบ แล้วย้ายมาอยู่หอต้นกล้า ฯ กันได้สองเดือนก่อนเรียนจบ

กิจกรรมต่าง ๆ ของนักเรียน วมว. มข. รุ่นแรกของเรานั้น คณะกรรมการต่างก็ทุ่มเทกันเต็มที่โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ทั้งในฝั่งของคณะวิทยาศาสตร์และความดูแลใกล้ชิดจากฝั่งโรงเรียนสาธิต ฯ ทำให้เราสามารถออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ สนับสนุนการเรียนการสอนแบบปกติ และเข้าหาปราชญ์จากหลากหลายแขนงวิชา รวมทั้งวิชาธรณีวิทยาที่ได้รับความกรุณาจากคณาจารย์จากสาขาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี เข้าห้องปฏิบัติการในสาระวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่คณะวิทยาศาสตร์ มีกิจกรรมที่นักเรียนจะได้พบปะแลกเปลี่ยนทักษะยุทธกับนักเรียนจากศูนย์อื่น ๆ อันได้แก่กิจกรรมสานสัมพันธ์ ฯ และ SCiUS forum โดยนักเรียนรุ่นแรกได้เข้ากิจกรรมสานสัมพันธ์ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนำเสนอผลงาน ณ บ้านวิทยาศาสตร์ สวทช. และกิจกรรมที่เราได้จัดเพื่อเพิ่มพูนทักษะความสามารถของนักเรียนได้แก่ ค่ายเตรียมความพร้อมซึ่งจัด ณ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว กิจกรรมทัศนศึกษางานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ณ BITEC รวมทั้งการทัศนศึกษาเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้เยี่ยมชม รร. NUS High ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก

นักเรียนโครงการ วมว. มข. รุ่นที่ ๑ นั้น ได้แสดงศักยภาพทางวิชาการมากมาย มีผลการสอบเข้าศึกษาต่อในสาขาต่าง ๆ เป็นที่พึงใจยิ่ง เป็นการบุกเบิกโครงการอย่างสวยงาม ทำให้นักเรียนระดับ ม.ต้น จากหลากหลายที่ มีความสนใจสอบเข้าเป็นนักเรียนในโครงการนับเนื่องมา โดยรุ่นที่จะเข้าศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๖๑ นี่จะเป็นรุ่นที่ ๘ แล้ว

ในส่วนตัวของผมเองนั้นหลังจากได้เป็นอาจารย์ประจำชั้นของนักเรียนรุ่นแรกและได้เห็นถึงความสามารถด้านต่าง ๆ ของนักเรียนแล้ว จึงได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำชั้นของรุ่นที่ ๔ หลังจากติดตามดูแลรุ่นที่ ๑ จนจบการศึกษาไป และเมื่อรุ่นที่ ๔ สำเรีจการศึกษาชั้น ม.๖ ผมก็ยังคงชื่นชอบและมาเป็นอาจารย์ประจำชั้น ของนักเรียน วมว. มข. รุ่นที่ ๗ ฝั่งมอดินแดง 

โครงการ วมว. แม้ไม่ได้เป็นโครงการที่ให้ทุนแบบผูกมัด แต่ก็ไม่ใช่ "ห้องติว" สำหรับเด็กที่คิดว่าเก่งโดยทั่วไป แต่เหมาะสำหรับเด็กเก่งที่พร้อมจะค้นหาความสามารถเพื่อพัฒนาชาติบนฐานของวิทยาศาสตร์ในอนาคตต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #วมว.
หมายเลขบันทึก: 645740เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2018 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2018 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท