ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ : 9. สร้างแรงจูงใจ (motivating)



บันทึกชุด ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ นี้ ตีความจากหนังสือ Small Teaching : Everyday Lessons from the Science of Learning (2016)  เขียนโดย James M. Lang

 ตอนที่ ๙ สร้างแรงจูงใจ  ตีความจากบทที่ 7  Motivating   โดยที่เป็นตอนแรกของตอนที่ ๓ ซึ่งว่าด้วยแรงบันดาลใจ    โดยจริงๆ แล้วเป็นเรื่องการใช้ การจัดการอารมณ์ ของนักศึกษา เพื่อให้เกิดผลดีต่อการเรียน    โดยที่อาจารย์เพียงทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เกิดผลดียิ่งใหญ่ ต่อการเรียนของนักศึกษา  

 

คำนำ

แรงจูงใจมี ๒ แบบ คือแรงจูงใจภายนอก (external / extrinsic motivation)  กับ แรงจูงใจภายใน (internal / intrinsic motivation)     แรงจูงใจภายนอกต่อการเรียนอาจได้แก่ อยากได้ชื่อว่าเรียนเก่ง  อยากอวดสาว  เพื่อเอาใจพ่อแม่   แรงจูงใจภายในต่อการเรียนได้แก่ ชอบ  เรียนแล้วสนุก  หรือเห็นว่ามีคุณค่าต่อชีวิตในภายหน้า  

เขาอ้างถึงหนังสือ How Learning Works โดย Susan Ambrose    ที่เสนอว่า ในการใช้แรงจูงใจเพื่อหนุนการเรียนของนักศึกษา ควรแตกเรื่องแรงจูงใจออกเป็นสองส่วน  คือ คุณค่าของวิชา กับความคาดหวังของตัวนักศึกษา    (ดูหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร โดยวิจารณ์ พานิช)    แต่ James Lang เสนอว่าการใช้หลักการนั้นต่อการจัด small teaching เพื่อสร้างแรงจูงใจต่อการเรียนน่าจะเป็นการทะเยอทะยานเกินไป     เขาเสนอให้ใช้ อารมณ์ (emotion) เป็นตัวเดิน small teaching เพื่อสร้างแรงจูงใจแทน  

เรื่องราวและวิธีการในบันทึกนี้จะเป็นเรื่องการกระตุ้นอารมณ์ของนักศึกษาด้วยวิธีง่ายๆ ให้เกิดความตื่นตัวพร้อมเรียนรู้ เกิดความกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้   หรือกล่าวด้วยภาษาวิชาการว่า เกิดแรงจูงใจต่อการเรียนรู้  

 

ทฤษฎี

เขาอ้างถึงหนังสือ The Spark of Learning : Energizing the College Classroom with the Science of Emotion (2016) เขียนโดย Sarah Cavanagh ผู้อำนวยการ Laboratory for Cognitive and Affective Science, Assumption College ในสหรัฐอเมริกา     

อารมณ์มีผลต่อการเรียนรู้อย่างน้อยสามประการ

  • ช่วยให้นักศึกษาตั้งใจเรียน    ช่วยให้มีสมาธิจดจ่อต่อการเรียน   พื้นฐานทางชีววิทยาของอารมณ์คือช่วยให้เกิดการเรียนรู้และจดจำเพื่อการดำรงอยู่ของชีวิตและการสืบต่อพืชพันธุ์       เน้นเรื่องหรือประสบการณ์ที่เป็นอันตราย    และเมื่อวิวัฒนาการก้าวหน้าจนเกิดมนุษย์ อารมณ์ก็เป็นตัวช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ที่สำคัญต่อทุกกิจกรรมในชีวิต   โดยมีผลการวิจัยบอกว่า เมื่อมีอารมณ์รุนแรง การเพ่งความสนใจและความพร้อมของสมองต่อการเรียนรู้จะเพิ่มขึ้นมากมาย    และอารมณ์บางแบบช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยง      
  • ช่วยให้เกิดการเรียนอย่างมีจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่ (sense of purpose)    จุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่ (purpose) มีพลังลึกลับที่ช่วยเติมเชื้อไฟในใจของคนหนุ่มคนสาวให้ลุกโพลง    จุดมุ่งหมายในชีวิตคนเรามี ๒ แบบ คือ (๑) จุดมุ่งหมายเพื่อตัวเอง  (๒) จุดมุ่งหมายเพื่อสิ่งที่มีคุณค่าสูงส่ง (self-transcendent purpose)  เช่นเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือเพื่อสังคม (หรือเพื่อพระเจ้า)    มีผลการวิจัยชัดเจนว่า  จุดมุ่งหมายเพื่อคุณค่าสูงส่งมีพลังกระตุ้นการเรียนรู้ดีกว่าจุดมุ่งหมายเพื่อตนเอง    ขอย้ำว่า การมีเป้าหมายชีวิตในการทำเพื่อประโยชน์สูงส่ง ที่เลยจากผลประโยชน์ของตัวเอง  เป็นพลังให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยง    ที่จะนำสู่ชีวิตที่ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้    
  • ช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดี    มนุษย์เป็นสัตว์สังคม    เราจึงมีกลไกให้อารมณ์ความรู้สึกของคนหนึ่งแพร่กระจายไปยังคนอื่นๆ โดยรอบได้    อารมณ์จึงเป็นประหนึ่ง โซเชี่ยล มีเดีย    ที่ฝรั่งใช้คำว่า contagious    ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดในชั้นเรียนคือ ความกระตือรือร้นของครู  จะแพร่ไปยังศิษย์ทั้งห้อง ทำให้นักศึกษารู้สึกกระปรี้กระเปร่า กระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ไปด้วย   การจัด small teaching ที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในชั้นเรียน (ทั้งชั้นเรียนจริง และชั้นเรียนเสมือน) จะช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้อย่างเป็นอัตโนมัติ    นอกจากนั้น นักศึกษาที่มีความกระตือรือร้นไม่กี่คนในห้อง อาจช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาทั้งห้อง

 

รูปแบบวิธีการ

รูปแบบวิธีการที่เสนอในที่นี้ เป็นวิธีการกระตุ้นอารมณ์บวก เพื่อหวังผลต่อการเกิดแรงจูงใจต่อการเรียนรู้    เกิดบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา ทั้งในตัวผู้เรียน และต่อบรรยากาศของชั้นเรียน   

ตัวอย่างอารมณ์ที่ควรกระตุ้นให้เกิดในกลุ่มนักศึกษา เช่น ความสนใจใคร่รู้ (curiosity)  การมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ (purpose)  ความกระตือรือร้น (enthusiasm)  ความเมตตากรุณา (compassion) และอื่นๆ ตามสถานการณ์จำเพาะ   

ใช้เวลาก่อนคาบเรียน

แค่อาจารย์เข้าห้องเรียนล่วงหน้า ๑๐ - ๑๕ นาที    และใช้เวลานั้นเดินไปทักทายนักศึกษาครั้งละสองสามคน   สลับคนไปจนได้คุยทำความรู้จักนักศึกษาทุกคนในชั้นเรียน   แค่นี้ก็ก่ออารมณ์ความรู้สึกที่ดีในตัวนักศึกษา สร้างความตั้งใจเรียนเพิ่มขึ้น

การแสดงความสนใจในตัวนักศึกษาหรือนักเรียนเป็นรายคนนี้ มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ สอนนอกกรอบ ยุทธวิธีจับใจศิษย์ ซึ่งสามารถดาวน์โหลด pdf file ได้ฟรี  

แสดงความเอาใจใส่นักศึกษา

การที่อาจารย์แสดงความเอาใจใส่ต่อนักศึกษา ช่วยสร้างอารมณ์อยากเรียนให้แก่นักศึกษา ตัวอย่างเช่น อ่านรายงานของนักศึกษาและเขียนข้อแนะนำให้ปรับปรุง หรือเขียนคำชมตรงที่เขียนได้ดี   จะเป็นกำลังใจแก่นักศึกษา    และสร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียน    การใช้โซเชี่ยลมีเดียสื่อสารกับนักศึกษา    การเข้าไปเป็นเพื่อนกับนักศึกษาในโซเชี่ยลมีเดีย และเข้าไปกดไลค์ หรือให้ข้อคิดเห็นสั้นๆ    จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจต่อการเรียนวิชานั้น ของนักศึกษา

เล่าเรื่องสนุกและมีประโยชน์  

เรื่องเล่ามีเสน่ห์เสมอ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์เล่าเรื่องและชอบฟังเรื่องเล่า     การเปิดฉากคาบเรียนด้วยเรื่องเล่าสนุกๆ หรือตลกขบขัน และเป้าเชื่อมโยงกับสาระความรู้ที่จะเรียน  จะช่วยสร้างบรรยากาศความสนใจในชั้นเรียน   เพราะเรื่องเล่าที่ดีจะจับใจหรือกระตุ้นอารมณ์ และทำให้ผลการเรียนดีขึ้น   อาจารย์ควรมีคลังเรื่องเล่าสำหรับวิชาที่ตนสอน   และเตรียมเรื่องเล่าสองสามเรื่องสำหรับนำไปใช้ในการสอนแต่ละคาบ      

เขาแนะนำให้วางเค้าโครงของการสอนแต่ละคาบในลักษณะของเรื่องเล่า    คืออาจเริ่มต้นคาบเรียนด้วยคำถาม ที่ชวนฉงน  หรือด้วยส่วนต้นของเรื่องเล่า    ที่กระตุ้นความอยากรู้ของนักศึกษาตลอดคาบเรียน     แล้วจบคาบด้วยคำตอบต่อคำถามตอนเริ่มต้น หรือจบด้วยเรื่องเล่าตอนจบ    small teaching ในที่นี้เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างการสอนเล็กน้อย โดยสารคงเดิม    แต่ทำให้มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นมาก

กระตุ้นเป้าหมายที่สูงส่ง เลยเป้าหมายเพื่อตนเอง

ดังกล่าวแล้วว่า เป้าหมายที่สูงส่ง มีอิทธิพลสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ ได้ดีกว่าเป้าหมายเพื่อตนเอง    ในช่วงของการเรียนวิชาหนึ่งๆ ในระหว่างเทอม นักศึกษามักดำดิ่งความสนใจในรายละอียดของสาระวิชา จนลืมเป้าหมายของการเรียนรู้    อาจารย์พึงเตือนสตินักศึกษาเป็นระยะๆ ว่าแบบฝึกหัดที่มอบหมายให้นักศึกษาทำ  หรือบทเรียนในช่วงนั้นมีความหมายอย่างไรต่อการสอบไล่ปลายเทอม  ต่อวิชาชีพที่นักศึกษาจะจบออกไปทำงาน  หรือต่อชีวิตของการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น   

มีผลงานวิจัย ลงพิมพ์ในวารสาร Journal of Personality and Social Psychology เรื่อง  Boring but Important : A Self Transcendent Purpose for Learning Fosters Academic Self-Regulation  โดย David S. Yeager, Marlone D. Henderson, … and Angela Lee Duckworth    ที่บอกผลการวิจัยชัดเจนว่า เพื่อเพิ่มแรงจูงใจสำหรับเรียนเรื่องน่า เบื่อ การกระตุ้นด้วยถ้อยคำย้ำความสำคัญต่อชีวิตของตนเองไม่ได้ผล    แต่หากย้ำด้วยความสำคัญต่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง  คือเพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือผู้อื่น หรือเพื่อทำประโยชน์แก่โลก จะได้ผลดี   

เขาแนะนำถ้อยคำสั้นๆ ของครู เพื่อสร้างอารมณ์สู่เป้าหมายยิ่งใหญ่ ของศิษย์ ดังนี้

  • ในเอกสารอธิบายรายวิชา  เขียนบอกผลลัพธ์ที่ตัวนักศึกษาจะได้รับ    ไม่ใช่บอกว่าจะได้เรียนสาระวิชาอะไรบ้าง    ให้นักศึกษาได้ตระหนักว่า การเรียนวิชานั้นจะเปลี่ยนแปลงตัวเขา และเตรียมตัวเขาสู่อาชีพ และชีวิตในอนาคตอย่างไร    ช่วยให้เขามีโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมหรือแก่โลกได้อย่างไร   
  • ในการบ้าน ให้กล่าวหรือเขียนซ้ำตัวเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ตามในเอกสารอธิบายรายวิชา    ให้เริ่มต้นเอกสารการบ้านหรือแบบฝึกหัดด้วยการบอกว่า การทำแบบฝึกหัดนั้นๆ จะช่วยพัฒนาทักษะและความรู้อะไร   สำหรับนำไปใช้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นในอนาคตได้อย่างไร       อาจารย์ต่องไม่เผลอหมกมุ่นอยู่แต่การสอนสาระ   ให้เน้นบอกคุณค่าเป็นระยะๆ 
  • บนกระดานหรือจอที่หน้าชั้น เขียนหรือฉายเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่สั้นๆ ที่สาระในคาบนั้นจะนำไปสู่    ให้นักศึกษาประจักษ์ว่า การเรียนคาบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่อย่างไร
  • ในช่วงนาทีเปิด และนาทีปิดคาบเรียน  บอกนักศึกษาว่ากำลังเรียนไปถึงไหนแล้วในภาพรวมของรายวิชา (where)    และเรียนเพื่ออะไร (why)

หากอาจารย์ได้เขียนเป้าหมายผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ที่ตัวนักศึกษาจะได้รับ คือเป็นลู่ทางสู่การทำประโยชน์ยิ่งใหญ่ เหนือผลประโยชน์ของตนเอง ไว้อย่างชัดเจนในเอกสารอธิบายรายวิชา และได้อธิบายอย่างชัดเจนตอนเริ่มสอนรายวิชา    หลังจากนั้นอาจารย์เพียงกล่าวเตือนสั้นๆ เป็นระยะๆ ก็เพียงพอ    ซึ่งตรงตามมาตรการ ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่

  • แสดงความกระตือรือร้นของตัวอาจารย์เอง    บอกนักศึกษาว่า ครูมีความพิศวงหลงใหลต่อวิชานั้นอย่างไร   ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่อาจารย์ได้รับประโยชน์ หรือได้เรียนรู้เชื่อมโยงกับชีวิตจริง    และบอกนักศึกษาว่า วิชานั้นจะก่อผลดีต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างไร
  • แสดงความมีเมตตาเห็นอกเห็นใจต่อนักศึกษา    อาจารย์พึงตระหนักว่าศิษย์วัย ๑๘ - ๒๐ ปี ยังมีวุฒิภาวะไม่เต็มที่    รวมทั้งคนรุ่นนี้ มีพื้นฐานทางอารมณ์ ความเชื่อ พฤติกรรม จำเพาะแบบของตน   ที่ไม่เหมือนของอาจารย์   อาจารย์ต้องฝึกมองโลกมองเรื่องราวต่างๆ จากมุมมองของนักศึกษา  

 

หลักการ

หลักการ ๓ ประการที่อาจารย์พึงยึดปฏิบัติในชั้นเรียน ได้แก่

  • ทำความเข้าใจสภาพทางอารมณ์ในห้องเรียน    หากบรรยากาศดี ก็ใช้หลักการข้อที่ ๒   แต่หากบรรยากาศเป็นลบ เช่นนักศึกษาส่วนใหญ่ง่วงเหงา  หรือแสดงความไม่สนใจ   อาจารย์ต้องหาทางแก้ไข เช่น เล่าเรื่องขบขัน (ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเรียน)  หรือเล่าเรื่องของนักศึกษารุ่นก่อนๆ ที่นำความรู้ที่กำลังจะเรียน ไปทำงานแล้วเกิดผลยิ่งใหญ่  
  • ทำให้พลังของอารมณ์บวกแพร่กระจาย    โดยอาจเล่าโจ๊ก  เชิญให้นักศึกษาตั้งคำถาม    หรือเล่าเรื่องสนุกๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังเรียน
  • แสดงความกระตือรือร้น   อาจารย์ต้องแสดงความกระตือรือร้นต่อ ๒ สิ่งคือ (๑) สาระของวิชา และ (๒) การเรียนรู้ของนักศึกษาแต่ละคน เป็นรายคน    การแสดงออกนี้สะท้อนความเอาใจใส่ และความเคารพต่อความเป็นมนุษย์ของตัวนักศึกษา    

 

เคล็ดลับเรื่องปรับปรุงการสอนเล็กน้อยเพื่อสร้างแรงจูงใจต่อการเรียน

นักศึกษามาเข้าเรียนวิชาที่อาจารย์สอนด้วยภูมิหลังที่แตกต่างกันมาก    และบางคนอาจเข้ามาเรียนวิชาที่ท่านสอนด้วยความสนใจกระตือรือร้นที่จะเรียน   แต่บางคนก็มาเรียนด้วยความจำใจ   อาจารย์ต้องตระหนักในความแตกต่างนี้    และหาวิธีการเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปนี้ ทำให้ชั้นเรียนมีชีวิตชีวา    ก่อผลลัพธ์การเยนรู้ที่ดีแก่นักศึกษา

  • เข้าชั้นเรียนก่อนเวลาสอน   และเดินไปทักทายทำความรู้จักเป็นการส่วนตัวกับนักศึกษา    เพื่อสร้างบรรยากาศเป็นกันเอง ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 
  • เริ่มคาบเรียนด้วยการกระตุ้นอารมณ์ ให้เกิดความคึกคัก    สมองพร้อมเรียนรู้
  • ทำความเข้าใจว่า ผู้ประกอบอาชีพในสาขาของวิชานั้น สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม และแก่โลกได้อย่างไร   แล้วนำมาเตือนสตินักศึกษาอยู่เนืองๆ
  • ระบุเป้าหมายยิ่งใหญ่ของสาระที่เรียนในคาบ หรือบางช่วงของคาบเรียน   นำมาเขียนเตือนความจำบนกระดาน หรือกล่าวถึงบ่อยๆ  
  • แสดงความกระตือรือร้นของอาจารย์ต่อวิชา  ต่อสาระในคาบนั้น  และต่อบางตอนในตำรา    และชักชวนให้นักศึกษาเข้าถึงความน่าสนใจเหล่านั้น  

 

สรุป

ไม่เฉพาะอารมณ์บวกเท่านั้น ที่มีคุณต่อการเรียนรู้    อารมณ์เชิงลบ อึดอัดขัดข้อง วิตกกังวล ก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดผลดีต่อการเรียนรู้ได้    เพราะธรรมชาติของสมองจะจดจำเหตุการณ์ที่ก่ออารมณ์เชิงลบได้ดีกว่าเหตุการณ์ระหว่างมีอารมณ์เชิงบวก    

การกระตุ้นอารมณ์แปลกใจ  ตกใจ  อยากรู้ ช่วยการเรียนรู้    อารมณ์ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายที่สูงส่งกว่าการทำเพื่อตนเอง ดังพระราชหัตถ์เลขาของสมเด็จพระบรมราชชนกว่า “ความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การเรียน    แต่อยู่ที่การประยุกต์ความรู้เพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์”    ที่กระตุ้นอารมณ์ของเยาวชนไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่า  ที่ได้สัมผัสกับข้อเตือนใจดังกล่าวบ่อยๆ ระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัย      

สมองของนักศึกษาไม่ได้ใช้เพื่อคิดเท่านั้น แต่ใช้รับอารมณ์ความรู้สึกด้วย    อารมณ์ความรู้สึกนี้ มีส่วนช่วยเอื้อต่อการเรียนรู้ หากอาจารย์รู้จักใช้ประโยชน์เพื่อศิษย์ของตน      

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.พ. ๖๑

บนเครื่องบินจากเชียงใหม่กับสนามบินสุวรรณภูมิ 


 

หมายเลขบันทึก: 645708เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2018 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2018 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท