หวั่นรัฐออกมติ ครม. เกินขอบเขต "ทิพาวดี" สั่งร่างกฎหมายถ่วงดุล


หวังถ่วงดุลรัฐบาลออกมติเกินขอบเขตกฎหมาย
"ทิพาวดี" สั่งร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการของครม. หวังถ่วงดุลรัฐบาลออกมติเกินขอบเขตกฎหมาย กำชับ ก.พ.ร. ปรับปรุง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 3 ประเด็น เตรียมชง ครม.ต้นปีหน้า  คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมเรื่อง "แนวทางการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน พ.ศ. 2545" โดยระบุว่า ที่ประชุมเห็นควรให้ยกร่าง    พ.ร.บ.การบริหารราชการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อถ่วงดุลอำนาจของครม.ในการออกมติ ครม. ที่เกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไทยมีจุดอ่อนอยู่ในหลายเรื่อง   "เมื่อเราก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบแล้ว กลไกการใช้อำนาจของรัฐในทุกองค์กรต้องมีฐานกฎหมายที่รัดกุมรองรับ ซึ่งกรอบกฎหมายจะเขียนไว้ชัดเจนว่า เรื่องอะไร  ที่เข้า ครม. บ้าง และเรื่องใดบ้างที่ไม่ต้องเข้า ซึ่งจะทำให้การดำเนินที่ขัดต่อกฎหมายเป็นไปไม่ได้ และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันมติ ครม.ที่มีขอบเขตเกินกฎหมายที่เป็นปัญหาอยู่ในบางเรื่อง"คุณหญิงทิพาวดี กล่าว สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้นั้น ยังไม่ได้มีการหารือในรายละเอียด แต่มีกรอบกฎหมาย จะครอบคลุมเรื่องกระบวนการกลั่นกรองงานเข้า ครม. อาทิเช่น การมีมติ ครม. การพิจารณาใช้ดุลยพินิจ กระบวนการในการตรวจสอบหรือเสนอแนะก่อนที่จะมีมติ ครม. และความรับผิดชอบของ ครม. ในส่วนของเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เข้าสู่ที่ประชุม โดยถือเป็นการวางกติกาการทำงานของ ครม.   ทั้งนี้ ในอดีตขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของ ครม. ถือเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดิน แต่ไม่ได้เขียนเป็นกฎหมายเฉพาะ ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้ให้ฝ่ายกฎหมายและนักวิชาการจะไปดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเสนอต่อที่ประชุม ก่อนเสนอต่อ ครม.  และเมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก็เป็นไปได้ที่จะยกเลิก พ.ร.ฎ.การเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ต่อไป ส่วนการปรับปรุง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2545 นั้น จะมีการปรับปรุงใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การสร้างระบบความรับผิดชอบและการกระจายอำนาจบริหารราชการแผ่นดินจากระดับบนลงไปสู่ระดับล่างมากขึ้น  2. การปรับปรุงระบบตรวจสอบซึ่งเป็นจุดอ่อนของการบริหารราชการแผ่นดินของแต่ละหน่วยงานให้มีการบูรณาการทำงานมากขึ้น   และ 3.การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ทั้งในหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ กรม และกระทรวง เช่น การมีส่วนร่วมในการกำหนดโครงการ วงเงินงบประมาณ การตรวจสอบ การให้คุณให้โทษแก่ผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น  นอกจากนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรยกสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกรม   ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ นิติกรประจำ ก.พ.ร. ไปยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2549 เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมครม. ภายในกลางเดือนมกราคม 2550

กรุงเทพธุรกิจ  1 ธ.ค. 49

  
หมายเลขบันทึก: 64567เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2006 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท