ศาสตร์และศิลป์ในการถ่ายทอดของครู


ศาสตร์และศิลป์ในการถ่ายทอดของครู

ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

     การเป็นครูนั้น ถือว่าเป็นผู้มีภาระหนัก ต้องมีความอดทนต่อศิษย์ซึ่งอาจจะมีสติปัญญาแตกต่างกัน ดังนั้น ศาสตร์และศิลป์ในการถ่ายทอดความรู้ของครู เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เพราะศิษย์นั้นอุปมาเหมือนดอกบัวสี่เหล่า สติปัญญาของคนเหมือนบัวสี่เหล่า ความหมายของบัวสี่เหล่าตามนัยอรรถกถา มีดังนี้

1. ดอกบัวพ้นน้ำ(อุคคฏิตัญญู) พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที

2. ดอกบัวบัวปริ่มน้ำ(วิปจิตัญญู) พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป

3. ดอกบัวใต้น้ำ(เนยยะ) พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง

4.ดอกบัวจมน้ำ(ปทปรมะ) พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม มีแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน

ในเรื่องศิลปะการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่คนมีปัญญาโง่นี้ มีเรื่องเล่าว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีชายหนุ่มคนหนึ่ง ผู้ซึ่งไม่รู้จักหนังสือ (อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้) ทั้งสติปัญญาก็ค่อนข้างจะโง่ทึบ

    อยู่มาวันหนึ่งเขาคิดอยากจะไปบวชเป็นพระที่สำนักสอนธรรมมีชื่อเสียง ในเมืองแห่งหนึ่ง แต่ต้องผิดหวัง เพราะกฎของวัดมีอยู่ว่า ถ้าใครจะเข้ามาบวชเป็นพระอยู่ในวัดนี้ จะต้องท่องสูตรพระอภิธรรม หรือคัมภีร์ใดคัมภีร์หนึ่งให้ได้เสียก่อนทางวัดจึงจะอนุญาตให้บวชได้

    ชายหนุ่มผู้นี้จึงขอเข้ามาอาศัยอยู่ในวัดเพื่อฝึกหัดเรียนไปพลางก่อน อาจารย์เห็นความตั้งใจดีของเขาจึงรู้สึกสงสารพยายามสอนธรรมเบื้องต้น ๆ ให้อาจารย์ท่านอดทนสอนไปเดือนก็แล้ว ปีแล้วก็แล้ว เรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพานนั้น ไม่ต้องพูดถึงเลยไม่มีทางจะฟังกันรู้เรื่อง เอาเพียงแค่ "โลภะ โทสะ โมหะ" 3 ตัวนี้เท่านั้น ก็ยังจำลักษณะหรือเข้าใจอาการของจิตไม่ได้

    หลายปีผ่านไป อาจารย์ผู้สอนเกิดท้อใจขึ้นมาเพราะมองเห็นความโง่ซึ่งเป็นวิบากกรรมเก่า ๆ ของศิษย์ แล้วก็ปลงใจถึงกับตัดใจ จึงบอกกับศิษย์ตรง ๆ ว่า

"ต่อไปนี้เจ้าไม่ต้องเรียนหรือท่องบ่นคัมภีร์อะไรให้มันยุ่งสมองเกินตัวเจ้าไปเลย เจ้าจงตั้งหน้าตั้งตาทำงานที่เป็นบุญกุศลไปให้มาก ๆ ก็พอแล้ว บุญบารมีของฉันที่จะเป็นอุปัชฌาย์ของเจ้านั้นคงจะไม่ได้สร้างสมมาแต่ชาติก่อน เอาไว้คอยชาติหน้าเถิด เผื่อว่าฉันได้ตรัสรู้ธรรมเมื่อใดแล้ว จึงจะค่อยมาเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กันใหม่”

    พวกศิษย์ร่วมสำนักได้ตั้งสมญาให้เขาว่า "นายดอกบัวใต้น้ำ" (ผู้ที่สอนไม่ได้) ใช้เรียกกันจนติดปาก อยู่มาวันหนึ่ง "นายดอกบัวใต้น้ำ" นั่งครุ่นคิดอยู่ในใจว่า เรามาอยู่วัดนี้ก็หลายปีแล้ว เรียนอะไรก็ไม่ได้ความสักอย่าง จนกระทั่งท่านอาจารย์ถึงกับบอกคืนตำแหน่งผู้สอนแก่เราเสียแล้ว ต่อไปคงจะไม่มีใครรับสอนธรรมให้เราอีกเป็นแน่เขาคิด ๆไป ก็กลุ้มใจหนักขึ้นทุกที

    บังเอิญมีภิกษุต่างเมืองรูปหนึ่งที่มาศึกษาธรรมอยู่ด้วยกัน เห็นแล้วเกิดสงสารใน
ความโง่ทึบของสมองของ "นายดอกบัวใต้น้ำ " นี้ขึ้นมา จึงแนะนำด้วยเจตนาดีแก่เขาว่า

“ฉันได้ยินข่าวมาว่า ณ เมืองโซกาย มีอาจารย์เซ็น สุญญตาธรรมที่ให้ความรู้แจ้งทางจิตใจ เป็นปัญญาวิมุตติ ผู้หนึ่ง ท่านมีสานุศิษย์อยู่เป็นจำนวนมาก

วิธีสอนของท่านแปลกพิสดารกว่าสำนักอื่น ๆ คือ สอนทางลัด อาศัยประสบการณ์ทางธรรมชาติของศิษย์แต่ละคนเป็นเกณฑ์ ถึงแม้คนที่ไม่รู้จักหนังสือมาก่อนเลยท่านก็มีความสามารถสอนได้”

    นายดอกบัวใต้น้ำพอได้ยินคำพูดว่า ไม่รู้จักหนังสือเลยก็ยังสามารถเรียนธรรมได้เท่านี้ จิตใจก็เบิกบานเกิดความปีติซาบซึ้ง คิดว่าตนคงจะยังพอมีโชคอยู่บ้างคงยังไม่หมดหวังไปเสียทีเดียว กล่าวขอบคุณท่านผู้แนะนำทางให้ แล้วรีบไปกราบลาท่านอาจารย์ มุ่งตรงฝ่าป่าดงพงพีเสาะหาเดินทางไปจนถึงเมืองโซกาย ประเทศจีน ณ สำนักแห่งเมืองโซกาย มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งซึ่งจำเดิมนั้นพระเถระนามว่า

" ปัญญเภสัช (ตี๊เอี๊ยะซาจั๋ง) " ได้นำเอาหน่อกิ่งศรีมหาโพธิ์พันธ์ตรัสรู้ จากพุทธคยา ประเทศอินเดีย ติดตัวเที่ยวจาริกเผยแพร่พุทธศาสนามายังประเทศจีน สมัยเดียวกับ "พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา " พอถึงเมืองโซกายเห็นวิวทิวทัศน์ของภูมิประเทศ กับภูเขานี้มีรูปนูนขึ้นเหมือนดังศีรษะพญาช้างเผือกกำลังหมอบ ภาพวิวนี้ดูแล้วเหมือนกับเมืองที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ท่านจึงหยุดพักแล้วพิจารณาโดยรอบ ๆ ตักน้ำในลำธารนั้นขึ้นมาดื่มแล้วรู้สึกประหลาดใจมาก

   น้ำนี้ใสไหลเย็นมีกลิ่นหอมดุจดังกลิ่นสุคนธชาติ ท่านจึงนั่งเข้าฌานดูเห็นว่าอีกประมาณ 170 ปี ในสถานที่นี้ จักมีพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งมาบรรลุธรรม ณ ตรงจุด ๆ นี้ ท่านจึงได้ทำนายไว้ล่วงหน้า แล้วเอาหน่อกิ่งโพธิ์ที่ติดตัวมาจากทิศตะวันตกปลูกลงไว้ในดิน ณ ที่นั้นส่วนตัวท่านได้จาริกเผยแผ่ธรรมต่อไปตามดินแดนต่าง ๆ จวบจนวัยชราจึงกลับมาสร้างวัดไว้ ณ ที่นี้ (ผู้สร้างวัดท่านเว่ยหล่าง) จนสิ้นอายุขัยของท่านได้นั่งสมาธิดับขันธ์ในฌานสมาบัตินิพพานไป ในต้นราชวงศ์เหลี่ยงบู๊ตี่

    ซากพระศพของท่านยังคงอยู่ในสภาพที่ร่างกายมิได้บุบสลายหรือเน่าเปื่อย และคงนั่งอยู่ในท่านั่งสมาธิเหมือนตอนนิพพาน บัดนี้ได้ลงรักปิดทองเก็บรักษาไว้ ณ ลานศรีมหาโพธิ์แห่งวัดโซกาย มีอาจารย์เฒ่าท่านหนึ่งมักจะเดินจงกรมมานั่งทำสมาธิแถวนี้ตอนเวลาบ่ายเสมอๆ

     นายดอกบัวใต้น้ำ เดินทางมาหลายอาทิตย์ก็เข้าถึงบริเวณวัดโซกาย พอมองไปเห็น "หลวงพ่อเฒ่า " นั่งหลับตาอยู่ใต้ต้นโพธิ์อันร่มเย็น ก็นึกดีใจ คงจะเป็นท่านอาจารย์ดังที่ภิกษุรูปนั้นแนะนำไว้เป็นแน่ จึงค่อย ๆ เดินเข้าไปหาแล้วก็นั่งลงกราบไปที่พื้นดินสามหน

    ในทันทีนั้น ท่านหลวงพ่อก็ลืมตาขึ้นดูเห็นชายหนุ่มผิวคล้ำ หน้าผากเตี้ยจมูกเชิด ท่านจึงถามขึ้นว่า

"เจ้าชื่ออะไร มาจากไหน ต้องประสงค์อะไร ? "

นายดอกบัวใต้น้ำ ตอบว่า

"ผมชื่อดอกบัวใต้น้ำ เดินทางมาจากวัดเมืองใต้ ผมต้องการจะมาขอเรียนธรรมจากคุณพ่อ ครับ"

หลวงพ่อเฒ่า พอได้ยินคำว่าชื่อ "ดอกบัวใต้น้ำ" ก็เกิดความสนใจในชื่อเสียงของผู้มาเยือน นั่งนิ่งพิจารณาดูอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วก็ชี้บอกให้ไปหาข้าวหาน้ำกินยังโรงทานที่เชิงเขาโน้นก่อน

    อีกสองวันต่อมา นายดอกบัวใต้น้ำ เห็นท่านพ่อถือไม้เท้าเดินออกมานั่งหน้ากุฏิ
จึงค่อย ๆ เดิน เบา ๆ เข้าไปกราบลงแทบเท้าสามครั้ง แล้วกราบเรียนท่านว่า

ผมเป็นคนชาวนา เกิดมาในตระกูลยากจนขัดสน พ่อแม่ก็ตายตั้งแต่ผมยังเยาว์วัย เลยขาดผู้อุปถัมภ์ค้ำชูให้ได้เล่าเรียนหนังสือ อยู่มาวันหนึ่ง ผมคิดเบื่อหน่ายในชีวิตที่ยากแค้น ที่มีมาตั้งแต่เล็กจนโต จึงคิดอยากจะบวชเผื่อจะได้บุญกุศลบ้าง จึงได้เดินทางเข้าไปยังวัดแห่งหนึ่งเพื่อขอฝากตัวเป็นศิษย์ แต่โชคไม่ดีท่านเจ้าอาวาสวัดนั้นบอกว่า ผู้ที่จะมาบวชอยู่ในวัดนี้จะต้องท่องสูตรพระอภิธรรมหรือคัมภีร์ใดคัมภีร์ หนึ่งให้ได้เสียก่อน จึงจะยอมให้บวช ผมบอกไปว่าผมไม่รู้จักหนังสือ ท่านอาจารย์สงสารผมมากท่านอุตส่าห์เอาคัมภีร์มาอ่านให้ฟังในเวลาท่านว่างเสมอ ๆ ผมก็ตั้งใจฟังและเรียนอยู่หลายปีก็ยังท่องจำอะไรไม่ค่อยจะได้ ท่านสอนให้ผมระวังคอยจับลักษณะวาระของจิต เช่น "โลภะ โทสะ โมหะ" ให้ดีๆ ว่า มันแสดงอาการออกมาในรูปไหน

    ผมได้เรียนมาเป็นเวลานานแล้ว ก็ยังแยกไม่ออกสักที จนอาจารย์ท่านโมโหไม่ยอมรับสอนธรรมให้ผมเสียแล้วครับ ท่านบอกว่าเอาไว้ชาติหน้าเถิด ปะเหมาะเผื่อท่านได้ตรัสรู้ธรรมแล้วจึงจะสอนให้ผมใหม่ ท่านสั่งให้ผมทำแต่บุญกุศลไปให้มาก ๆ ก็ แล้วกัน

    ท่านผู้เฒ่าพอได้ฟังนายดอกบังใต้น้ำเล่าเท่านั้นแหละ ก็เกิดความสนใจ แต่ก็นิ่งไม่พูดอะไร

    ตกเวลาเย็นหลังจากสวดมนต์ทำวัตรจบแล้ว จึงเรียกศิษย์ให้ตามท่านไป ขณะนั้นเป็น ฤดูเริ่มหนาว หมอกหิมะตกทุกคืน ชาวจีนทุกคนจะต้องสวมหมวกทำด้วยไหมพรมหนา ๆ พอเดินเข้ากุฏิ ท่านพ่อก็บอกให้ปิดประตูลั่นกลอนเสีย แล้วท่านนั่งลงพักเหนื่อยบนเก้าอี้นวม ศิษย์ก็ถอดหมวกออกด้วยความเคารพ แล้วเอาวางไว้บนโต๊ะข้าง ๆ นั้น แล้วเดินไปรินน้ำชาร้อน ๆ มาถวายท่านพ่อถ้วยหนึ่ง เพื่อดื่มกันความหนาว

    ท่านพ่อบอกให้ศิษย์เดินตามมาทางประตูด้านใต้ (กุฏินี้มีสองประตู) พอถึงก็ชี้มือให้ศิษย์ออกไปข้างนอก

    นายดอกบัวใต้น้ำ พอก้าวธรณีประตูออกไปเท่านั้น ท่านพ่อก็ปิดประตูลั่นกลอนเลยแล้วกลับมาที่โต๊ะเก็บเอาหมวกของศิษย์ซ่อนไว้เสียอีกด้วย

    นายดอกบัวใต้น้ำ ออกไปปะทะลมหนาวเข้า ก็ยังไม่รู้ว่าท่านพ่อจะให้ออกมาทำอะไร เดือนก็มืดละอองหิมะเริ่มทยอยพัดสาดเข้ามายังร่มชายคาหน้ากุฏิ มันปกคลุมไปหมดไม่สามารถจะมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ หนาวจนขนลุกครางสั่น ฮือ ! ฮือ ! ก็นึกถึงหมวกที่อยู่ในกุฏิขึ้นมาได้ หันหลังกลับเข้าไปคลำหาประตู อ้าว ! ท่านพ่อลั่นกลอนประตูแน่นเสียแล้ว ตาย ! ตาย ! ทีนี้เราจะทำอย่างไรกัน ? จึงส่งเสียงร้องเรียกว่า

หลวงพ่อครับ ! หลวงพ่อครับ ! หมวกของผมอยู่ข้างในครับ !

เอ๊ะ ! ไม่ได้ยินเสียงท่านตอบ แต่คงเรียกอยู่อย่างนั้นแหละ ! เรียกไปเถิด ! ท่านให้ผมออกมาทำอะไรครับ ? หนาวตากละอองหิมะทนแทบไม่ไหวแล้วครับ!

เงียบ ! ไม่มีวี่แววของเสียงที่จะตอบออกมาเลยแม้แต่คำเดียว

นายดอกบัวใต้น้ำ นั่งกอดเข่าฟันกระทบกันกิ๊ก ! กิ๊ก ! ครางสั่นฮือ ! ฮือ ! ตาย ! ท่านพ่อจะเล่นแบบไหนกับเราก็ไม่รู้ ?

     สามชั่วโมงผ่านไป ท่านพ่อออกมาเปิดประตู นายดอกบัวใต้น้ำ ไม่ถามอะไรเลย ตรงปรี่ไปที่ปั้นน้ำชา หยิบถ้วยรินน้ำชาร้อนซดฮวก ! ฮวก ! สองถ้วยติด ๆ กัน แล้วเดินไปยังโต๊ะที่วางหมวกไว้นึกแปลกใจ ! หมวกของเราหายไปไหน ? มองไปรอบ ๆ ก็ไม่เห็นมี จึงเรียนถามท่านพ่อว่า

"หมวกของผมวางไว้บนโต๊ะนี้หายไปไหนครับ ?

"ท่านพ่อ : เจ้าวางหมวกไว้บนโต๊ะจริง ๆ หรือ?

จริงครับ : ศิษย์ตอบ

ถ้าอย่างนั้นมันจะหายไปไหนล่ะ ? หลวงพ่อถาม : "

แน่ครับ ! หลวงพ่อ ผมจำได้ไม่ผิด ถอดวางไว้ตอนเข้าประตู" ครับ นายตอกบัวใต้น้ำตอบ

ท่านพ่อ : "ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง มันก็แปลกประหลาดใจน่าคิด ขอให้เจ้าจงใช้ปัญญาคิดดูอีกที ?

ศิษย์นั่งทบทวนอยู่ไปมา เกิดความคิดแวบขึ้นมาว่าต้องมีขโมยเอาไปมันจึงหาย แล้วยกมือขึ้นไหว้ท่านพ่อ

"ผมคิดได้แล้วครับ ! ต้องมีขโมยเอาไปครับ !"

ท่านพ่อ ซักต่อไป "ขโมยเขาเอาหมวกเจ้าไปเพื่ออะไร" จงคิดดูที ?

ศิษย์ตอบ "เป็นเพราะเขาอยากได้ของผู้อื่น เขาจึงเป็นขโมย" ครับ !

ท่านพ่อ ถามอีกว่า การที่อยากได้ของผู้อื่นเขาจนต้องเป็นขโมยนั้น อาจารย์สำนักก่อนของเจ้าท่านสอนว่า "เป็นคนชนิดไหนเล่า ?"

ศิษย์ นั่งคิด แล้วตอบว่า "โลภะ" ครับ!

ท่านพ่อยิ้ม ! หยิบหมวกออกมาจากที่ซ่อนยื่นให้ แล้วพูดว่า

"นี่แหละ ! ปัญญาอันแท้จริงนั้นถ่ายทอดให้กันไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นแก่ตัวของเจ้าเอง มันจึงจะอยู่และไม่ลืมไปได้ง่าย ๆ ศิษย์ดีใจแล้วพูดว่า

ครับ ! หลวงพ่อ " ตัว โลภะ" นี้ผมคงจะจำมันไว้ได้จนวันตายเลย ครับ !

    ในทันใดนั้น ศิษย์เกิดศรัทธาวิธีสอนของเซ็นขึ้นมา จึงกราบลงที่แทบเท้าท่านพ่อเฒ่าอีกสามหน แล้วพูดว่า

ท่านหลวงพ่อได้สอนตัว "โลภะ" ให้แก่ผมจนเข้าใจดีแล้ว แต่ยังมีตัวต่อไป คือ "โทสะ" อีกตัวหนึ่งมันเป็นลักษณะแบบไหนกันครับ? โปรดชี้แจงให้ผมทราบด้วยครับ !

ท่านพ่อเฒ่า ยืนกำไม้เท้าอยู่จนแน่น แล้วพูดว่า

"เดี๋ยวก่อน ! เจ้าเรียนตัวนี้มากี่ปีแล้วล่ะ ?"

ศิษย์ ตอบว่า "ราว ๆ 3 ปีแล้ว ครับผม !"

ท่านพ่อเฒ่า เหวี่ยงไม้เท้าลงไปที่สันหลังศิษย์ แล้วพูดซ้ำ ๆ ว่า

นี่ "โทสะ โทสะ ๆ จำไว้นะ ! มันมีลักษณะอย่างนี้"

นายดอกบัวใต้น้ำ ร้องโอ๊ย ! โอ๊ย ! "ผมรู้แล้ว ผมรู้จักมันแล้วครับ (คือโกรธ) โอย.!"

    ต่อจากนั้นมา นายดอกบัวใต้น้ำ ก็จำแม่นขึ้นใจ เป็นอันว่าได้บรรลุธรรมข้อ "โลภะ และ โทสะ" ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

แล้วตัวโมหะละครับ : นายดอกบัวใต้น้ำถาม

หลวงพ่อยกน้ำชามาดื่มแล้วก็พูดว่า

   “การที่เราจำอะไรไม่ได้ วางสิ่งของไว้ก็ไม่แน่ใจว่า วางไว้ตรงไหน แม้กระทั่งเจ้าเองก็เหมือนกัน วางหมวกก็อาจจะมีการหลงๆ ลืมๆ ไม่แน่ใจว่าวางไว้ตรงไหน เจ้าเคยมีลักษณะเช่นนี้มาบ่อยไหม

ก็บ่อยครับ : นายดอกบัวใต้น้ำตอบ

การที่เจ้ามีการหลงๆ ลืมๆ นี้ เขาเรียกว่าอะไร : หลวงพ่อถาม

โมหะครับ : นายดอกบัวใต้นำตอบ

นั้นแหละ เจ้ารู้แล้วว่า โมหะ คืออะไร : หลวงพ่อพูด

       จากเรื่องเล่าที่ยกมาสาธกนี้ พอจะเห็นได้ว่า การสอนนั้น จำต้องอาศัยศิลปวิทยาของครู ครูทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้ศิษย์ได้เข้าใจในสิ่งที่สอน จะไม่ทิ้งนักเรียนที่โง่ไว้ข้างหลังแม้เพียงคนเดียว....

-------------

แหล่งข้อมูล

https://board.postjung.com/662599.html

หมายเลขบันทึก: 645544เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2018 00:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2018 00:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท