ไทยนิยม แบบ Social enterprise....


จากไทยนิยม สู่ Social enterprise จะก้าวต่อไปอย่างไร เราคงต้องช่วยกันต่อยอดและผลักดันกันต่อไปครับ....การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต ขอเพียง"เปิดใจ"และ"ยอมรับ"กับสิ่งต่างๆ เราก็จะได้พบกับสิ่งดี ดี และพร้อมที่จะแบ่งปันให้กับผู้คนที่สนใจต่อไปครับ... ขอขอบคุณ G2K ที่ช่วยเก็บเรื่องราวดี ดี และส่งต่อไปยังผู้คนบนโลกกว้างด้วยนะคร้าบ....

                                            -ได้เวลาเคลียร์ข้อมูลในคลังสมองกันแล้วกันนะครับ...สำหรับการลงไปปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายในช่วงระหว่างอาทิตย์ที่ผ่านมา งานหลายอย่างถูกจัดวางตามแผนงานเอาไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดวันดำเนินกิจกรรมจึงได้ก่อเกิดเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจมากมายเลยล่ะครับ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาขอเชิญตามติดภารกิจของผมไปพร้อมๆ กันได้เลยคร้าบ!!!!!

1.ช่วงนีึ้หากได้ติดตามข่าวสารต่างๆ แล้วท่านคงจะพอคุ้นหูกับการดำเนินงาน"โครงการไทยนิยม ยั่งยืน"ของรัฐบาลกันมาบ้างนะครับ สำหรับโครงการนี้ถือเป็นสิ่งที่ต่อยอดมาจากแนวคิด "โครงการประชารัฐ" ในการแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน ในทุก ๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงความมั่นคง ซึ่งคอนเซ็ปต์ของไทยนิยม ยั่งยืน จะเป็นการจัดสรรงบประมาณลงไปในแต่ละพื้นที่อย่างเท่าเทียม ตามความต้องการของประชาชน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ พร้อมกับให้ประชาชนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยครับ ดังนั้นเพื่อเป็นการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทีมงานระดับตำบลจึงได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย และผมในฐานะของคณะกรรมการระดับตำบล จึงได้ลงไปปฏฺบัติงานตามแผนงานของตำบลพรานกระต่าย ซึ่งนำโดย "นางชุติมณฑ์ ทานะมัย ปลัดอำเภอพรานกระต่าย"ที่เป็นประธานหลักในการนำทีมลงไปรับฟังข้อเสนอจากประชาชนในเขตหมู่ที่ 1-13 ของตำบลพรานกระต่ายครับ และภารกิจที่ต้องลงไปหมู่บ้านละ 4 ครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้สรุปแผนงานโครงการที่ได้รับการเสนอจากชุมชนและสนับสนุนงบประมาณตามที่ชุมชนต้องการต่อไปครับ..เอาเป็นว่าหลังจากนี้จะมีผลสะท้อนกลับมาอย่างไรบ้างนั้น ผมจะได้นำเอาบรรยากาศและเรื่องราวมาบันทึกให้ได้ร่วมติดตามอ่านกันเป็นระยะๆ ก็แล้วกันนะคร้าบ...

2.งานพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่องหรือภาษาอังกฤษเขียนเอาไว้ว่า"Smart Farmer"ก็ถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ต้องลงไปขับเคลื่อนครับ ดังนั้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามกิจกรรม"พัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง"จึงได้เกิดขึ้น โดยงานนี้มีเป้าหมายเกษตรกรจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 3 กลุ่ม สมาชิก 50 รายครับ...แบ่งเป็นการอบรมเป็น 2 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกนั้นจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ ศพก.พรานกระต่าย และเวทีที่  2 เราได้ลงไปจัดกระบวนการเรียนรู้ ณ กลุ่มวิสาหกิจชุุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร หมู่ที่ 3 บ้านหนองโสน ตำบลเขาคีรีส ครับ....

3.ในเวทีที่ 2 นี้ การเรียนรู้เกิดขึ้นด้วยการ"ศึกษาดูงานจากสถานที่จริง"ครับ ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้มองเห็นถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนและต่อยอดอาชีพหลักของตนเองด้วย เพราะสิ่งที่เกษตรกรกำลังเผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้ส่วนหนึ่งคือการที่ประกอบกิจกรรมการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ทำให้เกิดสภาวะการไม่สมดุลของรายได้กับรายจ่าย ดังนั้นเพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์หรือเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้สัมผัสกิจกรรมการเกษตรที่สามารถสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง จึงได้ให้เกษตรกรได้เรียนรู้กิจกรรมการ"ปลูกพริก"ที่วันนี้"สท.เล็ก"ประธานกลุ่มได้นำเสนอและให้ข้อมูลกับเกษตรกรที่สนใจได้นำไปพิจารณาและหากสนใจก็สามารถที่จะตัดสินใจร่วมกิจกรรมได้ด้วยล่ะครับ และวันนี้ทีมงานจากรายการทีวีก็ได้มาร่วมจัดทำข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกลุ่มด้วยล่ะครับ เอาเป็นว่าหากออกอากาศวันไหนผมจะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งก็แล้วกันนะครับ...

4.และในวันเดียวกันนี้(09/03/2561) ผมได้มีโอกาสไปร่วมประชุมและเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่มเย็บเครื่องนอนยางพารา โดยก่อนหน้านี้ผมได้รับการประสานงานจาก"พี่แอน"ที่ได้มาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนตาม พรบ.2548 ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่าย จะเป็นนายทะเบียนในการรับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนครับ ดังนั้นเพื่อเป็นการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นก่อนการยื่นจดทะเบียนฯและให้คำแนะนำในการก้าวสู่การใช้ พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนปี 2548 จึงจำเป็นที่จะต้องลงไปทำความเข้าใจกับสมาชิกและเช็คข้อมูลต่างๆ ให้พร้อมก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้นำเอามาเป็นข้อมูลประกอบการยื่นจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนครับ..และวันนี้สิ่งที่ได้สัมผัสก็คือการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเล็กๆ ที่พยามขับเคลื่อนไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ภายใต้แกนนำคนรุ่นใหม่ไฟแรง "พี่แอน"คือผู้นำทีมที่เพียงได้คุยและสัมผัสในเนื้องานแล้วก็คือว่าเป็นผู้ที่มีความน่าสนใจและต่อไปในอนาคตคงจะสามารถนำเอารายได้กลับสู่ชุมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนแน่นอนครับ...

5.หากคำจำกัดความของคำว่า "Social enterprise คือ กิจการเพื่อสังคม เป็นการทำธุรกิจ ที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งที่จะทำให้สังคมดีขึ้นด้วย และเป้าหมายในการสร้างธุรกิจ มีความชัดเจน คือ ไม่ได้มีไว้สร้างกำไรสูงสุดต่อบริษัท หรือผู้ถือหุ้น แต่การสร้างรายได้นั้น มีขึ้นเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ของสังคม สิ่งแวดล้อม และการเงินไปพร้อม ๆ กัน"แล้วนั้น ิส่งที่กำลังก่อเกิด ณ ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ ผมถือว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้คนได้อย่างชัดเจนเลยล่ะครับ ทั้งนี้ก็เพราะว่ากิจกรรมต่างๆ นี้ได้เกิดการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มหลายคน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้พิการในชุมชนแห่งนี้ ต่างก็ได้รับผลตอบแทนในแง่ของรายได้ครับ ถึงแม้ว่าจะไม่มากมายนักแต่ก็ถือว่าเป็นรายได้เสริมที่หากทำบ่อยๆ จนชำนาญแล้วต่อไปก็สามารถที่จะกลายมาเป็นรายได้หลักได้อย่างแน่นอนครับ...

6.และนี่ก็คือ"พี่แอน"ที่ผมได้เอ่ยถึงเธอในบันทึกนี้ครับ "พี่แอน"ถือเป็นผู้ที่มีภาวะความเป็นผู้นำและเป็นผู้ที่มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนของที่นี่ครับ เท่าที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตต่างๆ เพียงไม่นานนัก ก็ได้รับทราบถึงความตั้งใจที่"พี่แอน"ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้อย่างชัดเจน ด้วยประสบการณ์การทำงานในสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเครื่องนอน ทำให้"พี่แอน"มีความคิดสร้างสรรและต่อยอดในกิจกรรมนี้ได้อย่างน่าสนใจมากๆ ครับ สำหรับรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นยังมีเรื่องราวที่จะต้องพูดคุยและเก็บข้อมูลมาเล่าสู่กันต่อในโอกาสต่อไป แต่สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยตานั้นก็คือสิ่งที่การันตีมาตรฐานของตัวสินค้า ที่"พี่แอน"และกลุ่มได้รับรองจากหน่วยงานที่มีมาตรฐานระดับต้นๆ ของเมืองไทยเลยล่ะครับ เห็นแบบนี้แล้วก็อดที่จะภูมิใจไปกับสมาชิกกลุ่มและทีมงานที่ได้ทุ่มเทกับกิจกรรมของชุมชนแห่งนี้มากๆ เลยล่ะครับ สำหรับการก้าวเดินต่อจากนี้ ยังคงต้องพัฒนาและช่วยต่อยอดกันต่อไปอีก เพราะการสร้างสรรสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคคือสิ่งที่เรา ในฐานะของผู้ผลิตสินค้าต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งนั่นเองครับ และคำว่า"นวัตกรรม"หรือ "Innovation"ใหม่ๆ ก็กำลังจะถูกก่อเกิดจากชุมชนเล็กๆ แห่งนี้อีกมากมายเลยล่ะครับ เอาเป็นว่ารอติดตามผลงานจากฝีมือคนรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า"พี่แอน"ได้ที่นี่ หรือท่านผู้อ่านท่านใดสนใจจะเรียนรู้และแชร์ประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการตัดเย็บเครื่องนอนยางพาราที่ไม่ธรรมดาแบบนี้ก็สามารถติดต่อ"พี่แอน"ได้จากเบอร์นี้ครับ 086-1339472 ได้นะคร้าบ!!!!

7.และวันนี้(08/03/2561) ผมกับ"วิทยากรเกษตรกร"คนรุ่นใหม่ไฟแรง อีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า"เอก กวีวัฒน์"ก็ได้ลงไปปฏิบัติภารกิจการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรตามโครงการ"ส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลัง"ณ หมู่ที่ 7 บ้านคลองขมิ้น ตำบลหนองหัววัวครับ สิ่งที่มุ่งหวังมิได้เพียงการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่พยามเน้นย้ำให้กับเกษตรกรอยู่เสมอนั่นก็คือ"ความภาคภูมิใจ"และ"การหวงแหน"พร้อมกับ"การส่งต่อ"อาชีพการเกษตรของตนเองครับ เพราะว่าต่อจากนี้ไปสิ่งที่ผู้คนจะถวิลหาคงจะมิใช่เงินทองที่มากมายหากแต่มันคือการที่ได้อยู่ร่วมกับคนที่เรารักและมีอาหารเอาไว้สำหรับหล่อเลี้ยงชีพต่างหาก ที่จะทำให้เราอาศัยอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีความสุข มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ครับ..


8.และนี่ก็คือกิจกรรมต่างๆและประสบการณ์ชีวิตที่ผมได้เรียนรู้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาในสัปดาห์นี้ครับ เพราะผมเชื่อว่า"ชีวิตคือการเรียนรู้"ดังนั้นในทุกๆ วันเราจึงได้พานพบกันสิ่งที่น่าสนใจและเรียนรู้ได้อยู่ตลอดเวลาครับ ระหว่างทางเดินของชีวิตเราพบเจอคนในหลากหลายวิชาชีพ หลากหลายแง่มุมมอง ขอเพียงแต่เรา"เปิดใจ"ยอมรับกับสิ่งใหม่ๆ แล้วผมเชื่อว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรกลับมาอย่างมากมายเลยล่ะครับ...

                                                              สำหรับวันนี้......

                                                                                       สวัสดีครับ

                                                                                      เพชรน้ำหนึ่ง

                                                                                       08/03/2561



ความเห็น (2)

ตามมาเชียร์ทีมงาน

ที่คุณเพชรทำได้ดี และทำก่อนที่อื่นใด

ก่อนจะมีนโยบายออกมาอีกสุดยอดมากๆ

-สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

-ขอบคุณที่มาเยี่ยมและให้กำลังใจบันทึกนี้ด้วยนะครับ

-ตามโยบายของรัฐบาล..

-ชุมชนเพื่อชุมชน คือทางรอดครับ อิๆ 

-ด้วยความระลึกถึงนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท