ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ : 6. ฝึกซ้อม (practicing)



บันทึกชุด ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ นี้ ตีความจากหนังสือ Small Teaching : Everyday Lessons from the Science of Learning (2016)  เขียนโดย James M. Lang

 ตอนที่ ๖ ฝึกซ้อม  ตีความจากบทที่ 5  Practicing

 

คำนำ

ผู้เขียน (James Lang) เล่าความผิดพลาด และข้อค้นพบของตนเอง ในการใช้การฝึกซ้อม (exercise หรือ practicing) เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนของนักศึกษา และของการสอนของอาจารย์    ในวงการศึกษาโดยทั่วไป เรามักคิดว่าการฝึกซ้อมเป็นเรื่องของพลศึกษา หรือการเรียนรู้ทางกายภาพ (physical education)   สาระในตอนนี้จะบอกเราว่า การเรียนรู้ทางปัญญา หรือทางสมอง (cognitive learning) ก็ต้องการการฝึกฝนเช่นเดียวกัน    การฝึกที่มีโค้ชคอยแนะนำให้แก้ไข    หากทำในห้องเรียน   ให้ประโยชน์ต่อทั้งนักศึกษาที่เป็นผู้ทำกิจกรรมเพื่อฝึกตนเอง  และต่อนักศึกษาที่สังเกตการณ์อยู่ทั้งห้อง     

คนที่เป็นอาจารย์ ที่ผ่านประสบการณ์มามาก มักลืมไปว่านักศึกษาเป็น “มือใหม่” ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ     หากจะให้ทำอะไร หากได้มีโอกาสฝึกซ้อมคนละสั้นๆ โดยมีอาจารย์ทำหน้าที่โค้ช    เพื่อให้นักศึกษาเกิดทักษะในการทำสิ่งนั้น    รู้ด้วยตนเองว่าจะทำสิ่งนั้นให้ได้ดีต้องทำอย่างไร    จะเป็นประโยชน์อย่างมากมาย โดยลงแรงน้อย

ในหนังสือ Small Teaching : Everyday Lessons from the Science of Learning   ผู้เขียนเล่าเรื่องการเรียนโดยนำเสนอต่อชั้นเรียน    เปรียบเทียบระหว่างให้นักศึกษาเตรียมมานำเสนอเอง    กับโดยให้มีการซ้อมนำเสนอ ๒ นาทีแรกต่อขั้นเรียน   โดยมีอาจารย์ทำหน้าที่โค้ช (ประเมิน แล้ว feedback   แล้วให้ลองทำใหม่  จนทำได้ดี)   ให้เพื่อนทั้งชั้นดู    วิธีการหลังให้ผลการนำเสนอในวันเสนอจริงดีกว่าวิธีการแรกอย่างฟ้ากับดิน    นี่คือตัวอย่างของการ ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ให้ผลยิ่งใหญ่    ด้วยการให้นักศึกษาฝึกซ้อมในชั้นเรียน

 

ทฤษฎี

James Lang อ้างทฤษฎีด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ในหนังสือ Why Dont  Students  Like School? เขียนโดย Daniel Willingham ที่ผมเคยตีความเขียนบันทึกชุด จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ ออกเผยแพร่เมื่อ ๖ ปีมาแล้ว  (https://www.gotoknow.org/posts/tags/จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ )    บอกว่าการเรียนรู้ในมิติที่ลึกเป็นกระบวนการทางสมองที่ซับซ้อน    ต้องการใช้ working memory มาก    แต่ working memory ของคนเรามีจำกัด    จึงต้องมีวิธีใช้ working memory อย่างทรงประสิทธิภาพ    การฝึกซ้อม (practice) จะทำให้บางกิจกรรมที่เมื่อทำครั้งแรกๆ ต้องใช้ working memory   แต่หลังจากนั้นจะทำได้อย่างอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้  working memory    ก็จะสามารถมีพื้นที่ของ working memory เหลือสำหรับใช้จดจ่อกับกิจกรรมอื่นๆ ในกิจกรรมที่ซับซ้อนนั้น   ก็จะทำให้เรียนรู้ได้ครบถ้วนและลึก ที่เรียกว่าเกิด mastery  

อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า    “การคิด” เกิดจากมีการนำเอาชิ้นส่วนสารสนเทศมาประกอบกันเข้าในรูปแบบใหม่    สมองคนเรามีความสามารถรับชิ้นส่วนดังกล่าวเข้าไว้ในชั่วขณะเดียว (working memory) ไม่มาก    การฝึกฝนซ้ำๆ จะช่วยให้สมองดำเนินการกับบางชิ้นส่วนได้โดยอัตโนมัติ    มีพื้นที่รับชิ้นส่วนอื่นๆ เข้ามาใช้ประกอบกันได้มากขึ้น   

ผมเองมีความเชื่อ (ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) ว่า     เมื่อฝึกฝนการคิดอย่างถูกต้อง ด้วยการฝึกซ้ำๆ ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection)    และทำสม่ำเสมอ    working memory จะขยายใหญ่ขึ้น   แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่า working memory ขยายได้น้อยมาก    ซึ่งผมไม่เชื่อ    ผมสังเกตว่าคนที่ผมทำงานใกล้ชิดหลายคน มี working memory ใหญ่มากและซับซ้อน    ผมเชื่อว่าสภาพนั้นได้จากการฝึกฝนที่ถูกต้องด้วย ไม่ใช่ได้มาจากพันธุกรรมเพียงด้านเดียว  

อีกทฤษฎีหนึ่งที่ James Lang อ้างถึง อาจเรียกว่า ทฤษฎีการเรียนอย่างมีสติ จากหนังสือ The Power of Mindful Learning (2007, 2016) เขียนโดย Ellen Langer    ที่กล่าวว่าการเรียนรู้ทักษะใดก็ตาม ต้องฝึกจนทำได้โดยไม่ต้องคิด (เรียกว่า mastery learning)    ที่มีทั้งผลดีและผลเสีย    ผลเสียคืออาจเข้าสู่สภาพ overlearning   ที่เกิดความยึดมั่นถือมั่นในวิธีการนั้น   ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วแต่ละทักษะมีชิ้นส่วนของทักษะย่อยๆ ประกอบกัน    หากรู้จักฝึกเพิ่มเติมเฉพาะบางชิ้นส่วน ผลลัพธ์จะยิ่งดีขึ้นกว่าเดิม  

ทฤษฎีการเรียนอย่างมีสติประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ (๑) พร้อมที่จะเปลี่ยนทฤษฎีหรือแนวทาง  (๒) มีสติรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ที่อาจถูกละเลยเนื่องจากความชำนาญในงานนั้น  และ (๓) ตระหนักว่าความรู้มีข้อจำกัดเสมอ ข้อสรุปหรือทฤษฎีใดๆ ย่อมเป็นของชั่วคราว หรือเบื้องต้น ไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์    อ่านถึงตอนนี้ผมนักถึงทฤษฎีการเรียนรู้ double loop learning

การประยุกต์ใช้ทฤษฎีการเรียนอย่างมีสติ ประกอบด้วย 2A คือ activity กับ attitude    activity ที่ทำคือหมั่นตรวจตรา และตั้งข้อสงสัยในวิธีการที่ตนใช้    ส่วน attitude เป็นท่าทีเปิดรับการเปลี่ยนแปลง  

 

รูปแบบวิธีการ

อาจารย์ควรเปิดโอกาสให้นักศึกษามีโอกาสสั้นๆ แต่สม่ำเสมอ ในชั้น และอาจร่วมกับโอกาสออนไลน์ เพื่อฝึกฝนทักษะความรู้ตามเป้าหมาย ที่ตรงกับการสอบ    การฝึกนี้ไม่มีคะแนน    แต่ต้องได้รับคำแนะนำป้อนกลับจากอาจารย์  หรือจากเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน

ย้ำว่าการฝึกซ้อมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน ไม่ใช่ของการสอบ    โดยการเตรียมกระบวนการฝึกซ้อมมี ๓ ขั้นตอน

วิเคราะห์การประเมินผลและแบ่งออกเป็นส่วนๆ 

อาจารย์กำหนดว่าจะประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของรายวิชานั้นอย่างไรบ้าง    และแยกแยะออกเป็นกิจกรรมความรู้รายกิจกรรม พร้อมทั้งกำหนดลำดับความสำคัญที่นักศึกษาต้องทำได้ และระดับเกรดที่จะให้    อ่านถึงตรงนี้ ผมนึกถึง รูบริกการประเมินในหนังสือ ศาสตร์และศิลป์ของการสอน หน้า ๑๐ – ๑๑ (https://www.scbfoundation.com/publishing.php?project_id=292#publishing/292/16032)  

เมื่อได้รายการกิจกรรมความรู้แล้ว ก็นำมาคิดต่อว่าจะจัดกิจกรรมฝึกซ้อมอย่างไรให้แก่นักศึกษา    แต่ละกิจกรรมแตกออกเป็นกิจกรรมย่อยหรือชิ้นส่วนย่อยอย่างไรบ้าง  และมีวิธีประเมินและให้คะแนนอย่างไร

เขายกตัวอย่างแบบฝึกหัดให้นักศีกษานำเสนอด้วย PowerPoint  ว่านักศึกษาจะได้ฝึกกิจกรรมความรู้อะไรบ้าง ดังนี้

  • จัดสารสนเทศ หรือสาระให้พอดีทีละ ๑ สไลด์
  • สร้างสไลด์ให้มีตัวหนังสือจำนวนพอเหมาะ
  • ค้นหา เลือก และใส่ภาพ วีดิทัศน์ หรือเสียง ลงในสไลด์
  • มีความพอดีระหว่างคำพูดกับตัวหนังสือในสไลด์
  • มีเวลาพอ ที่จะให้ผู้ฟังทำความเข้าใจสาระของแต่ละสไลด์

ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า กิจกรรมดังกล่าวต้องการทักษะที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง

ย้ำว่า อาจารย์ต้องแจกแจงผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการออกเป็นกระบวนการย่อย ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้    และคิดเชื่อมโยงไปยังทักษะความรู้ที่นักศึกษาจะต้องฝึก     

นำส่วนย่อยมารวมกันเป็นชุด เพื่อให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติ

คิดกิจกรรม small teaching เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติในชั้นเรียน หรือฝึกปฏิบัติ ออนไลน์    โดยอาจจัดเวลา ๑๐ - ๑๕ นาทีก่อนจบคาบ ให้นักศึกษาได้ฝึก   เช่นให้เขียนสรุปประเด็นสำคัญของคาบนั้น เฉพาะส่วนที่อาจารย์กำหนดไว้แล้วว่าเป็นสาระส่วนที่สำคัญที่สุดในคาบ    หรืออาจให้นักศึกษาจับคู่ ช่วยกันทำสไลด์ PowerPoint นำเสนอ หลักการ ก ในบทเรียนคาบนั้น ลงในสไลด์แผ่นเดียว สำหรับใช้อธิบายแก่คนทั่วไป     แล้วใช้เวลา ๑๐ นาทีตอนท้ายคาบถัดไป ให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งนำเสนอผลงาน    ตามด้วยคำแนะนำป้อนกลับ    โดยต้องไม่ลืมเตือนนักศึกษาว่า อย่าอ่านตัวหนังสือในสไลด์ ในการนำเสนอ    เพราะจะมีผลลดการเรียนรู้ ที่เรียกว่า redundancy effect   ซึ่งหมายความในทางตรงกันข้ามว่า การพูดนำเสนอจากความเข้าใจของตน จะช่วยให้การเรียนรู้ดีขึ้น          

นอกจากนั้น ควรเตือนนักศึกษาให้ระลึกถึง Goldilocks’ principle ในการใช้สไลด์และถ้อยคำในการนำเสนอ   ว่าต้องใช้ทางสายกลาง ไม่มากไม่น้อยเกินไป   

การที่นักศึกษาได้ฝึกทำสไลด์นำเสนอ   และได้มีโอกาสนำเสนอต่อเพื่อนๆ ในชั้น   เป็นการฝึกซ้อมการใช้ความรู้ที่ทำได้สะดวกที่สุด และเห็นผลชัดเจน  

ให้คำแนะนำป้อนกลับ 

การฝึกปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้อย่างรู้จริงต้องการคำแนะนำป้อนกลับ (feedback) เพื่อการปรับปรุงและทำความเข้าใจสาระนั้นให้ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขี้น    โดยอาจารย์หรือครูทำหน้าที่เป็นโค้ช ประเมินการปฏิบัติของนักศึกษา  แล้วให้คำแนะนำป้อนกลับ ให้นักศึกษาปรับปรุงตนเองในประเด็นที่จำเพาะ    รายละเอียดของการประเมินเพื่อพัฒนา และการให้คำแนะนำป้อนกลับอยู่ในหนังสือ การประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ และใน บล็อกชุด ประเมินเพื่อมอบอำนาจ (https://www.gotoknow.org/posts/tags/dylan_Wiliam)

การให้คำแนะนำป้อนกลับต่อการฝึกปฏิบัติในชั้นเรียน ต้องทำทั้งต่อนักศึกษาทั้งชั้น และต่อนักศึกษาเป็นรายคน    และให้คำแนะนำถูกจังหวะ    โดยผู้ทำหน้าที่โค้ชต้องรู้ว่าในเรื่องนั้นมีประเด็นสำคัญจุดไหนบ้างที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ    และไม่ปล่อยให้ผลงานด้อยคุณภาพผ่านเลยไปโดยไม่แนะนำให้นักศึกษารู้ว่ายังทำได้ไม่ดี และปรับปรุงแก้ไขเสีย โดยนักศึกษาอาจต้องกลับไปฝึกฝนซ้ำๆ อีกหลายครั้ง   

การให้คำแนะนำป้อนกลับต่อนักศึกษารายคนต่อหน้าเพื่อนทั้งชั้น อาจเป็นความเจ็บปวด เสียหน้า ต่อนักศึกษาผู้นั้น   อาจารย์จึงต้องอธิบายให้นักศึกษาทั้งชั้นเข้าใจ ว่ากระบวนการดังกล่าวมีคุณค่าต่อการเรียนรู้เพียงใด    ทั้งต่อนักศึกษผู้นั้น และต่อนักศึกษาทั้งชั้น   โดยที่นักศึกษาต้องฝึกความอดทน ฝึกมองการได้รับคำแนะนำป้อนกลับในด้านบวก    ไม่มองเป็นข้อตำหนิ  หรือการทำให้เสียหน้า    รวมทั้งอาจารย์ต้องมีวิธีพูดและท่าทางที่เน้นการเรียนรู้ปรับปรุง หรือท่าทีเชิงบวกด้วย   

ในทำนองเดียวกัน อาจารย์สามารถประเมินผลงานและให้คำแนะนำป้อนกลับทาง ออนไลน์ ได้ด้วย    โดยเลือก (หรือสุ่ม) เข้าไปประเมินผลงานของนักศึกษาพียงบางคน     แล้วให้คำแนะนำป้อนกลับต่อนักศีกษาผู้นั้นเป็นรายคน    และใช้ในการให้คำแนะนำประเด็นที่พึงปรับปรุงต่อนักศึกษาทั้งชั้น 

อาจารย์ต้องเอาใจใส่จับประเด็นสำคัญๆ ที่นักศึกษามักบกพร่อง    สำหรับนำไปให้คำแนะนำต่อทั้งชั้น    โดยต้องหาวิธีทำให้นักศึกษาได้รับทั้งคำแนะนำป้อนกลับเป็นการส่วนตัว  และได้รับร่วมกันในชั้นเรียน    โดยนักศึกษาทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียมกัน   

อาจารย์พึงใช้กิจกรรมให้คำแนะนำป้อนกลับในการสร้าง growth mindset ให้แก่นักศึกษา   รวมทั้งฝึกการเรียนรู้อย่างมีสติ ตามแนวทางของ Ellen Langer ที่กล่าวแล้ว  

การให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดี ทำโดยตั้งคำถาม why   ทำไมจึงทำเช่นนี้  ทำไมไม่ทำแบบอื่น   เคยเห็นผลงานเรื่องนี้ที่ประทับใจไหม   ผลงานนั้นมีลักษณะแบบใด   ทำไมเจ้าของผลงานจึงผลิตผลงานเยี่ยมเช่นนั้นได้    ฯลฯ    หลักการในการตั้งคำถามคือ ชวนให้นักศึกษาฝึกมองเรื่องนั้นในภาพที่ใหญ่ขึ้น ยกระดับขึ้น  

 

หลักการ

ให้เวลาฝึกในชั้นเรียน

ให้นักศึกษาได้ฝึก และให้ได้รับคำแนะนำป้อนกลับในห้องเรียน หรือในชั้นเรียนที่เรียนร่วมกัน ออนไลน์   การให้นักศึกษาฝึกเองโดยไม่มีอาจารย์ทำหน้าที่โค้ชอาจก่อผลร้าย  คือ (๑) เกิด overlearning  (๒) ทำซ้ำๆ โดยขาดสติตรวจสอบ  (๓) เกิดนิสัยเสีย ขยันแต่ไม่ได้เรียน  

อย่าลืมว่า เรากำลังพูดเรื่อง small teaching   ดังนั้นต้องจำกัดให้ใช้เวลาเพียงสั้นๆ

กระจายเป็นช่วงสั้นๆ

มีผลการวิจัย บอกว่าหากมีเวลาฝึก ๖๐ นาที    การกระจายออกเป็นช่วงฝึก ๑๕ นาที  รวม ๔ ครั้งห่างๆ กัน    ให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ดีกว่าการฝึก ๖๐ นาทีรวดเดียว    

ฝึกอย่างมีสติ

การฝึกซ้ำๆ ช่วยให้ทำกิจกรรมทางความคิดได้คล่องและเป็นอัตโนมัติ ในทำนองเดียวกันกับการฝึกชู้ตบาสเก็ตบอลล์ หรือตีเทนนิส ซึ่งเป็นกิจกรรมทางกาย    การฝึกจะได้ผลดีหากมีการหยุดเป็นช่วงๆ เพื่อไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflect)   

 

เคล็ดลับ (สำหรับอาจารย์) เรื่องการสอนเล็กน้อยด้วยการฝึกฝน

หลักการสำคัญคือ การฝึกฝนอย่างมีสติ    โดยอาจารย์ควรดำเนินการ

  • ก่อนเริ่มภาคการศึกษา อาจารย์ทำรายการทักษะทางความคิด (cognitive skill) ที่ครบถ้วน   ที่นักศึกษาจะต้องคล่องแคล่ว หากจะประสบความสำเร็จในการเรียนรานวิชานี้ 
  • จัดลำดับความสำคัญ ของรายการดังกล่าว ที่นักศึกษาต้องฝึกก่อนหลัง
  • ทบทวนกำหนดการเรียนการสอนของรายวิชา    และกำหนดว่าจะสอดใส่การฝึกทักษะใดในช่วงใด    โดยเป็น small teaching  ก่อนการสอบใหญ่  
  • ทำตามแผน  โดยให้มั่นใจว่านักศึกษาได้ฝึกทักษะที่ต้องใช้ในการสอบ  จนมีทักษะคล่องแคล่ว    ซึ่งหมายความว่า ต้องฝึกหลายครั้ง

 

สรุป

ห้องเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ใช่สถานที่สำหรับนักศึกษานั่งนิ่งๆ ฟังอาจารย์บรรยาย    แต่เป็นสถานที่สำหรับนักศึกษาลงมือปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้ของตน    หน้าที่ของอาจารย์ในศตวรรษที่ ๒๑ คือ  วางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ของศิษย์    ให้มีกิจกรรม small teaching สอดแทรกอยู่อย่างเหมาะสม    โดยในตอนที่ ๖ นี้กล่าวถึงการฝึกทักษะทางความคิด (cognitive skill) ที่สำคัญต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ของรายวิชานั้นๆ    โดยอาจารย์ทำหน้าที่โค้ช คือประเมินแล้วให้คำแนะนำป้อนกลับ เพื่อให้นักศึกษาปรับปรุงพัฒนาทักษะนั้นๆ   


วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.พ. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 645033เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2018 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2018 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท