รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒-๒๕๖๐ (๕) "เศรษฐกิจพอพียง" กับ "ความพอเพียง"


ก่อนจะจบบันทึกที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปการศึกษาพระราชดำรัสวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ถึงสิ่งที่ทรงแนะนำเพื่อแก้ไขและป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนี้ว่า

  • ให้ทำ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" สัก ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน 
  • "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ภาษาฝรั่งเรียกว่า "Self-Sufficient Economy" 
  • "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ตรงข้ามกับ "เศรษฐกิจแบบค้าขาย" ซึ่งฝรั่งเรียกว่า "Trade Economy"
  • คำว่า "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ไม่ใช่ "เศรษฐกิจพอเพียง" 
  • "เศษฐกิจพอเพียง" เป็นคำใหม่ ไม่มีในบัญญัติของฝรั่ง ทรงใช้คำว่า Suffiency Economy 
  • "เศรษฐกิจพอเพียง" คือ การทำ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามยุคสมัย  เช่น  ทรงแนะให้ใช้ประมาณ ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน กล่าวคือ ผลิตและใช้เอง ๑ ส่วน แลกเปลี่ยนกับคนอื่นสัก ๓ ส่วน 
  • "เศรษฐกิจพอเพียง" จะทำให้ คนไทย "พออยู่ พอกิน" มีอยู่ มีกิน ไม่เดือดร้อน 
หลังจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสถึง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ต่างสนใจ เรียนรู้ และนำมาใช้กับตน ๆ  สื่อต่าง ๆ ต่างช่วยกันขยายเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง  แต่ผ่านไป ๑ ปี แทนที่จะเข้าใจและน้อมนำไปใช้อย่างถูกต้อง แต่คนไทยส่วนใหญ่กับไม่เข้าใจ รวมไปถึงดอกเตอร์ที่มีหน้าที่ขยายทำความเข้าใจกลับเข้าใจผิด จึงเป็นที่มาให้พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึง "เศษรฐกิจพอเพียง" อีกครั้งในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ดังคลิปนี้

เว็บไซต์ของสำนักข่าวเจ้าพระยาได้ถอดเทปและเผยแพร่ไว้ที่นี่ ขอคุณความดีนี้จงตอบแทนให้ท่านเจริญ ๆ


ขออัญเชิญพระราชดำรัส ในหลวง ร.๙ วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ดังต่อไปนี้

ต้องพูดเข้าในเรื่องเลย เพราะหนักใจว่า แม้แต่คนที่เป็นดอกเตอร์ก็ไม่เข้าใจ อาจจะพูดไม่ชัด แต่เมื่อกลับไปดูที่เขียนจากที่พูด ก็ชัดแล้วว่าควรจะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงไม่ต้องทั้งหมด เพียงครึ่งหนึ่งก็ใช้ได้ แม้จะเป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ หมายความว่าวิธีปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ต้องทำทั้งหมด และขอเติมว่าถ้าทำทั้งหมดก็จะทำไม่ได้ ถ้าครอบครัวหนึ่ง หรือแม้หมู่บ้านหนึ่งทำเศรษฐกิจพอเพียงร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นการถอยหลังถึงสมัยหิน สมัยคนอยู่ในอุโมงค์หรือในถ้ำ ซึ่งไม่ต้องอาศัยหมู่อื่น เพราะว่าหมู่อื่นก็เป็นศัตรูทั้งนั้น ตีกัน ไม่ใช่ร่วมมือกัน จึงต้องทำเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละคนต้องหาที่อยู่ ก็หาอุโมงค์หาถ้ำ ต้องหาอาหาร คือไปเด็ดผลไม้หรือใบไม้ตามที่มี หรือไปใช้อาวุธที่ได้สร้างได้ประดิษฐ์เอง ไปล่าสัตว์ กลุ่มที่อยู่ในอุโมงค์ในถ้ำนั้น ก็มีเศรษฐกิจพอเพียง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ปฏิบัติได้

แต่ต่อมาเมื่อออกจากถ้ำ ในสมัยต่อมา ที่สร้างบ้านเป็นที่อาศัย ก็เริ่มจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหลือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามีคนไปผ่านมา ซึ่งไม่ได้เป็นศัตรู เอาอะไร ๆ มาแลกเปลี่ยนกัน เช่นคนที่มาจากไกล ผ่านมามีหนังสัตว์ที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ก็ซื้อด้วยการแลกเปลี่ยนด้วยอาหาร เช่นปลาที่จับได้ในบึง อย่างนี้ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เวลาก้าวล่วงมาอีก มาถึงปัจจุบันนี้ ถ้าคนที่อยู่ทั้งข้างนอกทั้งข้างในนี้ จะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง 100 เปอร์เซ็นต์ คงทำไม่ได้ และถ้าสำรวจตัวเอง หรือเศรษกิจของตัวเอง ก็เข้าใจว่า จะเห็นได้ว่าไม่ได้ทำ เข้าใจว่าทำได้ไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ถึงเศษหนึ่งส่วนสี่ เพราะว่าสิ่งที่ตนผลิตหรือทำ ส่วนใหญ่ก็เอาไปแลกกับของอื่นที่มีความจำเป็น ฉะนั้นจึงพูดว่าเศรษฐกิจพอเพียง ปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็ควรจะพอและทำได้ อันนี้เป็นข้อหนึ่ง ที่จะอธิบายคำพูดที่พูดมาเมื่อปีที่แล้ว


คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ ถ้าใครได้มาอยู่ที่นี่ ในศาลานี้ เมื่อ เท่าไหร่ 20  24 ปี เมื่อปี 2517  2517 ถึง 2541 นี้ ก็ 24 ปี ใช่ไหม วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกินพอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้น ก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน  จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น Self-sufficiency(พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้ กว้างขวางกว่า Self-sufficiency คือ Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรที่มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง)


บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง คำว่ายืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคนพูดว่าชอบกล ใครจะมายืนบนขา คนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลง อันนี้ก็เป็นความคิดที่อาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่า เป็นตามที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง (ซึ่งแปลว่าพึ่งตนเอง) หมายความว่าสองขาของเรานี่ ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน แต่พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด – อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ – มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง


เคยพูดว่า ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าอยากจะไปนั่งบนเก้าอี้ของผู้ที่อยู่ข้างๆ เช่นนี้ไม่พอเพียง และทำไม่ได้ ถ้าอยากนั่งอย่างนั้นก็เดือดร้อนกันแน่ เพราะว่าอึดอัด จะทำให้ทะเลาะกัน เมื่อมีการทะเลาะกัน ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ฉะนั้นควรที่จะปฏิบัติสิ่งที่พอเพียง ทางความคิดก็เหมือนกัน ไม่ใช่ทางกายเท่านั้น ถ้ามีใครมีความคิดอย่างหนึ่ง และต้องการบังคับให้คนอื่นคิดอย่างเดียวกับตัว ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูก ก็ไม่สมควรทำ ปฏิบัติอย่างนี้ก็ไม่ใช่การปฏิบัติแบบพอเพียง ความพอเพียงในความคิดก็คือ แสดงความคิดของตัว ความเห็นของตัว และปล่อยให้อีกคนพูดบ้าง และมาพิจารณาว่าที่เขาพูด กับที่เราพูด อันไหนพอเพียง อันไหนเข้าเรื่อง ถ้าไม่เข้าเรื่องก็แก้ไข เพราะว่าถ้าพูดกันโดยที่ไม่รู้เรื่องกัน ก็จะกลายเป็นการทะเลาะกัน จากการทะเลาะด้วยวาจาก็กลายเป็นการทะเลาะด้วยกาย ซึ่งในที่สุดก็นำมาสู่ความเสียหาย เสียหายแก่ผู้ที่เป็นตัวละครทั้งสองคน ถ้าเป็นหมู่ก็เลยเป็นการตีกันอย่างรุนแรงได้ ซึ่งจะทำให้คนอื่นอีกมากเดือดร้อน


ฉะนั้น ความพอเพียงนี้ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะต้องอธิบายคำว่าพอเพียงที่คนไม่เข้าใจเมื่อปีที่แล้ว และไม่เข้าใจจนกระทั่งถึงประมาณ 2-3 อาทิตย์นี้ ที่แปลกที่สุด คนที่มาพูดก็นึกว่าเขาเข้าใจ เพราะว่าเป็นคนที่เคยได้คุยด้วยมาก และก็คุยในเรื่องพรรณอย่างนี้ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความหมายของคำต่างๆ แต่ก็ยังไม่วาย ฉะนั้นจึงต้องอธิบายอย่างกว้างขวางพอใช้ ไม่ทราบว่าวันนี้พูดเข้าใจหรือไม่ ถ้าพูดไม่เข้าใจวันนี้อาจจะต้องอธิบายต่อปีหน้า (เสียงหัวเราะ) เพราะน่าเบื่อถ้าต้องอธิบายต่อไปอย่างนี้ คนที่อยู่ต่อหน้านี่ก็ชักจะง่วง (เสียงหัวเราะ) แต่ว่านี่ก็ได้อธิบาย ที่ท่านทั้งหลายหัวเราะ ก็คงแปลว่าท่านก็เริ่มเข้าใจนิดหน่อย(เสียงหัวเราะ) ก็ดีแล้ว เข้าใจนิดหน่อย ดีกว่าไม่เข้าใจ

มีผู้นำเสนอเป็นแผนผังดังภาพด้านล่าง และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวเจ้าพระยา (ดูได้ที่นี่) ผู้เขียนนำมาวาดใหม่ ให้มีสีต่างๆ ให้ดูง่ายขึ้น 


ขออัญเชิญพระราชดำรัสในส่วนที่ให้ความหมายของ "ความพอเพียง" อย่างชัดเจนอีกครั้ง ดังนี้ 

คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง

และจากการอ่านวนเวียนหลายรอบและพิจารณาอย่างไคร่ครวญแล้ว ผู้เขียนได้สรุปกับตนเองดังนี้ว่า

  • คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ทรงตรัสในปี ๒๕๔๐ ก็คือ "พอมีพอกิน" ที่ทรงมีพระราชดำรัสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ (๔๓ ปีที่แล้ว) (๒๔ ปีก่อนวิกฤตเศษรษฐกิจ)
  • สมัยก่อนเราพอมีพอกิน แต่มาสมัยนี้คนไทยไม่พอมีพอกินเสียแล้ว (บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ๆ ) จึงต้องมีนโยบายให้ทำเศรษฐกิจพอเพียง 
  • "เศรษฐกิจพอเพียง" (Sufficiency Economy) อยู่ตรงกลางระหว่าง "เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง" (Self-Sufficiency Economy) กับ "เศรษฐกิจแบบทุนนิยม" (Trade Economy) 
  • คำว่า "ความพอเพียง" หรือ "พอเพียง" มีความหมายกว้างกว่าคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" 
  • คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องกายภาพ เรื่องปากท้อง ปัจจัยสี่ ส่วนคำว่า "พอเพียง" หรือ "ความพอเพียง" มีความหมายกว้างออกไปครอบคลุมความคิดและการกระทำ พูดจาก็ต้องพอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง 

หลังจากได้ฟังพระราชดำรัสนี้แล้ว ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและรวบรวมพระราชดำรัสเกี่ยวกับ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ใช้เวลา ๖ เดือน ก่อนนำขึ้นถวายให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและบรมราชานุญาตเผยแพร่ต่อประชาชนคนไทยในเวลาต่อมา

หมายเลขบันทึก: 645014เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2018 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2018 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท