การออกแบบสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ : กระบวนการเรียนรู้บนผลงานซุ้มรับปริญญาของนักศึกษา


ทุกปีเมื่อถึงงานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นักศึกษารุ่นที่กำลังศึกษาในปัจจุบันของปีนั้นๆ จะร่วมกันทำซุ้มเพื่อมอบให้กับรุ่นพี่ของพวกเขา ซึ่งซุ้มดังกล่าว ก็จะเป็นทั้งสื่อหมายเหตุความทรงจำในห้วงเวลาที่มีความหมายที่สุดครั้งหนึ่งต่อความสำเร็จของชีวิตการศึกษา ก่อนอำลาทุกสิ่งอย่างของชีวิตการศึกษาในมหาวิทยาลัย ออกไปสู่โลกแห่งชีวิตการงาน อีกทั้งเป็นแหล่งที่รุ่นน้องจะรอต้อนรับการกลับมาเยือนของรุ่นพี่ ร่วมแสดงความยินดี ร่วมถ่ายภาพ สร้างความหมายที่ดีงามสืบสานและส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น   

ในแต่ละปี นักศึกษาปี 2 จะพานักศึกษาปี 1 ให้ได้ร่วมกันทำซุ้มดังกล่าวนี้  คณาจารย์และที่ปรึกษาต่างๆ จะได้เห็นแนวคิดและการวางแผนในการทำสิ่งต่างๆ ผ่านการประชุมระดมความคิด และได้เห็นการรวมกลุ่มกันทำเป็นระยะๆของนักศึกษา แต่จะไม่รู้ในรายละเอียดเลยว่าผลสำเร็จขั้นสุดท้าย จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร นักศึกษาจึงมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ได้คิดริเริ่มและสร้างสรรค์ ฝากสปิริต ฝากความคิดอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะรุ่น และฝากฝีไม้ลายมือ สะท้อนลงสู่ผลงานของแต่ละรุ่นได้มากพอสมควร หมู่รุ่นพี่ คณาจารย์ ที่ปรึกษา และรวมทั้งผม  ก็จะพลอยได้ตื่นตาตื่นใจไปกับสีสันและการคิดทำซุ้มดังกล่าวนี้ไปด้วยทุกปี   

ผมเองนั้น ความที่ชอบดูและชื่นชมงานเชิงความคิด ความมีศิลปะ ความฉลาดคิดฉลาดทำ ความรอบรู้ มีสายตาที่ให้พลังคิดสร้างสรรค์และให้ความบันดาลใจแก่ผู้พบเห็น  ที่สอดแทรกอยู่กับสิ่งต่างๆไปด้วยแล้ว ก็มักจะติดตามชม เดินชม รวมทั้งในฐานะที่เป็นครูอาจารย์ของพวกเขาด้วย ก็จะถือโอกาสเหมือนเดินดูผลงานเชิงสะท้อนผลการศึกษาเล่าเรียน ผลการเติบโตงอกงามภายใน และความมีอิสรภาพ เป็นตัวของตัวเองทั้งในทางปัญญาและการคิดแสดงออกต่างๆของเหล่านักศึกษาที่ร่วมกันทำและฝากผลงานซุ้มในทุกๆปีไปด้วย ซึ่งบ้างก็จะทำให้สามารถเห็นความหยุดนิ่งของการคิดสร้างสรรค์ บ้างก็เห็นภาพสะท้อนของการมีแต่องค์ประกอบทางวัตถุสิ่งขอ แต่ไม่เห็นความคิด บ้างก็เห็นฉลาดคิดและทำ บ้างก็เห็นพลังของการทุ่มเท พิถีพิถัน คัดสรร เลือกเฟ้น จริงจัง ซึ่งแม้จะงามบ้าง ไม่งามบ้าง ธรรมดาทั่วๆไปบ้าง แต่ทั้งหมด ก็ประกอบกันเป็นความดีงาม งดงาม หลากหลาย แตกต่าง เป็นหมายเหตุชีวิตและหมายเหตุความทรงจำ รวมทั้งเป็นวัฒนธรรมของหมู่คณะและขององค์กร ที่ดีงามน่าชื่นชมและน่าส่งเสริม     

ผมเองนั้น  เคยรับจัดหน้าร้านและจัดแสดงสินค้า รวมทั้งคุ้นเคยตลอดชีวิตกับการจัดแสดงงานศิลปะ แตรงวง ดนตรี และสื่อการแสดง ซึ่งการที่จะรู้ว่าความไพเราะ ความสวยงาม ความสามารถสะดุดและสื่อถึงจิตใจ ให้ผู้คนเข้าถึงความเป็นสาธารณะและความแพร่หลายของชุดความหมายบางอย่างจากสื่อและสิ่งแสดงต่างๆได้อยู่เสมอนั้น  ต้องอาศัยองค์ประกอบพื้นฐานอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ  การสามารถเห็นความหมายและการรู้สึกร่วมกับสาธารณชน  (Sense of mass)  ดังนั้น  การได้ชมและได้เห็นสิ่งเหล่านี้  ก็เลยจะทำให้เห็นแนวการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านต่างๆของนักศึกษาของตนเองไปด้วย โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติและทำได้   

บางปีผมก็เห็นได้เลยว่านักศึกษาออกแบบความหมายในองค์ประกอบของสิ่งต่างๆไม่ดี  บางปีออกแบบสร้างสรรค์เชิงศิลปะไม่ดี  ออกแบบและจัดวางองค์ประกอบไม่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและการใช้สอยหรือเออกอนอมิคส์ไม่ดี  ออกแบบเชิงระบบนิเวศและจัดวางให้กลมกลืนสิ่งแวดล้อมไม่ดี ใช้องค์ประกอบของธรรมชาติไม่เป็น วางโครงสีไม่ดี องค์ประกอบของรูปฟอร์มและการเล่นกับสเปซและพื้นที่ความหมายทางศิลปะไม่ดี ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น ข้อสังเกตเหล่านี้ ทำให้เมื่อ 3-4 ปีก่อน ผมขอต้อนรับนักศึกษาที่เข้ามาตั้งแต่ปีแรกด้วยการแจกสมุดสเก๊ตช์และพาหัดใช้มือทำงานความคิดบทกระดาษและสมุดสเก๊ตช์ทุกคน  การคุ้นเคยกับการคิดเป็นภาพ และสะสมประสบการณ์ในการเห็นผลการลงมือของตนเองมากๆ  จะทำให้นักศึกษาสามารถสื่อความคิดและทำงานคิดสร้างสรรค์ทั้งเดี่ยวและเป็นกลุ่มได้ดีขึ้น  ทุกปีเริ่มมีนักศึกษาเดินถือสมุดสเกตช์อยู่ในมือ ยามว่าง หรือเมื่อต้องการทำงานความคิด ก็เริ่มมีคนที่ใช้การคิดเป็นภาพ ถือสมุดติดมืออยู่เสมอมากขึ้น ผมยังคิดว่าต่อไปจะเปิดห้องเรียนศิลปะเพื่อพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ ทั้งให้กับเด็กนิเทศศาสตร์บูรณาการและคนแม่โจ้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะเห็นความสำคัญและเห็นความจำเป็น ที่สะท้อนจากการเรียนรู้เองด้วยการลงมือปฏิบัติทำซุ้มนี้ของนักศึกษา  

ปีนี้ผลงานทำซุ้มของนักศึกษาดีและมีองค์ประกอบหลายด้าน แตกต่างอย่างก้าวกระโดดจากรุ่นก่อนๆที่เคยเห็น เลยต้องเดินชม บันทึก พิจารณาและรายงานเก็บรวบรวมพัฒนาการและความเคลื่อนไหวต่างๆที่ดีๆในอีกมิติหนึ่งไว้  

ซุ้มปีนี้ นักศึกษาออกแบบและทำองค์ประกอบทั้งหมดที่สามารถเห็นความคิดในการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ ที่เชื่อมโยงไปสู่แนวคิดหลักและเอกลักษณ์ในความเป็นนิเทศศาสตร์บูรณาการ คณะศิลปศาสตร์ และความเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พวกเขาใช้ลานเอนกประสงค์และพื้นที่ความเป็นสีเขียวเพื่อสุขภาวะและความสมดุลของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติของคณะ (Green-eco space Liberal Arts and Maejo University) ทำซุ้มซึ่งออกแบบความหมายสื่อถึงความเป็นสาขานิเทศศาสตร์บูรณาการ  จัดวางช่องว่าง สร้างขนาดและสัดส่วน ที่เหมาะสำหรับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งแล้วถ่ายภาพให้สวยงาม ซึ่งในยุคใหม่จะมีความหมายมากต่อการทำให้เกิดการสื่อ เล่าขาน บอกต่อ และแพร่กระจายต่อเนื่องไปกับการถ่ายภาพ  

นักศึกษาทำนกพับกระดาษ คงจะจำนวนหลายพันตัว และคงต้องช่วยกันทำ อย่างร่วมแรงร่วมใจ จากนั้น ก็ร้อยเป็นสาย ผูกโยงบนกิ่งต้นปาล์ม แผ่คลุมอาณาบริเวณสนามโดยรอบซุ้ม ลักษณะของซุ้มออกแบบด้วยรูปทรงและการจัดวางแบบลดทอน สร้างมิติความงามที่เรียบง่าย หรือแนว Minimallism ตบแต่งสีสันด้วยวัสดุคอนเจือด้วยกลุ่มสีประจำคณะ ซึ่งเป็นกลุ่มสีชมพู และในแง่ของศิลปะสื่อนั้น ก็สร้างคอนทราสต์ด้วยโครงสีที่เข้ากันและส่งเสริมกันใด้อย่างเหมาะสม ที่ตัวซุ้ม มีม่านเครื่องแขวน ทำจากการตัดวัสดุสะท้อนแสงเป็นชิ้นเล็กๆแล้วร้อยเป็นเส้นยาว  แขวนเป็นริ้วแนวเดียวกัน เมื่อโดนแสงแดดส่องและพลิ้วไหวไปกับแรงลม  ก็เกิดแสงวิบวับกระจาย ได้ความรู้สึกที่ว่องไว สมัยใหม่ มีชีวิต  

นกเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของสื่อและการสื่อสาร เมื่อนักศึกษาพันนกกระดาษร้อยเป็นทางยางมากมายหลายเส้นแล้วแขวนเชื่อมโยงต้นปาล์มคลุมอาณาบริเวณทั้งหมดไว้  จึงทำให้องค์ประกอบต่างๆเกิดมิติบูรณาการ ผสานกลมกลืน  ต่างเป็นองค์ประกอบเชื่อมโยงและส่งเสริมกันให้เกิดชุดความหมายที่สะท้อนความเป็นนิเทศศาสตร์บูรณาการ ของคณะศิลปศาสตร์ และบนความเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้  

เป็นการออกแบบสร้างสรรค์สื่อและการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ อีกทั้งมีศิลปะของสื่อ ใช้ได้พอสมควรเลยทีเดียว.

หมายเลขบันทึก: 644821เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบการมองในมุมศิลปะที่เห็นความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมของอาจารย์มากค่ะ

เป็นแรงบันดาลใจให้ไปหาคุณครู  อยากเรียน Sketch ภาพ บ้างค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท