คลังความรู้ (KM)


  • คลังความรู้

เพื่อเปิดโอกาสให้ อาจารย์และบุคลากรได้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในประเด็น เรื่อง

การจัดการความรู้โดยการสะท้อนคิด โดยแบ่งเป็น ๒ COPs ได้แก่

 ๒.๑ COPs ๑ การแลกเปลี่ยนและสะท้อนคิดระหว่างอาจารย์ เรื่อง ความสำเร็จของการสอนโดยการสะท้อนคิด

 ๒.๒ COPs ๒ การแลกเปลี่ยนและสะท้อนคิดของบุคลากร เรื่อง  การจัดการเกี่ยวกับการจัดจ้าง (พัสดุ)ในการบริการ

 

COPs ๑ การแลกเปลี่ยนและสะท้อนคิดระหว่างอาจารย์: ความสำเร็จของการสอนโดยการสะท้อนคิด

 

 Storytelling ๑ การเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจร่วมกัน การเรียนรู้ที่จะเกิดการพัฒนาได้คือการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน โดยการสะท้อนคิดทั้งตัวผู้สอนและตัวผู้เรียน

          “ตอนที่ต้องคิดหัวข้องานวิจัยในการศึกษา ไม่รู้ว่านักศึกษาจะหาหัวข้อได้ไหม? จะเลือกเรื่องที่ตนเองสนใจหรือเปล่า ในขณะเดียวกันตนเองก็สะท้อนมองตนเองว่าถ้าเป็นตนเองจะทำอย่างไร? ซึ่งก็รู้ว่าการเลือกหัวข้องานวิจัยนั้นควรเลือกในสิ่งที่ตนเองสนใจ จึงได้แนะนำแค่ว่าให้เลือกในประเด็นหรือเรื่องที่ตนเองสนใจ และให้แต่ละคนคิดว่าตนเองสนใจเรื่องอะไร แล้วไปทบทวนวรรณกรรมและนำมาแลกเปลี่ยนร่วมกัน ในส่วนตัวเองก็ได้กลับมาทบทวนถึงการเรียนรู้ในสิ่งที่นักศึกษาให้ความสนใจ ทำให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน และท้ายสุดนักศึกษาก็นำประเด็นที่ตนเองสนใจมาแลกเปลี่ยนพร้อมกับมีเอกสารอ้างอิง จนคัดเลือกหัวข้อที่ทั้งกลุ่มให้ความสนใจมากที่สุด และหลังจากนั้นจึงเห็น

ได้เลยว่าทั้งกลุ่มให้ความสนใจและทำงานร่วมกันได้ดี เรียนรู้ไปด้วยกัน”

  

 Storytelling ๒ การสอนต้องสร้างแรงจูงใจให้ตัวผู้เรียนสะท้อนคิดถึงประโยชน์หรือมองถึงเป้าหมายของตนเองในการเรียนรู้ โดยใช้ธรรมชาติของวัยในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เป็นสถานการณ์ หรือบุคคลต้นแบบในการเชื่อมโยงการเรียนรู้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการเรียนรู้

          “ตนเองพบว่า มีนักศึกษาบ่นว่างานเยอะ และมองว่าการเขียนใบงานสะท้อนคิดไม่ได้ประโยชน์ ตนเองเห็นได้ว่านักศึกษาไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียน บ่นเข้ากลุ่มบ่อย เมื่อเจอสถานการณ์นี้ ตนเองได้กลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรกับนักศึกษาให้สะท้อนคิดให้ได้ถึงการเรียนรู้ ซึ่งช่วงนั้นมีรายการไมค์ทองคำ (อนันต์ อยากเป็นนักร้อง แต่เป็นชนเผ่า) ตนเองจึงยกตัวอย่างความลำบากของอนันต์ในการตามความฝันของตนเอง และให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนความฝันของกันและกัน พบว่าส่วนใหญ่อยากเป็นพยาบาลที่ดี ตนจึงให้นักศึกษาทบทวนเป้าหมายของตนเอง เมื่อทุกคนเริ่มมองเห็นถึงเป้าหมายของตนเองแล้ว ก็ให้ทุกคนปรบมือในการสร้างกำลังใจให้กับตนเอง สุดท้ายนักศึกษาก็สามารถกลับมาตั้งใจในการเรียนอีกครั้ง”

 

 Storytelling ๓ การสะท้อนคิดเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนระหว่างดำเนินการ โดยเริ่มจากการสะท้อนคิดตนเอง แล้วเปิดใจยอมรับในการที่จะเป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้จนเกิดความวางใจ ทำให้ยกระดับการเรียนรู้ที่สูงขึ้น

          “ในวิชาหลักการมีการสอบปฏิบัติการพยาบาลพื้นฐาน พบว่านักศึกษามีปัญหาเกี่ยวกับผลการประเมินในการสอบปฏิบัติในแต่ละครั้ง ตนเองจึงให้นักศึกษาได้เปิดใจและพูดคุยถึงปัญหาที่ตนเองสงสัย รวมทั้งมีการประชุมทีมอาจารย์ผู้ร่วมการสอนในรายวิชา เกี่ยวกับปัญหาในเรียนการสอนและการเกณฑ์การประเมินผล เมื่อได้ทราบถึงปัญหาจึงร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ซึ่งพอมาสะท้อนคิดจึงพบว่าปัญหามันเกิดจากความไม่เข้าใจ และจากประสบการณ์ในการสอนของอาจารย์ในแต่ละคน เมื่อได้ข้อสรุปในการหาทางแก้ไขจึงได้ชี้แจงกับนักศึกษาและทีมผู้สอนร่วมในรายวิชาในรูปแบบของการประเมินผลให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งนักศึกษาได้เกิดการยอมรับและวางใจในเกณฑ์การประเมินผลที่ชัดเจนมากขึ้น”

 

 Storytelling ๔ ความสำเร็จตามเป้าหมายในการเรียนรู้ สามารถสะท้อนได้จากการมีโจทย์ หรือประเด็นปัญหาที่มีความสอดคล้อง หรือความสัมพันธ์ของเนื้อหาวิชาจึงจะกระตุ้นการเรียนรู้

“ตนเองเมื่อพูดถึงการสอนแบบสะท้อนคิด ก็มีความในใจตลอดว่า คิดอะไร และพอได้นำไปใช้กับนักศึกษาก็รู้สึกว่าสิ่งที่นักศึกษาเขียนออกมาไม่ได้อย่างที่เราคาดหวังไว้ ตนเองจึงสะท้อนคิดว่าเป็นเพราะเราเองยังมีทักษะเกี่ยวกับการสอนแบบสะท้อนคิดยังไม่ดีพอ หรือนักศึกษายังไม่มีทักษะในการสะท้อนหรือวิเคราะห์เรื่องราวในการเขียนออกมา ตนเองจึงได้ใช้ตัวอย่างหรือสถานการณ์ เช่น คลิปวิดีโอ ในการฝึกทักษะให้นักศึกษาในแต่ละเรื่องนั้นตามบทเรียน และติดตามด้วยการให้นักศึกษาเขียนสะท้อนคิดเกี่ยวกับสถานการณ์นั้น”

 

Storytelling ๕ การประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ สามารถสะท้อนคิดให้ผู้เรียนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ และการประเมินการเรียนรู้ขั้นสูง

          “พบว่านักศึกษาที่เข้ารับการสอบภาคปฏิบัติไม่สามารถทำได้ถูกต้อง ตนจึงได้ใช้คำถามย้อนกลับเพื่อให้นักศึกษาได้สะท้อนคิดว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ เพื่อให้นักศึกษาได้สร้างความชัดเจนในการเรียนรู้ แต่พบว่าในการตอบคำถามในครั้งแรกนักศึกษาไม่สามารถตอบได้ตรงประเด็น ตนเองจึงให้นักศึกษากลับไปทบทวน และมาสอบใหม่ในครั้งที่สองก็ยังพบปัญหาเดิม ซึ่งตรงนี้ตนเองได้ทบทวนตนเองว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมนักศึกษาทำไม่ได้ ตอบไม่ได้  ตนเองจึงให้นักศึกษาย้อนกลับถามในสิ่งที่ตนเองสงสัยและได้ให้คำแนะนำ พร้อมให้กลับมาในครั้งที่สามซึ่งก็ยังพบปัญหาว่าไม่สามารถสอบปฏิบัติได้ถูกต้อง ตนเองจึงให้ข้อชี้แนะ ร่วมทั้งให้นักศึกษาซักถามกลับในข้อสงสัยอีกครั้ง และแนะนำเพื่อนที่ปฏิบัติได้ถูกต้องช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการซักซ้อม จนนักศึกษามาสอบในครั้งที่สี่ ซึ่งสามารถทำได้ถูกต้อง”

 

Storytelling ๖ การสะท้อนคิดถึงองค์ประกอบร่วมของการเรียนรู้ ทำให้เกิดการสร้างการเรียนรู้ที่มีความสมบูรณ์

          “ตนเองมีปัญหาที่ติดค้างในใจอยู่ตลอด เกี่ยวกับการให้คะแนนการตรวจใบงานสะท้อนคิด ในขั้นการวิเคราะห์ การทบทวนตนเองในการเรียนรู้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าต้องประมาณไหน เขียนแค่ไหนที่จะประเมินว่าใช่แล้ว แค่ไหนถึงจะตรงในเกณฑ์การประเมิน ในส่วนตนเองนั้นมองว่า หากการวิเคราะห์นั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงนั้น ก็ถือว่าเข้าได้กับเกณฑ์การประเมินแต่ก็ยังคงติดอยู่ในใจว่ามันแค่นี้จริงหรือ”


Storytelling ๗ การสะท้อนคิดอย่างมีพลัง ทำให้เกิดการเปิดใจยอมรับการเรียนรู้ใหม่ สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ และการถ่ายทอดความรู้ เปิดใจ ยอมรับ สะท้อนคิด จัดการกับความรู้ใหม่

          “เมื่อได้เริ่มสอนร่วมในครั้งแรกในรายวิชาที่ตนเองไม่ถนัดรู้สึกถึงความตื่นเต้น ประหม่าออกมาได้ชัด รู้สึกว่าตนเองพูดไม่รู้เรื่อง แต่ได้ผู้รู้คอยให้โอกาสชี้แนะและสร้างบรรยากาศให้ตนเองสามารถควบคุมการเรียนการสอนไปได้จนจบ และเมื่อตอนท้ายของการสอน ผู้รู้ได้ให้ตนเองพูดเกี่ยวกับมุมมองของการเรียนรู้จากมุมที่ตนเองถนัดกับนักศึกษารู้สึกว่าตนเองเกิดความผ่อนคลายและมีความมั่นใจมากขึ้น และเมื่อจบการเรียนการสอน ผู้รู้ได้ให้เราสะท้อนถึงความรู้สึกในการได้สอนครั้งแรกให้ฟัง และได้ชี้แนะถึงวิธีการสอน เทคนิคการสอนเพิ่มเติม โดยไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังถูกกดดัน แต่ทำให้เราได้สะท้อนคิดในตนเองว่า เราเองต่างหากที่ต้องเปิดใจยอมรับกับสิ่งใหม่ เปิดใจยอมรับจากตัวเราก่อน เมื่อตนเองคิดอย่างมีพลังทำให้ตนเองเกิดความรู้สึกอยากค้นคว้า เพื่อที่จะได้มีองค์ความรู้และมีการเตรียมพร้อมตนเองมากขึ้นให้สามารถเป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดที่ดีได้”

 

Storytelling ๘ คำถามจากผู้เรียนเป็นการสะท้อนให้คิดเริ่มจากตนเองในการทบทวนตนเอง

เกี่ยวกับความรู้ที่มีต่อการสอน คู่มือการสอน การเสริมสร้างความมั่นใจ และเทคนิคการสอนทำให้เกิดการเตรียมความพร้อมของผู้สอน และความมั่นใจในการถ่ายทอดความรู้

          “ครั้งแรกของการที่ได้รับหน้าที่ในการสอน ตนเองกังวลใจมากว่าตนเองจะตอบคำถามของนักศึกษาได้ไหม จะแนะนำนักศึกษาได้รู้เรื่องไหม ตนเองจึงทบทวนตนเองและตั้งคำถามตนเองว่าตนเองต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เริ่มมองตั้งแต่ความรู้ พยายามค้นคว้าเตรียมอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้อง ปรึกษากับผู้รู้ถึงการเตรียมตัว และการได้คู่มือในการสอน รวมทั้งการเรียนรู้เทคนิคการสอนจากผู้รู้ เมื่อมีนักศึกษามาถามทำให้ตนเองสามารถให้คำชี้แนะ ในส่วนบางคำถามที่ตนไม่สามารถตอบได้ในขณะนั้นก็ได้เทคนิคจากผู้รู้ในการที่ให้นักศึกษาสามารถกลับไปค้นคว้าเพิ่มเติม จึงสร้างความมั่นใจให้กับตนเองในการสอน และทำให้ผู้เรียนเกิดความวางใจในผู้สอน”

 

Storytelling ๙ การสะท้อนประเด็นด้วยคำถามให้กับตนเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ (New   learning) และเกิดการเรียนรู้ร่วมกับผู้รู้ เกิดการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้

          “เมื่อตนเองต้องได้รับหน้าที่ให้พูดกับนักศึกษา ที่เรียกว่า สุนทรียสนทนา รู้สึกได้เลยว่าตนเองไม่รู้ว่าจะถ่ายทอดอย่างไรที่จะดึงให้นักศึกษาเกิดการมีส่วนร่วมในการสนทนา พูดอย่างไรให้เป็นแนวทางบวก ตนเองจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะพูดอย่างไรที่จะสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรม แล้วต่อมาตนเองได้สอนร่วมกับผู้รู้ ได้เห็นวิธีการสอนที่ได้มีการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้มีความผ่อนคลาย มีการเสนอความคิดเห็นได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักศึกษา และอาจารย์ ทำให้ตนเองได้เกิด New Learning ว่าการสอนหรือการถ่ายทอดที่ดีเป็นอย่างไร  ตนเองจึงได้นั้นรูปแบบนั้นในการฝึกทักษะของตนเองในการสอน”

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 644815เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท