ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ : 5. เชื่อมโยง (connecting)



บันทึกชุด ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ นี้ ตีความจากหนังสือ Small Teaching : Everyday Lessons from the Science of Learning (2016)  เขียนโดย James M. Lang

 ตอนที่ ๒ ของหนังสือ Small Teaching ว่าด้วยความเข้าใจ (Understanding) ซึ่งมี ๓ บท คือบทที่ 4  Connecting, บทที่ 5  Practicing,  และบทที่ 6 Self-explaining   บันทึกตอนที่ ๕ นี้ ตีความจากบทที่ ๔ ในหัวข้อ  Connecting  

เป้าหมายของตอนที่ ๒ ของหนังสือ Small Teaching คือการทำความเข้าใจและวิธีการพัฒนาพลังของการช่วยให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง    เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา    ที่ไม่ใช่แค่เพียงจัดการสอนแบบ Active Learning  เช่น Flipped Classroom แล้วจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง    อาจารย์ต้องเอาใจใส่ยุทธศาสตร์การออกแบบการจัดการเรียนรู้   ให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์บ่อยๆ   แต่ใช้เวลาสั้นๆ ให้เกิด การเชื่อมโยง  การฝึกปฏิบัติ  และการอธิบายด้วยตนเอง   ในกิจกรรมต่างๆ ของการเรียนรู้   ไม่ว่าในรูปแบบใด   

สาระของบันทึกชุด ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ ตอนที่ ๒ - ๔ ที่ผ่านมา ว่าด้วยการช่วยให้นักศึกษาได้มีพื้นฐานความรู้ที่แข็งแรง  ผ่านการเรียนรู้เบื้องต้น ตามด้วยการเรียงลำดับและการเรียนรู้ซ้ำ ที่อาจารย์วางแผนยุทธศาสตร์ไว้อย่างเหมาะสม   

การสร้างการเรียนรู้ ต่างจากการสร้างบ้าน   การสร้างบ้านต้องสร้างฐานให้แข็งแรงแล้วจึงต่อตัวบ้านชั้นล่างและชั้นบน    แต่การสร้างการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องให้เรียนความรู้ส่วนแรกอย่างเจนจบแล้วจึงเรียนส่วนต่อไป    สามารถเรียนส่วนต่อไปตั้งแต่ความรู้ส่วนแรกยังไม่แข็งแรง    แต่ต้องมีการย้อนกลับมาทบทวนเชื่อมโยงส่วนต้นๆ เป็นระยะๆ ในหลากหลายบริบท    จึงจะเกิดการเรียนรู้ที่แข็งแรงมั่นคงในระระยาว     

การสร้างการเรียนรู้ เป็นการเชื่อมต่อใยประสาทในสมอง ต้องการกิจกรรมซ้ำๆ  ซับซ้อน  และในหลากหลายบริบท    จึงจะเกิดการเชื่อมต่อใยประสาทที่แน่นแฟ้นและคงทนในระยะยาว    และที่สำคัญ สามารถดึงความรู้นั้นออกมาใช้ได้ตรงตามที่ต้องการ  

คำแนะนำและวิธีการในบันทึก ๓ ตอนจากนี้ไป จะยิ่งช่วยให้การเรียนรู้มีความลึก เชื่อมโยง และยั่งยืน

      

คำนำ

ความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งในสมองของมนุษย์ (และของสัตว์) อยู่ในรูปของเครือข่ายใยสมองที่เชื่อมโยงเซลล์ประสาท   สำหรับผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น เครือข่ายดังกล่าวหนาแน่นและจัดระบบเป็นอย่างดี    ให้ดึงออกมาใช้ได้ง่ายและทันการณ์    แต่สมองของนักศึกษามีเครือข่ายใยสมองที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่    ยังเป็นเครือข่ายห่างๆ ไม่หนาแน่น และยังไม่มีการจัดระบบดีนัก  

การเรียนรู้ที่ดี คือการช่วยให้สมองขยายและจัดระบบเครือข่าย   โดยวิธีการ ๓ วิธีในบันทึกตอนที่ ๒ – ๔   และในตอนที่ ๕ นี้ 

 

 

ทฤษฎี

อาจารย์จะสอนได้ดีขึ้น และนักศึกษาจะเรียนได้ดีขึ้น หากเข้าใจชีววิทยาของการเรียนรู้    หนังสือที่ให้ความเข้าใจเรื่องดังกล่าวที่ดีเยี่ยมเล่มหนึ่งคือ The Art of changing the Brain : Enriching the Practice of Teaching by Exploring the Biology of Learning (2002) เขียนโดย James Zull   

ในสมองมนุษย์มีเซลล์ประสาท ๑ แสนล้านเซลล์    แต่ละเซลล์ประสาทมีใยประสาทประมาณหมื่นเส้น สำหรับไปเชื่อมต่อกับใยประสาทของเซลล์ประสาทอื่น   เป็นเครือข่ายใยประสาท    การเชื่อมต่อนี้ไม่เหมือนการต่อสายไฟฟ้า    เพราะปลายประสาทไม่เชื่อมกันโดยตรง  แต่ไปจ่อกัน แล้วสื่อสัญญาณกันด้วยสารเคมี  

มองจากมุมของสมอง การเรียนรู้คือการเชื่อมต่อเครือข่ายใยประสาทให้หนาแน่น มั่นคง    และเป็นเครือข่ายกว้างขวาง    เซลล์สมองมีการเชื่อมต่อใยประสาทใหม่ๆ ทุกครั้งที่เราเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่    หรือกล่าวในทางกลับกันว่า เราเรียนทุกครั้งที่มีการเชื่อมต่อใยประสาทใหม่ๆ หรือมีการปรับปรุงเครือข่าย จากผลของประสบการณ์ใหม่    การเรียนรู้ต้องการการเชื่อมต่อใยประสาทใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา       

มองจากมุมของกลไกการเรียนรู้    การเรียนรู้คือการฝึกสมองให้เก็บความรู้ไว้เป็นชุดๆ ที่ชุดความรู้มีการเชื่อมโยงกันอย่างกว้างขวางและมั่นคง    และสามารถดึงออกมาใช้ได้สะดวก และดึงความรู้ออกมาถูกชุด    การเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง  จะได้ชุดความรู้หลวมๆ และไม่คงทน  

ความรู้ที่เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งและเชื่อมโยง จะมีการเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายความรู้อื่นๆ อีกจำนวนมาก  

การจัดการเรียนรู้ที่ดี จะใช้กรอบของความรู้ (knowledge frameworks) ในเนื้อหานั้นๆ ช่วยให้นักศึกษาเชื่อมโยงและจัดระบบความรู้ อย่างมีความหมาย และเหมาะต่อการใช้งาน    

หัวใจของบันทึกตอนนี้คือ การช่วยให้นักศึกษาเชื่อมโยงความรู้ เข้าสู่เครือข่ายความรู้เดิม เพื่อให้มองเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น เห็นความหมายใหม่ และประยุกต์ใช้ความรู้นั้นในบริบทใหม่ๆ ได้  

มีการวิจัยทดลองผลของการให้ กรอบการเรียนในแต่ละคาบ แก่นักศึกษา    เมื่อเทียบผลการเรียนระหว่างนักศึกษาที่ได้รับกรอบการเรียน (learning outline)  กับนักศึกษาที่ได้รับเอกสารประกอบการเรียนฉบับเต็ม   พบว่ากลุ่มที่ได้รับกรอบการเรียนมีผลการเรียนดีกว่า    เข้าใจว่าเพราะกรอบการเรียนช่วยชี้แนะวิธีเชื่อมโยงเครือข่ายความรู้  

มองอีกมุมหนึ่ง การสร้างเครือข่ายความรู้ เป็นการเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม   ดังนั้นหากความรู้เดิมไม่แน่น หรือรู้ผิดๆ การเชื่อมโยงความรู้ใหม่ก็จะทำได้ยาก  

 

รูปแบบวิธีการ

วิธีการช่วยให้นักศึกษาสร้างและเสริมแรงเครือข่ายความรู้ของตน ทำโดยกระตุ้นความรู้เดิม (prior knowledge) ในช่วงต้นภาคเรียน  

ระบุสิ่งที่ต้องการรู้และสิ่งที่รู้แล้ว

เป้าหมายคือเพื่อประเมินว่านักศึกษามีพื้นความรู้เดิมแน่นและถูกต้องแค่ไหน   ส่วนไหนรู้ผิดๆ ก็จะได้แก้ไข   ส่วนไหนยังขาดอยู่ก็จะได้ซ่อมแซมเสีย    วิธีการทำได้ง่ายๆ ดังนี้

  • ก่อนเริ่มเรียนรายวิชา ให้นักศึกษาทำ prequiz หรือตอบคำถาม ๒ - ๓ คำถาม เกี่ยวกับสาระความรู้ โดยทำลงใน learning management system ของรายวิชา    แล้วอาจารย์สรุปให้นักศึกษาฟังในคาบเรียนแรกหรือคาบเรียนที่สอง  
  • ในแต่ละคาบเรียน ใช้เวลา ๕ นาทีแรกให้นักศึกษาเขียนบอกว่าตนรู้อะไรบ้างแล้วเกี่ยวกับเรื่องที่จะเรียนในคาบนั้น   และใช้เวลา ๕ นาทีต่อมา เพื่อทำความเข้าใจบางประเด็น หรืออภิปรายร่วมกัน
  • ตอนเริ่มเปิดภาคเรียน ใช้เวลาของคาบแรกของรายวิชา ในการประเมินความรู้เดิมของนักศึกษา โดยอาจทำ pre-test   หรือทำกิจกรรมกลุ่ม   ซึ่งจะช่วยให้ได้พลังของการเรียนรู้จากการทำนายด้วย (ดูตอนที่ ๓)
  • ๕ นาทีก่อนจบคาบแรกของรายวิชา ให้นักศึกษาเขียน ๓ คำถามเกี่ยวกับสาระในรายวิชา หรือ ๓ สิ่งที่ต้องการเรียนรู้ในรายวิชานั้น   นำข้อเขียนนั้นมาอภิปรายกันในคาบที่ ๒ 

เมื่ออาจารย์ได้เข้าใจความรู้เดิมของนักศึกษาว่ามีข้อจำกัดในส่วนใด   หรือเข้าใจความสนใจของนักศึกษา    ก็สามารถนำมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ให้เน้นการทวนซ้ำในประเด็นนั้นๆ บ่อยๆ   

ให้กรอบ (Framework) ของเนื้อหาวิชา

นี่คือ course outline   หรือ session outline สำหรับช่วยเป็นกรอบประเด็นของการเรียนรู้ในรายวิชานั้น หรือในคาบนั้น   มีผลงานวิจัยพิสูจน์ว่าการแจก (หรือบอก) outline ของสิ่งที่จะเรียน ช่วยเพิ่มผลลัพธ์การเรียนรู้ดีกว่าการแจกเอกสารการสอนที่มีสาระครบถ้วน 


แผนที่หลักการ (concept maps)

หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ mind maps   ใช้ช่วยให้นักศึกษามองเห็นภาพของแนวคิดหลักของรายวิชา    โดยนำเสนอเป็นกิจกรรม หรือเป็น knowledge domain    อาจมอบหมายให้นักศึกษาทำ concept map ของเรื่องที่จะเรียน หรือเรียนแล้ว    โดยอาจมอบหมายให้ทำหลาย comcept map  ตามแนวคิดหลัก หรือการจัดระบบความคิด ที่แตกต่างกัน    โดยอาจทำในคอมพิวเตอร์ด้วย App แล้วฉายขึ้นจอ   ซึ่งจะทำให้ทำได้รวดเร็วมาก       


Minute Thesis

เป็นเกมที่ James Lang คิดขึ้นเอง เพื่อใช้เป็น scaffolding ให้นักศึกษาคิด เสนอ และอภิปรายถกเถียงความเชื่อมโยงระหว่างสาระย่อยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง    ทำโดยจัดกลุ่มสาระหลักออกเป็นสองหรือสามกลุ่ม    เขียนตารางเป็นสองหรือสามคอลัมน์ในแนวตั้ง    ใส่คำที่แสดงแนวคิดหลักในสาระกลุ่มนั้น    ให้นักศึกษาคนหนึ่งลากเส้นโยงคำหนึ่งคำในคอลัมน์แรก กับสองคำในคอลัมน์ที่สอง    แล้วให้นักศึกษาช่วยกันอธิบายความสัมพันธ์ตามความเห็นของตน      

 

 

หลักการ

อาจารย์จัดให้ศิษย์ฝึกหัดเชื่อมโยงความรู้ เพื่อสร้างเครือข่ายใยประสาทของตนเอง    ให้เกิดความเข้าใจภาพใหญ่ในเรื่องนั้นๆ    ในการออกแบบการเรียนรู้เพื่อเชื่อมโยง อาจารย์พึงคำนึงถึงเป้าหมายนี้อยู่เสมอเพื่อให้ศิษย์เรียนรู้ง่ายขึ้น อาจารย์ต้องช่วยทำ “นั่งร้าน” (scaffolding) ของการเรียนรู้    ซึ่งอย่างหนึ่งคือ

ให้กรอบ (framework) ว่าด้วยเป้าหมายของการเรียนรู้   

ด้วยการเขียนอย่างเป็นรูปธรรม    ดังที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ ศาสตร์และศิลป์ของการสอน (๒๕๖๐) ว่า ครูอาจารย์ต้องทำ ตารางสเกลหรือรูบริกของเป้าหมายการเรียนรู้    การได้เห็นโครงสร้างของความรู้ในรายวิชา จะช่วยให้นักศึกษาซึ่งเป็นมือใหม่ เชื่อมโยงสาระความรู้ที่ตนกำลังเรียนเข้าจุดเชื่อมในภาพใหญ่ของรายวิชาได้ง่ายขึ้น  

กรอบโครงสร้างความรู้ในรายวิชานี้ อาจเขียนเป็น mind map  เพื่อช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงได้ง่ายขึ้นโดยดูด้วยตา (visualization)  


อำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยง

การเชื่อมโยงความรู้ทำได้หลากหลายแบบ หลากหลายมิติ    นักศึกษาต้องกล้าลองฝึกเชื่อมโยงด้วยตนเอง โดยอาจารย์คอยทำหน้าที่ “คุณอำนวย” (facilitator)  หรือโค้ช  ไม่ใช่ทำหน้าที่เชื่อมโยงเสียเองด้วยความชำนาญ    อย่างมากก็เพียงทำ scaffolding ด้วยกรอบแนวทาง (framework)    หรือด้วยเกม Minute Thesis    และจัดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มนักศึกษาเอง     ที่เรียกว่า peer learning  


เสริมพลังของ peer learning

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีเชื่อมโยงความรู้ทำได้ง่ายมาก   โดยยึดหลักการฝึกฝนเป็นทีม และทำให้เกิดความสนุกพร้อมกับได้สาระ    เกม Minute Thesis เป็นตัวอย่างหนึ่งของเครื่องมือช่วยให้เกิด peer learning     

 

เคล็ดลับเรื่องการสอนเล็กน้อยด้วยการฝึกเชื่อมโยงความรู้

กิจกรรมเชื่อมโยงความรู้ยากและซับซ้อนกว่าการดึงความรุ้ออกมาใช้    กิจกรรมฝึกเชื่อมโยงความรู้จึงต้องใช้เวลามากกว่า    เวลา ๕ – ๑๐ นาทีไม่พอ   จึงควรพิจารณาใช้เวลาทั้งคาบ ตอนต้น กลาง และปลายภาคการศึกษา 

  • จัดกิจกรรมตรวจสอบความรู้เดิม (prior knowledge) ใช้เวลาทั้งคาบตอนต้นเทอม ด้วยคำถามให้ตอบโดยการเขียน หรือด้วยวาจา  หรือด้วยวิธีระดมคำตอบจากนักศึกษาทั้งชั้น
  • ให้นักศึกษาทำ concept map ในการตอบคำถาม หรือในการแก้ปัญหา    ใช้ concept map หลายครั้งในช่วงของภาคเรียน    ในต่างหลักคิด (organizational principle)
  • อย่าให้เอกสารประกอบการเรียนฉบับเต็มแก่นักศึกษา  ให้เฉพาะส่วนที่เป็นเค้าโครง (framework)  แล้วให้นักศึกษาเชื่อมโยงความสัมพันธ์เอง
  • พยายามยกตัวอย่างจากชีวิตประจำวันให้มากที่สุด  หรือยิ่งดีกว่า หากให้นักศึกษายกตัวอย่างด้วยตนเอง 
  • ใช้เกม Minute Thesis  หรือกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกเชื่อมโยงความรู้ก่อนสอบไล่ 

 

สรุป

James Lang สรุปด้วยตัวอย่างในนวนิยาย ที่ครูใช้กุศโลบายที่แยบยลในการให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้เชิงประวัติศาสตร์ของนักเรียน   โดยซื้อ wall paper ภาพประวัติศาสตร์มาติดรอบห้อง    แล้วให้นักเรียนเขียนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ลงบนกระดาษติดผนังนั้น    นักเรียนจึงได้ฝึกเชื่อมโยงความรู้ทางประวัติศาสตร์อย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา    เป็นตัวอย่างของการหาวิธีให้ศิษย์ได้ฝึกเชื่อมโยงความรู้อย่างเป็นรูปธรรม   

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ม.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 644812เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018 09:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท