การนิเทศกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา


                                                               การนิเทศกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

                                                                                                                                                        ละอองทิพย์ บุณยเกียรติ*

             การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความคิด ความสามารถรวมทั้งพฤติกรรม เจตคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล คุณสมบัติของบุคคลดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ยิ่งปัจจุบันสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ การแข่งขันอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจปัญหาการจัดการศึกษาของไทยยังไม่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในยุคโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกประเทศ ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่เป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาคน รัฐบาลได้ทุ่มเทกำลัง ทั้งในแง่ความคิดและทรัพยากรของประเทศที่จะปฏิรูปการศึกษา เพื่อปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาให้เป็นการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สามารถผลิตคนที่มีคุณภาพ และเป็นการศึกษาที่สอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ดังจะเห็นได้จาก พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542 โดยเฉพาะหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา เน้นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ.  2542 ข : 14) ตั้งแต่มาตรา 22 – 30 ซึ่งมุ่งหมายให้ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย จนถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาประเทศฟื้นฟูได้ การให้ความสำคัญของการจัดการศึกษาในระดับสถานศึกษาที่ต้องพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุตามเป้าหมายของการศึกษาชาติ “เก่ง ดี และมีความสุข” บนพื้นฐานของความสอดคล้องกับบริบทชุมชน และเกิดความภูมิใจในความเป็นไทย ในฐานะศึกษานิเทศก์ซึ่งต้องมีมาตรฐานความรู้ ด้านการนิเทศการศึกษา ด้านนโยบายและการวางแผนการศึกษา ด้านการพัฒนาหลักสูตรและการสอน ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ด้านการบริหารจัดการการศึกษา ด้านการวิจัยทางการศึกษา ด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ  ใช้กลวิธีการถ่ายทอดความรู้ แนวคิด ทฤษฎี เพื่อพัฒนาคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร จึงเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาให้สถานศึกษา ครูและผู้บริหารโรงเรียนได้ตระหนักเห็นความสำคัญและพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานให้บรรลุถึงเป้าหมายแห่งคุณภาพ

                                                                               * ศึกษานิเทศก์ ชำนาญการพิเศษ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 12

 

การพัฒนาการนิเทศการศึกษาและการสร้างเครือข่ายการนิเทศ

              เทคนิคและนวัตกรรมการนิเทศการศึกษา

ในปัจจุบันสภาพของสังคมเปลี่ยนแปลงไป การจัดการศึกษา หลักสูตร การจัดการเรียนรู้การวัดและประเมินผล การบริหารจัดการศึกษาและการนิเทศการศึกษาก็เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้การปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูและการบริหารจัดการศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพอันส่งผลถึงคุณภาพการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาการนิเทศการศึกษา เพื่อให้การปฏิบัติงานนิเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ประเภทของนวัตกรรมการนิเทศการศึกษา

นวัตกรรมการนิเทศการศึกษาจำแนกออกได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับวิธีการจำแนก(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2558 : 78-89) ซึ่งจำแนกได้ 3 ประเภทคือ

  • นวัตกรรมการนิเทศที่เป็นเทคนิคหรือกิจกรรม ได้แก่ การนิเทศภายในเชิงระบบ  การนิเทศแบบคลินิก  การนิเทศแบบโค๊ช เป็นต้น
  • นวัตกรรมที่เป็นสื่อ เครื่องมือนิเทศ เช่น คู่มือการนิเทศ ชุดฝึกอบรม หรือ เอกสารประกอบการนิเทศต่าง ๆ
  • นวัตกรรมที่เป็นสื่อเทคโนโลยี เช่น ระบบการนิเทศออนไลน์  คลิปประกอบการนิเทศ  โทรศัพท์มือถือเพื่อการนิเทศ เป็นต้น

หลักการนำนวัตกรรมทางการนิเทศมาใช้

การที่จะนำนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้น หรือที่มีอยู่มาใช้ในการพัฒนาการนิเทศการศึกษา           มีหลักการพิจารณา ดังนี้

  • ตรงกับปัญหาที่ต้องการแก้ไขหรือพัฒนา
  • มีความน่าเชื่อถือและความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน คือ มีผลการทดลอง ทฤษฏี หรือหลักการรองรับ
  • มีหลักฐานยืนยันว่าเคยทดลองใช้ในสถานการณ์จริงแล้ว และสามารถแก้ปัญหาได้
  • ถ้าเป็นนวัตกรรมประเภทวิธีการ ต้องมีขั้นตอนการใช้นวัตกรรม
  • ถ้าเป็นนวัตกรรมประเภทสื่อ ต้องบอกว่าสื่อนั้นใช้อย่างไร มีในหน่วยงาน/สถานศึกษาใด
  • ต้องระลึกเสมอว่า ไม่มีนวัตกรรมใดเป็นสูตรสำเร็จในการพัฒนางาน ในบางครั้ง นวัตกรรมที่วิเคราะห์แล้วว่าเหมาะสมแล้ว เมื่อนำมาใช้จริงผลที่ได้อาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้

กระบวนการสร้างและพัฒนานวัตกรรมการนิเทศ

กระบวนการสร้างนวัตกรรมการนิเทศการศึกษาต้องอาศัยพื้นฐานทางทฤษฎี หลักการนิเทศ ทฤษฏีการเรียนรู้ หลักการสอน ทฤษฎี  หลักการบริหารจัดการศึกษา ผลงานวิจัย หรือประสบการณ์ในการทำงานเป็นหลักอ้างอิงในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมจึงจะน่าเชื่อถือ นอกจากนี้กระบวนการสร้างและพัฒนานวัตกรรมต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญดังนี้

  • ศึกษาทฤษฎี  หลักการและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการนิเทศการศึกษา
  • คิดนวัตกรรมและวางแผนการสร้างนวัตกรรม
  • สร้างนวัตกรรม
  • ทดลองใช้เพื่อหาประสิทธิภาพของนวัตกรรม
  • ปรับปรุงนวัตกรรม

กระบวนการสร้างนวัตกรรมทางการนิเทศการศึกษาจึงต้องมีการดำเนินงานตามหลักวิชาการที่ถูกต้องและต้องวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นลำดับขั้นตอน จึงจะทำให้นวัตกรรมการนิเทศการศึกษานั้นมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ

การประกันคุณภาพการศึกษาและการส่งเสริมระบบดูแลช่วยเหลือครูและนักเรียน

 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้ปฏิรูประบบการประเมินและประกันคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอกของทุกระดับก่อนจะมีการประเมินคุณภาพในรอบที่สี่ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้เสนอให้ชะลอการประเมินทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความเข้าใจ และทราบแนวทางการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการปรับและพัฒนามาตรฐานดังกล่าวโดยสอดคล้องตามนโยบายของรัฐ จุดเน้นของการปฏิรูปการศึกษา และสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแนวคิดว่ามาตรฐานที่กำหนดต้องสามารถพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุได้ ประเมินได้อย่างเป็นรูปธรรม กระชับ สามารถสะท้อนคุณภาพการศึกษาได้อย่างแท้จริง เน้นการประเมินสภาพจริง โดยใช้มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ฉบับลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) ได้มีการลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ   มีจำนวน 4 มาตรฐาน คือ มาตรฐานที่ 1 คุณภาพของผู้เรียน (1.ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของผู้เรียน และ 2.คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน) มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา มาตรฐานที่ 3 กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และมาตรฐานที่ 4 ระบบการประกันคุณภาพภายในที่มีประสิทธิผล  และใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับสถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน กำกับดูแล และติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ ให้ใช้กับสถานศึกษาที่เปิดสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกสังกัด [online : 2560]

การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจึงต้องใช้กรอบมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นกรอบในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยเป็นภารกิจของศึกษานิเทศก์ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่จะต้องศึกษาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาให้บรรลุตามกรอบมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 4 มาตรฐาน โดยช่วยเหลือ แนะนำ ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษาได้จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับกับเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และสอดคล้องกับความต้องการของบริบทชุมชน การวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา และการกำหนดหลักสูตรสถานศึกษา จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมายวิสัยทัศน์ พันธกิจ ของสถานศึกษาแต่ละแห่ง โดยมีระบบของการนิเทศภายในสถานศึกษาที่เข้มแข็ง ที่จะช่วยให้ครูเกิดการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญสู่การพัฒนาวิชาชีพ การใช้กระบวนการนิเทศภายใน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน สร้างเครือข่ายการนิเทศทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ครูสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้และมีเครือข่ายเพื่อนร่วมวิชาชีพได้เป็นอย่างดี

การสร้างเครือข่ายการนิเทศ

เครือข่าย(Network) เป็นการเชื่อมโยงของกลุ่มคนหรือกลุ่มองค์กรที่สมัครใจที่จะแลกเปลี่ยนข่าวสารร่วมกันหรือทำกิจกรรมร่วมกัน  โดยไม่กระทบต่อความเป็นอิสระหรือความเป็นตัวของตัวเองของคนหรือองค์กรนั้น ๆ การรวมตัวของเครือข่ายอาจเกิดขึ้นเพื่อทำภารกิจใดๆที่ตั้งเป้าหมายไว้แล้วสำเร็จลุล่วงสามารถที่จะยุบสลายไป และหากเมื่อมีความจำเป็นก็อาจเกิดขึ้นใหม่ได้อีก หรืออาจจะเป็นเครือข่ายที่มีกิจกรรมร่วมกันในระยะยาวก็ได้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2558 : 167-175) ดังนั้นการจัดตั้งเครือข่ายจึงต้องมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 7 อย่างคือ

  • การรับรู้และมุมมองที่เหมือนกัน (common perception)
  • การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (common vision)
  • ความสนใจหรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual interests/benefits)
  • การมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกคนในเครือข่าย (stakeholders prticipation)
  • การเสริมสร้างซึ่งกันและกัน (complementary relationship)
  • การเกื้อหนุนพึ่งพากัน (interdependent)
  • การปฏิสัมพันธ์กันในเชิงแลกเปลี่ยน (interaction)

การสร้างเครือข่ายการนิเทศ 

  • เกิดจากการก่อตัวของครูผู้สอน  ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ด้วยความสมัครใจโดยอาจมีผู้นำเครือข่ายเป็นผู้ประสานงานอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานเบื้องต้น
  • ปรึกษาหารือหาข้อสรุปจากการระดมความคิดเห็นระหว่างสมาชิกเครือข่ายในการวางแนวทาง การดำเนินงานเครือข่ายเพื่อพัฒนางานนิเทศการศึกษา
  • จัดทำหลักการและแนวทางการดำเนินงานของเครือข่าย เพื่อสร้างความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันของสมาชิก
  • กำหนดโครงสร้างบุคลากรของเครือข่าย เพื่อสะดวกในการประสานงาน ขับเคลื่อนเครือข่ายสู่วัตถุประสงค์
  • กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ภารกิจและกระบวนการดำเนินงานของเครือข่าย
  • จัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ เพื่อความเป็นระบบและชัดเจนในการดำเนินงานของเครือข่าย
  • กำหนดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะการปฏิบัติ กระบวนการคิดและเจตคติที่ดีต่องานนิเทศการศึกษา
  • เปิดเวทีสร้างโอกาสให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
  • สร้างทีมที่ปรึกษาทั้งภายในและภายนอกเครือข่าย
  • กำหนดปฏิทินการดำเนินงาของเครือข่ายอย่างชัดเจน ดำเนินงานต่อเนื่อง
  • ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของสมาชิกทุกรูปแบบที่สอดคล้องและถูกต้องตามหลักกฎหมาย
  • สรุปผลการดำเนินงานทุกรอบปี เพื่อใช้เป็นข้อมูลสารสนเทศประกอบการพัฒนางาน

เมื่อมีการจัดตั้งเครือข่ายการนิเทศ สิ่งสำคัญอีกประการคือการรักษาเครือข่าย การรักษาเครือข่ายให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องคือ การจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง การรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกเครือข่าย  การกำหนดกลไกสร้างระบบจูงใจ  การจัดหาทรัพยากรสนับสนุนเพียงพอ  การให้ความช่วยเหลือและช่วยแก้ไขปัญหา  และการสร้างผู้นำรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง

การสร้างเครือข่ายนิเทศออนไลน์

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในทุกส่วนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครองและการศึกษา การสร้างสังคมออนไลน์เพื่อการนิเทศจึงเป็นการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ให้เกิดประโยชน์ต่อการนิเทศมากยิ่งขึ้น ลดช่องว่างในการเข้าถึงการนิเทศ และเป็นการใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์มากที่สุดโดยมีเป้าหมายของการสร้างเครือข่ายออนไลน์ ดังนี้

  • เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีความรวดเร็ว สะดวก กว้างไกล และทันต่อความเปลี่ยนแปลงทาการศึกษา
  • เปิดโอกาสให้สมาชิกของเครือข่ายได้ร่วมกันวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นของตนเองต่อประเด็นที่กำหนดร่วมกันได้อย่างมีอิสระ
  • บุคคลภายนอกเครือข่ายสามารถอภิปรายและให้ข้อเสนอแนะในประเด็นที่สมาชิกเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้
  • สร้างถังความรู้เพื่อจัดเก็บองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ผ่านการวิพากษ์ วิเคราะห์ร่วมกันจนเป็นความรู้ที่ตกผลึกแล้ว
  • เป็นการสร้างวัฒนธรรมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านกระบวนการใช้เครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้ออนไลน์ซึ่งจะขยายความกว้างไกลต่อ ๆ กันไปได้อย่างไม่รู้จบ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเครือข่ายออนไลน์ในปัจจุบันมีประโยชน์ต่อวงการศึกษาและการนิเทศการศึกษาอย่างมาก ช่วยให้สมาชิกสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และมีความเป็นอิสระในการเข้าเป็นสมาชิก สะท้อนให้เห็นมุมมองกระบวนการกลุ่มทางด้านวงการวิชาการ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อภิปราย และนำเสนอองค์ความรู้ทางการศึกษาได้อย่างสมเหตุสมผลน่าเชื่อถือ และสามารถสร้างคุณภาพทางการศึกษา สร้างและพัฒนาผู้นำทางวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสร้างและพัฒนาผู้นำทางวิชาการ

          นักการศึกษาได้กล่าวถึงภาวะผู้นำทางวิชาการและได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำทางวิชาการ ไว้หลายท่าน เช่น

สารัตน์ พวงเงิน และอาคม มหามาตย์(2551, 16-17) ได้ให้ความหมายว่า ภาวะผู้นำทางวิชาการ คือ การแสดงบทบาทในการปฏิบัติงานของผู้บริหารสถานศึกษาที่แสดงถึงการนำการสั่งการ การบริหารงานบุคคลในการปฏิบัติงานสถานศึกษาในการปรับปรุงและการจัดกิจกรรมทางวิชาการ โดยแบ่งเป็น 3 ด้านคอ 1) ดานการบริหารจัดการโรงเรียน 2) การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน 3) การบริหารตนเอง ทีมงานและชุมชน 

จุฑารัตน์  อินนามเพ็ง (2552, 28) ได้ให้ความหมายของผู้นำทางวิชาการ หมายถึง ผู้ที่มีความสามารถในการนำและการบริหารบุคคลในการปฏิบัติงานของสถานศึกษาให้กระทำหรือจัดกิจกรรมด้านวิชาการและกิจกรรมการเรียนการสอนให้บรรลุผลสำเร็จทำให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและแสดงบทบาทให้ชัดเจนในด้านคุณลักษณะและพฤติกรรมในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจกรรมในการดำเนินการใช้ปรับปรุงคุณภาพการสอนและงานด้านวิชาการ

ฮอยและมิสเกล (Hoy & Miskel. 1982, 190-192) เสนอแนวคิดของภาวะผู้นำทางด้านการศึกษา ประกอบด้วย การกำหนดจุดหมายการสอน  การออกแบบหน่วยการเรียน  การพัฒนาและนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ การประเมินผล และเลือกวัสดุหลักสูตรการประเมินการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรการเรียนการสอน การผลิตสื่อการสอน  การนิเทศแบบคลินิก และการวางแผนเพื่อความก้าวหน้าของบุคลากร

ดังนั้น ภาวะผู้นำทางวิชาการ จึงเป็นผู้ที่มีทักษะและความสามารถในการบริหารและการจัดการหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การบริหารงานบุคคล งบประมาณ และชุมชนเพื่อให้การดำเนินงานด้านวิชาการบรรลุตามเป้าหมายโดยให้ความสำคัญกับการใช้และพัฒนาหลักสูตร การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การนิเทศและพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ               อย่างมีประสิทธิภาพ

การสร้างและพัฒนาผู้นำทางวิชาการ จึงต้องพัฒนาให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนได้เข้าใจในบทบาทหน้าที่และพัฒนางานด้านวิชาการโดยเฉพาะการใช้และพัฒนาหลักสูตรสู่การปฏิบัติ       การวางแผนการจัดการเรียนรู้  การออกแบบการจัดการเรียนรู้ การใช้สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา การวัดและประเมินผล  การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ และการนิเทศการสอนเพื่อนำผลมาใช้ใน     การวางแผนพัฒนาบุคลากร พัฒนางานสู่การพัฒนาความก้าวหน้าสู่ผู้บริหารและครูมืออาชีพ สามารถสร้างนวัตกรรมทางด้านการบริหารและการจัดการและการจัดการเรียนการสอน และสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถเต็มตามศักยภาพเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสภาพสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้    ซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศในการเชื่อมโยงความรู้ในโลกซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา    

การสร้างและพัฒนาความเป็นผู้นำทางวิชาการ

            การพัฒนาผู้นำทางวิชาการ พบว่ามีรูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการอย่างหลากหลาย เช่น ปาริชาติ  วัคคุวัทพงษ์ (2558). ได้ศึกษารูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษา เขต 31 พบว่า รูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษา ต่างประเทศโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา    เขต 31 มี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ พฤติกรรมภาวะผู้นำที่จำเป็นต้องพัฒนา วิธีการพัฒนา แผนการพัฒนา กระบวนการพัฒนา มี 4 ขั้น ดังนี้ ขั้นที่ 1 การศึกษาพฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการที่ต้องการพัฒนา ขั้นที่ 2 การเตรียมการพัฒนา ขั้นที่ 3 การพัฒนาพฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการ และขั้นที่ 4 การประเมินผลการพัฒนาของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษามีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมาก.  มานพ วรรณภิละ (2013). ศึกษารูปแบบการสร้างเสริมภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1           ที่เหมาะสมและเป็นไปได้ มีขั้นตอนและกิจกรรมดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การสร้างเสริมภาวะผู้นำด้านพัฒนาหลักสูตร

1.1 ศึกษาวิเคราะห์เอกสารหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551

1.2 วิเคราะห์สภาพแวดล้อม ประเมินสถานภาพสถานศึกษา เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ภารกิจ เป้าหมาย คุณลักษณะที่พึงประสงค์

1.3 จัดทำโครงสร้างหลักสูตร สาระต่าง ๆ ที่กำหนดให้มีในหลักสูตรสถานศึกษา

1.4 นำหลักสูตรไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน

1.5 นิเทศการใช้หลักสูตร

1.6 ติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร

1.7 ปรับปรุง และพัฒนาหลักสูตรตามความเหมาะสม

ขั้นตอนที่ 2 การสร้างเสริมภาวะผู้นำด้านการจัดการเรียนการสอน

2.1 ศึกษา วิเคราะห์ คัดเลือกหนังสือ สื่อการเรียนการสอนพัฒนาห้องสมุด แหล่งเรียนรู้

2.2 จัดการเรียนการสอนให้มีเนื้อหาสาระ กิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน

2.3 จัดทำหรือจัดหาเอกสารประกอบหลักสูตรและแบบพิมพ์ต่างๆที่สนับสนุนการสอน

2.4 จัดครูประจำชั้น ครูประจำวิชาให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถและ     ความถนัด

2.5 จัดห้องเรียนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับจำนวนนักเรียน

2.6 จัดสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และห้องพิเศษเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรม

การเรียนการสอน

2.7 ตรวจสอบตารางสอนให้เหมาะสมกับเวลาและอัตราเวลาเรียน

2.8 จัดครูเข้าสอนแทนครูที่ขาดหรือครูที่ไม่มาปฏิบัติงาน โดยมีการบันทึกมอบหมายงานและบันทึกรายงานผลการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษร

2.9 ติดตาม ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนให้แก่ครู

2.10 เป็นผู้นำให้ครูปรับปรุงการสอนให้รู้จักเทคนิคและวิธีการสอนแบบต่างๆ

ขั้นตอนที่ 3 การสร้างเสริมภาวะผู้นำด้านนิเทศการศึกษา

3.1 จัดระบบการนิเทศงานวิชาการ การเรียนการสอนภายในโรงเรียน

3.2 สร้างความตระหนักให้แก่ครูและผู้เกี่ยวข้องให้เข้าใจกระบวนการนิเทศภายใน

3.3 ดำเนินการนิเทศงานวิชาการ การเรียนการสอนระดับโรงเรียน กลุ่มสาระวิชาและรายวิชา

3.4 ประเมินผลระบบ กระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน

3.5 ประสานกับเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อพัฒนาระบบ กระบวนการนิเทศงานวิชาการ

3.6 แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประสบการณ์การจัดระบบการนิเทศภายในกับสถานศึกษาอื่น

ขั้นตอนที่ 4 การสร้างเสริมภาวะผู้นำด้านพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยี

4.1 ศึกษา สำรวจ วิเคราะห์สภาพปัญหา การจัดการ การเลือกการใช้สื่อ นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

4.2 จัดหาสื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างหลากหลาย

4.3 เลือกใช้สื่อและเทคโนโลยีที่ผ่านการประเมินคุณภาพทางวิชาการ โดยดำเนินการคัดเลือกในรูปของคณะกรรมการ

4.4 ส่งเสริม สนับสนุนให้พัฒนาครู เพื่อผลิตพัฒนาสื่อ นวัตกรรมการเรียนการสอน

4.5 จัดให้มีศูนย์สื่อนวัตกรรมเทคโนโลยี

4.6 ประสานความร่วมมือในการผลิต จัดหา พัฒนา แลกเปลี่ยนการใช้สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี

4.7 กำกับ ติดตาม ประเมินผล การใช้สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี

4.8 เผยแพร่ สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่ครูผลิต ให้กับสถาบันการศึกษาอื่น

ขั้นตอนที่ 5 การสร้างเสริมภาวะผู้นำด้านพัฒนาและส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้

5.1 สำรวจแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

5.2 จัดให้มีแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ

5.3 จัดทำเอกสาร รวบรวม เผยแพร่แหล่งเรียนรู้แก่ครู บุคคล ครอบครัว องค์กร หน่วยงาน สถานศึกษาอื่น

5.4 จัดระบบแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนให้เชื่อมต่อการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน

5.5 จัดตั้งแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน

5.6 ประสานความร่วมมือวางแผนร่วมกับสถานศึกษาอื่น

5.7 ส่งเสริม สนับสนุน ให้ครูได้ใช้แหล่งเรียนรู้เชิงอนุรักษ์

ขั้นตอนที่ 6 การสร้างเสริมภาวะผู้นำด้านพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน

6.1 จัดทำระบบประกันคุณภาพภายในโรงเรียนตามที่กฎกระทรวงกำหนด

6.2 จัดโครงสร้างการบริหารที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

6.3 แต่งตั้งคณะกรรมการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน

6.4 สร้างความตระหนัก เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันคุณภาพภายใน

6.5 ร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติในการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน

6.6 จัดระบบข้อมูลสารสนเทศที่มีข้อมูลสารสนเทศครอบคลุมภารกิจ

6.7 กำหนดมาตรฐานของโรงเรียน

6.8.จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา แผนปฏิบัติการประจำปี

6.9 จัดทำแผนการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบทบทวน รายงานผลการดำเนินงานตามแผน

6.10 ดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา แผนปฏิบัติการประจำปี

6.11 ประเมินผลการดำเนินงาน ความก้าวหน้าของการพัฒนาสถานสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนด

6.12 จัดทำรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี

6.13 ศึกษา วิจัย เพื่อพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

 

ขั้นตอนที่ 7 การสร้างเสริมภาวะผู้นำด้านวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

7.1 วิเคราะห์มาตรฐานการปฏิบัติงาน มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน

7.2 จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ระยะปานกลาง 3-5 ปี แผนปฏิบัติการประจำปี

7.3 ดำเนินการตามแผน

7.4 นิเทศ ติดตาม ประเมินผลการพัฒนา

ขั้นตอนที่ 8 การสร้างเสริมภาวะผู้นำด้านวัดและประเมินผล

8.1 กำหนดระเบียบการวัด ประเมินผล

8.2. ประเมินผลการเรียนรู้

8.3 เทียบโอนผลการเรียน

8.4 ตัดสิน อนุมัติผลการเรียนผ่านช่วงชั้น

8.5 ออกหลักฐานแสดงผลการจบการศึกษา

สรุปได้ว่า การสร้างผู้นำทางวิชาการต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ขั้นที่ 1 การศึกษาพฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการที่ต้องการพัฒนา ขั้นที่ 2 การเตรียมการพัฒนา ขั้นที่ 3   การพัฒนาพฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการ และขั้นที่ 4 การประเมินผลการพัฒนา โดยจะมีองค์ประกอบ เนื้อหา สาระสำคัญของการพัฒนาผู้นำทางวิชาการแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของผู้ที่ต้องการได้รับการพัฒนา

จากการศึกษาดังกล่าวพบว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาและการนิเทศการศึกษาเป็นองค์ประกอบที่ต้องมีการดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาบรรลุตามเป้าหมายของการศึกษาชาติ และเป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามหลักสูตร ระบบของการนิเทศทั้งภายในสถานศึกษาและการนิเทศภายนอกควรมีทิศทางในการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน  การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจึงต้องมีการสร้างและพัฒนาผู้นำทางวิชาการในสถานศึกษาให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการ ให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้นำทางวิชาการ มีความสามารถในการนิเทศการสอน  สร้างรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา การพัฒนาการใช้หลักสูตรและการสอน ตลอดจนถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตร การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ โดยอาศัยกรอบของมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเป็นกรอบในการกำกับ นิเทศ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนได้เชื่อมโยงการบริหารจัดการและ  การบริหารหลักสูตรสถานศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายความสำเร็จที่โรงเรียนได้กำหนดไว้  และใช้การนิเทศการสอนเพื่อช่วยให้ครูผู้สอนได้ปฏิบัติการสอนได้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาที่เน้นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยครูผู้สอนจะต้องมีความแม่นยำในด้านการใช้หลักสูตรและการออกแบบการการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วม โดยมีเนื้อหาการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับบริบทของชุมชนและท้องถิ่น มีระบบของการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจที่สอดคล้องกับสภาพจริงเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายบุคคลให้นักเรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ รวมถึงช่วยให้ครูสามารถการวางแผนพัฒนาตนเองและการพัฒนาวิชาชีพให้มีประสิทธิภาพสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืน

 

บรรณานุกรม

 

กระทรวงศึกษาธิการ. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  : www.pccpl.ac.th/~plan/ประกาศ-ศธ.-มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน-2559.docx [ 5 มกราคม 2560]

คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2558).  คู่มือพัฒนาการนิเทศสู่วิธีการปฏิบัติที่ดี. นนทบุรี, ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

จุฑามาศ อินนามเพ็ง. (2552). ภาวะผู้นําทางวิชาการของผู้บริหารและครูผู้สอนทีส่งผลต่อการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ของโรงเรียน สังกัดสํานักงานเขตพื้นทีการศึกษานครพนม  เขต2 . วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการบริหารการศึกษา, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.

ปาริชาติ  วัคคุวัทพงษ์. (2558). รูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมภาวะผู้นำทางวิชาการของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษา ต่างประเทศโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31, วารสารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์,ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน. น. 90-99.

มานพ  วรรณภิละ. (2013). รูปแบบการสร้างเสริมภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต          มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น.

สารัตน์ พวงเงิน และอาคม มหามาตย์. (2551). ภาวะผู้นําทางวิชาการของผู้บริหารของผู้บริหาร สถานศึกษา สังกัดสํานักงานเขตพื้นทีการศึกษาพิษณุโลก เขต 2. สารนิพนธ์การศึกษา มหาบัณฑิต, สาขาวิชาการบริหารการศึกษา, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยนเรศวร.

Hoy, W. K., & Miskel, C. G. (1982). Educational administration. New York: Random House.

หมายเลขบันทึก: 644763เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2018 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2018 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท