ซ้อนขวัญ




ซ้อนขวัญ


เย็นวานนี้ ตอนที่ผมไปเดินออกกำลังกายที่ถนนกองควายในหมู่บ้านแม่ตาด มีโอกาสได้เห็นลุงจรัล แก้วมูล กำลังทำพิธี “ซ้อนขวัญ” อยู่กลางถนนพอดี ผมจึงเข้าไปถ่ายรูปเอาไว้พร้อมทั้งถามข้อมูลจากแกดู

ลุงจรัลเล่าว่า หลายวันก่อนภรรยาของแกขับรถมอเตอร์ไซค์ล้มลงตรงบริเวณนี้ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย แต่ตอนนี้ยังมีอาการเจ็บเอวอยู่ ยังไม่หายดี วันนี้ก็เลยมาทำพิธี “ซ้อนขวัญ” ตามขนบธรรมเนียมของชาวล้านนา เพื่อเชิญ “ขวัญ” ของภรรยากลับไปอยู่กับเจ้าของที่บ้าน เพื่อที่ขวัญจะได้อยู่กับเนื้อกับตัวและทำให้หายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย

การ “ซ้อนขวัญ” เป็นะขนบธรรมเนียมท้องถิ่นที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวล้านนา ซึ่งจะทำขึ้นในกรณีที่มีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเกิดอุบัติเหตุจนได้บาดเจ็บ(แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต) เช่น ตกต้นไม้ รถล้ม รถชน หรือควายขวิด เป็นต้น โดยเชื่อว่าตอนที่เกิดเหตุนั้น “ขวัญ” ของบุคคลผู้นั้นได้ตกใจและออกจากร่างไป และไม่ได้กลับเข้าร่างของเจ้าของ ทำให้เจ้าของร่างเกิดการเจ็บป่วย ไม่มีเรี่ยวแรง และกินไม่ได้นอนไม่ค่อยหลับ ต้องมีการทำพิธี “ซ้อนขวัญ” ขึ้นในบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วเชิญขวัญกลับไปอยู่กับเจ้าของร่างที่บ้าน ถึงจะทำให้อาการเจ็บไข้ได้ป่วยดีขึ้นหรือหายเป็นปกติ

สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีซ้อนขวัญนั้น ประกอบด้วย 

1. สวิง หรือ หิง (อุปกรณ์สำหรับช้อนสัตว์น้ำขนาดเล็ก)

 2. กรวยดอกไม้สีขาวและเทียน 2 เล่ม 

 3. อาหาร ขนม ผลไม้ และน้ำดื่ม

สำหรับขั้นตอนในการทำพิธีนั้น ลุงจรัลเอากรวยดอกไม้และเทียน พร้อมกรวยใส่อาหารไปวางไว้ริมถนน จากนั้นก็นำสวิงเดินซ้อนเอา “ขวัญ” ในบริเวณนั้น โดยพูดเชิญขวัญของภรรยาให้กลับไปอยู่ที่บ้าน เจ้าของร่างจะได้หายเจ็บหายไข้และเป็นปกติดังเดิม

ลุงจรัลบอกว่า รู้สึกอายนิดๆ เพราะกลัวคนอื่นมาเห็นแล้วจะหาว่าแกบ้าหรือเปล่า แต่เพราะความรักที่มีต่อภรรยาอย่างล้นพ้น ก็เลยทำให้แกไม่รู้สึกอาย และลงมือทำให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียม เพื่อให้ภรรยาและครอบครัวรู้สึกสบายใจขึ้น

เย็นวานนี้ นอกจากผมจะได้ออกกำลังกายและได้ถ่ายรูปบรรยากาศสวยๆ ยามเย็นเก็บเอาไว้แล้ว ผมยังได้เห็นพิธี “ซ้อนขวัญ” และได้รับความรู้เกี่ยวกับการ “ซ้อนขวัญ” อีกด้วย


#การเรียนรู้มีอยู่ในทุกหนแห่ง แม้แต่ริมถนนหนทาง


#ขอบคุณ...ลุงจรัล แก้วมูล  “คนต้นเรื่อง”  มากๆ เลยครับ


หมายเลขบันทึก: 644658เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2018 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2018 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ทางอีสานใช้ผ้าขาวบางหรือผ้าขาวม้า ในการช้อนครับ

-สวัสดีครับ

-ตามมาอ่านบันทึกความรู้

-ซ้อนขวัญ ขวัญมาๆ นะครับ

-ด้วยความระลึกถึงท่านใน G2K

-ติดตาม FB ตลอดคร้าบ..

-Farm School ที่บ้านไร่ครับ 

แถวอุดร-หนองคายก็ใช้สวิงนะคะ  ความเชื่อแนวเดียวกัน  คนเจ็บและญาติสบายใจ  ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว  ฟื้นฟูกำลังใจได้อย่างดีมากเลยละค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท