เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร ๑๔. ศูนย์เชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม


 หน่วยหรือศูนย์เชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคมที่เราได้ไปเรียนรู้ชัดเจนที่สุดคือหน่วยของมหาวิทยาลัยบริสตอล    บรรยายสรุปโดย Kate Miller, Head of Public Engagement Unit, Research and Enterprise Development    จากการไปเยี่ยมเรียนรู้เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๐   และเราได้รับ PowerPoint ของการนำเสนอในภายหลัง    ในการเขียนบันทึกนี้ผมใช้ข้อมูลจากรายงานของ ดร. นงเยาว์ ศรีพรมสุข  และจาก PowerPoint ที่มหาวิทยาลัยบริสตอลส่งมาให้     ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ 

ท่านผู้อ่านควรอ่านตอนที่ ๑๔ นี้เชื่อมโยงกับตอนที่ ๖ เรื่อง วิชาชีพเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม   โดยที่ตอนที่ ๖ เน้นตัวบุคคล  ส่วนตอนที่ ๑๔ นี้เน้นการจัดองค์กร (organization) เพื่อให้นักวิชาชีพเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคมทำงานได้ผลกระทบชัดเจน 

 

ยุทธศาสตร์การเป็นมหาวิทยาลัยเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม (Engaged University Strategy)

เอกสาร Engaged University Strategy (http://www.bristol.ac.uk/media-library/sites/public-engagement/documents/Engaged%20University%20Strategy.pdf ) ระบุการเชื่อมโยงหุ้นส่วนใน ๔ ระดับคือ 

  • หุ้นส่วนและความร่วมมือด้านการสอนและวิจัย
  • การทำงานของอาจารย์  นักศึกษา  และบริการต่างๆ ให้แก่กิจการสาธารณะ
  • การให้คุณค่าและการเรียนรู้ จากความเชี่ยวชาญภายนอกมหาวิทยาลัย
  • สร้าง “ชาลา” (platform) เพื่อขยายความรู้สาธารณะ

Kate Miller ตีความเอกสารเดียวกัน ออกมาเป็นยุทธศาสตร์ ๔ จุดเน้นคือ

  • การเชื่อมโยงหุ้นส่วนนอกวงการวิชาการ
  • เชื่อมโยงเชิงลึก มีคุณภาพสูง และต่อเนื่อง  กับหุ้นส่วน  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  และสาธารณะ
  • นิยาม engagement เป็นกระบวนการหรือปฏิสัมพันธ์ที่มีการรับฟังกันสองทาง    โดยมีเป้าหมายที่ผลประโยชน์ร่วมกัน
  • ยุทธศาสตร์นี้ใช้มุมมองแบบ “ครบด้าน” (holistic) ต่อวิธีการเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคมออกไปนอกวงการวิชาการ    

จะสังเกตเห็นว่า PE Unit ของ Bristol University เน้นทำงานเชื่อมโยงหุ้นส่วนภายนอกวงการวิชาการ    แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สนใจความเชื่อมโยงภาคีหุ้นส่วนในวงการวิชาการ    เพราะในการทำงานจริงแยกกันไม่ได้ชัดเจน  

 

ลำดับความสำคัญในการเชื่อมโยงหุ้นส่วนของมหาวิทยาลัย

Kate Miller เสนอไว้ ๕ ประการคือ

  • วัฒนธรรมหุ้นส่วน (partnership culture)   เห็นคุณค่าของกิจกรรมร่วมกับภาคีหุ้นส่วน ว่าช่วยให้ทำงานตามภารกิจได้ผลงานที่ทรงคุณค่ายิ่งขึ้น  
  • โครงสร้างพื้นฐาน   หน่วยเชื่อมโยงหุ้นส่วน ช่วยสร้างพื้นที่และบรรยากาศ ของการเชื่อมโยงหุ้นส่วนให้เกิดขึ้นในหลากหลายมิติ หลากหลายระดับ
  • สร้างขีดความสามารถภายในมหาวิทยาลัย   อาจารย์  เจ้าหน้าที่  นักศึกษา ได้รับการ “ติดอาวุธ” เพื่อทำภารกิจเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม   และได้รับการรับรู้ว่าได้ทำภารกิจนี้  
  • ประสบการณ์นักศึกษา   มีปฏิบัติการร่วมกับภาคีหุ้นส่วนในการเรียนทั้งระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา
  • การไตร่ตรองสะท้อนคิด  การติดตามประเมินผล และสื่อสาร    เพื่อเรียนรู้จากการทำงาน แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 

 

จาก ๕ กิจกรรมหลัก สู่กิจกรรมย่อย ๑๗ รายการ

แสดงในแผนภาพต่อไปนี้ 



นั่นคือการตีความของทีม PE ของ UoB    ไม่จำเป็นที่มหาวิทยาลัยไทยจะตีความสอดคล้องกันทั้งหมด    เราอาจเน้นที่บางจุดมากกว่า    ผมขอเชิญชวนให้เพ่งความสนใจที่วงสีม่วง “reflection, monitoring and communication”   ซึ่งผมตีความว่าเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ    ที่สวมวิญญาณประเมินด้วยตนเอง ด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิดด้วยตนเอง และในทีมงาน    แล้วสื่อสารเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 

 

ทีมงานเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม

มหาวิทยาลัยบริสตอลมีทีม PE ใหญ่ถึง ๑๓ คน    เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ฝ่ายวิจัย ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาการประกอบการ (enterprise) ด้วย    จะเห็นว่า วิธีจัดองค์กรของมหาวิทยาลัยนี้ เอาเรื่องการจัดการงานวิจัย และการจัดการเพื่อพัฒนาการประกอบการ ไว้ด้วยกัน    ผมเดาว่าเขาต้องการให้งานวิจัยเชื่อโยงกันการประกอบการให้มากขึ้น 

ทีม PE แบ่งเป็น ๓ ทีมย่อย คือ

  • PE เพื่อการวิจัยและการสอน
  • PE เพื่อสร้างผลกระทบ
  • PE เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม


ทีมงาน PE ทำหน้าที่หลัก ๆ ๕ กลุ่มคือ

  • ให้คำแนะนำ เรื่องกิจกรรมเชื่อมโยงหุ้นส่วน  การหาภาคีหุ้นส่วน และหาทุนสนับสนุน   ให้คำแนะนำโครงการตั้งแต่การริเริ่ม  การดำเนินการ  และการประเมินผล    ให้ความช่วยเหลือด้านการหาทุนสนับสนุน ทั้งจากภายในมหาวิทยาลัย และจากแหล่งทุนภายนอก   ช่วยหาภาคีหุ้นส่วนจากภาคส่วนต่างๆ     สร้างเครือข่ายกับภาคีภายนอก
  • ประสานงานโปรแกรมพัฒนานวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุน    ได้แก่หาทุนสนับสนุนกิจกรรมร่วมมือกับหุ้นส่วนที่มีเป้าหมายพัฒนานวัตกรรมวิธีทำงานใหม่ๆ   ร่วมกับหุ้นส่วนใหม่ๆ   หรือพุ่งเป้าที่งานวิจัยเฉพาะเรื่อง    และให้มั่นใจว่านอกจากนักวิจัยได้มีโอกาสทำงานร่วมกับหุ้นส่วนแล้ว ยังได้เรียนรู้เพิ่มเติมด้วย      
  • สร้างขีดความสามารถ  การเรียนรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้    โดยจัดการฝึกอบรมด้านการเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม และการสร้างผลกระทบที่ต้องการ    โดยดำเนินการร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย  (Bristol Dectoral College)  และโปรแกรมพัฒนาอาจารย์ (CREATE Programme - http://www.bristol.ac.uk/media-library/sites/staffdevelopment/migrated/documents/create-diagram.pdf )  
  • สนับสนุนการเชื่อมโยงหุ้นส่วนในหลักสูตรการเรียนการสอน    หาทางส่งเสริมให้นักศึกษาทุกหลักสูตรได้มีโอกาสเรียนรู้ในสภาพจริง    ร่วมมือกับ Bristol Green Capital Partnerships เพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้ไปเรียนรู้โดยการทำงานในองค์กรจำนวนกว่า ๘๐๐ แห่งที่เป็นสมาชิกของ BGCP    และร่วมกับ UWE จัดทำ one-stop service สำหรับหน่วยงานที่ต้องการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เรียกว่า Skills Bridge (http://skillsbridge.ac.uk )
  • ทำให้การเชื่อมโยงหุ้นส่วน และการสร้างผลกระทบฝังลงในวัฒนธรรมองค์กร  มีการเล่าลือและยกย่องผลสำเร็จ    โดยทำหน้าที่ (๑) เป็นคณะเลขานุการกิจ (secretariat) ของ คณะกรรมการชี้ทิศทาง ของมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม เพื่อ (ก) พัฒนากิจกรรมหุ้นส่วนสังคมต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง   (ข) ดำเนินการแก้ไขอุปสรรคของกิจกรรมหุ้นส่วน เช่นการจ่ายเงินของหุ้นส่วน   (ค) ดำเนินการให้กิจกรรมหุ้นส่วนและผลกระทบอยู่ในเกณฑ์ความดีความชอบ    และ (๒) สร้างการยอมรับและเฉลิมฉลองผลงานหุ้นส่วนสังคม ผ่านรางวัลหุ้นส่วนสังคมแบบต่างๆ  (http://www.bristol.ac.uk/public-engagement/staff/engagement-awards/ )     

นั่นคือตัวอย่างของศูนย์เชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคมของมหาวิทยาลัยบริสตอล   ซึ่งอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นแนวหน้าของสหราชอาณาจักร    ในขณะที่มหาวิทยาลัยแห่งอิงก์แลนด์ตะวันตก ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน และเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบกิจกรรมหุ้นส่วนสังคมโดยตรง    ใช้วิธีให้ภารกิจนี้บูรณาการอยู่ในหน่วยงานต่างๆ     ส่วนที่ UCL ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับต้นๆ ของโลก  หน่วยเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม อยู่ในสังกัด UCL Culture   และมีเจ้าหน้าที่เพียง ๔ คน    มีรายละเอียดของภารกิจอ่านได้ที่ https://www.ucl.ac.uk/iha/public-engagement/#      สรุปได้ว่า มีรูปแบบการจัดองค์กรและการทำงานสนับสนุนหุ้นส่วนสังคมได้หลายแบบ    ไม่มีรูปแบบตายตัว



วิจารณ์ พานิช

๗ ม.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 643921เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2018 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2018 06:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท