สื่อใหม่ศึกษา New media studies : (6) ลักษณะสำคัญ... การบังเกิดขึ้นของ Mass-Micro Media สื่อจุลสื่อสารมวลชน


อธิบายภาพ : สื่อออนไลน์สำหรับเผยแพร่สื่อภาพวาด สื่อกราฟฟิค และกราฟิคอินโฟ สามารถนำเอาสื่อเชิงสร้างสรรค์เนื้อหา (Creative content media) เผยแพร่และสื่อสารแบ่งปันได้กับทั่วโลก ซึ่งทำให้ประเด็นเล็กน้อยของท้องถิ่นหรือเรื่องราวนอกกระแสหลัก สามารถเผยแพร่และตรวจสอบสิ่งต่างๆได้อย่างกว้างขวางกับทั่วโลก เห็นความเหมือน ความแตกต่าง เห็นความเป็นเอกลักษณ์ และเห็นโอกาสในการสรรสร้างขึ้นใหม่บนต้นทุนของท้องถิ่นให้หลากหลาย ลักษณะการทำงานของสื่อและการสื่อสารอย่างนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยของสื่อใหม่และการสื่อสารสื่อใหม่อีกมากมายมหาศาลของยุคใหม่ (ขอบคุณภาพจาก pinterest)

Mass-Micro Media สื่อจุลสื่อสารมวลชน
สื่อมวลชนและความเป็นมวลชนจากจุลภาค  

ในระยะทีผ่านมา สื่อมวลชนและความเป็นมวลชน (Mass media and massive public) จะมีความจำเพาะที่เราจะสามารถเข้าใจและเห็นได้อย่างตรงกันในอีกความหมายหนึ่ง กล่าวคือ สื่อมวลชน จะหมายถึงสื่อที่สามารถแพร่กระจายและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารชุดเดียวกันที่ออกแบบและสร้างสรรค์เชิงเนื้อหาไว้ดีแล้ว ให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง อันได้แก่ หนังสือพิมพ์ หนังสือ ตำรา วารสาร สิ่งตีพิมพ์ ภาพยนตร์ เพลง ดนตรี วิทยุ โทรทัศน์ เป็นอาทิ ความเป็นมวลชนก็จะอยู่ภายใต้การเข้าถึงและการรับรู้สื่อมวลชนในลักษณะดังกล่าวตามแบบแผนต่างๆ

จากลักษณะดังกล่าวมาในข้างต้น จะสามารถกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ความเป็นมวลชนและความเป็นสาธารณะจะสามารถกำกับด้วยสื่อ ดังนั้น การเข้าถึงสื่อและความสามารถกำกับวาระการสื่อสาร จึงมีพลังอำนาจต่อการกำกับควบคุมความเป็นสาธารณะได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นจริงและเกิดขึ้นได้ง่ายในยุคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมก่อนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21

ปัจเจก มวลชน และกลุ่มเป้าหมายแบบมวลชนต่างๆ ที่จะได้รับการถ่ายทอดด้วยรูปแบบสื่อและการสื่อสารมวลชนดังในอดีต จะมีความเป็นการสื่อสารทางเดียว (One way communication) และรับรู้ตามการกำกับวาระของสื่อไปตามๆกัน ระบบวิธีคิดจะอยู่ในชุดมุ่งลดทอนความแตกต่างและมุ่งสร้างการตามกันไปด้วยความหมายเชิงเดี่ยว จึงมีความต้องเป็นผู้คล้อยตาม (Passived and dependent target population) ไปตามๆกัน มากกว่าการจะสามารถเป็นผู้ร่วมสร้างความเป็นสาธารณะด้วยตนเองอย่างเหมาะสมของโลกความเป็นจริง แต่ลักษณะดังกล่าวนี้ กำลังหายไป พร้อมกับเกิดลักษณะจำเพาะอย่างใหม่ในยุคการสื่อสารสื่อใหม่เข้ามาแทนที่

ความเป็นมวลชนและความแพร่หลายเป็นสาธารณะในสื่อใหม่และการสื่อสารสื่อใหม่ จะเปลี่ยนขั้วจากการอยู่ภายใต้การกำกับวาระของสื่อสาธรณะแบบในอดีต สู่การอยู่ในกำกับและขึ้นต่อความต้องการของปัจเจก ชุมชน และกลุ่มเป้าหมายของการสื่อสาร (On demand of target population) รวมทั้งมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับปัจเจกและหน่วยการสื่อสารขนาดเล็กๆ ให้บูรณาการและผสมผสานกันหลายขอบเขตของการสื่อสาร ทั้งทางเดียวแบบดั้งเดิม แบบสองทางและเชิงปฏิสัมพันธ์ของสื่อยุคใหม่ ซึ่งจะร่วมกันทวีคูณให้เกิดความเป็นมวลมหาชนและขยายความเป็นสาธารณะ จากการร่วมสื่อสารได้เองด้วยของผู้คน

ภูมิทัศน์ของสื่อและนิเวศวิทยาการสื่อสาร จะประกอบสร้างความเป็นมวลชน ในลักษณะที่ไม่ได้เกิดจากประสิทธิภาพของการแพร่กระจายเป็นครั้งๆได้อย่างกว้างขวางดังในอดีต แต่เกิดจากการยืดหยุ่นเข้าหาปัจเจกและหน่วยการสื่อสารเล็กๆ ที่กลับสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อเนื่อง ทำให้มวลมหาชนเกิดขึ้นจากการผสานและทวีคูณข่าวสารข้อมูลกันของปัจเจกและคนตัวเล็กๆ

มีความเป็นสื่อมวลชนและสาธารณชนที่ยิ่งใหญ่ในขอบเขตทั่วโลกแบบมวลมหาชน (Mega-massive target audience and population) ที่ไม่ใช่ความสามารถครอบคลุมเชิงพื้นที่ด้วยการแพร่กระจายสื่อและการสื่อสารแต่โดยลำพังดังเช่นในอดีต แต่เกิดจากการทวีคูณตนเองของการปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารสองทาง สร้างระลอกการสื่อสารและการส่งต่อ แพร่กระจายผ่านการร่วมสร้างการสื่อสารในระดับจุลภาค

บังเกิดความสัมพันธ์บนภาคสาธารณะแบบใหม่ที่หลอมรวมและบูรณาการความเป็นมวลชนกับความเป็นปัจเจก ให้พลวัตรไปด้วยกันเป็น Mass-Micro Media สื่อจุลสื่อสารมวลชน

การศึกษามวลชนในรูปแบบใหม่โดยสื่อ ภาคสาธารณะและชีวิตความเป็นส่วนรวมที่สร้างขึ้นบนกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนพลเมืองผ่านบทบาทของสื่อภาคสาธารณะ และการสร้างความฉลาดรู้ทางสังคมโดยสื่อและการสื่อสารสื่อใหม่ จึงเป็นความจำเป็นใหม่ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และจะทำให้เกิดพลวัตรใหม่ๆทั้งหมดในภูมิทัศน์ของสื่อและนิเวศวิทยาของการสื่อสาร รวมทั้งนำไปสู่ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก อันเกิดจากภาวะการชี้นำ ที่จะสามารถบูรณาการบทบาทของการสื่อสาร การศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ และการระดมสร้างประเด็นส่วนรวม ให้เป็นกระบวนการพลวัตรตนเองจนเป็นกระบวนการสังคมวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องและอย่างมีชีวิต ให้ไปด้วยกันได้อย่างเหมาะสม.

....................................

หมายเหตุ :

ข้อเขียนนี้ เป็นเอกสารประกอบการบรรยายของผู้เขียน ในรายวิชาสื่อใหม่ สาขานิเทศศาสตร์บูรณาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ผู้เขียนเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่คนทำงานและผู้สนใจ รวมทั้งเป็นความรู้สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งแวดล้อมด้วยความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ ตลอดจนต้องบันทึกบทเรียนให้พลวัตรไปกับวิทยาการและเทคโนโลยีสื่อซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาไปด้วย จึงนำมาเผยแพร่และบันทึกรวบรวมไว้ในนี้ด้วย

....................................................

บรรณานุกรมและเอกสารประกอบการเขียน  

สถิติผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือประเทศไทย,VEEDVIL, (2012). สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561 จาก http://www.veedvil.com/news/thailand-mobile-in-review/)  

วิรัตน์ คำศรีจันทร์ , การวิจัยและพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ : เวทีชุมชนออนไลน์ ... การวิจัยและพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้, (2561). สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561 จากhttps://www.facebook.com/%E0%B...  

วิรัตน์ คำศรีจันทร์, กลุ่มเรียนวิชาสื่อใหม่_กลุ่ม 1_ 2560: สื่อเตรียมสอบกลางภาค รายวิชาสื่อใหม่, (2561). สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561 จาก https://www.facebook.com/group... 128026001246447/  

วิรัตน์ คำศรีจันทร์, กลุ่มเรียนวิชาสื่อใหม่_กลุ่ม 2_ 2560: สื่อเตรียมสอบกลางภาค รายวิชาสื่อ, (2561). สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561 จาก https://www.facebook.com/group... 1756021141358936/   Social media, (2016) สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561 จาก http://www.9tana.com/node/thai... 

หมายเลขบันทึก: 643870เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2018 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2018 01:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท