เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร ๑๑. หุ้นส่วนเชิงพื้นที่



 ในการประชุม Engagement Conference 2017 วันที่สอง ผู้บรรยายนำคนแรกคือศาสตราจารย์ Nancy Cantor, Chancellor, Rutgers University, Newark, New Jersey, USA ในหัวข้อ Collaboration and interdependence : universities as anchor institutions   มีความหมายว่า มหาวิทยาลัยเป็น “เสาหลัก” ของพื้นที่   ซึ่งเป็นรูปแบบของ “หุ้นส่วนเชิงพื้นที่” (place-based engagement)    (http://www.newark.rutgers.edu/sites/default/files/nj_anchor_coalition_speech--final_formatted-_14_pt.pdf)     ที่ได้แนวทางมาจาก National Anchor Institution Task Force ของสหรัฐอเมริกา http://penniur.upenn.edu/initiatives/national-anchor-institution-task-force-1     ที่เมื่อเข้าไปอ่าน ก็เห็นได้ชัดว่า ขบวนการ PE ของมหาวิทยาลัยมีอยู่ในสหรัฐอเมริกาด้วย

ท่านเล่าเรื่องเมือง Newark ที่เป็นเขตอุตสาหกรรมเก่า ที่กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมทางสังคมและเศรษฐกิจ    ที่ตัวเลขสถิติต่างๆ แสดงความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างรุนแรง    บั่นทอนอนาคตของเยาวชน    ปัญหาในระดับวิกฤตินี้ กลายเป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส สถาบันอื่นๆ  และเครือข่ายประชาสังคม ในพื้นที่ร่วมกันเข้าไปดำเนินการฟื้นฟูเปลี่ยนแปลง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น    โดยเขาใช้คำว่ามหาวิทยาลัยทำหน้าที่เชิง “สมอเรือ” (anchor) คือปักหลักอยู่กับที่ ร่วมทุกข์ร้อนกับปัญหา และเข้าร่วมดำเนินการแก้ไข    แต่เขามาขยายความทีหลังว่า เขาเป็น “agile anchor” ไม่ใช่ static anchor   คือเป็นหลักที่มีชีวิตมีพลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง  

กิจกรรมหลักที่ดำเนินการได้แก่ community-engaged science; strong, safe neighborhoods; education attainment = prosperity; และ tending to democracy    ผมแปลกใจที่เขาไม่เอ่ยเรื่องการสร้างงานเป็นกิจกรรมหลัก ทั้งๆ ที่ในเป้าหมายระบุว่าจะสร้างงานใหม่ ๑,๐๒๐ งาน  ภายในปี 2020 ให้แก่เมือง Newark

ทั้ง ๔ มหาวิทยาลัยที่เราไปเยี่ยม คือ UWE, UoB, QMUL, และ UCL ต่างก็ยึดหลักเข้าไปเป็น “หลักในถิ่น”   เพื่อร่วมเป็นหุ้นส่วนพัฒนาพื้นที่   ซึ่งในทางกลับกันก็เป็นช่องทางให้มหาวิทยาลัยทำงานที่เชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม    สร้างผลงานผ่านการเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม    และเป็นช่องทางให้ได้รับการสนับสนุนทุนดำเนินการ 

University of Western England และ University of Bristol อยู่ในเมืองบริสตอล    ผลงานหุ้นส่วนสังคมที่เขาภูมิใจที่สุดคือการที่นครบริสตอลได้รับยกย่องจาก อียู ให้เป็น Green Capital    โดยมหาวิทยาลัยทั้งสองเข้าร่วมพัฒนาเมืองอย่างแข็งขัน

Queen Mary University of London อยู่ในย่านตะวันออก ที่เป็นถิ่นคนยากจนของลอนดอน และมีเป้าหมายตั้งแต่ก่อตั้งโดย Queen Victoria ในปี ค.ศ. 1887 ให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนยากจน   โดยมีการสร้างอาคาร People’s Palace สำหรับให้ชาวเมืองเข้ามาใช้มหาวิทยาลัยเป็นที่พบปะพูดคุยและเรียนรู้    และอุดมการณ์นั้นยังสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

University College London เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของโลก    ตามที่เราไปเยี่ยมและเขานำเสนอ โครงการที่ UCL ใช้เชื่อมโยงหุ้นส่วนในพื้นที่นครลอนดอน และปริมณฑล อย่างได้ผลดียิ่งคือโครงการ CRAE (Centre for Research in Autism and Education) ที่เล่าไว้แล้วในตอนที่ ๔     

จริงๆ แล้วกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเพื่อเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคมในพื้นที่ มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายกิจกรรม    รูปแบบที่มักใช้ในทุกมหาวิทยาลัยคือการเข้าไปร่วมจัดกิจกรรมในงานเทศกาล (festival) ที่จัดกันเป็นประเพณีอยู่แล้ว    และ NCCPE ก็ได้ออกเอกสารแนะนำวิธีดำเนินการ ดูได้ที่ https://www.publicengagement.ac.uk/do-it/who-work-with/working-with-festivals 

 

  

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธ.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 643868เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2018 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2018 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท