บันทึกของมนุษย์นศ.OT ตอน มันเป็นเรื่องของ(ภูมิคุ้มกัน) "หัวใจ"


"สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน หลังจากที่ห่างหายไปนาน วันนี้จึงมีความตั้งใจมาเขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อแบ่งปันความรู้เรื่อง ภูมิคุ้มกันหัวใจ "

     คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมในปัจจุบัน มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รถติด แฟนมีกิ๊ก เงินเดือนไม่พอใช้  เฟสบุ๊คโดนแฮก แท็กซี่ไม่รับ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องกวนใจและสร้างความปวดหัวให้เราได้ตลอดเวลา แล้วเราจะมีวิธีรับมือหรือปรับตัวกับเรื่องที่เราเรียกว่า "ปัญหาชีวิต" เหล่านี้ได้อย่างไรกัน?   

ก่อนอื่นเรามารู้จักกับคำว่า RQ หรือ Resilience Quotient

RQ (Resilience Quotient)

เป็นศักยภาพทางอารมณ์และจิตใจในการปรับตัว 

และฟื้นตัวภายหลังเหตุการณ์วิกฤติ หรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยากลำบาก 

อันเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะช่วยให้บุคคลผ่านพ้นปัญหาอุปสรรค 

และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

   RQ จึงเป็นพลังสุขภาพจิตที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่คนเราต้องการพลังสุขภาพจิตมากกว่าภาวะทั่วไป โดยพลังสุขภาพจิตนี้จะนำพาให้เราก้าวผ่านไปได้ 

    กรมสุขภาพจิตได้แนะนำหลักคิดสู่ RQ ไว้สั้นๆ เพียง 3 คำคือ ฉันเป็น ฉันมี ฉันทำได้ (I am, I have, I can) คือ ฉันเป็นคนอดทนเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ ฉันมีกำลังใจ มีคนรักและห่วงใย ฉันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ได้ 
       

  โดยใช้เทคนิค 4 ปรับ 3 เติม เพิ่ม RQ ดังนี้ 

              4 ปรับ คือ ปรับอารมณ์ ปรับความคิด ปรับการกระทำ ปรับเป้าหมาย 

"ปรับอารมณ์"
          เมื่อเกิดปัญหา หรืออุปสรรคที่เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต คนเรามักจะตกใจ และมีความรู้สึกต่างๆ ที่รุนแรง จนควบคุมตัวเองไม่ได้ สิ่งแรกจึงต้องพยายามตั้งสติ อยู่ในที่เงียบๆ หรือหาคนปลอบใจ หลังจากนั้น หาทางออกในการระบายความกดดัน อย่างเหมาะสม เช่น การออกกำลังกายเพื่อระบายความโกรธ หันเหความสนใจไปเรื่องอื่น เพื่อปรับอารมณ์ เมื่อใดที่รู้สึกท้อ ขอให้บอกกับตัวเองว่า เราต้องสู้ ยังมีคนที่ทุกข์กว่าเราตั้งเยอะ คิดถึงความสำเร็จของเรา และของครอบครัว หากอดทนต่อสู้กับปัญหา

"ปรับความคิด"
          การที่จิตใจสงบลง ทำให้คนเราคิดเรื่อง ที่เป็นเหตุเป็นผลได้มากขึ้น การปรับความคิดทำได้หลายวิธี เช่น เปรียบกับคนที่แย่กว่าเรา ลองมองส่วนดีที่เหลืออยู่ หรือมองว่าเป็นธรรมดา หรือมันก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว การปรับความคิดจะทำให้เรายอมรับว่ามีปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น และมีกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไป เพราะการที่เรายอมรับความจริง ปัญหาทุกอย่างจะถูกแก้ไข อย่างตรงจุด

"ปรับการกระทำ"
          เมื่ออารมณ์ ความคิดกลับมาเป็นปกติ และมีกำลังใจที่จะต่อสู้แล้ว ก็ต้องลงมือทำในสิ่งที่คิดไว้เพื่อแก้ปัญหา หรืออุปสรรค เช่น เปลี่ยนจากคนที่นอนกินเล่นอยู่กับบ้าน มามุ่งมั่นหางาน สร้างรายได้ให้กับครอบครัว หรือ เปลี่ยนจากคนที่เก็บปัญหา เป็นคนเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาส ด้วยการเจริญสติ และวางแผนชีวิตให้มีเส้นที่ชัดเจน ว่าวันนี้จะทำอะไร ได้อะไร และตอบกับตัวเองให้ได้ว่า แล้วทำไปทำไม เพื่อให้ชีวิตมีธง และดำเนินต่อไปข้างหน้าต่อไปได้

"ปรับเป้าหมาย"
          ปัญหาที่หนักหนา อาจจะทำให้เราทำตามความต้องการไม่ได้ จำเป็นต้องยืดหยุ่น ปรับเป้าหมายให้เหมาะสม กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เช่น อยากซื้อรถสัก 1 คัน แต่ตัวเองยังตกงาน หรือครอบครัวยังเป็นหนี้อยู่ จึงต้องออกหางานเพื่อทำงาน และหาเงินมาใช้หนี้ และจุนเจือครอบครัว ส่วนเป้าหมายเรื่องรถ คงต้องเลื่อนออกไปก่อน เป็นต้น 

              3 เติม คือ เติมศรัทธา เติมมิตร เติมจิตใจให้กว้าง
"เติมศรัทธา"
          ความเชื่อ ความศรัทธา ทำให้คนเรามีจิตใจที่เข้มแข็ง และมีความหวัง เช่น เชื่อว่าชีวิตมีช่วงขึ้น และลง วันนี้มีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเงินในครอบครัว หรืออื่นๆ หากอดทน และพยายามแก้ไข วันข้างหน้าก็ต้องดีขึ้น เพราะเชื่อซะอย่าง ว่าเราต้องผ่านมันไปให้ได้ 

"เติมมิตร"
          การผูกมิตร หรือให้ความช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่ทำได้ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อเราเผชิญกับปัญหาบางอย่างที่เกินจะรับมือได้ มิตรที่ดีจะช่วยให้คำปรึกษา หรือพึ่งพิง ซึ่งบางคนอาจจะคิดเกรงใจ ไม่อยากรบกวน และแก้ปัญหาอยู่คนเดียว แต่ถ้าเป็นเรื่องของความอยู่รอด ก็จำเป็นที่จะต้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ ที่สำคัญ คนในครอบครัวถือเป็นมิตรที่ดี และเข้าใจเรามากที่สุด มีอะไรก็ขอให้คุยกันในครอบครัว

"เติมใจกว้าง"
          เมื่อมีปัญหา คนเรามักใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม ลองศึกษาวิธีที่แตกต่างออกไป หรือเข้าใจความรู้สึก ความคิดของคนอื่นที่แตกต่างจากเรา อาจทำให้มองปัญหาได้รอบด้านขึ้น ได้ข้อมูลมากขึ้น มีจิตใจกว้างขึ้น และเห็นทางออกของปัญหาได้มากขึ้นตามไปด้วย

คนที่มี RQ เป็นคนอย่างไร
ศักยภาพทางสุขภาพจิต RQ จะแสดงออกได้โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ กล่าวคือ
ระดับพื้นฐาน คือ เมื่อเผชิญวิกฤติยังสามารถดำรงความสงบสมดุลทางอารมณ์ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตไว้ได้
ระดับที่สอง คือ เมื่อพบปัญหาสามารถลุกขึ้นมาจัดการปัญหา แสดงออกถึงการเป็นคนที่มุ่งแก้ปัญหามากกว่าติดอยู่ในกับดักของอารมณ์และความรู้สึก
ระดับที่สาม แม้ในยามที่มีความทุกข์ แต่ก็ยังมีความรู้สึกว่าตนมีคุณค่า มีความมั่นใจ และมีมุมมองต่อตนเองในเชิงบวก
ระดับที่สี่ มีทักษะการจัดการทางอารมณ์ที่จะฟื้นตัวได้เร็ว หายจากความเศร้าเสียใจได้เร็ว
ระดับที่ห้า เป็นระดับสูงสุด ความสามารถหรือพรสวรรค์ที่จะเปลี่ยนโชคร้ายให้กลายเป็นดี หรือเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างน่าทึ่ง

ขอบคุณรูปภาพจาก :https://www.pinterest.com/pin/...


สำหรับ " กิจกรรมบำบัดนั้น" 

มองมนุษย์ 1คนเป็นองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ ซึ่ง3ส่วนนี้ทำงานร่วมกันเพื่อให้มีสุขภาวะ(well being)ดี จึงต้องให้ความสำคัญกับทั้ง 3 องค์ประกอบให้สมดุลกััน 

สุขภาวะ (Well-Being) คือการมีสุขภาพดี มีความรู้สึกเป็นสุข ความสมดุล ความเป็นองค์รวมของ 4 มิติ คือ กาย จิต สังคม ปัญญาหรือจิตวิญญาณ ที่บูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคม เพื่อสร้าง “ความอยู่เย็นเป็นสุข” (ดวงกมล ศักดิ์เลิศสกุล, 2549 อ้างถึงใน กองบรรณาธิการใกล้หมอ, 2547)

นักกิจกรรมบำบัด : มีบทบาทในการแนะนำและสอนทักษะการเผชิญหน้ากับปัญหา เพื่อให้ผู้รับบริการหรือคนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มศักยภาพ

ผู้เขียนมองว่า เราอาจจะไม่สามารถลดและกำจัดปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้ ดังนั้น เราควรจะรับมือกับปัญหา โดยการ "ตั้งรับ" อย่างมีสติ อดทน และไม่กดดันตนเองจนเกินไป

สำหรับบทความนี้ .. ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะได้ความรู้ และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ และสุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้คน "ที่กำลังเผชิญกับปัญหา"  อย่าท้อถอย อย่าหมดหวัง จงเชื่อและก้าวผ่านมันไปด้วยความสุข



ผู้เขียน : ค่อลค่อล


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก

จิตใจแย่...คนแก้ต้องอาร์คิว (RQ). [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http :/ /https://www.doctor.or.th/artic... 

(วันที่ค้นข้อมูล : 18 ธันวาคม 2560).

ปรับ 4 เติม 3" สูตรรับมือวิกฤติ! สร้างสุขให้ชีวิต. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http :/ / https://www.bloggang.com/viewd...  

(วันที่ค้นข้อมูล : 18 ธันวาคม 2560).

สุขภาพแบบองค์รวม (Hollistic). [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http :/ / http://oknation.nationtv.tv/bl...  

(วันที่ค้นข้อมูล : 18 ธันวาคม 2560).



หมายเลขบันทึก: 643420เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2017 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2017 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท