การประชุมประจำปี การพัฒนาการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ ครั้งที่ ๔ : 4. การประชุมวันที่สอง



วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เป็นเรื่อง ICT ทั้งวัน   เริ่มด้วย การโต้วาทีเรื่อง ไอซีทีทดแทนห้องเรียนได้หรือไม่   ให้ทั้งความสนุกสนานและสาระ   คนฟังพอจะได้ข้อสรุปเองว่า ไอซีทีมีทั้งประโยชน์และโทษ   หากใช้เป็นก็จะช่วยให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น และเรียนได้ลึกขึ้น    แต่ไอซีทีไม่มีวันทดแทนอาจารย์ที่ดีได้


ความท้าทายของการใช้ ไอซีที ในการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ


เป็นการนำเสนอโดยวิทยากร ๔ ท่าน ท่านละ ๑๕ นาที

ความท้าทายด้าน infrastructure โดย รศ. นพ. อาทิตย์ อังกานนท์ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล    ซึ่งสรุปได้ว่า ประเด็นสำคัญ ๓ ประการคือ bandwidth, security, และ device   ให้ใช้งานระบบไอทีได้สะดวกจกหลาย device   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากโทรศัพท์มือถือ


Digital 4.0 in HPE  โดย รศ. ดร. เทพศักดิ์ บุณยะรัตพันธุ์  แห่ง มสธ.   ท่านบอกว่า Teaching 4.0 หัวใจอยู่ที่การจัดให้มี digital content   เพื่ออำนวยความสะดวกต่อ mTeaching และ mLearning (m = mobile)   โดยใช้ mobile device สารพัดแบบ   รวมทั้งใช้สารพัด technology platform (Line, Line@, FB, FB Live, FB Page, YouTube, YouTube Live, Twitter, MOOCs)   ท่านเอ่ยถึง Thesis 4.0, และ Research 4.0 ที่ใช้ digital technology ช่วยเปลี่ยนโฉมไปโดยสิ้นเชิง


MOOCs โดย ผศ. ภก. อนุชัย ธีระเรืองไชยศรี  คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นรอง ผอ. โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย ของ สกอ.     ท่านแนะนำให้ผู้ฟังรู้จักว่า Massive Open Online Courses เป็นอย่างไร   มีการดำเนินการกว้างขวางทั่วโลก หลายประเทศจัดให้มีระบบ MOOC ของตนเอง รวมทั้งประเทศไทย   โครงสร้างการเรียนใน MOOC มี ๓ ส่วน คือ การดู VDO  ตามด้วยการได้รับ feedback โดยการทำแบบฝึกหัด online   และการทำให้การเรียนรู้ลึกและเชื่อมโยงขึ้น ผ่าน P2P (Peer to Peer) online interaction  


ความท้าทายของ MOOC ได้แก่ (๑) วิธีการหาเงิน  (๒) ระบบใบประกาศ นียบัตร  (๓) วิธีป้องกันผู้เรียนปลอมตัว  และ (๔) การเพิ่มอัตราการเรียนจบ


ประเทศไทยก็มี Thai MOOC   www.thaimooc.org   http://bit.ly/thaimooc-vdo  มีเป้าหมายให้บริการ ๓ อย่างคือ () รายวิชาทุกระดับการศึกษา  () ประวัติการเรียนรู้  () ธนาคารหน่วยกิต   มีการเปิดรายวิชาไปแล้วจำนวนหนึ่ง    แต่ยังไม่ได้พัฒนามิติด้าน Artificail Intelligence  


Challenges of Using High Fidelity Simulator โดย ดร. ญาณิกา โกวิทลวากุล จาก Centre of Translational Medicine, NUS    เล่าประสบการณ์การทำงานในหน่วยให้บริการ simulator เพื่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์    ซึ่งก้าวหน้ามาก และลงทุนสูงมาก   ที่สำคัญ มีการจัดการที่ดีมาก  คือลงทุนอย่าง มีเป้าหมาย และจัดการให้ใช้คุ้ม ภายใต้หลักการ simulation-based learning   โดย นศ. แพทย์และพยาบาลฝึกด้วยกัน เป็น IPE อย่างหนึ่ง


เป้าหมายของการมี simulator เพื่อฝึกหัตถการสำคัญ ก็เพื่อแก้ปัญหา ขาดแคลนผู้ป่วยจริงๆ ให้ฝึก   รวมทั้งลดอันตรายต่อผู้ป่วย    คือฝึกกับหุ่นจนคล่อง แล้วจึงฝึกปฏิบัติการจริง   ขอย้ำว่าที่ ดร. ญาณิกาเอามาเล่านี้เป็นหุ่นฉลาดนะครับ    เขาบอกไปที่คอมพิวเตอร์ได้ด้วยว่าคนฝึกทำถูกต้องแค่ไหน    


ดร. ญาณิกา บอกว่าความท้าทายของ simulation-based learning มี ๕ ประการคือ

  • Attitude  ทั้งของผู้ฝึกและครูฝึก   ที่จะต้องยอมรับและ อิน” กับกิจกรรม   ไม่รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมหลอกๆ   มีการเข้าร่วมกิจกรรม กันอย่างจริงจัง  ในลักษณะที่เรียกว่า engage
  • Alignment ระหว่างวัตถุประสงค์  การฝึก  และการประเมิน  
  • Level of Learners   ผู้ฝึกขั้นเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องใช้หุ่น แบบไฮเทคมาก   เฉพาะผู้ฝึกสู่ระดับเชี่ยวชาญเท่านั้นที่ต้องการ การฝึกกับหุ่นไฮเทค
  • Logistics   ได้แก่สถานการณ์จำลองที่ครูฝึกจะต้องผูกขึ้น    เพื่อให้การฝึกได้รสชาติหลายด้าน ไม่ใช่แค่ manual skills เท่านั้น   ครูฝึกต้องร่าง lesson plan  และกระบวนการ reflection / debriefing เพื่อให้ผู้ฝึกได้เรียนรู้ด้านทฤษฎีด้วย   คือเกิดการเรียนรู้ ที่ลึก
  • Evaluation   ใช้ ๓ อย่าง ได้แก่ () quiz เพื่อทดสอบความรู้  (๒) OSCE ทดสอบความรู้ ทักษะทางคลินิก และสมรรถนะ  (๓)  reflection เพื่อวัด critical thinking และ attitude


สิ่งที่น่าประทับใจคือ เมื่อ NUS ริเริ่มวิธีการใหม่ๆ เขาจะวางแผนวิจัย ประเมินผลควบคู่ตั้งแต่เริ่มโครงการ    ทำให้อาจารย์ของหน่วยมีผลงานวิจัยตามมา    เป็นวิธีทำงานที่มหาวิทยาลัยไทยควรถือเป็นตัวอย่าง

ในขั้นตอนซักถาม ได้ความรู้ว่าที่ NUS เจ้าหน้าที่สนับสนุนมีความรู้ ทางเทคนิคดีมาก    มีการจัด workshop ฝึกอาจารย์ให้ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เป็น

ในช่วงบ่ายแบ่งห้องย่อยเป็น ๓ ห้อง คือห้องใช้ไอซีทีพัฒนาการเรียนการสอน    ห้องการใช้ไอซีทีพัฒนาการบริหารสถานศึกษา    และห้อง IPE    ผมเข้าฟังห้องแรกตลอดช่วงบ่าย    ได้ความรู้มากจริงๆ  

ICT เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

 หลักการและแนวคิดในการใช้ไอซีทีเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน  รายงานของคณะทำงานด้าน ไอซีที  เสนอโดย  ผศ. ภญ. ดร. สุชาดา จงรุ่งเรืองโชค ม. รังสิต  และ ผศ. ดร. อัครเดช ศิริพร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ   โดยนำเสนอการใช้ ไอซีที ใน ๔ หัวข้อ

  • ใช้ในการเรียนการสอน  เพื่อให้ นศ. ได้ฝึก 21st Century Skills     ตรงตามรสนิยมของคน Gen Z    ช่วยให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น สนุกขึ้น   เกิดผลการเรียนรู้ที่ลึกขึ้น ถึงขั้น Transformative Learning    โดยอาจใช้ทั้ง blended  และ online learning
  • ใช้พัฒนาสื่อการสอน และ software    เพื่อเพิ่มประสิทธิผล และประสิทธิภาพของการเรียนการสอน     อาจารย์กับเจ้าหน้าที่สนับสนุนจะต้องช่วยกันพัฒนาสื่อการสอนบน ไอซีที    สื่อการสอนที่ถูกใจคนเ็น แซด คือ Gamification
  • ใช้ประเมินผลการเรียนการสอน    ทั้ง formative assessment  และ summative evaluation    นอกจากนั้นยังใช้ติดตามพฤติกรรมการเรียนของ นศ. เป็นรายคนได้ด้วย    และ นศ. ใช้ประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ ได้ feedback เพื่อปรับปรุงวิธีการเรียนของตน     
  • ใช้พัฒนาอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา    ใช้ทำ traing workshop รูปแบบต่างๆ


ประสบการณ์การใช้สื่อสามมิติ เรื่องกลไกการคลอดปกติ   เสนอโดย ผศ. ดร. นันทการ กาญจนเมธา  สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มทส.   ให้ชื่อสื่อนี้ว่าว่า LOA@SUT   ใช้สอนกลไกการคลอดปกติแก่ นศ. พยาบาล   เป็นตัวอย่างของ augmented learning ด้วยสื่อ

Dental care traing mannequins  โดย นศ. ทพ. สุทีป ปาวา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต    เล่าการลงทุนซื้อชุดหุ่นฝึกทักษะการทำฟัน ของมหาวิทยาลัยรังสิต    เป็น computerized dental simulator ที่มีความสามารถ ติดตามตรวจสอบทักษะของ นศ.  และรายงานข้อบกพร่องผิดพลาด แบบ real-time    รวมทั้งช่วยให้เห็นภาพสามมิติ    นี่คือ humanoid robot ที่ใช้เป็นผู้ป่วยเทียมให้ นศ. ได้ฝึก


my CourseVille Learning Analytics  โดย รศ. ดร. อติวงศ์ สุชาโต  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย    เป็น  learning management programme สำหรับนักศึกษา    เข้าโดย device อะไรก็ได้ ทาง FB   เมื่อ นศ. เข้าไปใช้ ข้อมูลพฤติกรรมการใช้ของ นศ. ก็จะถูกรวบรวมและประมวลด้วย AI    และรายงานให้ นศ. ได้เห็นผลการเรียนและความก้าวหน้าของตนเทียบกับทั้งชั้นหรือทั้งกลุ่ม    


Online survey tools โดย รศ. สพญ. ดร. วลาสินี มูลอามาตย์ มหาวิทยาลัยหมิดล    แนะนำ ซอฟท์แวร์สำหรับใช้สอบ หรือทำงานวิจัยแบบ survey   เช่น Survey Planet, Survey Gizmo, Zoho Survey, Typeform    ทั้งหมดนั้นมีทั้งที่ไม่เสียเงิน และเวอร์ชั่นที่ต้องจ่ายเงิน  


OSCE : Achievements with Assessment Form Online  โดย ผศ. ดร. วรชาติ เฉิดชมจันทร์  คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต    เล่าเรื่องการเปลี่ยนจากการสอบ OSCE  โดยอาจารย์ให้คะแนนลงกระดาษ มาเป็นให้คะแนน online    ที่ช่วยลดงานอาจารย์ได้มาก    โดยต้องมีการจัดการขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง ให้อาจารย์ที่เกี่ยวข้องยอมรับ


Computer-Based Test for National Licensure Examination  โดย  ทพญ. ดร. วิไลพร สุตันไชยนนท์  คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น    ที่ใช้ ไอแพด เป็นฮาร์ดแวร์ มีการเขียน ซอฟท์แวร์ขึ้นใช้โดยเฉพาะ    ช่วยลดงาน และป้องกันการทุจริต    แต่ลงทุนสูง


การสอบตามความพร้อมของนักศึกษารายบุคคล ด้วยคอมพิวเตอร์ (Walk-in Exam)  โดย  อ. ดร. ศจี จิระโร สำนักทะเบียนและวัดผล  มสธ.   เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ๒๕๕๓   ให้นักศึกษาไม่ต้องรอสอบปลายเทอม    พร้อมเมื่อไรก็มาสอบได้ 


Herbarian : herb finding game  เฮอร์บาเรียน เกมตามหาสมุนไพร   โดย ผศ. ภญ. ดร. สรกนก วิมลมั่งคั่ง  คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ    ใช้เรียนรู้ด้วยเกม


หุ่นฝึกแต่งรสมือการนวดไทย  โดย รศ. นพ. ทวี เลาหพันธ์ ผอ. โรงเรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล    ที่หุ่นไฮเทค แสดงช่วงเวลา หน่วง - เน้น - นิ่ง ของการนวดบนจอคอมพิวเตอร์ ช่วยให้มือใหม่ฝึกจนได้กราฟแสดงเหมือนการนวดของอาจารย์ผู้ชำนาญ  


วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย. ๖๐


 

 

หมายเลขบันทึก: 643112เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2017 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2017 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท