กิจกรรมบำบัดสู่ภูมิคุ้มกันทางใจ


กิจกรรมบำบัดสู่ภูมิคุ้มกันทางใจ
            มนุษย์เราต้องประสบกับภาวะวิกฤติต่างๆ มากมายในชีวิต ทั้งภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเมืองการปกครอง วิกฤติทางภัยพิบัติต่างๆ จากผลการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งวิกฤติเหล่านี้ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพทางร่างกาย และร้ายแรงที่สุดนั่นคือผลกระทบต่อสุขภาพทางจิตใจของมนุษย์ ดังนั้น การมีภูมิคุ้มกันทางใจที่ดีสามารถเปลี่ยนภาวะวิกฤติเหล่านี้ให้กลายเป็นโอกาสได้ และทำให้ไม่ถูกภาวะวิกฤติเหล่านี้ทำร้ายจนหมดทั้งแรงกาย แรงใจไปเสียก่อน
  • ภูมิคุ้มกันทางใจสร้างได้อย่างไรกันละ ?

          ภูมิคุ้มกันทางใจสามารถเสริมสร้างได้โดยอาศัย Resilience Quotient (RQ) คือ ความสามารถของบุคคลในการปรับตัว และฟื้นตัวภายหลังที่พบกับเหตุการณ์วิกฤต หรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยากลำบาก ซึ่งอาศัยพลังสุขภาพจิต หรือภูมิคุ้มกันทางใจที่ดี โดยสามารถฟื้นฟูสภาพอารมณ์ และจิตใจได้อย่างรวดเร็ว ไม่จมอยู่กับความทุกข์ มีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดี สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่ช่วยให้บุคคลผ่านพ้นปัญหาอุปสรรค และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

  • นักกิจกรรมบำบัดสามารถนำหลักการของ Resilience Quotient (RQ) มาใช้ได้อย่างไร ?

          นักกิจกรรมบำบัดสามารถนำหลักการของ Resilience Quotient (RQ) มาใช้เตรียมความพร้อมในการบำบัดรักษาผู้รับบริการให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้สูงสุดตามศักยภาพที่มี ส่งผลต่อสุขภาวะ และคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้รับบริการที่ดียิ่งขึ้น จากการปรับตัวต่อภาวะวิกฤติต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างเหมาะสม โดยอาศัยเทคนิคการพัฒนาตนเองให้มีอาร์คิว (RQ) ที่ดีก่อน ตามหลักการของ 4 ปรับ 3 เติม ดังนี้

             4 ปรับ :

          1. ปรับอารมณ์ คือ การตั้งสติ ผ่อนคลายความเครียด ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่โกรธแค้น หรือโทษใคร

- เมื่อผู้รับบริการประสบภาวะวิกฤติในชีวิตจนเกิดความเครียด ท้อแท้สิ้นหวัง หมดกำลังใจ นักกิจกรรมบำบัดควรจัดกิจกรรมที่ฝึกสมาธิ ผ่อนคลายความเครียดให้ผู้รับบริการก่อน เช่น การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เพื่อเรียกสติ ผ่อนคลายความเครียด และช่วยลดอารมณ์โกรธแค้นที่ไม่ดีของผู้รับบริการได้อีกด้วย จากนั้นค่อยให้กำลังใจแก่ผู้รับบริการ โดยอาจจัดกลุ่มบุคคลที่ประสบวิกฤติเดียวกันกับผู้รับบริการมาให้กำลังใจ ช่วยกระตุ้นให้ผู้รับบริการมีแรงใจที่ดีในการต่อสู้ หรือปรับตัวต่อวิกฤตินั้น

          2. ปรับความคิด คือ การคิดในมุมบวก มองให้ลึกถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

- นักกิจกรรมบำบัดชี้เห็นถึงข้อดีของวิกฤติที่ผู้รับบริการประสบอยู่ บนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ เพื่อปรับทัศนคติของผู้รับบริการให้มีความคิดมุมบวกมากขึ้น อาจให้ผู้รับบริการทำกิจกรรมจดบันทึกคิดทบทวนถึงของดีของวิกฤตินั้น ทำการบันทึกมาเป็นรายข้อ เมื่อบันทึกเสร็จแล้วอาจนำไปติดในที่ที่ผู้รับบริการมองเห็นบ่อยๆ เพื่อให้สมองเกิดการรับรู้สร้างความคิดเชิงบวกมากขึ้นต่อวิกฤตินั้น  

          3. ปรับพฤติกรรม คือ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตใหม่ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขใหม่

- นักกิจกรรมบำบัดกระตุ้นให้ผู้รับบริการเกิดความคิดตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตใหม่ด้วยตนเอง และปรับพฤติกรรมนั้นให้เหมาะสม โดยปรับความคิดผู้รับบริการให้มีทัศนคติเชิงบวก ปรับสิ่งแวดล้อมให้ไม่ขัดขวางต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้รับบริการ และปรับกิจกรรมการดำเนินชีวิตของผู้รับบริการให้เหมาะสม เพื่อต่อสู้ หรือปรับตัวต่อวิกฤตนั้นได้

          4. ปรับเป้าหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

- นักกิจกรรมบำบัดชี้ให้ผู้รับบริการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายชีวิต เพื่อหาทางออก หรือปรับตัวต่อวิกฤตที่ตนประสบ โดยให้ผู้รับบริการตั้งเป้าหมายที่ช่วยให้ตนเองสามารถแก้ไขปัญหา หรือปรับตัวอยู่ร่วมกับวิกฤตได้อย่างมีความสุข อาจให้ผู้รับบริการเขียนบันทึกเป้าหมายที่ตนเองต้องเปลี่ยนแปลง ติดในสถานที่ผู้รับบริการมองเห็นบ่อยๆ แล้วพูด Self-Talk เป้าหมายนั้นกับตนเองบ่อยๆ โดยใส่ความเชื่อมั่น และความรู้สึกที่ดีต่อเป้าหมายนั้นลงไป ควรทำตอนตื่นนอน และหลังตื่นนอน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางใจที่ดีให้มีกำลังใจที่อยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรรมตนเองให้เหมาะสมจนสามารถพลิกวิกฤตเหล่านั้นให้เป็นโอกาสได้          

             3 เติม :

          1. เติมศรัทธา คือ ความเชื่อที่ว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก เมื่อผ่านพ้นความมืดตอนกลางคืนไปแล้ว พระอาทิตย์ย่อมขึ้นมาให้ความสว่างเสมอ

- นักกิจกรรมบำบัดให้กำลังใจผู้รับบริการ และชี้ให้ผู้รับบริการเห็นว่าทุกปัญหานั้นมีทางออกเสมอหากเราปรับตัวได้อย่างเหมาะสม อาจให้ผู้รับบริการได้แลกเปลี่ยนความคิด ความเชื่อจากบุคคลที่ประสบวิกฤตเดียวกับผู้รับริการ แล้วสามารถปรับตัว ต่อสู้จนผ่านวิกฤตนั้นมาได้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ความเชื่อมั่น ความศรัทธาในชีวิตให้แก่ผู้รับบริการ จนเกิดภูมิคุ้มกันทางใจที่ดีไม่ย่อท้อต่อวิกฤตต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต

          2. เติมมิตร คือ มิตรสหาย และครอบครัว ที่คอยอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ พูดคุยกับคนที่ไว้ใจเพื่อช่วยหาทางออก

- นักกรรมบำบัดแนะนำให้ครอบครัว หรือคนที่ผู้รับบริการรัก คอยอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ ในวันที่ผู้รับบริการท้อแท้หมดกำลังใจ ร่วมพูดคุยกับผู้รับบริการถึงเรื่องที่ดีบ่อยๆ รวมทั้งอาจช่วยผู้รับบริการคิดแก้ไขหาทางออกของปัญหา เพื่อปรับอารมณ์ และความเครียดของผู้รับบริการให้ลดลง

          3. เติมจิตใจให้กว้าง คือ รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มองไปให้ไกลออกจากตัวเรา ในขณะที่เรามีความทุกข์ยากลำบาก ก็ยังมีคนอื่นๆ ที่มีความทุกข์เช่นเดียวกับเรา บางคนอาจมีมากกว่าด้วยซ้ำ

- นักกิจกรรมบำบัดชี้ให้ผู้รับบริการเห็นว่าวิกฤติที่ผู้รับบริการประสบถือเป็นเรื่องที่ธรรมดา เพราะทุกคนต่างก็ต้องพบความทุกข์ ความยากลำบากในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น อาจสื่อสารกับผู้รับบริการโดยการยกตัวอย่างบุคคลที่ที่มีความทุกข์เช่นเดียวกับผู้รับบริการ หรือทุกข์มากกว่า เพื่อให้ผู้รับบริการเปิดใจยอมรับวิกฤตนั้น รู้สึกมีกำลังใจในการใช้ชีวิต มีภูมิคุ้มกันทางใจที่ดียิ่งขึ้น

  • การสร้าง Resilience Quotient (RQ) ควรเริ่มเมื่อใด ?  
          นักกิจกรรมบัดควรแนะนำผู้ปกครองให้สร้าง Resilience Quotient (RQ) ตั้งแต่บุตรหลานยังเด็ก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ในการเผชิญปัญหา หรืออุปสรรคต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี สามารถทำได้โดยผู้ปกครองสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่เด็ก มอบความรัก ความใส่ใจ ความห่วงใยดูแลซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจ ให้เด็กรู้สึกว่าผู้ปกครองอยู่เคียงข้างกันเสมอ คอยรับฟังปัญหา และร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ฝึกให้เด็กได้ระบายความรู้สึกตนเอง ฝึกทักษะการจัดการความเครียด และอารมณ์แก่เด็ก ให้เด็กมองโลกแง่บวก กระตุ้นให้เด็กมีความหวัง และมีเป้าหมายในชีวิต แต่ไม่ควรตั้งความคาดหวังในตัวเด็กมากจนเกินไป เป็นตัวย่างที่ดีแก่เด็ก สอนถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต รวมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กเติบโตมาพร้อมกับภูมิคุ้มกันทางใจที่ดี สามารถปรับตัวใช้ชีวิตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีสุขภาวะที่ และคุณภาพชีวิตที่ดี

จัดทำโดย : นาย รุจิกร วัฒนนิเวศ เลขที่ 15 5823015 PTOT


          
หมายเลขบันทึก: 643104เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2017 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2017 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท