ได้รับข่าวจากเพื่อนเล่าให้ฟังถึงแนวคิดในการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่ยังอยู่ในระยะปฏิเสธผลการตรวจ..ก็จะไปตรวจซ้ำตามที่ต่างๆหลายแห่ง..ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะร่วมมือประสานงานกับหน่วยประกันสุขภาพมีมุมมองว่าการตรวจซ้ำๆเช่นนี้ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพยากรในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ(ทั้งเงินและเวลา)ก็เลยมีแนวคิดที่จะออนไลน์ข้อมูลและตรวจเช็คได้ว่าผู้มาขอตรวจรายนี้ได้เคยตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้วหรือยัง...ถ้าตรวจและพบแล้วว่าติดเชื้อก็จะได้ทำการปฏิเสธไม่ต้องทำการตรวจซ้ำให้ใหม่
ฟังแล้วปวดใจและหงุดหงิดมากกับแนวทางการแก้ปัญหาแบบนี้เพราะถ้ามีการออนไลน์ดูว่ามีรายชื่อใครบ้างที่ตรวจเจอว่าติดเชื้อเอชไอวี..สิ่งที่ผู้ให้การปรึกษาเคยให้ข้อมูลหรือสร้างความไว้วางใจในการเก็บรักษาความลับแก่ผู้ใช้บริการก็คงล่มสลายไป..ปกติกว่าจะเชิญชวนบอกกล่าวให้ผู้ที่พฤติกรรมเสี่ยงหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อเอชไอวีตัดสินใจตรวจเลือดได้ก็ต้องใช้ทั้งเวลา ความอดทน และการสร้างความไว้วางใจ..ต่อไปหากเกิดมีการฟ้องร้องฐานนำข้อมูลส่วนบุคคลมาเปิดเผยควรจะฟ้องใครหรือหน่วยงานไหนเป็นอันดับแรกดี..
แม้จะมีผู้ติดเชื้อบางส่วนเป็นนักช็อปปิ้งแอบไปตรวจเลือดซ้ำตามที่รพ.หลายๆแห่งแต่เป็นส่วนน้อยมาก..แทนการแจ้งชื่อว่าใครตอนนี้ติดเอชไอวีแล้วจะได้ไม่ต้องให้ตรวจซ้ำ..อยากให้หาเหตุผลหรือข้อมูลว่าเพราะอะไรที่ทำให้ผู้ป่วยตระเวนไปยังรพ.อื่นๆแทนที่จะอยู่หรือใช้บริการในท้องถิ่น..เพราะเขาต้องการความมั่นใจในการตรวจใช่หรือไม่ซึ่งถ้ารพ.ทุกที่พัฒนามาตรฐานการตรวจวินิจฉัยและการบำบัดรักษาที่เหมือนกันและมีมาตรการในการดูแลและไม่ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกว่าเขากำลังถูกเปิดเผยความลับ..เขามีความสะดวกและสบายใจที่ได้มารับบริการ..สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสิ่งเราควรใส่ใจและเป็นคำตอบที่เรามักได้ยินจากผู้ใช้บริการจากต่างถิ่นไกลๆพูดถึงเสมอเมื่อเราถามถึงเหตุผลว่าเพราะอะไรคุณจึงเดินทางมาไกลๆเพื่อมารับการรักษาที่นี่..
สิ่งที่นึกถึงนอกจากมูลค่าที่วัดได้,เป็นประโยชน์ทางหลักการเงินแล้ว เช่น เงิน ค่าใช้จ่ายแล้ว ในกรณีของเอชไอวีนั้น มูลค่าที่ไม่ได้เป็นตัวเงินแต่เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง เช่น ผลกระทบต่อบุคคลทางด้านสังคม ก็อยากให้คำนึงถึงด้วยค่ะ