KM โรงเรียนเพลินพัฒนา (5) สุนทรียภาพที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียน



ตอนที่ ๑ (๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙)    ตอนที่ ๒ (๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙)    ตอนที่      ตอนที่

ต่อไปนี้เป็นการสะท้อนคิดจากรายการการประชุมจริงๆ    ซึ่งเริ่มด้วย การสอนและการปฏิบัติ ร้องเพลงประสานเสียง    สอนโดยครูมะปราง    ที่มีวิธีฝึกอย่างมีขั้นตอน    มีผู้ร่วมงานทั้งครูและแขก ภายนอกร่วมกันฝึกและร้อง    ครูคงจะเคยฝึกกันมาแล้ว    แต่แขกภายนอกคงจะใหม่ต่อการร้องเพลง ประสานเสียงแบบแยกเสียงนี้    ที่มหัศจรรย์คือ ภายในเวลาครู่เดียว เสียงเพลงใกล้รุ่ง ประสานเสียง ก็เจื้อยแจ้วไพเราะ 


ตามด้วยรายการ เจตคติในการเรียนรู้กับการจัดการศึกษา ที่มีการจัดระบบวัดระดับเจตคติ ต่อการเรียนรู้วิชาต่างๆ ของนักเรียน ก่อนและหลังการเรียนในภาคนั้นๆ    นำมาทำความเข้าใจในที่ประชุม    แต่ก่อนจะเสนอข้อมูล ครูปาดอธิบายทฤษฎีว่าด้วยเจตคติให้ฟังก่อน    เชื่อมไปยังเรื่อง Aptitude ที่ทำให้ผมได้ความรู้เรื่อง aptitude    ว่ามีมากกว่าความถนัด   โดยผมมีความเชื่อในช่วงหลังๆ ว่าความถนัดเปลี่ยนได้ หรือเรียนรู้ได้    ครูปาดกล่าวว่า aptitude เกิดจากการเรียนด้วยตนเอง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว    และ aptitude มี ๗ องค์ประกอบ   จึงทำให้ผมตื่นเต้นมาก    กลับมาบ้านค้นด้วยกูเกิ้ลพบ ๗ องค์ประกอบของ aptitude ดังนี้ artistic, interpersonal, communication, managerial, mathematics, mechanical, science   


ผลการวัดเจตคติของนักเรียน เห็นได้ชัดว่าเมื่อมีการปรับปรุง OLE  เจตคติต่อการเรียนวิชา ของนักเรียนสูงขึ้น    ที่น่าชื่นใจ (และใจชื้น) คือ หลังเรียนวิชานั้นๆ เจตคติต่อวิชานั้นของนักเรียนดีขึ้น    แสดงว่าวิธีจัดการเรียนรู้ของครูน่าสนใจ     


ประเด็นเชิงปฏิบัติที่ครูปาดกล่าวคือ เจตคติสูงของครู ถ่ายทอดสู่นักเรียนได้    ผมตีความต่อว่า เมื่อครูมีเจตคติต่อวิชาหรือบทเรียนนั้นๆ สูง    ย่อมแสดงออกทางพฤติกรรมสีหน้าท่าทาง     ความกระตือรือร้นของครูย่อมส่งผลต่อไปยังศิษย์ 

ครูนุ่น จริญญา จันทะดวง ครูภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ป. (เพิ่งเป็นครูปีแรก) อ่านข้อสะท้อนคิดเรื่อง สอนด้วยใจให้ด้วยรัก ตามในโปสเตอร์ ให้ความรู้สึกที่ดียิ่งต่อวิญญาณครู

ต่อด้วยการบรรยายประกอบ PowerPoint ของครูใหม่ เรื่อง นักเรียนชั้น ๒ ออกไปเรียนรู้ภาคสนาม   โดยออกไปชมวัดสุวรรณาราม ที่มีจิตรกรรมฝาผนังงดงามมาก เรื่องทศชาติ    แล้วเด็กกลับมาสร้างโมเดลวัด ที่ชั้นเรียน    เห็นภาพความเอาจริงเอาจังของเด็กแล้ว ผม AAR กับตนเองว่า    การที่เด็กได้เรียนแบบลงมือทำ ในสถานการณ์จริง    ช่วยสร้าง ความเป็นคนจริงจัง” ไม่เหลาะแหละ    ซึ่งเมื่อติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่ จะให้คุณต่อชีวิตอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น การฝึกสร้างผลงานจริง จะช่วยสร้างความมั่นใจในตนเอง ให้แก่เด็กที่ขาดความมั่นใจ ดังกรณีของเด็กชาย ... ทำให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เราต้องการ คือการมีตัวตน    ซึ่งเป็นพัฒนาการหรือการเรียนรู้สำคัญของเด็ก

ผมเขียนบันทึกข้างบนเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม แล้วโดนงานอื่นๆ มาดึงเวลาไป จนมีโอกาสเขียน บันทึกต่อในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน    อารมณ์ในการเขียนอาจไม่ต่อเนื่องกัน    ผมต้องขออภัย

 

ชีวิตเปลี่ยนไปเมื่องานศิลป์ไทยมีคุณค่า

เป็นเรื่องราวของเด็กชั้นประถมปลาย ๒ คน เอี๊ยมกับขวัญ (เวลานี้เรียนชั้น ม. ๒)   ที่ตอนนั้น เป็นเด็กซึมๆ ไม่ตั้งใจเรียน    ไม่มีชีวิตชีวา    แต่ชีวิตเปลี่ยนไปเมื่อ ครูช่วยให้เกิดความมั่นใจในคุณค่าของตน  ค้นพบตนเอง (สิ่งที่ตนสนใจ มีความสุขเมื่อได้ทำ)    เอี๊ยมค้นพบตนเองในด้านความเข้าใจความเชื่อมโยง    ส่วนขวัญชอบเรื่องรามเกียรติ์ และเต้นโขน   ในชั้น ป. ๖ ได้เรียนโขน   ขึ้น ม. ๑ ตั้งชมรมโขน   ม. ๒ พบครูป๋อง รร. นาฏศิลป์ ได้เรียนมาตลอด  โดยแม่สนับสนุนพาไปเรียน   

 ทำให้ผมนึกถึง Chickering’s Seven vectors of identity development ที่พ่อแม่ ครู โรงเรียน และการศึกษาต้องช่วยเอื้อสภาพแวดล้อมและการฝึกฝนให้พัฒนางอกงามขึ้นในตัวเด็ก    ได้แก่  1. Competence,  2. Emotions, 3. Autonomy to Interdependence, 4. Mature Interpersonal Relationships, 5. Identity,  6. Purpose, 7. Integrity   ซึ่งในเด็กสองคนนี้คือ identity หรืออัตลักษณ์ของตนเอง 

ครูใหม่อธิบายว่า ครูมีหน้าที่จัดเตรียมให้เด็กพร้อมเดินทาง ที่เป็นการเดินทางแห่งชีวิต    ส่วนที่เขายังบกพร่อง ก็ช่วยให้เขาเติมให้แก่ตน  เปลี่ยนเป็นคนใหม่     ผมตีความต่อว่า นี่คือ transformative learning ในรูปแบบหนึ่ง  

 

เปิดชั้นเรียน กลโคลงประดิดเดกเหล้น

โดยครูเอม สอนนักเรียนชั้น ป. ๖ ที่สมัครมาเข้าชั้นเรียนพิเศษที่เปิดให้มีผู้สังเกตการณ์เต็มห้อง    เป็นตัวอย่าง active learning  ที่ครูเอมออกแบบกระบวนการให้นักเรียนปฏิบัติ อย่างเป็นขั้นตอน    ครูทำหน้าที่ให้ตัวอย่าง กลโคลงประดิเดกเหล้น” แล้วให้นักเรียนช่วยกันหาวิธีเขียนและวิธีอ่านกลโคลง    ที่เน้นใช้คำซ้อนช่วยสร้างสัมผัสและ สุนทรียะทางภาษา    ซึ่งนำไปสู่การทำความเข้าใจคำซ้อน และช่วยกันระบุคำซ้อน   ขยายคลังคำในสมองของตน   และให้นักเรียนแต่ละคนฝึกเขียน “กลอนประดิดเดกเหล้น คนละหนึ่งบท    ตามด้วย AAR ของนักเรียน ว่าตนรู้สึกอย่างไร  ได้เรียนรู้อะไร  จะนำสิ่งที่ได้เรียนไปทำอะไร

ผมตีความว่า นี่คือการเรียนภาษาไทย ที่ในเวลาสองชั่วโมงเศษนักเรียนได้เรียนรู้บูรณาการหลากหลายด้านใน 21st Century Skills    ไม่ใช่เรียนภาษาไทยแบบแยกส่วน เฉพาะ literacy   แต่ยังได้เรียนเพื่อพัฒนาตนเองในหมวด competency  และหมวด character ด้วย 

สำหรับครู นี่คือตัวอย่างการทำหน้าที่ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑   ที่ทำหน้าที่ designer (ออกแบบบทเรียน), facilitator (เน้นตั้งคำถาม) ให้นักเรียนฝึกคิด  และได้ฟังความคิดของเพื่อนๆ, scaffolding (ช่วยเหลือให้นักเรียนสร้างความรู้ใส่ตัวได้ ไม่ยากนัก)    โดยคำพูดที่ครูเอมใช้โต้ตอบกับศิษย์เป็นไปในลักษณะช่วยการคิด  ไม่ใช่ให้คำตอบสำเร็จรูป    และครูเอมคอยตั้งคำถามให้นักเรียนมีคำตอบที่แตกต่างไปจากคำตอบของเพื่อน    เป็นการฝึกให้ศิษย์เข้าใจความซับซ้อน ของชีวิตจริง   

ผู้เข้าสังเกตการณ์จึงได้เห็น สุนทรียภาพ” ในชั้นเรียนที่ครู ไม่สอน” แต่ “โค้ช”  ให้นักเรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติ แล้วใคร่ครวญสะท้อนคิดสร้างความรู้ใส่ตน   


วิจารณ์ พานิช

๒๓ ต.ค. และ ๑๖ พ.ย. ๖๐


 

1 วงเพลงประสานเสียง ใกล้รุ่ง ที่ฝึกปุ๊บร้องปั๊บ



2 ตอนร้องจริง


3 ครูนุ่นอ่านข้อสะท้อนคิดเรื่อง สอนด้วยใจ...ให้ด้วยรัก


4 นักเรียนกำลังเดินเข้าชันของครูเอม


5 นักเรียนกำลังทำโจทย์ นั่งเป็นกลุ่ม แต่ทำเป็นรายคน


6 คำซ้อน


7 โจทย์ให้นักเรียน AAR ตอนท้ายคาบ

 

หมายเลขบันทึก: 642301เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2017 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2017 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"เจตคติสูงของครู ถ่ายทอดสู่นักเรียนได้   เมื่อครูมีเจตคติต่อวิชาหรือบทเรียนนั้นๆ สูง    ย่อมแสดงออกทางพฤติกรรมสีหน้าท่าทาง   ความกระตือรือร้นของครูย่อมส่งผลต่อไปยังศิษย์"   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท