ถอดบทเรียน HPH เรื่อง ความเข้มแข็งของชุมชน


“ชมรมออกกำลังกายแต่ละชมรมมีประชาชนเข้ามาร่วมกิจกรรมกันมากมาย แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หมอ พยาบาล ไม่เคยมาร่วมกิจกรรมกับเราเลยผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อยากให้คนในโรงพยาบาลมีสุขภาพดีเหมือนพวกเรา วันหลังเชิญมาร่วมออกกำลังกายกับเราบ้าง”

      โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้เป็นแกนนำที่สร้างศักยภาพทีมนำโรงพยาบาลให้เข้มแข็ง ทั้งกลวิธีเชิงบวกและลบ ขยายการเรียนรู้ของบุคลากรให้เกิดการตื่นตัว มีการประสานงาน มอบหมายงาน ติดตามงาน ทั้งทางการสั่งการโดยตรง และ Intranet  ในโรงพยาบาล บุคลากรสามารถโต้ตอบและแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานกับผู้บริหารโดยตรง นอกจากนี้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมสุขภาพ เล่นกีฬาฟุตบอลเป็นทีมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกวัน และมีประชาชนหรือบุคคลหน่วยงานจากภายนอกมาร่วมเล่นและแข่งขันกีฬาเป็นประจำ หลายวันในสัปดาห์จะออกไปทานอาหารร้านค้าในตลาด เปลี่ยนร้านไปเรื่อยๆ พูดคุย แนะนำ สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับพ่อค้า แม่ค้า ประชาชน ในขณะเดียวกันส่งแกนนำโรงพยาบาลไปให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ดูแลปัญหาสุขภาพต่างๆ ส่วนในโรงพยาบาลมีกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่เข้มแข็ง สามารถดูแลกันเองให้คำปรึกษาในการปฏิบัติตัว มีการถ่ายทอดประสบการณ์การดูแลสุขภาพกันเอง มีญาติผู้ดูแลเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม มีบริการเจาะเลือดและตรวจรักษาแบบครบวงจร ตั้งแต่ 05.00 นาฬิกา เสร็จแล้วโรงพยาบาลเลี้ยงข้าวต้มตอนเช้า หลังจากนั้นมีแกนนำกลุ่มจัดกิจกรรมกลุ่มกันเองได้ต่อเนื่องถึงชุมชน นอกจากนี้ ยังสร้างบรรยากาศส่งเสริมสนับสนุนการจัดระบบจราจรคุณภาพในโรงพยาบาล  สร้างวินัยจราจรของบุคลากรและผู้รับบริการประชาชนที่เข้ามาในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด เชิญตำรวจจราจรมาทำหน้าที่พิเศษในโรงพยาบาล ตักเตือน จับ ปรับ ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ผิดวินัยจราจรนอกโรงพยาบาลจะให้มีการดำเนินการทางกฎหมาย ส่วนการขยายผลในการสร้างความตระหนักไปถึงหน่วยราชการต่างๆ โดยใช้กลยุทธ์การดูแลที่เข้าใจปัญหา พัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ให้เข้มแข็ง ทำให้หัวหน้าหน่วยราชการต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานราชการนั้นๆ ผลทำให้ประชาชน มีสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ต้องมารักษาที่โรงพยาบาลด้วยอุบัติเหตุจราจรมากเหมือนก่อน               

       โรงพยาบาลชุมชนอีกแห่งหนึ่ง ที่ได้เข้าไปเยี่ยมสำรวจ รู้สึกประหลาดใจมีกลยุทธ์อย่างไรที่ทำให้ชุมชน      มีความเข้มแข็ง  มีศักยภาพในการดูแลตนเองและชุมชนได้เป็นอย่างดี   ตั้งแต่ผู้นำชุมชน      กลุ่มเกษตรกร            กลุ่มยุวเกษตรกร ปลูกผักปลอดสารพิษ สามารถไปเป็นวิทยากรให้กับชุมชนอื่น เป็นที่ศึกษาดูงานของชุมชนต่างๆ       กลุ่มแม่บ้าน   ชมรมออกกำลังกาย    ชมรมผู้สูงอายุ    กลุ่มอาสาสมัครน้อยในโรงเรียน    มีความโดดเด่นในการส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชนและโรงเรียนสามารถรวมตัวให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพได้ต่อเนื่องผลกระทบด้านสุขภาพลดลง   ในช่วงท้ายได้คำตอบ ทำไมชุมชนเข้มแข็งจากที่ประชุมว่า ผู้ที่เป็นผู้นำกลุ่มต่างๆ เป็น ข้าราชการเกษียณ  ครูในโรงเรียน  ผู้นำชุมชน แม้กระทั่งนักเรียน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่รักบ้านเกิด รักชุมชน รักสุขภาพ ร่วมกันสร้างพลังอำนาจชุมชนขึ้นมาเชิดชูเกียรติ กลุ่มผู้สร้างภูมิปัญญาชาวบ้านโดยมีบุคลากรโรงพยาบาลที่รับผิดชอบงานชุมชนของโรงพยาบาลและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุน แต่มีประโยคหนึ่งของครูที่มาร่วมให้ข้อมูลการเยี่ยมสำรวจในวันนั้น ว่า ชมรมออกกำลังกายแต่ละชมรมมีประชาชนเข้ามาร่วมกิจกรรมกันมากมาย แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล  หมอ  พยาบาล  ไม่เคยมาร่วมกิจกรรมกับเราเลยผ่านมาแล้วก็ผ่านไป  อยากให้คนในโรงพยาบาลมีสุขภาพดีเหมือนพวกเรา วันหลังเชิญมาร่วมออกกำลังกายกับเราบ้าง  ฟังแล้วผู้เยี่ยมสำรวจต้องย้อนกลับมาสะท้อนความจริง แล้วที่ไหนบ้างหนอ ต้องให้ประชาชนมาเรียกร้องและเชิญชวนให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข (รวมถึงตัวเรา) มีสุขภาพดีเหมือนพวกเขาบ้าง เราเป็นผู้นำการส่งเสริมสุขภาพจริงๆ หรือ 

ทิพย์พร แย้มชู ...  ศูนย์อนามัยที่ 8

หมายเลขบันทึก: 64142เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2006 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท