Big Data Technology กับ Disruptive Change ต่อสถาบันอุดมศึกษา



ผมเขียนสาระย่อของหนังสือ The End of College : Creating the Future of Learning and the University of Everywhere โดย Kevin Carey ลงบล็อกชื่อ สิ้นยุคมหาวิทยาลัย มีคนเข้าไปอ่านและส่งต่อกันมากเป็นประวัติการณ์


ทำให้ มทร. กรุงเทพเชิญผมไปพูดเรื่องนี้    ผมจึงต้องซื้อหนังสือเล่มดังกล่าวมาอ่านโดยละเอียด    เมื่ออ่านจบ    ก็สรุปว่า Disruptive Technology ที่จะทำให้สิ้นยุคมหาวิทยาลัยในรูปแบบปัจจุบัน คือ Big Data Technology  

เพราะข้อมูลการเรียน ผ่าน digital environment จะกลายเป็นข้อมูลมหาศาล (big data)    ที่เอามาจัดการความหมายได้หลากหลายแบบ   


เวลานี้ ระบบ MOOCs กำลังขยายตัวเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเจ้าใหญ่ๆ คือ EdX, Coursera, Udacity, Saylor.com    เป็น open educational resource (OER) movement    โดยมีเว็บไซต์ oercommons.org ทำหน้าที่รวบรวม จัดหมวดหมู่รายวิชาที่เปิดสอน   รวบรวมการบรรยาย  วัสดุช่วยการเรียน  อันได้แก่ สาระเป็นตอนๆ  โจทย์ปัญหา  และการทดสอบ  ตามวัตถุประสงค์การเรียน    ซึ่งจัดจำแนกตามชนิดของสภาพแวดล้อมในการเรียน     ทั้งปริมาณและคุณภาพของข้อมูลในเว็บไซต์ oercommons.org นี้จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ 

การเรียนใน MOOCs เป็นการเรียนใน digital environment ซึ่งพฤติกรรมของผู้เรียนจะถูกบันทึกไว้หมด   ตั้งแต่การ log-in, การกดแป้นพิมพ์, การเข้าไปถามใน discussion group, การทดสอบ, เขียนเรียงความ, การตอบชุดคำถาม, ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาผ่าน cyber space เป็นต้น     เมื่อจำนวนผู้เรียนเป็นหมื่นเป็นแสน    การเรียนจะก่อข้อมูลมหึมา  เอามาหาความหมายได้มากมาย รวมทั้งใช้ปรับปรุงบทเรียน   ใช้หาเด็กอัจฉริยะเพื่อเสนอให้ทุนการศึกษามาเรียนในมหาวิทยาลัยแบบปกติ    และใช้สรุปเป็น ข้อมูลยืนยันความรู้ความสามารถ (สมรรถนะ) แทนปริญญาหรือประกาศนียบัตร    หรือออกใบรับรองคุณวุฒิให้

หากการรับรองคุณวุฒิจากข้อมูลใน digital learning big data ของแต่ละบุคคลได้รับการยอมรับเป็นหลักฐาน ในการทำงาน    สภาพสิ้นยุคมหาวิทยาลัยแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ Kevin Carey เรียกว่า hybrid university ก็จะค่อยๆ มาถึง


มหาวิทยาลัยที่จะสิ้นใจไปก่อนคือมหาวิทยาลัยที่แพง และไม่คุ้มค่า    สู้ new digital learning environment ไม่ได้    ที่ช่วยให้ผู้เรียนบรรลุ mastery learning ได้ดีกว่าเรียนในมหาวิทยาลัยแบบเดิม    ในราคาที่ถูกกว่าหลายเท่า    จัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนแบบ individualized    เพราะ digital platform เป็น AI (Artificial Intelligence) มี machine learning    รู้จักนักศึกษาแต่ละคนจากพฤติกรรมการเรียน การตอบคำถาม  การถามคำถาม  และการตอบข้อสอบ    จึงให้บริการแก่นักศึกษาแตกต่างกันเป็นรายคน

พลังของ digital platform เปิดโอกาสให้มีการจัดระบบ “รับรองคุณวุฒิ” (credential) ของผู้เรียน ที่มีรายละเอียด ของการเรียนและผลสัมฤทธิ์ของการเรียนและฝึก    มีหลักฐานยืนยัน ให้ตรวจสอบได้    เป็นการกลับทางระบบ รับรองคุณวุฒิ    เพราะผู้จัดทำในกรณีใหม่นี้ คือตัวผู้เรียนเอง     โดยสถาบันให้บริการ digital learning platform มีหลักฐานให้ค้นได้ใน cyber space    

มองจากมุมผู้เรียน “มหาวิทยาลัย” ในรูปแบบใหม่ จะเป็น “Global University”     คือเรียนร่วมกันได้ทั้งโลก     มีปฏิสัมพันธ์กันทาง digital platform    เป็นชุมชนเรียนรู้ (learning community) ได้    คนที่มีไฟหลงใหลในเรื่องใด ก็มีโอกาสแสดงออก    และหากความหลงใหลและการตั้งใจเรียน มานะพยายาม นำไปสู่ความเป็นคนมีความสามารถพิเศษ ในเรื่องนั้น    ก็จะไปเข้าตาสถาบันชั้นนำ (แบบเดิม) ของโลก  ที่ต้องการเยาวชนอัจฉริยะไปเรียน     สำหรับเป็นกลไกชักนำ ความริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกับอาจารย์    เยาวชนผู้นั้นก็จะได้รับการทาบทามให้รับทุนการศึกษาเข้าเรียน

นักศึกษาธรรมดาๆ จะได้รับประโยชน์ตรงที่ มีที่เรียนที่สะดวกสำหรับตน    เรียนที่ไหน เมื่อไร ก็ได้    และได้รับ “การสอน” แบบจำเพาะตน    ที่เด่นที่สุดคือเสียเงินน้อย    แถมยังเลือกเรียนได้ตามที่ตนต้องการ     และเรียนได้ตามอัตราเร็ว ที่พอเหมาะกับตน    หากเป็นคนหัวช้า ก็เรียนได้ผลลัพธ์เท่าเทียมกับคนหัวไวได้ โดยใช้เวลามากหน่อย    ลงท้ายก็มีสมรรถนะที่ต้องการได้อย่างที่เรียกว่า mastery   

นักศึกษาจะมีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนจากต่างวัฒนธรรมทั่วโลก    ซึ่งจะเปิดโอกาสการเรียนรู้จากสภาพจริง  ที่การศึกษาในรูปแบบเดิมให้ได้ยาก    ซึ่งแน่นอนว่า มีทั้งผลบวกและลบ    สิ่งที่ผู้ให้บริการ online learning platform ต้องหาทางขจัด และป้องกัน ก็คือการเข้าไปใช้เป็นที่ล่อลวง

หนังสือบอกว่า อย่าเข้าใจผิดว่า digital learning platform จะช่วยให้การเรียนง่ายขึ้น    ไม่ต้องใช้ความพยายาม     ในความเป็นจริงแล้ว การเรียนในรูปแบบใหม่นี้จะต้องลงแรงเรียนมากกว่าแบบเก่า     และจะต้องเรียนไปสร้างหลักฐาน ผลสัมฤทธิ์และสมรรถนะของตนเองไป

ผมตีความว่า คนที่จะเรียนแบบใหม่ได้ดี ต้องพัฒนาความมีวินัยในตนให้กล้าแกร่ง     มีไฟในการเรียน    เรียนแล้วเกิดความคลั่งใคล้ในบางด้าน     เอาจริงเอาจังจนเกิดทักษะพิเศษ ที่น้อยคนจะมี     การเรียนใน digital platform ก็จะให้คุณยิ่งกว่าการเรียนมหาวิทยาลัยแบบเดิม



วิจารณ์ พานิช

๖ ต.ค. ๖๐


 

หมายเลขบันทึก: 640265เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2017 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2017 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ปราโมทย์ อนันต์วราพงษ์

รอฟังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท