เก็บตกเรื่อง "กล้วยๆ" ที่ไม่ "กล้วย" เอาซะเลย


แค่กระบวนการเรียนรู้เล็กๆ ร่วมกัน เพื่อผ่อนคลายความหน่วงเหนื่อยเป็นหลัก เพราะน้องๆ ต้องหั่นให้ได้ร่วมๆ จะ 5000 ชิ้นเลยทีเดียว กระนั้นก็แอบหวังลึกๆ ว่า นิสิตจะมีแรงบันดาลใจในการกลับไปสืบค้นเรื่องคุณค่าและความหมายของกล้วย หรือต้นกล้วยเพิ่มเติมต่อไปด้วยตนเอง



ย้อนกลับไปยังวันที่ 13  ตุลาคม 2560 –

วันดังกล่าวเป็นวันที่กลุ่มนิสิตชาวดิน (พรรคชาวดิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)  จะจัดกิจกรรมจุดเทียนรำลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันครบรอบปีการเสด็จสวรรคตของพระองค์ท่าน

เดิมเจ้าหน้าที่นัดหมายจะลงพื้นที่เตรียมงาน  หรือตรวจเช็คความพร้อมในเวลา 15.00 น.  

แต่ด้วยมุมคิด  หรือลางสังหรณ์บางอย่างของผมเอง  จึงอดที่จะถามทักกับนิสิตเป็นการภายในไม่ได้  เพื่อให้รู้ถึงความคืบหน้าของกิจกรรม  ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่นิสิตกำลังเผชิญหน้า ...


ก็ด้วยคำว่า “พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน”  นั่นแหละที่ทำให้ผมต้องตัดสินใจลงพื้นที่ไปเยี่ยมยามถามข่าวนิสิตด้วยตนเองอย่างไม่เป็นทางการ 

เวลาในราวไม่เกิน 12.00 น.  ผมลงไป “ดูงาน” นิสิตด้วยตนเอง  โดยกิจกรรมหลักๆ ก็คือ  การตระเตรียม “หั่นท่อนกล้วย” (ต้นกล้วย)  เพื่อใช้เป็น  “รางเทียน”  เพื่อ “ปักเทียน”  หรือจุดเทียนแปรอักษรภาพในคำว่า “มมส 9 ทำดีตามพ่อ” 


เป็นที่น่าสังเกตว่านิสิตส่วนใหญ่ที่มานั่งหั่นลำต้นกล้วยนั้นส่วนใหญ่ล้วนเป็น “ผู้หญิง” 

ระยะแรกๆ ทุกคนดูตื่นตัวคึกคักเป็นพิเศษ  พอผ่านไปสักระยะเริ่มออกอาการบ่นแบบน่ารักๆ   เพราะเริ่มเจ็บมือเจ็บนิ้ว  หลายคนออกอาการ “พอง” หรือ “ได้แผล” อย่างเห็นได้ชัด

ก็ไม่มีอะไรมาก  สาเหตุก็มาจากความไม่เคยชินกับการงานเช่นนี้ ประกอบกับอุปกรณ์ที่ใช้หั่นนั้นมันไม่เหมาะสมเอาเสียเลย   เป็นแค่เลื่อยเล็กๆ หรือไม่ก็มีดเล็กๆ  ไม่สมดุลกับลำต้น  หรือท่อนกล้วย   เหมือนนักมวยแบกน้ำหนักยังไงยังงั้นเลย...  ที่สำคัญคือไม่รู้วิธีที่ถูกต้องในการหั่น หรือสับนั่นเอง


ชะตากรรมดังกล่าวทำให้ผมต้องออกอุบายในฉับพลันให้พวกเขาเพลิดเพลินและรื่นรมย์กับการงานที่ว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น  พูดคุย เล่าเรื่อง ซักถามในประเด็นที่เกี่ยวข้อง  ยกตัวอย่างเช่น

  • ต้นกล้วย/ท่อนกล้วยกับพิธีการเผาศพ
  • ต้นกล้วย/ท่อนกล้วยกับอาหาร เช่น  แกงหยวกกล้วย ห่อหมก
  • ต้นกล้วย/ท่อนกล้วยกับสรรพคุณยา เช่น  แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
  • ต้นกล้วยกับการรักษาเนื้อดินอุ้มดินอุ้มน้ำป้องกันการพังทลายของดินตามภูเขา
  • ปริศนาความเปรียบว่า เข่น  ขาวเหมือนหยวกกล้วย  เรื่องกล้วยๆ



โดยหลักๆ แล้ว   ผมไม่ได้เฉลย หรือบอกเล่ามากนัก  แต่เน้นตั้งคำถามเป็นหลัก  เน้นการถามทักว่ารู้จักและคุ้นชินกับการใช้ประโยชน์จากกล้วย หรือลำต้นของกล้วยอย่างไรบ้าง ซึ่งนิสิตบางคนก็ไม่เคยเห็นกับตาว่า “ขาวเหมือนหยวกกล้วย”  เป็นยังไง  ...  ผมจึงกระตุ้นว่า “ก็ให้รู้จากกิจกรรมนี้นั่นแหละ”

จะว่าไปแล้ว  ก็ไม่มีอะไรมากหรอกนะครับ –  ก็แค่กระบวนการเรียนรู้เล็กๆ ร่วมกัน  เพื่อผ่อนคลายความหน่วงเหนื่อยเป็นหลัก  เพราะน้องๆ ต้องหั่นให้ได้ร่วมๆ จะ 5000 ชิ้นเลยทีเดียว   

กระนั้นก็แอบหวังลึกๆ ว่า  นิสิตจะมีแรงบันดาลใจในการกลับไปสืบค้นเรื่องคุณค่าและความหมายของกล้วย  หรือต้นกล้วยเพิ่มเติมต่อไปด้วยตนเอง

แต่สำหรับผมแล้ว  ผมมีความทรงจำมากมายเกี่ยวกับกล้วยหรือต้นกล้วย  

เป็นความทรงจำอันหลากหลาย ทั้งใบ ก้าน ผล หัวปลี ราก ลำต้น ฯลฯ

ครับ- ไม่มีอะไรมากมายเป็นพิเศษสำหรับบันทึกนี้   แค่อยากจะบอกว่า ผมหยิบจับสถานการณ์ตรงหน้าที่พบเจอมาเป็นโจทย์การเรียนรู้เท่านั้นเอง  และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้า  พร้อมๆ กับการติดอาวุธทางความคิดเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่จะพึงทำได้ ---

และที่สำคัญผมไม่ได้แค่พูดคุยเท่านั้น  แต่แอบอัพภาพผ่านมือถือและเชื่อมไปยังนิสิต หรือองค์กรนิสิตหลายคนหลายองค์กร   เพื่อบอกนัยสำคัญว่า "ตอนนี้มีกิจกรรมดีๆ ให้มาร่วมด้วยช่วยกัน  ใครว่างก็มาช่วยกัน" ฯลฯ  

ซึ่งก็น่ารักมาก  เพราะมีนิสิตสี่ห้าคนเริ่มทยอยลงจากตึกมาช่วยเพื่อนๆ  

บางคนถึงกลับพูดติดตลกประมาณว่า "พี่แท็กไปทั้งที-ไม่มาก็กระไร  จะอยู่เฉยๆ เป็นทองไม่รู้ร้อย ก็รู้สึกผิด"  55555

แต่สำหรับผมแล้ว  แม้คราวนี้จะไม่ครบองค์วาทกรรม (พูดให้ฟัง  ทำให้ดู  อยู่เป็นเพื่อน)  เพราะได้แค่  "พูดให้ฟัง - อยู่เป็นเพื่อน" ก็เถอะ  แต่ก็ยืนยันว่า มีความสุขมาก -



หมายเลขบันทึก: 640139เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2017 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2017 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

หากนิสิตหยิบเอาประเด็นไปเรียนแบบใฝ่รู้แบบนี้ คงจะดีไม่น้อยเทียว... ครับ

การเรียนรู้ จากการปฏิบัติ คือครูที่แท้จริงครับ   

-สวัสดีครับ

-คือความสุขที่ก่อเกิดขึ้นนะครับครู

-ขอบคุณไอเดียดีๆ จากบันทึกนี้ด้วยนะครับ

-ชอบใจ...ภาพนี้ครับ..

-คืนวันเพ็ญ เดือน 12 คงจะได้มีโอกาสนำไปทำที่บ้านไร่ครับ

สวัสดีครับ อ.ต๋อย

ผมก็ได้แต่หวังใจละครับว่าพวกเขาจะสามารถถอดรหัสความรู้จากสิ่งรอบตัวนี้ได้ด้วยตนเอง  เสมอเหมือนการเชื่อในวาทกรรมที่ผมเปรยและบ่นเสมอมาว่า "ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้...เว้นแต่ไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้"

สวัสดีครับ อ.เป๊าะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ หรือลงมือทำ  เพราะทำให้ได้ลงแรงกายและใจอย่างแท้จริง  ก่อเกิดเป็นพลังปัญญา หรือปัญญาปฏิบัติ นั่นเองใช่ไหมครับ

สวัสดีครับ


อ.เพชรน้ำหนึ่ง

ต้นกล้วยจากงานนี้ก็จะถูกส่งต่อสู่งานลอยกระทงของนิสิตไปในตัว  นี่คืออีกพืชพันธุ์แห่งภูมิปัญญาไทยขนานแท้เลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท