beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

นิทานเซ็น : ยิ่งเร็วก็ยิ่งช้า


ผมมาขอให้อาจารย์ช่วยสอนผมให้เป็นนักฟันดาบที่เก่งที่สุด อาจารย์จะใช้เวลาสักกี่ปีในการสอนผม

    ต่อไปนี้เป็นเรื่องเล่า นิทานเซ็นของท่านพุทธทาสเมื่อปี 2505  ดัดแปลงสำนวนโดย beeman  เรื่องมีอยู่ว่า

     นานมาแล้ว ที่ประเทศญี่ปุ่น มีชายหนุ่มคนหนึ่ง อยากจะเป็นนักฟันดาบที่เก่งฉกาจที่สุด ดังนั้นเขาจึงเสาะหาอาจารย์ทางฟันดาบที่เก่งที่สุด เมื่อเขาพบแล้วก็เขาไปหา และถามอาจารย์ว่า "ผมมาขอให้อาจารย์ช่วยสอนผมให้เป็นนักฟันดาบที่เก่งที่สุด อาจารย์จะใช้เวลาสักกี่ปีในการสอนผม" 

    อาจารย์ก็ตอบว่า "ประมาณ ๗ ปี"  ชายหนุ่มเห็นว่า เวลา ๗ ปีนี้  มันเป็นเวลาที่นานเกินไป ฉะนั้นเขาจึงต่อรองกับอาจารย์ใหม่ว่า "ผมจะพยายามทุ่มเทฝึกฝนให้สุดฝีมือ ให้สุดความสามารถ ทั้งกายและใจ ถ้าเป็นแบบนี้ จะใช้เวลาสักกี่ปี"

    อาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าเป็นอย่างนั้น เห็นจะต้องใช้เวลาสัก ๑๔ ปี"   ชายหนุ่มจึงโอดครวญต่อไปว่า "บิดาของผมก็แก่มากแล้ว ผมจะพยายามฝึกฝนอย่างยิ่ง เพื่อให้บิดาได้ทันเห็นฝีมือฟันดาบของผม ขอให้อาจารย์ ช่วยคำนวณวลาให้ผมใหม่"

    ท่านอาจารย์จึงบอกว่า "ถ้าอย่างนั้นต้อง ๒๑ ปี" ชายหนุ่มจึงนึกโมโหอาจารย์ว่า "เอ! นี่มันเป็นอย่างไร แทนที่จะลดเวลาลงมา จาก ๗ ปี มันดันกลายเป็น ๒๑ ปี"

   หนุ่มคนนั้นไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะว่าอาจารย์เป็นคนที่เก่งฟันดาบที่สุดของประเทศ จึงจำต้องซังกะตาย อยู่ไปกะอาจารย์ไป ด้วยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีนั่นเอง

   พอมาอยู่กับอาจารย์แทนที่จะสอนให้ใช้ดาบ ฟันดาบ กลับใช้ให้ไปทำงานในครัว ตักน้ำ ผ่าฟืน ทำอาหาร 

   หลายวันผ่านไป อาจารย์ผลุนผลันเข้าไปในครัวตอนที่เขาไม่รู้ตัว  ฟันเขาด้วยดาบไม้สองมือ เป็นการใหญ่ เขาก็ต้องต่อสู้ ตามที่เขาจะสู้ได้ หาของในครัวมาต่อสู้กันสักพัก แล้วอาจารย์ก็กลับไป แล้วหลายวันต่อมา ด้วยอาการอย่างนี้เขาก็ถูกอาจารย์ฝึกให้อีก....

    ในเวลาไม่นานเขาก็กลายเป็นนักฟันดาบ ขึ้นมาได้โดยไม่รู้สึกตัว จนกระทั่ง อาจารย์บอกว่า กลับบ้านได้ คือจบหลักสูตรแล้ว และต่อมาปรากฏว่าหนุ่มคนนี้ ก็เป็นนักดาบอันลือชื่อของประเทศญี่ปุ่นไป แล้วนิทานก็จบลง.

         
   

 

         

     นิทานเรื่องนี้ สอนว่าให้รู้ว่า "การทำอะไรด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกู-ของกู มันไม่เป็นผลดีเลย" คือ ถ้าหนุ่มคนนี้คิดว่า กูจะดี กูจะเด่น มีตัวกู เข้ามาฝึก ถ้ายิ่งจะทำให้ดีที่สุด กูจะทำให้เก่งที่สุด ให้เร็วที่สุด อย่างนี้ด้วยแล้วละก็ ไอ้ตัวกู มันยิ่งขยาย โตออกไปอีก ยิ่งจะให้บิดาทันได้เห็นด้วยแล้ว ตัวกู มันยิ่งพองมากออกไปอีก จิตมันจึงไม่เป็นสมาธิไปได้ จิตเต็มอยู่ด้วยตัวกู ไม่เป็นจิตว่าง ไม่มีตัวสติปัญญา อยู่ในจิตเดิมแท้ เพราะยึดมันอยู่ด้วยอุปาทานว่า "ตัวกูของกู" ฉะนั้น ถ้าเป็นไปแบบนี้จริงๆ แล้ว จะต้องใช้เวลา ๗ ปี หรือว่า ๑๔ ปี หรือว่า ๒๑ ปีจริงๆ 

     ขณะที่เขาอยู่ในครัวนั้น เขาไม่มีความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู จะให้จบใน ๗ ปี หรือจะให้ทันบิดาเห็น อย่างนี้ไม่มีเลย กำลังเป็นจิตที่ว่างอยู่ ถึงแม้ว่า อาจารย์จะผลุนผลัน เข้าไปในลักษณะอย่างไร ปฏิภาณของจิตว่าง หรือ จิตเดิมแท้นี้ ก็มีมากพอ ที่จะต่อสู้ออกไปอย่างถูกต้องได้ มันเป็นการ เรียกร้องขึ้นมา หรือ ปลุกขึ้นมา จากหลับ ปลุกจิตอันนี้ ขึ้นมาจากหลับ ตามวิธีของอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ มาเป็นจิตที่ เบิกบานเต็มที่ ซึ่งต่อไป ก็เอาไปใช้ได้เลย เขาจึงเป็น ผู้สำเร็จหลักสูตร โดยวิธี ประหลาด นั้น  ภายในไม่ถึงปี  (สีม่วงเป็นสำนวนท่านพุทธทาส)

     ในขณะกำลังสอบนั้น นิสิตจะต้องลืมหมดแม้กระทั่งตัวเอง มีสมาธิเหลืออยู่เพียงว่า "โจทย์ถามว่าอย่างไร จะตอบปัญหาอย่างไร ใจความอย่างไร จะเขียนตอบอย่างไร" ถ้าจิตว่างจากตัวกู-ของกูแล้ว วิชาความรู้ ต่างๆ ที่เคยสะสมมาตั้งแต่แรกนั้น จะทำให้เขาพบคำตอบที่ถูกต้องในที่สุด

     แต่ถ้าเขากลัดกลุ้ม อยู่ด้วยตัวกู-ของกูแล้ว แม้เขาจะเคยเรียนมามากอย่างไร มันมีอาการ เหมือนกับ ลืมหรือนึกไม่ออกนั่นแหละ

      ถ้าเข้าสอบด้วยอาการจิตว่างนี้ ก็จะได้ที่หนึ่งหรือยิ่งกว่านั้น ดังนั้นจงอย่าทำจิตให้สั่นระรัว ด้วยตัวกู-ของกู เพราะว่าการทำอย่างนั้น ยิ่งจะให้เร็ว มันจะยิ่งช้า ในที่สุดตามชื่อนิทาน

หมายเลขบันทึก: 6397เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2005 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นข้อคิดที่ดีเลยค่ะอาจารย์...........

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท