ว่าด้วยเรื่องสินบนหรือฮาดีเยาะห์


สภาพการณ์การทุจริตและค่านิยมความซื่อตรงของสังคมมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทุกระดับของสังคม ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับจังหวัดล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต วัฒนธรรมการทุจริตในสังคมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) ทุจริตเพื่อความอยู่รอด เนื่องด้วยการทุจริตได้แทรกซึมทุกหน่วยของสังคม  เช่น การสมัครเข้าทำงานทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนจำเป็นต้องจ่ายสินบนเพื่อให้ได้มีงานทำ ผู้รับเหมาจำเป็นต้องจ่ายเปอร์เซ็นต์ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือที่ว่าการอำเภอเพื่อความสะดวกในการเปิดซองประมูลโครงการ เป็นต้น บางครั้งมีการเลี่ยงทางภาษา เช่น ระบบราชการเรียกว่า “ค่าส่วนต่าง” “ค่าหัวคิว” “สินน้ำใจ” “ค่าน้ำชา” “ค่าเดินเรื่อง” “ค่าลงลายมือชื่อ” และ “ค่าน้ำมันรถ” (ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ, 2541) แต่สำหรับสังคมมุสลิมได้มีคำที่ลุ่มลึกกว่านั้น เช่น “เศาะดาเกาะฮฺ” “ฮาดียะฮฺ” หรือ “ซะกาต” ตามหลักการอิสลามการให้ทรัพย์สินแก่บุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินเพื่อตนเองได้ประโยชน์หรือบรรลุเป้าหมายถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นที่ต้องห้าม (Ibn ‘Abidin, 1995: 5/362 ; Al- Qurtubi , 1967: 4/85) อัลลอฮฺทรงห้ามการกระทำ ดังอายะห์อัลกุรอานที่มีความว่า “และพวกเจ้าจงอย่ากินทรัพย์สมบัติของพวกเจ้า ระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ..”(อัลกุรอาน, 2: 188) การทุจริตเป็นส่วนหนึ่งของการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบ ถูกสาปเช่งจากนบีมุฮัมมัด ดังหะดีษ ความว่า “เราะสูลทรงประณามผู้ให้และผู้รับสินบน (บันทึกโดย Al-Tirmidhiy, 1977: หมายเลขหะดีษ 1337 ท่านได้กล่าวว่าเป็นหะดีษ หะสัน และยังปรากฎในบันทึกของ Ahmad, 1313 H.: 2/164 ; Abu Da’ud, 1997: หมายเลขหะดีษ 3580 ; Ibn Majah, 2000: หมายเลขหะดีษ 2313) และยังมีอีกสำนวนหนึ่งที่บันทึกโดย Ahmad ความว่า “ท่านเราะสูลทรงประณาม (สาปแฉ่ง) ผู้ให้ ผู้รับ และผู้ประสานงาน” (Ahmad, 1313 H.: 5/279 ; al – Tobroniy fi al –Kabir, 1983: หมายเลขหะดีษ 1415 ; Abi Ya’la, 1989: หมายเลขหะดีษ 6715) ยังมีอีกสายรายงานหนึ่ง ความว่า “ผู้ให้และผู้รับสินบนอยู่ในนรก” (บันทึกโดย al – Tobroniy fi al –Saghir, 1983: 3/125) การทุจริตเป็นพฤติกรรมที่มิชอบได้ถูกปฏิเสธจากหลักการอิสลาม เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นเกิดความอธรรมที่ละเมิดมาตรฐานความประพฤติทางศีลธรรม จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นส่วนประกอบชีวิตประจำวันโดยเฉพาะระบบข้าราชการที่ประชาชนโดยทั่วไปไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มีรายงานจากหะดีษซึ่งมีความว่า “แท้ที่จริงท่านเราะสูลได้แต่งตั้งบุคคลท่านหนึ่งให้ปฏิบัติหน้าที่เก็บรวบรวมทรัพย์สิน หลังจากชายดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อยแล้วก็ได้มาหาท่านเราะสูล และได้กล่าวว่า “นี้คือทรัพย์สินที่ท่านให้ฉันรวบรวม และนี้เป็นทรัพย์สินของกำนัลที่พวกเขามอบให้ฉัน” ท่านเราะสูลได้กล่าวแก่ชายผู้นั้นว่า “หากว่าเจ้าอยู่ในบ้านบิดาของเจ้า อยู่ในบ้านมารดาของเจ้า จงสังเกตว่าจะมีคนมอบของกำนัลให้หรือไหม?” หลังจากนั้นท่านก็ได้ยืนขึ้นหลังจากละหมาด ท่านได้กล่าวคำปฏิญาณและสรรเสริญอัลลอฮฺผู้ทรงเอกสิทธิ์ และท่านได้กล่าวว่า “จะเป็นอย่างไร บุคคลที่ฉันได้แต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่อย่างหนึ่ง  หลังจากนั้นเขามาหาฉัน และกล่าวว่า “นี้คือทรัพย์สินที่ท่านให้ฉันรวบรวม และนี้เป็นทรัพย์สินของกำนัลที่พวกเขามอบให้ฉัน” ท่านเราะสูลได้กล่าวแก่ชายผู้นั้นว่า “หากว่าเจ้าอยู่ในบ้านบิดาของเจ้า อยู่ในบ้านมารดาของเจ้า จงสังเกตว่าจะมีคนมอบของกำนัลให้หรือไหม?” และท่านได้กล่าวต่อว่า “แท้จริง ด้วยวิญญาณของมุฮัมมัดอยู่ในพระหัตน์ของพระองค์อัลลอฮฺ! หากในหมู่พวกเจ้าได้ทำลายความไว้วางใจ หรือหลอกลวงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แน่นอนที่สุดในวันโลกหน้า (กียามะฮฺ) ในสภาพที่เขาจะแบกสิ่งนั้นว่า หากเป็นอูฐเขาจะแบกอูฐบนคอพร้อมด้วยเสียงร้องของมันที่ดัง หากเป็นวัวเขาจะแบกวัวบนคอพร้อมด้วยเสียงร้องของมันที่ดัง หากเป็นแพะเขาจะแบกแพะบนคอพร้อมด้วยเสียงร้องของมันที่ดัง” (บันทึกโดย Bukhariy, 1979: หมายเลขหะดีษ 6636; Muslim, 1996: หมายเลขหะดีษ 1832)

Cr. Sasuree

หมายเลขบันทึก: 639137เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2017 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2017 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท