เส้นชัย... พิธียกยอดฉัตร มหาวิทยะเจดีย์(1)


เส้นชัย... พิธียกยอดฉัตร มหาวิทยะเจดีย์

        และแล้วความพยายามและตั้งใจของพวกเรา คณะทำงานผู้ก่อสร้างมหาวิทยะเจดีย์ ก็มาถึงบทสุดท้าย ตลอดระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2556 ที่เราเริ่มเคลื่อนย้าย ของมีค่า สิ่งสำคัญบางส่วน มาจากวัดเดิมที่สร้างไม่แล้วเสร็จ มาเก็บรักษาไว้ที่วัดโมกขธรรมารามแห่งนี้  คณะของเราเริ่มลงมือก่อสร้าง วางศิลาฤกษ์รากฐานเจดีย์ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2556  บรรจุพระพุทธรูปและพระไตรปิฏก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2556 และสุดท้ายเมื่อเจดีย์เต็มองค์ การประกอบพิธียกยอดฉัตรเจดีย์ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558

                เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่คณะพุทธศาสนิกชนชาวไทย และชาวพม่าร่วมกันสร้างมหาวิทยะเจดีย์(เจดีย์ไทย-พม่าแห่งนี้  รวมระยะเวลาในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ  เป็นระยะเวลาในการก่อสร้าง  1 ปี 2 เดือน 5 วัน

                ตลอดระยะเวลา ที่ก่อสร้างเจดีย์ มีพระอาคันตุกะ จากประเทศพม่า ที่มีชื่อเสียงหลายรูป แวะมากราบนมัสการท่านเจ้าคุณ พระราชไพศาลมุนี และเป็นขวัญกำลังใจให้กับคณะทำงานผู้สร้างเจดีย์ อยู่เป็นเนือง ๆ มิได้ขาด ซึ่งผู้เขียน สามารถรวบรวมภาพถ่ายเอาไว้ได้บางส่วน 




                 การจัดเตรียมงานในครั้งนี้  คณะทำงานเตรียมการกันเป็นครั้งค่อนเดือนกันเลยทีเดียว.. ผู้เขียนเองมีภาพบรรยากาศในระหว่างเตรียมการ แทนการพูดบรรยายมากขึ้นนะครับ  เพราะเนื่องจากเห็นว่า งานบุญครั้งนี้ ภาพเหตุการณ์ระหว่างการเตรียมการมี มากมายหลายภาพ  และจากการเฝ้าสังเกตการณ์เกือบจะทุกขั้นตอน ทำให้ ผู้เขียนพอลำดับเหตุการณ์สำคัญ ๆ ได้ดังต่อไปนี้

                ช่วงระยะเวลาในช่วงแรก ๆก่อนที่จะมีการยกยอดฉัตรมหาวิทยะเจดีย์ ทางคณะกรรมการได้มีการเตรียมการต่าง ๆ   ตั้งแต่ การจัดเตรียม “รอกยกยอดฉัตร”  การจัดเตรียมพิธีสวดพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณ ของพระภิกษุสงฆ์พม่า  การจัดเตรียมสถานที่บริเวณ  การจัดเตรียมความแข็งแรงของสถานที่ขึ้นองค์เจดีย์ 

ในเรื่องการจัดเตรียม “รอกยกยอดฉัตร” ผู้เขียนเห็นถึงความตั้งใจของทีมงานมากเป็นพิเศษ ขนาดที่ว่า ใช้ตัวคนแทนน้ำหนักสิ่งของ เพื่อให้รอกสามารถชักขึ้นสู่องค์เจดีย์ได้อย่างปลอดภัยสูงสุด ผู้เขียนมองเห็นว่า....นี่คือสิ่งสำคัญสูงสุดในงาน  เพราะ ฉะนั้น ความผิดพลาด จึงเกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด

                คณะกรรมการเตรียมการในสิ่งนี้อยู่หลาย วัน เมื่อเห็นว่า มีความปลอดภัย 100 %  แล้ว จึงหันไปตรวจสอบสิ่งสำคัญ สิ่งอื่นอีก นั่นก็คือ  ไม้ไผ่ ที่พาด ประสานงานกัน เป็นโครงสร้าง สำหรับการรองรับน้ำหนักคนที่จะขึ้นไปทำพิธี ในวันดังกล่าว

ผู้เขียนทราบจาก คณะทำงานว่า ไม้ไผ่ที่พาดขึ้นองค์เจดีย์ทั้งหมดนี้ ต้องใช้ไม้ไผ่ที่เป็นมงคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไผ่สีทอง” และไผ่สีทองนี้เอง ที่พ่อกับแม่ของผู้เขียน ท่านปลูกไว้ภายในสวนผลไม้ของท่าน  ท่านจึงร่วมอนุโมทนาบุญด้วย

                 การบริจาคไผ่สีทองทั้งหมด พาดองค์เจดีย์ในครั้งนี้  และในค่ำคืนสุดท้ายก่อนทำพิธีสวดมนต์ ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ของพระภิกษุสงฆ์พม่า จะเริ่มขึ้น ผู้เขียนและทีมงานบางส่วนได้มีโอกาสขึ้นทดสอบความแข็งแรงของไผ่สีทอง ที่พาดอยู่รอบองค์เจดีย์นี้ ผู้เขียนได้สัมผัสช่องเก็บพระบรมสารีริกธาตุ และสิ่งของมีค่าที่จะได้รับจากผู้ร่วมบุญในครั้งนี้ ตรงจุดที่คล้าย “ปลีกล้วย” หรือที่เรียกว่า “ปลียอด” และภาพมุมสูงครั้งเดียวในชีวิตที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัส สิ่งนี้ทำให้ตัวเองรู้สึกเลยครับว่า  หากหัวใจของตัวเองนั้นไม่บริสุทธิ์พอ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อภิบาลปกปักษ์รักษา เจดีย์แห่งนี้ ท่านคงป้องปรามไว้ ตั้งแต่ก้าวแรกที่ผู้เขียนย่างขึ้นไป.. ขอกราบสาธุ ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านได้เมตตาในครั้งนี้ 




หมายเลขบันทึก: 639130เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2017 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2017 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออนุโมทนา สาธุ ในมหากุศลนี้ด้วยจ้ะ

ระลึกถึงเสมอจ้ะ

-สาธุ...

-ด้วยความระลึกถึงอาจารย์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท