การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีต่อวิถีชีวิตชนเผ่าละว้า


การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีต่อวิถีชีวิตชนเผ่าละว้าหมู่ที่ ๑๑

ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

SOCIAL CHANGE AFFECTING THE WAY OF LIFE OF LAWA ETHNIC GROUP,

MOO ๑๑, PAPAE SUB-DISTRICT, MAESARIANG DISTRICT,

MAEHONGSON PROVINCE


พระมงคล สุมงฺคโล[1]

รศ.สมหมาย เปรมจิตต์[2]

นายบรรยง อัธยาศัยวิสุทธิ์[3]

 

บทคัดย่อ

  วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีต่อวิถีชีวิตของชนเผ่าละว้า  ๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีต่อ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชนเผ่าละว้า ตัวอย่างที่ใช้ในการเก็บข้อมูลวิจัย ได้แก่ ประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่ที่ ๑๑ จำนวน ๓๐ คน ประกอบด้วย พระสงฆ์ ผู้อาวุโส ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ครู กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน กลุ่มเยาวชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิชาการของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง ทำการเก็บข้อมูลคือ การสำรวจพื้นที่ การสังเกตสภาพชีวิตของชุมชน การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการสนทนากลุ่ม แล้วนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปของการพรรณนาตามปรากฏการณ์ที่พบเห็น

  ผลการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีต่อวิถีชีวิตของชนเผ่าละว้ามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมากโดยมีผลมาจากปัจจัย ๒ ด้าน คือ ด้านปัจจัยภายใน ประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ลักษณะครอบครัวและที่อยู่อาศัย ความต้องการทางด้านวัตถุ การยอมรับประเพณีและวัฒนธรรมใหม่ ๆ เข้ามาในชุมชน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรม ส่วนด้านปัจจัยภายนอก ได้แก่ การพัฒนาของภาครัฐ การจัดการศึกษา เศรษฐกิจ และความเจริญด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตชาวละว้าค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป

            การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวละว้าพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงด้านครอบครัวและประชากรด้านภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจด้านการปกครองด้านการศึกษาด้านประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่สภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่บางกรณีนำไปสู่ปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาด้านการเสื่อมถอยทางศีลธรรม ส่วนกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตนั้นสมาชิกในชุมชนมีค่านิยมแบบใหม่ มีการหยิบยืมทางวัฒนธรรมจากสังคมภายนอกเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันของตน ซึ่งส่งผลทางด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

ABSTRACT

           The objectives of this thesis were ๑) to study the social change affecting the way of life of the Lawa ethnic group and ๒) to study factors affecting the social change of the Lawa ethnic group. The research sampling subjects consisted of the community of monks, the elders, village headmen, the community leaders, the teachers, the housewives, the household heads, the youths, and the persons concerned, such as the technician of the Royal Project Development Center in Mae Sariang. Data collection was made through field survey, observation of community lifestyles, participant observation, in-depth interview, and focus group discussion. Results of the data analysis were presented in explanation as duly perceived.

 

The research findings were as follows:

            The social change affecting the life of the Lawa ethnic group, showed that there was a great deal of social change, which was due to the two factors, namely, the internal and the external. The internal factor included the population increase, the household and residential change, material demands, influence of modern culture on the changing of the way of life, beliefs, customs, and culture. Also considered was the external factor consisting of governmental development efforts, educational management, economic changes, and technological introduction. These factors gradually gave rise to the modern lifestyle change of the Lawa ethnic group.

            The change of the lifestyles of the Lawa was most clearly seen in terms of family, population, geography, economy, administration, education, tradition, and culture. All these factors affected the lifestyle of community members positively and negatively. In some case, those who were affected had a better life, while in other cases, they faced social problems such as narcotics, unemployment and ethical regression. 

            The aforesaid changes were due to such following factors as community members adopting new social values, and applying external cultural ideas to their daily lives. Such practices were continuously affecting the Lawa ethnic lives in social, cultural, economic, and environmental aspects.

 

บทนำ

  โลกมนุษย์มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่มีสังคมใดหยุดนิ่งกับที่ได้ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ไม่เคยหยุดนิ่ง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม

  ชุมชนลัวะหมู่ที่ ๑๑ เป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่บนที่สูงของตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากรทั้งหมดเป็นชนเผ่าลัวะ ประกอบอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม มีวัฒนธรรมความเชื่อและประเพณีเป็นของตนเอง นับถือศาสนาพุทธผสมผสานกับการนับถือผีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษมายาวนาน มีการถ่ายทอดสืบกันมาเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องแต่สภาพวัฒนธรรมของมนุษย์นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า “พลวัต” (Dynamic) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชนเผ่าลัวะนั้น มีสาเหตุจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มชนลัวะรุ่นใหม่เริ่มทิ้งวิถีชีวิตเดิมของชุมชนตนเองไป วัฒนธรรมประเพณี ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เพราะนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามาอำนวยความสะดวก ทำให้การดำเนินชีวิตง่ายขึ้นจนละทิ้งวัฒนธรรมเดิมและก่อให้เกิดการห่างเหินวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ จากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นปัจจุบัน ซึ่งยาก ที่จะเรียนรู้เหมือนในอดีต

  ดังนั้นผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและสนใจที่จะทำการวิจัยเกี่ยวกับความเป็นมาของชนเผ่าลัวะ ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีผลต่อวิถีชีวิตของชนลัวะ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชนเผ่าลัวะที่เกิดขึ้นในหมู่ที่ ๑๑

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

            ๑. เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีต่อวิถีชีวิตของชนเผ่าลัวะหมู่ที่ ๑๑ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

            ๒. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีชีวิตของชนเผ่าลัวะหมู่ที่ ๑๑ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วิธีดำเนินการวิจัย

            ๑. ประชากรที่ศึกษาประชากรที่อาศัยอยู่ใน หมู่ที่ ๑๑ ตำบลป่าแป๋ทั้งหมด สำหรับกลุ่มตัวอย่างในการศึกษามีจำนวน ๓๐ คน โดยผู้วิจัยเลือกจากผู้รู้ในท้องถิ่นและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

            ๒. ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล

    - ข้อมูลขั้นปฐมภูมิ (Primary data) เป็นข้อมูลที่เป็นบุคคล ที่ผู้วิจัยได้จัดเก็บข้อมูลโดยตรงจากประชากรกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาจำนวน ๓๐ คน

    - ข้อมูลขั้นทุติยภูมิ (Secondary data) เป็นข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมเอกสารสิ่งพิมพ์ และรายงานการวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องที่ทำการวิจัย

๓. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยผู้วิจัยได้ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ละเอียด ครอบคลุม ถูกต้อง และตรงวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้อย่างชัดเจนโดยวิธีการใช้ในการวิจัยประกอบด้วยเครื่องมือดังต่อไปนี้ ๑) การสำรวจพื้นที่วิจัยทำการศึกษาสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม พิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ๒) การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างซึ่งเป็นลักษณะคำถามปลายเปิด เพื่อให้โอกาสผู้ให้ข้อมูลได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้วิจัยได้อย่างเป็นธรรมชาติ ๓) การสังเกตอย่างมีส่วนร่วมผู้วิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลด้วยการจดบันทึก ถ่ายภาพ บันทึกเสียง ๔) การสนทนากลุ่มย่อยทำการสนทนากลุ่มย่อยกับประชากรแบบไม่เป็นทางการ ๕) การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของชาวเขาเผ่าลัวะ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับชุมชนหมู่ที่ ๑๑ ๖) วัสดุอุปกรณ์ที่ผู้วิจัยได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาได้แก่แบบบันทึกข้อมูลเทปบันทึกเสียงกล้องถ่ายรูป

           ๔. การวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผล

            ผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวละว้าหมู่ที่ ๑๑ เพื่อที่จะบรรยาย และอธิบายประกอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ จากการสัมภาษณ์ สังเกต มีการจดบันทึก การถ่ายภาพกิจกรรมการสัมภาษณ์ มีการตรวจสอบข้อมูลซ้ำด้วยการสังเกตชุมชนอีกเป็นระยะ ๆ เพื่อนำผลการวิจัยไปวิเคราะห์ความถูกต้องร่วมกับชาวบ้านในชุมชนอีกครั้ง

   ๕. การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล

   ผู้วิจัยได้ศึกษาถึงปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตทั้งทางด้านการปกครอง ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของชาวลัวะหมู่ที่ ๑๑ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สรุปผลการวิจัย

           ๑. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีต่อวิถีชีวิตของชนเผ่าลัวะหมู่ที่ ๑๑ ตำบลป่าแป๋ อำเภอ แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

                ๑.๑ ด้านครอบครัว

            ชาวลัวะในอดีตมีชีวิตความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย อาศัยอยู่รวมกันอย่างมีความสุขมีความเอื้อเฟื้อต่อกันครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่ มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนหลายคนยึดถือการทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก การใช้แรงงานมักจะเป็นแรงงานในครัวเรือน มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของด้วยสิ่งของ ยังไม่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันด้วยเงินตรา ลักษณะบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยปลูกสร้างบ้านด้วยวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นและไม่มีความคงทนถาวรในปัจจุบันมีการส่งเสริมการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด ส่วนใหญ่จะแต่งงานและมีครอบครัวหลังจากมีหน้าที่การงานมั่นคงเพราะส่วนใหญ่ชาวลัวะเรียนหนังสือ และครอบครัวจึงเป็นครอบครัวเล็ก แยกกันอยู่เป็นครอบครัวส่วนลักษณะบ้านเรือนในปัจจุบัน มีความทันสมัย รูปทรงสวยงาม มีห้องครัวแยกจากบ้านใหญ่

  ๑.๒ ด้านเศรษฐกิจ

            ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบยังชีพ โดยจะปลูกข้าวเป็นหลัก เพราะไม่รู้จักในการทำการเกษตรเป็นอาชีพใช้เครื่องมือที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน เช่น จอบ เสียม มีด เป็นต้น มีระบบการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างสมาชิกในชุมชน ผลผลิตที่ได้มุ่งไว้ใช้เพื่อบริโภคภายในครอบครัวเป็นสำคัญ มีการพึ่งพาสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติรอบชุมชนเป็นหลักปัจจุบันได้ประกอบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ส่วนใหญ่ปลูกผักโครงการหลวงมากขึ้น เพราะว่าต้นทุนการผลิตน้อยรายได้ดีนอกจากนี้เริ่มมีการประกอบอาชีพต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น อาชีพราชการ ลูกจ้างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการแลกเปลี่ยนระบบเงินตราโดยมีนายทุนเข้ามามีบทบาทโดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกหลายคนมีรายจ่ายสูงเพราะต้องส่งบุตรเรียนหนังสือทำให้เกิดการต่อสู้ดิ้นรนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในครอบครัวต้องมีรายได้ประจำมีการปรับตัวทางเศรษฐกิจเนื่องมาจากในยุคปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจมีลักษณะแปรปรวนขึ้นและลงตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัว ซึ่งอาจส่งผลต่อความขัดแย้งภายในครอบครัวได้อันเนื่องมาจากปัญหาและความเครียดทางด้านเศรษฐกิจ

               ๑.๓ ด้านการปกครอง

            ในอดีตมีผู้นำชุมชนชาวลัวะให้ความสำคัญกับผู้อาวุโสมี “สะมัง”ซึ่งเปรียบเสมือนกษัตริย์มีการสืบทอดวงศ์ตระกูล โดยนับถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตมาก่อน บุคคลสำคัญของหมู่บ้านแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ ผู้นำทางราชการและผู้นำทางจารีตหรือประเพณี การปกครองส่วนแบบภูมิภาคยังไม่เข้าถึงอย่างเต็มรูปแบบและไม่ได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเท่าที่ควร ปัจจุบันมีการปกครองตามอำนาจและนโยบายรัฐบาล จึงพึ่งพาระบบราชการมากขึ้นและปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย มีนโยบายชาติและนโยบายการพัฒนาประเทศให้เป็นแบบสมัยใหม่โดยมีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชุมชน เช่นไฟฟ้า ประปา ถนน เป็นต้น ทำให้วิถีชีวิตชนเผ่าลัวะหมู่ที่ ๑๑ เปลี่ยนแปลงไป

  ๑.๔ ด้านการศึกษา

            ในอดีตคนในชุมชนจะไม่ได้รับการศึกษา เนื่องจากยังไม่มีโรงเรียน หรือโรงเรียนตั้งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน และที่สำคัญชาวลัวะไม่สนับสนุนให้บุตรเรียนหนังสือ ดั้งนั้นผู้ปกครองจึงไม่ค่อยส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนเท่าที่ควร และชุมชนอยู่ห่างไกลความเจริญ ทำให้ชาวลัวะในอดีตขาดโอกาสทางการศึกษาปัจจุบันส่งเสริมให้บุตรได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จนมีจำนวนผู้จบระดับปริญญาตรีเพิ่มมากขึ้น คนในชุมชนเริ่มที่จะมีความรู้และการศึกษา เนื่องจากเห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้น ผู้ใหญ่ที่เรียนจบชั้นประถมในอดีตก็มีการศึกษาต่อเพื่อจะได้ปรับวุฒิการศึกษาสูงขึ้น เช่น การศึกษานอกระบบ วิทยาลัยชุมชนในอำเภอแม่สะเรียง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น

                ๑.๕ ด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

            ชาวลัวะให้ความสำคัญกับจารีต ประเพณีและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ทุกอย่างได้ผสมผสานอยู่ในการดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัด กระบวนการขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามความเชื่อ ต่อมาประเพณีวัฒนธรรมของชาวลัวะได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีการยอมรับประเพณี วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตด้วย เช่น การแต่งกาย การกิน การอยู่ เป็นต้นเนื่องจากการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐเป็นผู้จัดหาให้ เช่น ถนน ไฟฟ้า เมื่อมีถนนไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้านทำให้หมู่บ้านรับการเปลี่ยนแปลงที่แพร่เข้ามาอย่างรวดเร็วได้ง่ายขึ้น ทั้งทางวิทยุโทรทัศน์ สื่อเทคโนโลยี และผู้คนต่างถิ่นที่เข้ามาติดต่อจนกระทั่งแต่งงานอยู่ในชุมชน ทำให้วัฒนธรรมที่ปรากฏภายในมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็มีการธำรงเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไว้ด้วย เห็นได้จาก พิธีกรรมในงานศพ พิธีกรรมการเลี้ยงผีต่าง ๆ ยังมีการแสดงเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม แม้ว่าจะเหลือผู้ปฎิบัติเริ่มลดน้อยลงก็ตาม แต่ผู้สูงอายุยังคงยึดถือปฏิบัติและคนยุคใหม่ก็ยังมีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน

            ๒. ปัจจัยที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีผลต่อวิถีชีวิตของชนเผ่าลัวะ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

            ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวลัวะหมู่ที่ ๑๑ ประกอบด้วย ปัจจัยภายในชุมชน ได้แก่ การเพิ่มของประชากร ลักษณะครอบครัวและที่อยู่อาศัย ความต้องการทางวัตถุ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่ การเข้ามาพัฒนาของภาครัฐ การศึกษา ระบบเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวลัวะ โดยพบว่าเมื่อปัจจัยตัวหนึ่งตัวใดเกิดการเปลี่ยนแปลง ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การดำเนินวิถีชีวิตด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม ของชุมชนชาวลัวะ ที่เป็นอยู่อย่างเรียบง่ายเกิดความ เปลี่ยนแปลงไปและมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

 

อภิปรายผลการวิจัย

            ๑. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีต่อวิถีชีวิตของชนเผ่าลัวะหมู่ที่ ๑๑ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

               ๑.๑ ด้านครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก จากที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ปัจจุบันแยกกันอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว สาเหตุที่แยกกันอยู่คือการไม่ยอมรับความคิดเห็นหรือความแตกต่างของกันและกัน โดยเฉพาะคนในอดีตยังยึดติดกับค่านิยมแบบดั้งเดิม ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ อยากให้สิ่งที่สืบทอดจากบรรพบุรุษส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า ปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไป ค่านิยมคนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย การยึดถือค่านิยมแบบดั้งเดิมให้คงอยู่นั้นคงเป็นไปได้ยาก ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทในสังคม จึงเป็นผลทำให้แยกกันอยู่เป็นครอบครัวและที่สำคัญคือชาวลัวะเริ่มมีความต้องการด้านวัตถุเช่น มีบ้านหลังใหญ่ ทันสมัย มีรถยนต์ และอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ครอบครัวแยกกันอยู่ เพราะอยากได้ความเป็นส่วนตัว ความอิสระในการตัดสินใจ ทำให้มีการวางแผนครอบครัวมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีเกี่ยวกับครอบครัวที่ว่า “ปัจจุบันนี้สังคมไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมากทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อประเทศไทยได้เปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรกรรมเพื่อยังชีพมาเป็นเกษตรกรรมเพื่อการค้า ทำให้กลายมาเป็นสังคมทุนนิยมและส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากมีการเคลื่อนตัวเข้ามาทำงานในเมืองเป็นกรรมกรในโรงงาน ผู้สูงอายุในชนบทจำนวนมากถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังหรือต้องรับภาระเลี้ยงดูหลาน เพราะพ่อแม่ต่างต้องออกไปหารายได้และประกอบอาชีพ ครอบครัวไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม บางครอบครัวแยกกันอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวความสัมพันธ์ในครอบครัวลดน้อยลงไปด้วย”[4]

               ๑.๒ ด้านเศรษฐกิจ ในอดีตชาวลัวะปลูกข้าวและทำไร่ทำสวนเพื่อยังชีพ อาศัยแรงงานในครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ผลผลิตที่ได้มุ่งไว้ใช้เพื่อบริโภคภายในครอบครัวเป็นสำคัญ ชาวบ้านยังไม่มีการติดต่อค้าขายกับสังคมภายนอก ฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัว จึงมีสภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า เมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเศรษฐกิจเริ่มมีการพัฒนา มีการปลูกพืชเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น และได้นำเอาเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้แทนแรงงาน เช่น เครื่องฉีดยา เครื่องตัดหญ้า รถไถ เป็นต้น เพราะว่าชาวลัวะเริ่มมีการดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาปัจจัยสี่ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือทรัพย์สินเงินทอง ดังนั้นจึงต้องมีการดิ้นรนเพื่อที่จะหารายได้มาจุนเจือครอบครัวของตนเอง เห็นได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อการค้าและมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายขึ้น ได้แก่ กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ถั่วแดง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง และนับวันยิ่งมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีพืชเศรษฐกิจอย่างหลากหลาย และครอบครัวมีรายได้ค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวลัวะ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกทั้งระบบเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ผู้คนมีกำลังทรัพย์ในการสร้างบ้าน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และที่สำคัญมีการวางแผนครอบครัวมีการคุมกำเนิดขึ้น ส่งผลให้ชาวลัวะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง“การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนสองแห่งในจังหวัดขอนแก่น กรณีศึกษาหมู่บ้านอัมพวัน และหมู่บ้านคำแก่นคูณ”ผลการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจมีปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัยของวัตถุ การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ การเปลี่ยนไปด้านจิตใจสังคมวัฒนธรรม[5]

               ๑.๓ ด้านการปกครอง ชาวลัวะมีการยึดหลักประชาธิปไตยมาตั้งแต่อดีต คือการยอมรับเสียงส่วนมากและเห็นความสำคัญกับเสียงส่วนน้อย เพราะว่าชาวลัวะจะรับฟังซึ่งกันและกัน ทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า มีการปกครองแบบส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นเข้ามามีอำนาจในการปกครอง เมื่ออำนาจของภาครัฐเข้ามามีบทบาทในชุมชนทำให้เปลี่ยนระบบการเลือกผู้นำ จากที่เคยเลือกตามความอาวุโสก็กลายเป็นเลือกตามวุฒิภาวะ อำนาจ ญาติพี่น้อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเกี่ยวกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ว่า “สังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่โลกไร้พรมแดนมากเท่าใด ก็ยังเห็นว่าความมีสำนึกความในตัวตนก็ปรากฏเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นความหลากหลายทางสังคม (พหุสังคม) เพราะมีการเคลื่อนย้ายอพยพของผู้คนระหว่างประเทศ มีความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง มีการสื่อสารกันได้อย่างฉับไวข้ามโลก ซึ่งส่งผลต่อระบบการเมืองการปกครองของสังคมต่าง ๆ ให้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในรูปแบบวิธีคิดและการบริหารจัดการที่อิงอยู่กับวัฒนธรรมตะวันตก โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทต่าง ๆ ของท้องถิ่นตน”[6]

               ๑.๔ ด้านการศึกษาชาวลัวะในอดีตมองการศึกษาไม่เป็นสิ่งสำคัญและไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การทำงานเลี้ยงครอบครัว แต่ในปัจจุบันกลับให้ความสำคัญของการศึกษาพ่อแม่สนับสนุนให้บุตรเรียนหนังสือ เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า อยากให้ลูกมีอาชีพที่มั่นคง ดังนั้นการศึกษาของชาวลัวะจึงพัฒนาจากในอดีต ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า มีการพัฒนาระบบการศึกษาขึ้น ปัจจุบันนี้อาชีพการทำเกษตรเริ่มถดถอย เพราะราคาพืชผักต่าง ๆ ตกต่ำ จึงทำให้ผู้คนสนใจและให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ชาวลัวะเลือกเรียนหนังสือนั้น เพราะไม่อยากทำงานที่บ้าน งานหนัก รายได้ไม่แน่นอน แต่ถ้าเรียนหนังสือทำให้มีอนาคตที่ดีขึ้น ชีวิตจะสุขสบายในวันข้างหน้า มีเงินเดือน พ่อแม่จะสุขสบายอีกด้วยซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง“วิถีชีวิตการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมของชุมชนชาวยองชุมชนบ้านดอนปีน ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพงจังหวัดเชียงใหม่” ผลการวิจัยพบว่า ชาวยองมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต มีการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยระบบการศึกษา ส่งบุตรหลานเข้าไปศึกษาในเมืองจนสำเร็จการศึกษาในระดับที่สูงมากขึ้น เพื่อให้มีอาชีพที่มั่นคงครอบครัวมีฐานะทางการเงินที่ดี[7]

               ๑.๕ ด้านสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมชาวลัวะมีความสัมพันธ์ในสังคมอย่างอบอุ่น แน่นแฟ้นคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และให้ความสำคัญกับระบบเครือญาติ มีการนับถือผีควบคู่กับพระพุทธศาสนา แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป มีการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ทำให้ประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงความเชื่อแบบดั้งเดิมของชาวลัวะเริ่มหายไปที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านประเพณีและวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม กล่าวคือ เพราะต่างฝ่ายต่างก็พยายามที่จะปรับตัวเข้ากัน ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมมีการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรอื่น ๆ หลายด้าน เนื่องจากป่าไม้มีความสัมพันธ์กับทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน ทรัพยากรอากาศ ทรัพยากรสัตว์ป่า และรวมถึงมนุษย์ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ว่า “ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมปรับตัวไม่ทัน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เน้นการทำตัวเองให้กลมกลืนกับจักรวาล และการสร้างดุลยภาพระหว่างความต้องการทางวัตถุกับทางจิตใจ สร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เน้นการควบคุมจักรวาลแทน ผลที่เห็นในปัจจุบันก็คือการใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการผลิตผลิตผลทางเศรษฐกิจจนเกินความจำเป็น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่พอจะเหลือไว้ให้คนในรุ่นหลังได้ดำรงอยู่อย่างราบรื่นนั้นหมดสิ้นไปโดยไม่จำเป็น”[8]

            จากการศึกษาผลสรุปของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวลัวะหมู่ที่ ๑๑ พบว่าการเปลี่ยนแปลงด้านครอบครัว ด้านเศรษฐกิจ ด้านการปกครอง ด้านการศึกษา ด้านสังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นไปในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละส่วนประกอบเข้าด้วยกันของวิถีชีวิตชาวลัวะที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และการพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้การใช้ทรัพยากรที่เป็นทุนทางเศรษฐกิจถูกใช้ไปอย่างรวดเร็ว การดำเนินชีวิตของคนในสังคมก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของ ปกาเกอะญอบ้านวัดจันทร์ หมู่ ๓ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่”ผลการวิจัยพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนในด้านครอบครัวและประชากร ด้านภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการปกครอง ด้านการศึกษา ด้านศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชน บางกรณีกลับนำไปสู่สภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมแต่บางกรณีกลับนำไปสู่ปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาการว่างงาน ปัญหาด้านการเสื่อมถอยทางศีลธรรม[9]

 

            ๒. ปัจจัยที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีผลต่อวิถีชีวิตของชนเผ่าลัวะ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

            การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวลัวะหมู่ที่ ๑๑ พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างมาก โดยมีผลมาจากปัจจัย ๒ ด้าน คือ ด้านปัจจัยภายในและด้านปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกนั้นประกอบด้วย การพัฒนาของรัฐ การพัฒนาจากบุคคลและองค์กรอิสระ ส่วนกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตนั้น เกิดจากสมาชิกในชุมชนมีพฤติกรรมหรือเกิดการยอมรับการปฏิบัติเกี่ยวกับด้านการขัดเกลาทางสังคม การลอกเลียนแบบ การมีค่านิยมแบบใหม่ และการหยิบยืมทางวัฒนธรรมจากสังคมภายนอกเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันของตน ซึ่งได้ส่งผลทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ กรณีศึกษาชาวไทยใหญ่บ้านถ้ำลอด จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ที่กล่าวว่า ลักษณะของการปรับเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่หมู่บ้านถ้ำลอด เป็นการดำเนินไปโดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ กล่าวคือ จากการได้รับการเรียนรู้หรือการขัดเกลาทางสังคมแล้วนำมาปฏิบัติ การลอกเลียนแบบจากสื่อที่พบเห็นหรือจากบุคคลที่มาจากสังคมภายนอกที่ได้มีการปฏิสัมพันธ์ด้วยการมีค่านิยมแบบใหม่[10]

            ปรากฏการณ์ที่สำคัญที่ผู้วิจัยได้พบเห็นและคิดว่าน่าจะมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชาวชาวลัวะเพิ่มมากขึ้น คือ ระบบการศึกษา เนื่องจากจากการคมนาคมภายในชุมชนมีความสะดวกสบาย และสภาพทางอาชีพของครอบครัวชาวลัวะดีขึ้นทำให้พ่อแม่ตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษาของบุตรหลาน รวมทั้งจำนวนผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับสูงมีเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทำให้มองเห็นแนวโน้มของระบบการศึกษา ที่สูงขึ้นย่อมทำให้ภาวะของการปรับเปลี่ยนมากขึ้น เกิดการเลียนแบบวิถีชีวิตของสังคมเมืองพึ่งพาวัตถุนอกท้องถิ่นหรือการนำเอาสังคมหมู่บ้านไปผูกพันกับสังคมภายนอกมากขึ้นซึ่งอาจเป็นผลทำให้วิถีชีวิตเดิม ๆ ของชาวลัวะเริ่มถูกปรับปรนเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง

             การวิจัยในครั้งนี้เป็นไปตามกระบวนการของแนวคิดทฤษฎีและเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามแนวทางของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยผ่านกระบวนการศึกษางานวิจัยเชิงคุณภาพ อย่างไรก็ตามจากปรากฏการณ์ของกระแสการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเผ่าลัวะ ผู้วิจัยได้พบเห็นบางอย่างที่ยังสามารถเหนี่ยวรั้งกระแสของการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกชุมชนได้ ถึงแม้จะไม่มากแต่ก็ยังดำรงรักษาไว้ได้บ้าง คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้อาวุโสในชุมชน ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่สำคัญมากที่สุดในชุมชนที่จะรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณี สิ่งที่เห็นได้ชัดของการรักษาไว้ซึ่งสังคมชาวลัวะ คือ ภาษา การแต่งกาย ความเชื่อ ส่วนมากแล้วในปัจจุบันกลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังทำหน้าที่ดั้งเดิมอยู่ในชุมชนของตน ทำให้เกิดการรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมให้คงอยู่ไว้ แต่แนวโน้มของกลุ่มเหล่านี้ในอนาคตก็อาจจะลดบทบาทลงไป เพราะปัจจุบันคนหนุ่มสาวมีโอกาสได้เรียนในระดับที่สูงขึ้น การทำงานนอกบ้านหรือเดินทางไปทำงานในเมืองก็เพิ่มมากขึ้น แนวโน้มเหล่านี้ย่อมส่งผลให้กับกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคตที่ไม่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณี ความเป็นอยู่ของชาวลัวะหมู่ที่ ๑๑ ดั้งเดิมก็อาจจะสูญหายไปได้ แม้แต่การแต่งกาย การพูดภาษาลัวะ และความเชื่อต่าง ๆ ก็จะหายไปในที่สุด

 

ข้อเสนอแนะ

            จากการศึกษา “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีต่อวิถีชีวิตชนเผ่าลัวะหมู่ที่ ๑๑ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะไว้ดังนี้

            ๑. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

               ๑.๑ ด้านครอบครัว ชุมชนควรรวมตัวกันสร้างกิจกรรมร่วมกันในชุมชน เช่น การพัฒนาชุมชน การทำบุญที่วัด การทำสิ่งประดิษฐ์ในชุมชน เป็นต้น ดังนั้นวิถีชีวิตของชนเผ่าลัวะ สามารถพัฒนาได้อย่างถูกต้องและควรมีแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง

               ๑.๒ ด้านเศรษฐกิจ ผู้นำชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมและพัฒนาผลผลิตของชุมชนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น มีการสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพที่หลากหลาย เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและแข่งขันกับตลาดภายนอกชุมชน และควรควบคุมการผลิตไม่ให้ขยายตัวมากเกินไปหรือน้อยเกินไป เพื่อการดำรงอยู่อย่างมีเสถียรภาพ

               ๑.๓ ด้านการการปกครอง ควรมีการพัฒนารูปแบบการปกครองโดยให้อิสระแก่ชุมชนในการร่วมคิดร่วมเสนอแนวทางในการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ โดยคงไว้ซึ่งความเป็นชุมชนลัวะแบบดั้งเดิมไว้ด้วย

               ๑.๔ ด้านการศึกษา ชุมชนควรสนับสนุนการโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสนับสนุนทางการศึกษา สร้างโอกาสให้กับคนในชุมชนในการให้ความรู้แก่เยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญในของชาติในอนาคตต่อไป

               ๑.๕ ด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ผู้นำชุมชนควรมีการรณรงค์ให้คนในชุมชนอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามเอาไว้ ส่วนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นควรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งชุมชนอนุรักษ์ผืนป่า ให้ชุมชนเป็นผู้คิดและตัดสินใจในการดูแลรักษาป่า อีกทั้งรัฐควรสนับสนุนนโยบายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ดินน้ำ และอื่น ๆ อย่างจริงจัง และควรเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรและการรักษาสภาพแวดล้อมให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป

            ๒. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัย

               ๒.๑ ควรวิจัยเรื่องการเปรียบเทียบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวลัวะหมู่ที่ ๑๑ และชาวลัวะที่หมู่บ้านแห่งอื่น ๆ ต่อเนื่องไปอีก เพื่อจะได้เห็นผลของการวิจัยว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

               ๒.๒ ควรวิจัยเรื่องชนเผ่าลัวะในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับชนเผ่าลัวะมากยิ่งขึ้น

บรรณานุกรม

 

พระอินจันทร์ กนฺตจารี. (ศรีบุญ). (๒๕๔๙). วิถีชีวิตการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมของชุมชน. ชาวยองชุมชนบ้านดอนปีน ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

พิมุข ชาญธนะวัฒน์. (๒๕๔๖). การปรับปรนเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่.กกกรุงเทพมหานคร : ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย

วราคม ทีสุกะ. (ม.ป.ป., ๒๕๔๔). ความคิดทางสังคมและทฤษฎีทางสังคมวิทยา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. สังคมและวัฒนธรรมไทยกรุงเทพมหานคร: ศูนย์พัฒนาศึกษา

วันเพ็ญ บุญประกอบ. (๒๕๔๐). สถาบันครอบครัว.สืบค้น ๔ มิถุนายน ๒๕๔๙, เข้าถึงได้จากกกกกกกกกhttps://www.m-society.go.th/ar...

สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และ สุวรรณ บัวบาน. (๒๕๒๗). การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนสองแห่งในจังหวัดขอนแก่น กรณีศึกษาหมู่บ้านอัมพวัน และหมู่บ้านคำแก่นคูณ. รายงานการวิจัย. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

อดิศร ศักดิ์สูง. (๒๕๕๐). ความสำคัญของโลกาภิวัตน์. สืบค้น ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙, เข้าถึงได้จากกกกกกกกกhttp://ge.kbu.ac.th/Download9_files/img/09.pdf

อารีย์ พานทอง. (๒๕๕๓). ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของปกาเกอะญอ บ้านวัดจันทร์ หมู่ ๓ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

[1]นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

[2]อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาสังคมวิทยามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

[3]ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการโครงการหลวงแม่สะเรียง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลป่าแป๋อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

[4]วันเพ็ญ บุญประกอบ. (๒๕๔๐). สถาบันครอบครัว.สืบค้น ๔ มิถุนายน ๒๕๕๙, เข้าถึงได้จาก

https://www.m-society.go.th/ar...

[5]สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และ สุวรรณ บัวบาน. (๒๕๒๗). การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนสองแห่งในจังหวัดขอนแก่น กรณีศึกษาหมู่บ้านอัมพวัน และหมู่บ้านคำแก่นคูณ. รายงานการวิจัย.บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

 

[6]อดิศร ศักดิ์สูง. (๒๕๕๐). ความสำคัญของโลกาภิวัตน์. สืบค้น ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙, เข้าถึงได้จาก

http://ge.kbu.ac.th/Download9_files/img/09.pdf

[7]พระอินจันทร์ กนฺตจารี. (ศรีบุญ). (๒๕๔๙). วิถีชีวิตการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมของชุมชน. ชาวยองชุมชนบ้านดอนปีน ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่.บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

 

[8]วราคม ทีสุกะ. ม.ป.ป., ๒๕๔๔). ความคิดทางสังคมและทฤษฎีทางสังคมวิทยา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. สังคมและวัฒนธรรมไทยกรุงเทพมหานคร: ศูนย์พัฒนาศึกษา

[9]อารีย์ พานทอง. (๒๕๕๓). ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของปกาเกอะญอ บ้านวัดจันทร์หมู่ ๓ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. บัณฑิตวิทยาลัย :มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

 

[10]พิมุข ชาญธนะวัฒน์. (๒๕๔๖). การปรับปรนเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่.      กรุงเทพมหานคร : ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย

 

หมายเลขบันทึก: 639125เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2017 12:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2017 08:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท