รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๓) กำหนดปัญหาและวิเคราะห์สาเหตุ


บันทึกที่ (๑) 

บันทึกที่ (๒)

หลังจากสำรวจปัญหา วิเคราะห์ปัญหา ขั้นต่อไปจะต้องกำหนดปัญหาและวิเคราะห์สาเหตุ เครื่องมือที่เราใช้คือ "๓ ห่วงปัญหา" กับ "ต้นไม้เจ้าปัญหา" อุปกรณ์มีเพียง กระดาษปลู๊ฟและสีชอร์ค เป้าหมายของกิจกรรม คือส่งเสริมการสร้างภาวะผู้นำ (นำการเปลี่ยนแปลง) จากการทำงานร่วมกัน ... จะเกิดผลลัพธ์บ้างหรือไม่ คงต้องให้นิิสิตสะท้อนหลังภาคเรียน

คัดเลือกและกำหนดปัญหา ด้วยการพิจารณา "๓ ห่วง"

วิธีการคือเอาปัญหามาวางลงบนพื้นที่ ๓ ห่วง ดังภาพ

ปัญหาที่ผมอนุมัติ (อนุญาต) ให้นิสิตเลือกได้จะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ ได้แก่

  • ๑) ต้องไม่ยากเกินไป พอประมาณกับศักยภาพ แต่ก็ต้องไม่ง่ายเกินไปจนไม่ท้าทายเลย  ปัญหาที่เลือกควรจะอยู่ในพื้นที่สีเหลือง ตัวอย่างในภาพคือ ๒. ปัญหาขยะ ๔. ท้องก่อนวัยอันควร และ ๘.ปัญหาหนี้สิน ฯลฯ 
  • ๒) ปัญหาที่เลือกต้อง "ดีสำหรับคนส่วนใหญ่ในชุมชน" หมายถึง เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ไม่ทางตรงก็ต้องทางอ้อม เช่น ดังปัญหาที่ ๒. และ ๘.  กรณีปัญหาที่ ๑. ยาเสพติดระบาดในชุมชน แม้จะเป็นประโยชน์มาก แต่หากเกินศักยภาพและอันตรายเกินไป ก็ไม่ควรทำ หรือปัญหาที่ ๖. รายได้น้อย ก็ยากที่จะทำได้ 
  • ๓) ถ้าเลือกปัญหานั้นแล้ว และแก้ไขด้วยวิธีที่กำหนดแล้ว ปัญหานั้นจะต้องยั่งยืนพอสมควร หรือก่อให้เกิดความยั่งยืนต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาที่ ๗. ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า หากทำได้จะนำมาสู่ความยั่งยืนของธรรมชาติและสั่งแวดล้อม แต่อาจทำได้ยากและบางครั้งอยู่นอกเขตชุมชน ปัญหาที่ ๓. ขาดน้ำประปา แม้จะไม่ยั่งยืนตลอดไป ใช้งานไปคงการชำรุด แต่ก็ถือว่าได้แก้ปัญหาที่ยั่งยืนพอสมควร 
สังเกตว่า การพิจารณาเลือกปัญหานั้น จะต้องทราบแนวทางการแก้ปัญหาด้วย  ยิ่งทราบแน่ชัดยิ่งสามารถเลือกปัญหาได้อย่าง "พอประมาณ" กับศักยภาพและเวลาที่มี  เช่น ปัญหาที่ ๘. ปัญหาหนี้สิน แนวทางการแก้ปัญหาคือ เริ่มทำบัญชีรับ-จ่าย จากนั้นตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้งไป หากไม่พอก็ให้หางานพิเศษทำเพิ่ม เมื่อตนเองใช้น้อย พ่อแม่ก็จะลดภาระลง หากทำบัญชีรับ-จ่ายของครอบครัวด้วย และช่วยกันประหยัดและขยันทำงาน จะสามารถลดปัญหาหนี้สินได้  ปัญหานี้ไม่สำเร็จโดยง่าย จึงท้าทาย และเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวโดยตรง และชุมชนสังคมโดยอ้อม เป็นต้น 

ค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา

การแก้ปัญหาจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน โครงการที่ทำจะเป็น "Good Project" หรือไม่  สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ ความแหลมคม ลุ่มลึกในการมองปัญหา วิเคราะห์ให้พบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เครื่องมือที่นำช่วยให้นิสิตได้วิเคราะห์ปัญหาให้ลึกมากขึ้น คือ "ต้นไม้เจ้าปัญหา"  ดังรูป




ทุกปัญหาย่อมมีสาเหตุ หลายครั้งที่สาเหตุของปัญหา  เกิดจากสาเหตุอื่นอีก  ดังนั้นหากเรากำหนดเอาปัญหาที่เลือก เป็นเหมือนลำต้นของต้นไม้ สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหานี้น่าจะเปรียบได้เหมือนรากแก้วหรือรากใหญ่ และปัญหาของปัญหาก็คือรากรอง รากฝอย เรียงร้อยเชื่อมโยงกันไป

งานชั้นที่ ๒ ของแผนการเรียนรู้แบบ ๗ส. (ที่นี่) ที่มอบหมายให้นิสิตทุกกลุ่มย่อยต้องช่วยกันทำคือ การ "สอบถาม" หรือสำรวจเชิงลึก มากกว่าการเดินสำรวจด้วยตา แต่ต้องเข้าหาผู้รู้หรือผู้เกี่ยวข้องกับปัญหา เพื่อสอบถาม สนทนา ค้นหาสาเหตุที่มาที่ไป และผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงความต้องการ ... หลายครั้งที่เราจะได้ "ไอเดีย" แก้ปัญหาแบบคาดไม่ถึงจากผู้อื่น

งานในชั้นเรียนวันนี้ (๑๑  ตุลาคม ๒๕๖๐) จึงเป็นการแจกกระดาษปลู๊ฟและชีชอร์ค แล้วมอบหมายให้วาดรูปต้นไม้ เพื่อทำความเข้าใจแนวทางการค้นหาและวิเคราะห์สาเหตุ  ก่อนจะให้แยกย้ายรายกลุ่มย่อยไปเข้าพื้นที่เพื่อ "สอบถาม" ค้นหาข้อมูล ต่อไป ...

ผมประเมินผลการเรียนรู้ส่วนหนึ่งจากการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้นี้ โดยให้นิสิตถ่ายภาพต้นไม้ของตนและภาพรายชื่อสมาชิกที่มาเรียน ซึ่งโดยมากจะใช้เวลากันประมาณ ๓๐ นาที พร้อมกับระดมสมองหาวิธีทำงานของกลุ่มตนเอง... ผู้ที่ไม่มาถือว่าไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม เมื่อไม่ได้ร่วม ก็ไม่ได้มีส่วนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ...จึงย่อมสมเหตุผลที่ต้องถูกหักคะแนนในส่วนนี้

กลุ่มหมี

กลุ่มหมีเลือกปัญหาน้ำท่วมสนามกีฬาบริเวณข้าง ๆ อาคารพลศึกษา วิธีการแก้ปัญหาคือ จะจัดทำอุปกรณ์รีน้ำ และที่วางอุปกรณ์รีดน้ำไปไว้ข้าง ๆ สนาม แล้วหาวิธีให้นิสิตที่มาเล่นกีฬานำไปใช้ด้วยตนเอง โดยจะติดตามสังเกตพฤติกรรมและผลลัพธ์ของโครงการนี้ระยะหนึ่ง





ต้นไม้เจ้าปัญหาสวยมาก มีรายละเอียดแสง สี เงา สะท้อนถึงความใส่ใจและตั้งใจ จากที่สังเกตพฤติกรรมการทำงาน กลุ่มหมีมีความสามัคคีกันมาก 



กลุ่มเทียน



กลุ่มเทียนเลือกปัญหาสวนสนุกเสื่อมโทรม (น่าจะเรียกว่าสวนป่ามหาวิทยาลัย)  คือไม่มีคนดูแลเท่าที่ควร รกร้าง พวกเขาคุยกันว่า อาจจะพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนวิเวศหรือสวนเรียนรู้สมุนไพรได้ ... น่าสนใจมาก




กลุ่มเพชร

กลุ่มเพชรเลือกปัญหาการจอดรถบริเวณทิศตะวันตกและทิศใต้ของอาคารราชนครินทร์ สัปดาห์หน้าคงได้รู้กันว่าพวกเขาจะมองปัญหาได้ลุ่มลึกเพียงใด และโดยเฉพาะวิธีแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไร




กลุ่มอินทร่ี

กลุ่มอินทรีปกติมีสมาชิก ๘ คน แต่วันนี้มาเรียน ๕ คน หัวหน้าทีมคงต้องหาวิธีประสานงานกันให้ดี ทีมใดที่มาเรียนไม่ครบบ่อย สะท้อนได้ว่า สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันได้ไม่ดี ทำให้คนที่ไม่มาไม่ได้ให้ความสำคัญกับทีม  อย่างไรก็ตาม ต้นไม้ของกลุ่มอินทรีสวยมาก ภายในเวลาอันจำกัด แสดงว่าประสิทธิภาพของคนที่มาเยี่ยมมาก

กลุ่มอินทรีเลือกปัญหา การจอดรถไม่เป็นระเบียบบริเวณระหว่างอาคารบัญชีและการจัดการ อาคารราชนครินทร์ และอาคารศิลปกรรมศาสตร์ ... รอดูวิธีแก้ ความเฉียบคม และความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา



กลุ่มบันได

กลุ่มบันไดเลือกปัญหาพัดลมชำรุดและสกปรกที่ตลาดน้อย  จากการสำรวจเพิ่มเติมพบว่า มีพัดลมที่ชำรุดจำนวนมาก และทุกตัวอยู่ในสภาพดังภาพด้านล่าง  วิธีการของกลุ่มเทียนคือ จะจัดทำโครงการระดมกำลังนิสิตจิตอาสา  โดยเฉพาะนิสิตที่ยืมเงินกองทุนกู้ยืมฯ (กยศ.) ซึ่งมีข้อกำหนดว่าต้องสะสมชั่วโมงจิตอาสา  มาร่วมกันทำความสะอาดพัดลมร่วมกัน ... คงเหมือนวัน ๕ส. ที่เราคุ้นเคยกระมัง...



ต้นไม้สวยมาเช่นกันครับ สามัคคี ใส่ใจ ตั้งใจ ย่อมทำได้ดี 

กลุ่มกำปั้น

กลุ่มกำปั้นมีสมาชิก ๙ คน แต่วันนี้มาเรียน ๕ คน  แนะนำให้ทำข้อตกลงกันให้ดีครับ เพราะอาจารย์สังเกตและประเมินภาวะผู้นำผู้ตามจากการทำงานเป็นทีม

แต่เดิมกลุ่มกำปั้นเลือกสำรวจที่บริเวณหมู่บ้านลักษณาวดี และตั้งใจจะเลือกปัญหาเรื่องจัดการขยะ   แต่ผมประเมินว่าน่าจะเกินศักยภาพและเวลาที่มีอยู่ จึงขอให้เปลี่ยนพื้นที่มาเป็นภายในบริเวณในมหาวิทยาลัย และแนะนำให้เลือกพื้นที่ที่มีสมาชิกเรียนอยู่  จึงได้ไปสำรวจพื้นที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

คาดว่าน่าจะได้ปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหามานำเสนอในสัปดาห์ถัดไป โดยใช้โมเดลต้นไม้ที่วาดได้ไม่เลวนี้



กลุ่มดอกบัว

กลุ่มดอกบัว มีสมาชิก ๙ คน แต่วันนี้ขาดเรียนไป ๒ คน พื้นที่ที่เลือกในการสำรวจรอบแรกคือ ตลาดทางโค้งบ้านท่าขอนยาง และต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องขยะ ... ผมเสนอให้ปรับพื้นที่มาหาปัญหาภายในมหาวิทยาลัยหรือบริเวณใกล้ที่ไม่ต้องเดินทาง เพราะเราจะทำโครงการนี้ในเวลาเรียน  สังเกตว่าสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ที่คณะบัญชี จึงเสนอเพิ่มว่า อาจลงพื้นที่สำรวจวันนี้บริเวณคณะการบัญชีและการจัดการ เพื่อนำปัญหาและสาเหตุมาคุยต่อในสัปดาห์หน้า... ต้นไม้ชัดเจนดีครับ หากสาเหตุชัดแบบต้นไม้ต้นนี้สังคมจะง่ายขึ้นแน่ 




กลุ่มลำธาร

กลุ่มลำธารมีสมาชิก ๘ คน แต่วันนี้มาเรียน ๕ คน  เลือกพื้นที่โรงเรียนบ้านท่าขอนยาง (ริมชี) แต่ปัญหายังไม่ได้กำหนดแน่ชัด  ผมแนะนำให้ไปช่วยคุณครูสอน โดยระดมและบริหารจัดการเวลาเอานิสิตจิตอาสาที่สนใจไปผลัดกันช่วยสอน เพราะที่นั่นขาดแคลนครู แต่สัปดาห์ก่อนทางกลุ่มได้ประเมินว่า ยากเกินศักยภาพของกลุ่ม จึงเลือกที่จะไปสำรวจโรงอาหารของโรงเรียนที่ชำรุด  แต่พอดูจากต้นไม้ปัญหาวันนี้ ทางกลุ่มได้เลือกที่จะไปซ่อมแซมสนามกีฬาที่ชำรุดให้ทันแข่งกีฬาสีของโรงเรียน ... ก็ขอให้ใช้ต้นไม้นี้เป็นเครื่องมือนี้สำรวจและสอบถามผู้เกี่ยวข้องให้มากครับ ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง 



กลุ่มภูเขา

กลุ่มภูเขามีสมาชิกเพิ่มจากครั้งก่อน ๖ เป็น ๗ คน ในวันนี้  เลือกปัญหา เรื่องท่อน้ำอุดตันที่ตลาดน้อย กลุ่มภูเขาวิเคราะห์สาเหตุเป็นเพราะ พ่อค้าแม่ค้าเทเศษอาหารทิ้งลงในท่อโดยไม่มีตระแกรง และท่อน้ำเองก็ไม่มีฝาปิด จึงทำให้เศษใบไม้และขยะไหลลงไปอุดตันท่อน้ำทิ้ง   วิธีแก้ไขคือ คิดกันว่าจะไปทำตระแกรงกรองเศษอาหารก่อน ... การทำตระแกรง อาจใช้ต้นทุน ทางกลุ่มจะไปออกเงินกันเองคงทำให้ตนเองเดือดร้อนไม่น้อย จึงอยากให้ไปสำรวจหรือหาวิธีว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง  นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาหนักอีกอย่างคือ จิตสำนึกของพ่อค้าแม่ค้าจะเปลี่ยนหรือไม่ จะใช้ตระแกรงที่ทำมาหรือเปล่า ... ให้ศึกษาเพื่อการพัฒนาต่อไป 



สีชอร์คที่ผมเตรียมมาวันนี้ไม่ทั่วถึง ทางกลุ่มจึงไม่ได้ระบายสี  ... แต่อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนถึงความพยายามและตั้งใจให้งานออกมาเช่นใด

กลุ่มภาพอิสระ

กลุ่มภาพอิสระมีสมาชิก ๘ คน แต่วันนี้มาเรียน ๖ คน ฝากคุยกันให้ได้ข้อตกลงและกติกาของกลุ่มด้วยนะครับ ผู้นำจะดีแค่ไหนหากขาดความสามัคคี ก็แสดงว่าผู้นำไม่เก่งนั่นเอง  

กลุ่มภาพอิสระเลือกพื้นที่สวนสาธารณะในเขตพื้นที่ ม.เก่า เพื่อให้สะดวกต่อการเรียนในเวลา จึงแนะนำว่าให้เลือกพื้นที่และปัญหาใหม่  และได้กำหนดปัญหาเรื่องการจอดรถจักรยานยนต์ หลังตลาดน้อย  นับเป็นปัญหาที่ลุ่มลึกไปถึงจิตสำนึกของนิสิต ... น่าสนใจมากว่า กลุ่มนี้จะแก้ไขอย่างไร หากทำได้ จะเกิดเป็นประโยชน์ใหญ่แน่นอน 




กลุ่มดวงอาทิตย์

กลุ่มดวงอาทิตย์ มีสมาชิก ๘ คน วันนี้มากัน ๗ คน (แต่คราวก่อนก็มากัน ๗ คน) เลือกปัญหาการจอดรถเช่นกัน แต่เป็นพื้นที่บริเวณวิทยาลัยการเมืองการปกครอง .. สำคัญที่ความตคิดสร้างสรรค์ว่าจะจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร? 


(รวมกันเข้าครับ สามัคคีคือพลัง ตั้งใจให้ ใส่ใจ ขวนขวายสู่ความสำเร็จ)


ข้อสังเกต
  • นิสิตหลายกลุ่มเลือกปัญหาการจอดรถจักรยานยนต์  โดยพื้นที่ไม่ซ้ำกัน จึงน่าสนใจมากว่า นิสิตจะแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนที่สุดได้อย่างไร  เมื่อมีหลายกลุ่ม การเปรียบเทียบย่อมเกินขึ้น หากมีการแข่งขันกันเชิงพัฒนาจะนำมาสู่ความสำเร็จเร็วขึ้น 
  • คุณภาพของชิ้นงานแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม 
  • นิสิตหลายกลุ่มขาดเรียน ซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ร่วมในกลุ่ม สังเกตบางกลุ่มแม้จะทำงานร่วมกันหลายครั้ง แต่อาจยังไม่รู้จักกันเท่าที่ควร  
งานชิ้นถัดไปคือ การระดมสมองสืบค้นและออกแบบขั้นตอนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  เครื่องมือที่จะนำมาใช้คือ ต้นไม้แห่งความสำเร็จ หรือบางกลุ่มอาจจะวาดเป็นภาพแห่งความสำเร็จก็ย่อมได้  



เครื่องมือนี้ มีไว้เพื่อช่วยในการระดมสมองเพื่อ กำหนด วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และผลที่คาดว่าจะได้รับ ก่อนจะลงมือเขียนโครงการ ในการเขียนโครงการนิสิตต้องศึกษาการเขียนโครงการก่อน โดยอ่านจากบันทึกการถอดบทเรียนของ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ (คลิกที่นี่)


หมายเลขบันทึก: 639026เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2017 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2017 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท