รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๒-๒๕๕๙ (๑๐) : บรรยายพิเศษ "การเขียนโครงการ"


วันที่ ๒๑ กุมภาพันธื ๒๕๖๐ ชั้นเรียนรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ดูแลงานประกันคุณภาพการศึกษาทั้งหมดของมหาวิทยาลัย มาบรรยายพิเศษเรื่องการเขียน การบริหาร และการประเมินโครงการ ท่านส่งสไลด์ให้ไว้จำนวนมาก ขออภัยนิสิตที่เข้าเรียนทุกท่านที่ไม่ได้บันทึกวีดีโอการบรรยายของท่านไว้ มีเพียงเสียงบรรยาย (ฟังได้ที่นี่) และ ประเด็นสำคัญ ๆ ที่ผมบันทึกมาแบ่งปันแลกเปลี่ยน ดังต่อไปนี้ครับ

ประเภทของโครงการ

มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้กำหนดประเภทของโครงการพัฒนากิจกรรมนิสิต ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผู้ดูแลกำกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยกำหนด กล่าวคือ โครงการพัฒนานิสิตออกเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ ๑) กิจกรรมวิชการที่ส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ๒) กิจกรรมกีฬาหรือการส่งเสริมสุขภาพ ๓) กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์หรือรักษาสิ่งแวดล้อม ๔) กิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม และ ๕) กิจกรรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม

และกำหนดเป็นหลักการให้สอดคล้องตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิของหลักสูตร ว่า มหาวิทยาลัย/คณะ จะต้องเปิดโอกาสให้นิสิตได้ส่วนร่วมในการกำหนดแผนการจัดกิจกรรมพัฒนานิสิต เพื่อพัฒนาลักษณะที่พึงประสงค์ให้ครบ ๕ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านคุณธรรม ๒) ด้านความรู้ ๓) ด้านทักษะทางปัญญา ๔) ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และ ๕) ด้านทักษะการคิดเชิงตัวเลข การสื่อสาร และเทคโนโลยี

แนวทางการจัดโครงการ

(Cr. ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์)

  • มหาววิทยาลัยมีพันธกิจ ๔ ด้าน ได้แก่ ๑) การผลิตบัณฑิตหรือการจัดการเรียนการสอน ๒) การวิจัย ๓) การบริการวิชาการ ๔) การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
  • กิจกรรมหรือโครงการที่นิสิตควรจัดทำคือ โครงการบูรณาการกับพันธกิจใดพันธกิจหนึ่ง หรือบูรณาการกับหลายพันธกิจของมหาวิทยาลัย
  • นิสิตต้องจัดทำโครงการ เสนอโครงการไปยังคณะ-วิทยาลัยผ่านงานพัฒนานิสิตของคณะ หรือเสนอต่อมหาวิทยาลัย โดยเสนอไปยังกองกิจกการนิสิต
  • รู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชา ... แต่ชีวิตจริงหลายครั้งไม่ได้เป็นแบบนี้ ... รู้อะไรก็ไม่สู้รู้จักกัน ... ดังนั้น Soft Skill ที่ได้จากการทำกิจกรรมพัฒนานิสิตนั่นเองที่จะทำให้นิสิตได้มีทักษะที่จำเป็นเหล่านั้น

ความสำคัญของโครงการ -> หลักการและเหตุผล

ความสำคัญเบื้องต้นของโครงการ ๕ ประการ ได้แก่ ๑) เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นมาเพื่อแปลงแผนงานให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ๒) เพื่อแก้ปัญหา ๓) เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร ๔) เป็นเครื่องมือหรือตัวแทนที่ใช้ในการถ่ายทอดหรืออธิบายสิ่งที่เจ้าของโครงการต้องการดำเนินการ และ ๕) เป็นเครื่องมือในการบริหารงาน (เช่น ช่วยในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณ)


(Cr. ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์)

ความสำคัญของแต่ละโครงการ จะเป็นเหตุผลที่คนเขียนโครงการต้องนำมาเขียนในหัวข้อ "หลักการและเหตุผล" โดยเหตุผลหลัก ๆ ในการทำโครงการ คือ เพื่อแก้ปัญหาและเพื่อพัฒนา (ตัวอักษรสีแดง)

ผมขอเสนอวิธีการแบ่งประเภทของโครงการออกเป็น ๔ ประเภท เพื่อให้ง่ายต่อการเขียนหลักการและเหตุผล ซึ่งเคยเขียนไว้นานแล้วที่นี่

๑) โครงการฐานนโยบาย (Policy-based Project) หมายถึง โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้แผนงานของหน่วยงาน เช่น แผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติราชการประจำปี ฯลฯ บรรลุเป้าประสงค์ของแผน กล่าวคือ เป็นโครงการที่เกิดจากการแปลงแผนกลยุทธ์มาเป็นแผนปฏิบัติ สิ่งที่ได้คือ "แผนดำเนินการ" ซึ่งประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ

๒) โครงการบนฐานปัญหา (Problem-based Project) หมายถึง โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหา สำคัญว่าต้องมีการศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ปัญหาอย่างดี ให้ได้ปัญหาที่แท้จริง ปัญหาที่เข้าท่า เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาสำคัญ คือ เมื่อแก้ปัญหานั้นแล้วไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นตามมา

โครงการบนฐานปัญหานี้ อาจแบ่งแยกย่อยไปอีกตามเป้าหมายเน้นของโครงการ ได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่

  • ๒.๑) โครงการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้าน คือ โครงการที่มุ่งแก้ปัญหานั้น ๆ ให้ดีขึ้นในระยะเวลาไม่นาน โดยการลงมือทำเพียงครั้งเดียว เป็นโครงการระยะสั้น เช่น โครงการฝึกอบรม โครงการค่ายอาสาสร้าง หรือ โครงการบริการชุมชนและสังคม (Service-based Project) หรือ โครงการบริการวิชาการ ที่มุ่งแก้ปัญหาของชุมชนโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือเทคโนโลยี เป็นต้น
  • ๒.๒) โครงการเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ หรือเรียกว่า "โครงงาน" หรือ Project for Learning คือ โครงการที่มุ่งศึกษา ค้นคว้า เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้ทำโครงงานเอง มักใช้กับการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • ๒.๓) โครงการเพื่อการศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ หรือเรียกว่า "โครงการวิจัย" หรือ Research-based Project คือ โครงการที่มุ่งศึกษาค้นคว้าหาทางแก้ปัญหาที่กำหนดอย่างเป็นระบบ

๓) โครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์ (Creative-based Project) หมายถึง โครงการที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ ผู้ต้องการทำโครงการมีฉันทะที่จะพัฒนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นใหม่ หรือนำสิ่งใหม่ๆ นำนวัตกรรม หรือมองไปในอนาคตและทำนายด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้น จึงเขียนโครงการขึ้นเพื่อป้องกัน หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น ๆ ขึ้น ฯลฯ

ก่อนเขียนโครงการ

โครงการพัฒนานิสิตจะต้องเสนอโดยองค์กรนิสิต หรือก็คือกลุ่มนิสิต (ได้แก่ สภานิสิต องค์การนิสิต สโมสรนิสิต หรือชุมรม) ดังนั้น โครงการทุกโครงการจะต้องเกิดขึ้นอย่างมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่ม ต้องมีการประชุมกันอย่างเป็นทางการ

ในการประชุมกันควรนำเอา ๑๐ คำถาม ดังสไลด์ของท่านวิทยากร ด้านล่างนี้ ไปเป็นประเด็นระดมสมองกัน ถือเป็นการเตรียมความพร้อม ก่อนจะมอบหมายให้เลขานุการหรือประธานกลุ่มนิสิต (หรือผู้ได้รับมอบหมาย) เป็นผู้เขียนยกร่างข้อเสนอโครงการ และนำเข้าวาระเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป

(Cr. ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์)


หรืออาจเอาเครื่องมือ 6W2H1R ไปใช้เป็นเครื่องมือคิด ดังสไลด์ด้านล่าง

(Cr. ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์)

วิธีเขียนโครงการ/โครงสร้างโครงการ

การเขียนโครงการของแต่ละหน่วยงานราชการอาจมีรูปแบบของโครงการที่แตกต่างกันไป แต่โดยหลัก ๆ แล้วจะมีหัวข้อคล้ายกัน เนื่องจากทุกมหาวิทยาลัยมีการประกันคุณภาพการศึกษาตามแนวทางของ สกอ. เหมือนกัน ดังนั้นทุกมหาวิทยาลัยจึงกำหนดโครงสร้างของการเขียนโครงการขึ้นเป็นรูปแบบให้ตอบโจทย์ประกันคุณภาพการศึกษา

โครงสร้างของการเขียนโครงการตามแบบประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีองค์ประกอบ ๑๔ ข้อ รายละเอียดดังสไลด์ และตัวอย่างการเขียนแต่ละหัวข้อแสดงดังสไลด์ถัด ๆ ไป (ขอแนะนำให้ฟังเสียงท่านบรรยายที่นี่ตั้งแต่นาทีที่ ๒๐ เป็นต้นไป)

(Cr. ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์)




๑) การตั้งชื่อโครงการ

การตั้งชื่อโครงการ ควรระบุให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติและความคาดหวังหรือผลตอบแทนจากการทำโครงการ คืออ่านแล้วให้ทราบทิศทางของโครงการนั้น

ผมขอเสนอหลักการในการตั้งชื่อโครงการดังนี้

  • อ่านแล้วทราบถึงแนวทาง ทิศทางของโครงการ หรือบอกว่าเกี่ยวกับอะไร
  • ถ้าเป็นโครงการบนฐานนโยบาย ควรเขียนให้สอดคล้องกับกลยุทธ์หรือนโยบายนั้นๆ เช่น โครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ฯลฯ
  • ถ้าเป็นโครงการบนฐานปัญหา อาจเขียนได้ ๒ แบบ คือ ๑) เขียนแบบบอกปัญหา เช่น โครงการแก้ปัญหา....... หรือ ๒) เขียนแบบบอกทางแก้ไข เช่น โครงการชวนน้องอ่านหนังสือ โดยไปเขียนปัญหาอ่านไม่ออกอ่านไม่คล่องของน้องไว้ในหัวข้อหลักการและเหตุผล ฯลฯ
  • ถ้าเป็นโครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์ เขียนให้เห็นภาพฝันหรือภาพแห่งความสำเร็จจะดี เช่น โครงการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ฯลฯ

๒) สถานภาพโครงการ

สถานภาพโครงการมีให้เลือก ๑ จาก ๓ ตัวเลือก ได้แก่

  • โครงการใหม่ คือ โครงการที่ไม่อยู่ในแผนดำเนินงาน ส่วนใหญ่เป็นโครงการบนฐานปัญหา ที่ต้องการจะจัดการกับปัญหาที่พบระหว่างการดำเนินงานตามแผน หรืออาจเป็นโครงการบนฐานกาคิดสร้างสรรค์ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และสังคมที่อุดมไปด้วยสิ่งกระตุ้นให้สร้างนวัตกรรม
  • โครงการใหม่ จะมีแผนการดำเนินงานตามวงจรคุณภาพเป็น PDCA (Deming Cycle หากไม่รู้ว่าคืออะไรคลิกอ่านที่นี่) คือเริ่มจากการวางแผน (Planning) ->ลงมือทำ (Do) -> ประเมิน (Check) -> นำผลไปปรับปรุงต่อไป (Action)
  • โครงการปกติ คือโครงการที่อยู่ใน "แผนการดำเนินการ" มักเป็นโครงการที่ทำเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยคือเคยทำมาก่อน จึงมีการผลการประเมินโครงการครั้งที่ผ่านมา วงจรคุณภาพจึงเริ่มที่ APDC
  • โครงการต่อเนื่อง คือ โครงการที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจึงจะบรรลุเป้าหมาย

๓) ผู้รับผิดชอบโครงการ

  • ให้ระบุชื่อหัวหน้าหรือประธานกลุ่มนิสิต ชื่อองค์กรนิสิต ชั้นปี สาขา คณะ
  • ระบุชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาองค์กรนิสิต หรืออาจารย์ที่ปรึกษาของนิสิตเจ้าของโครงการ

๔) ความสอดคล้อง/ตอบสนองของโครงการกับแผนพัฒนาหน่วยงาน

ผู้เขียนโครงการต้องศึกษายุทธศาสตร์และแผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงาน ซึ่งปกติจะมีให้ดาวโหลดที่กองแผนงานหรือฝ่ายแผนและบริหารของหน่วยงาน สำหรับมหาวิทยาลัย คลิกที่นี่

โครงการบนฐานนโยบาย มักจะสอดคล้องโดยตรงกับยุทธศาสตร์ใดยุทธศาสตร์หนึ่ง ส่วนโครงการบนฐานปัญหาหรือการคิดสร้างสรรค์ อาจเกี่ยวพันไปหลาย ๆ ยุทธศาสตร์หรือเกณฑ์ประกันคุณภาพภายในของ สกอ.


หัวข้อนี้ ต้องการจะตรวจสอบและชี้นำ ให้โครงการบูรณาการกับพันธกิจต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ หรือ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม หรือแม้แต่การปฏิบัติงานอื่น ๆ


๕) หลักการและเหตุผล

หลักการและเหตุผลคือส่วนสำคัญที่สุดที่จะสื่อสารกับผู้พิจารณาซึ่งมีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติโครงการ โน้มนาวความสนใจ แสดงให้เห็นประโยชน์และความจำเป็นที่ต้องมีโครงการนี้ ไม่มีไม่ได้

หลักคิดในการเขียนเบื้องต้น คือ เขียนอย่างน้อย ๓ ย่อหน้าหรือ ๓ ประเด็น ให้ผู้อ่านเห็นว่า ๑) ทำไมต้องทำ ๒) ทำอย่างไร (คร่าว ๆ พอเข้าใจพอสังเขป) และ ๓) ทำแล้วประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคืออะไร ส่วนจะเพิ่มเติม เน้นย้ำให้ผู้อ่านสนใจและเชื่อถืออย่างไรได้ สามารถเพิ่มเติมได้

วิธีการเขียนย่อหน้าแรก คือให้ผู้อ่านเห็น "วิธีคิด" หรือ "กระบวนทัศน์" ย่อหน้าที่สอง มุ่งให้เห็น "วิธีการ" หรือ "กระบวนการ" และย่อหน้าที่สาม มุ่งให้เห็น "ผลลัพธ์" หรือ "ประโยชน์" ของโครงการ แต่ละประเภทของโครงการจะเขียนส่วนย่อหน้าแรกต่างกันตามเหตุผลว่า ทำไมต้องต้อง ดังจะชี้ให้เห็น ดังนี้

๑) การเขียนหลักการและเหตุผลสำหรับโครงการบนฐานนโยบาย

อย่างน้อยควรเขียน ๓ ประเด็น เขียนเป็น ๓ ย่อหน้า ๆ ประเด็น ดังนี้

  • ย่อหน้าแรก ให้เขียนเกี่ยวกับนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ หรือแผนกลยุทธ์ ของหน่วยงาน ในทำนองว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องจัดทำกิจกรรม/โครงการนี้ขึ้น เห็นความเป็นมาของการทำโครงการ
  • ย่อหน้าที่สอง ให้เขียนรายละเอียดพอสังเขปว่า จะทำอะไร? ที่ใหน? อย่างไร? ให้เข้าใจพอสังเขป เช่น จะเชิญใครมาเป็นวิทยากร มาบรรยายหรืออบรมเรื่องอะไร ด้วยเทคนิคอะไร ทำไมถึงน่าสนใจ เป็นต้น สรุปคือ เขียนให้เห็นหลักคิดและหลักปฏิบัติ หรือเห็นหลักการนั่นเอง
  • ย่อหน้าที่สาม ให้เขียนถึงผลที่คิดว่าจะเกิดขึ้นจากโครงการ เช่น ผลผลิตหรือผลลัพธ์เชิงพฤติกรรม ที่จะเกิดขึ้น หัวข้อนี้เสมือนการเอาหัวข้อ "วัตถุประสงค์" และ "ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ" มาเขียนเรียบเรียงเพื่อโน้มน้าวกระตุ้นความสนใจ ทำให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญ เห็นภาพแห่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น

๒) การเขียนหลักการและเหตุผลสำหรับโครงการบนฐานปัญหา

อย่างน้อยควรเขียน ๓ ประเด็น แบ่งเป็น ๓ ย่อหน้า ๆ ละ ประเด็น เช่นกัน ตามแนวทางนี้

  • ย่อหน้าแรก ให้เขียนปัญหา ที่มาของปัญหา และบริบทของปัญหา ผู้อ่าน ๆ แล้ว ให้ทราบว่า ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร สาเหตุของปัญหานั้น ๆ คืออะไร มีบริบทปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ความสนใจของผู้อ่านโครงการ มักจะขึ้นกับปัจจัยต่อไปนี้
    • เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ
    • เป็นปัญหาที่สำคัญ มีผลกระทบกับผู้คนจำนวนมาก หรือเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่น ๆ
    • ข้อมูลปัญหาที่เขียน มีการสำรวจ สืบค้น สังเคราะห์ หรือวิเคราะห์แล้ว ถ้าเป็นโครงการบนฐานการวิจัย ผู้อ่านจะพิจารณาดูจากหัวข้อ "ทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง"
    • เป็นปัญหาที่ค้นพบ สำรวจ วิเคราะห์ โดยเจ้าโครงการเอง
    • แสดงข้อมูลเชิงสถิติ ตัวเลข แสดงให้เห็นความรุนแรง หรือมากน้อย ฯลฯ
  • ย่อหน้าที่สอง เขียนวิธีการจะแก้ปัญหานั้น อ่านแล้วให้รู้ว่าจะแก้อย่างไร ใช้ใครหรืออะไร ที่ไหน อย่างไร ... เขียนให้เห็นหลักคิดและหลักปฏิบัติ หรือเห็นหลักการนั่นเอง
  • ย่อหน้าที่สาม เขียนเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น บอกวิธีประเมินผลพอสังเขป

๓) การเขียนหลักการและเหตุผลสำหรับโครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์

อย่างน้อยควรเขียน ๓ ประเด็นเช่นกัน เขียนเป็นย่อหน้า ๆ ละ ประเด็น ดังนี้

  • ย่อหน้าแรก เขียนถึงสิ่งที่เป็นเหตุจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นปัญหาหรือการมองปัญหาในมุมมองของตน หรือเป็นการค้นพบของตนเอง หรือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือแม้แต่เป็น(ประกาย)ความคิดของตนเองที่ "ปิ๊ง" ขึ้นมา หรือเป็นประสบการณ์ของตนเองที่ได้เรียนรู้จนตกผลึกมั่นใจ
  • ย่อหน้าที่สอง เขียนถึงรายละเอียดของความคิดสร้างสรรค์นั้นให้เห็นพอสังเขป ว่าจะทำอะไร อย่างไร ... เขียนให้เห็นหลักคิดและหลักปฏิบัติ
  • ย่อหน้าที่สาม เขียนถึงภาพความสำเร็จหรือผลที่จะได้รับจากการสร้างสรรค์งานนั้น ๆ

อย่างไรก็ดี วิธีการเขียนหลักการและเหตุผลที่เสนอมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น การเขียนหลักการและเหตุผล แท้จริงแล้วเขียนแบบใดก็ได้ กี่ย่อหน้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้เขียนและผู้อ่านโครงการนั้น จะกำหนดให้เห็นเป็นอย่างไร ขอให้เห็น "เหตุผล" และ "หลักการ"

๖) การเขียนวัตถุประสงค์โครงการ

วัตถุประสงค์ คือ ความต้องการที่อยากให้เกิดขึ้นหลังจากโครงการ ลักษณะที่ดีของวัตถุประสงค์ คือ ชัดเจน ทำได้จริง วัดประเมินได้ สามารถบอกเป้าหมายหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม หากเป็นการพัฒนาคน ต้องระบุได้ว่าพฤติกรรมที่พึงประสงค์คืออะไร

"วัตถุ" คือวัตถุ สิ่งที่จับต้องได้ นับได้ มองเห็นเป็นรูปธรรม ส่วนคำว่า "ประสงค์" คือความต้องการ ดังนั้น คำว่า "วัตถุประสงค์" น่าจะแปลว่า ความต้องการอะไรที่จำต้องได้เป็นรูปธรรมจากโครงการ ... แต่แปลตามตัวแบบนี้ก็เกินไป เพราะโครงการส่วนใหญ่ ไม่ใช่สร้างวัตถุสิ่งของ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสมรรถนะหรือความสามารถของคน จึงขอให้ยึดหลักว่า วัตถุประสงค์ทุกข้อจะต้องวัดได้ ประเมินได้

Cr. ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์

ท่านวิทยากรเสนอหลักการเขียนวัตถุประสงค์ ด้วยคำว่า SMART ที่แปลว่าฉลาด ดังสไลด์ด้านบน ท่านบอกว่า วัตถุประสงค์ต้องมีลักษณะสำคัญ SMART คือ

  • Specific คือ มีความเฉพาะเจาะจงลงประเด็นเดียวในแต่ละข้อ
  • Measurable คือ ต้องสามารถวัดและประเมินผลสำเร็จได้
  • Attianable คือ ระบุถึงการกระทำที่สามารถปฏิบัติได้ บรรลุผลได้
  • Realistic คือ ต้องระบุให้มีความเป็นเหตุเป็นผลและสอดคล้องกับความเป็นจริง
  • Time bound คือ มีการกำหนดขอบเขตของเวลาที่จะกระทำให้สำเร็จได้อย่างชัดเจน

ขอเสนอวิธีคิดในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ ให้มีวัตถุประสงค์ ๒-๔ ระดับ เรียงตามลำดับความสำคัญ

  • ระดับที่ ๑ ให้เขียนถึง "ผลผลิต" (Output) คือ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นทันทีหลังจบโครงการ ค่อนข้างมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่นอน และต้องสามารถประเมินได้ทันทีหลังจบโครงการ เป็นสิ่งที่ผู้ทำโครงการมีความมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่ ๆ เพราะเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการ
  • ระดับที่ ๒ ให้เขียนถึง "ผลลัพธ์" (Outcome) คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เป็นความคาดหวังของโครงการที่อยากให้เกิดขึ้น เช่น ทักษะ ความสามารถ หรือศักยภาพ หรือเจตคติ ฯลฯ
  • ระดับที่ ๓ ให้เขียนถึง "ผลพลอยได้" (By-product) หรือประโยชน์ทางอ้อมที่สำคัญและมีคุณค่าที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ
  • ระดับที่ ๔ (ถ้ามี...ในกรณีเป็นโครงการต่อเนื่องหรือโครงการระยะยาว) ให้เขียนถึง "ผลกระทบ" (Impact) คือสิ่งที่จะเป็นผลตามมาจากโครงการ หรือผลที่เกิดขึ้นต่อจากการมีผลผลิตนั้น ๆ

วัตถุประสงค์จะเขียนกี่ระดับก็ได้ แต่ทุกข้อที่เขียนจะต้องวัดผลและประเมินผลได้ จำนวนวัตถุประสงค์ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไปจนทำให้ความสำคัญของโครงการน้อย วัตถุประสงค์ควรจะครอบคลุมสาระสำคัญของโครงการ


๗) ตัวชี้วัดความสำเร็จ

หลักการสำคัญในการเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จ คือ เขียนให้สอดคลัองกับวัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ต้องการอะไร ก็ให้วัดหรือประเมินตัวนั้น

ตัวชี้วัดความสำเร็จ อาจแบ่งเป็น ๒ หรือ ๓ ประเภทก็ได้ (คลิกศึกษาละเอียดที่นี่)

  • ถ้าแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
    • ๑) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือ สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ รายงานเป็นตัวเลขได้ และ
    • ๒) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ ที่บ่งบอกถึงคุณภาพและคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งนำเสนอออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้
  • ถ้าแบ่งเป็น ๓ ประเภท จะได้แก่
    • ๑) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือตัวชี้วัดที่สามารถนับได้ หรือ เป็นปริมาณเชิงกายภาพที่มีหน่วยวัด เช่น จำนวน ความยาว น้ำหนัก ระยะเวลา เป็นต้น
    • ๒) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณที่ใช้วัดสิ่งที่เป็นนามธรรม คือ ตัวชี้วัดที่สร้างเกณฑ์ให้สิ่งนามธรรมนั้นเป็นตัวเลข เช่น ระดับความพึงพอใจ ระดับคุณธรรม ระดับความโปร่งใส ฯลฯ
    • ๓) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ คือ ตัวชี้วัดไม่ใช่เชิงปริมาณ ไม่มีหน่วยวัดใด ๆ แต่ใช้การวัดเทียบกับค่าเป้าหมายที่เป็นเกณฑ์ในลักษณะพรรณนา หรือเป็นคำอธิบายของเกณฑ์ซึ่งจะช่วยในการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมิน เช่น การมีคุณค่ากับสถาบัน ศักยภาพของผู้เข้าอบรม ฯลฯ

๘) กลุ่มเป้าหมาย

๙) ระยะเวลาดำเนินโครงการ

๑๐) สถานที่ดำเนินโครงการ

๑๑) แผนการดำเนินงาน

๑๒) งบประมาณ

หัวเรื่องที่ ๘) - ๑๑) นิสิตสามารถดูตัวอย่างในสไลด์ของวิทยากรด้านล่าง ส่วนหัวข้อที่ ๑๒) จะมีวิทยากรพิเศษมาบรรยายเรื่องงบประมาณและระเบียบการเงิน ซึ่งจะได้ถอดบทเรียนมาแลกเปลี่ยนต่อไป

๑๓) ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ส่วนนี้สำคัญมาก เพราะผู้อ่านโครงการจะให้ความสนใจว่า ผู้เขียนโครงการมั่นใจถึงความสำเร็จของโครงการอย่างไรบ้าง ถ้าผลที่คาดว่าจะได้รับไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นั่นแสดงว่าผู้ขออนุมัติ โครงการไม่เข้าใจ และถ้ามีวัตถุประสงค์แต่ไม่มีในผลที่คาดว่าจะได้รับ นั่นแสดงว่า ผู้ขออนุมัติโครงการไม่มั่นใจว่าจะเกิดขึ้น ... สรุปคือ เขียนผลที่จะเกิดตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด

๑๔) การประเมินผลโครงการ

๑๕) การติดตามผล

๑๖) การรายงานผล

๑๗) สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ

หัวข้อที่ ๑๔) - ๑๖) แต่ละหัวข้อมีสาระสำคัญมาก จึงขอแยกไว้ในบันทึกต่อ ๆ ไป ที่จะมาแลกเปลี่ยนกับนิสิต ส่วนหัวข้อ ๑๗) นิสิตต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ในการทำงานของตนเอง ในเบื้องต้นนี้ ให้นิสิตศึกษาวิธีเขียนหัวข้อเหล่านี้จากสไลด์ของวิทยากรด้านล่าง

บันทึกต่อไป มาว่ากันเรื่อง การประเมินผลโครงการครับ


หมายเลขบันทึก: 625387เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2017 00:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2017 00:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท