แนวทางการดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังโดยชุมชน


แนวทางการดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังโดยชุมชน :

 กรณีศึกษาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของจังหวัดพะเยา

                                                                                                                       
                                                                                  วิจิตรา ปัญญาชัย* และคณะ 

 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา  

            การวิจัยครั้งนี้มีเป้าหมาย  คือ    หาแนวทางดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังโดยชุมชน  ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาในชนบทกึ่งเมืองแห่งหนึ่ง มี 3 ขั้นตอนคือ 1) การเตรียมการ เป็นการสร้างสัมพันธภาพกับคนในชุมชน   กำหนดแนวคำถามการวิจัย  และอบรมผู้วิจัยเกี่ยวกับการเก็บข้อมูล  2)การเก็บรวบรวมข้อมูล  และ 3)การคืนข้อมูลให้ชุมชน   การรวบรวมข้อมูลใช้การสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่มเชิงลึก  การสังเกตแบบมีและไม่มีส่วนร่วม   ผู้ให้ข้อมูลหลักประกอบด้วยผู้นำชุมชน 12 คน  บุคลากรด้านสุขภาพในชุมชน  4 คน  ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและปกติ  ผู้ดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ 114 คน  การวิเคราะห์ข้อมูลเริ่มพร้อมกับการเก็บข้อมูล และทำคู่ขนานกับการตรวจสอบข้อมูลด้วยวิธีสามเส้า  โดยใช้วิธีการเก็บ ผู้ให้ข้อมูลหลัก และผู้เก็บข้อมูลที่ต่างกัน   การจัดทำข้อสรุปใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและตีความ  โดยมีการตรวจสอบข้อมูลกับคณะผู้วิจัยและผู้เชี่ยวชาญ**     

          ได้ข้อค้นพบสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1)การเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน  พบมีค่านิยมให้ลูกได้รับการศึกษาสูงเพื่อเปลี่ยนอาชีพจากทำนาเป็นงานที่มีเงินเดือนประจำ  มีการอพยพย้ายถิ่น พบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น    ไม่นิยมการทำนาเพราะต้องใช้สารเคมีมากค่าใช้จ่ายสูง  ทำงานรับจ้างและค้าขาย ใช้สินค้าไม่จำเป็นในการกินอยู่มากขึ้น   มีการออมน้อยแต่มีหนี้สินเกือบทุกบ้าน   ความสัมพันธ์ในชุมชนลดลง    2)การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้สูงอายุ พบอยู่ตามลำพังกับคู่ชีวิตและอยู่คนเดียวมากขึ้น    มีรายได้จากลูกแต่ไม่เพียงพอ   ขาดความมั่นคงด้านอาหารหลักและเงินออม   ต้องใช้เงินออมจัดหาสิ่งจำเป็นให้ลูกหลาน   ต้องดูแลกันเองยามเจ็บป่วย     3)บทบาทองค์กรชุมชนพบว่าองค์การบริหารส่วนตำบลมีงบประมาณให้โดยสถานีอนามัยดำเนินการจัดหาวัสดุอุปกรณ์สร้างเสริมสุขภาพ    แต่ขาดการกระตุ้นจึงไม่ยั่งยืน   ชมรมผู้สูงอายุเน้นการจัดหารายได้   และอาสาสมัครสาธารณสุขมีบทบาทเป็นผู้นำข่าวสารจากสถานีอนามัยไปให้คนในชุมชน   4) ระบบสุขภาพมีศูนย์สุขภาพชุมชนที่มีพยาบาลวิชาชีพ ดูแลประชาชนในสัดส่วน 1: 5,000 คน    การเยี่ยมบ้านไม่ต่อเนื่อง  สำหรับการคืนข้อมูลให้ชุมชน    ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ  ผู้นำชุมชน แม่บ้าน เยาวชน   อสม.    บุคลากรด้านสุขภาพ รวม 42 คน ได้ข้อตกลง  คือ 1)ชุมชนจะจัดระบบอาสาสมัครดูแลสุขภาพผู้สูงอายุทุกหมวดของหมู่บ้าน   2) ชุมชนจะพัฒนาบทบาท อสม.ให้มีความรู้และทักษะดูแลการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้  โดยขอให้วิทยาลัยพยาบาลฯ และสถานีอนามัยสนับสนุนด้านวิชาการ


คำสำคัญ  :  การดูแลสุขภาพโดยชุมชน    ผู้สูงอายุ
* อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา   สถาบันพระบรมราชชนก    กระทรวงสาธารณสุข
**  พันเอก  นพ.ทวีศักดิ์  นพเกษร  นักวิชาการอิสระ  

สนับสนุนทุนพัฒนานักวิจัย โดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาลชุมชน

ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย


 

หมายเลขบันทึก: 63823เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท