พฤติกรรมทางเพศของผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัส


พฤติกรรมทางเพศของผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัส  อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย 

                               สุวิมล ควงสมัย

จุฑาภรณี ประเสริฐถาวรสิริ 

โรงพยาบาลวังสะพุง  เลย 

โรคเอดส์เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์และการพัฒนประเทศ  เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในสังคม มีสาเหตุสำคัญสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมทาง เพศสัมพันธ์ และการที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการรักษาผู้ป่วยเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสสามชนิด (Triple Therapy) ทำให้ผู้ป่วยเอดส์ที่รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อายุยืนยาวขึ้น จากการจัดบริการของโรงพยาบาลวังสะพุงพบว่าผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสมีการปฏิบัติตัวด้านการมีเพศสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไปจากก่อนรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งหากปฏิบัติไม่เหมาะสมจะนำไปสู่การแพร่เชื้อ หรือเกิดการข้ามสายพันธ์ของเชื้อทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้  การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมทางเพศของผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัส อธิบายการรับรู้เรื่องเพศของผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัส  ค้นหาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสให้เหมาะสมและไม่แพร่เชื้อดื้อยา

            การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการสำรวจแบบรวดเร็ว (Rapid Assessment Process) ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล เลือกประชากรกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง และสมัครใจ เข้าร่วมโครงการวิจัย โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth Interview) กับผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสทั้งชายและหญิง จำนวน 24 คน สนทนากลุ่ม (Focus Groups Discussion)  จำนวน 2 กลุ่ม กับแกนนำอาสาสมัครผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 10 คน และสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth Interview) กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 17 คน ยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อค้นพบ โดยหลักการ Triangulation  นำข้อมูลมาจัดกลุ่ม จัดเรียงข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์ โดยใช้โปรแกรม Excel  และนำข้อมูลมาจัดหมวดหมู่หาความสอดคล้อง ความแตกต่างของเนื้อหา (Content Analysis) นำเสนอเชิงพรรณนา

            ผลการศึกษา  1) เรื่องสุขภาวะพบว่า สุขภาพร่างกายผู้ป่วยเอดส์ทั้งชายและหญิงแข็งแรงขึ้นเมื่อรับยาต้านไวรัส  สภาพจิตใจของผู้ป่วยเอดส์จากเดิมที่รู้สึกสับสน ท้อแท้ สิ้นหวังเมื่อรู้ว่าติดเชื้อ แต่เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสทำให้ผู้ป่วยมีความหวังในชีวิตมากขึ้น เมื่อผู้ป่วยเปิดเผยผลการติดเชื้อต่อครอบครัวทำให้ผู้ป่วยได้รับการปฏิบัติจากครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป การยอมรับของบุคคลในครอบครัวมีผลต่อการตัดสินใจในการแพร่กระจายเชื้อ และผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงดีจะกลับเข้าสู่สังคม กลับไปประกอบอาชีพเดิมที่เคยทำก่อนเจ็บป่วยด้านจิตวิญญาณผู้ป่วยทั้งหมดเชื่อว่าการติดเชื้อโรคเอดส์เป็นกรรมเวร การทำให้ผู้อื่นติดเชื้อเป็นบาปกรรม 2) การรับรู้เกี่ยวกับการติดต่อโรคเอดส์ของผู้ป่วยพบว่าการมาเข้าร่วมโครงการยาต้านไวรัส ทำให้ผู้ป่วยทั้งหมดแสวงหาความรู้ และมีความรู้เพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มผู้ติดเชื้อ และจากเจ้าหน้าที่  มีผู้ป่วย  1 รายที่เชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงหน้าที่การงานดี ไม่ขายบริการจะไม่ติดเอดส์ ผู้ป่วยมีความตระหนักถึงความสำคัญในการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอเพราะกลัวการเกิดเชื้อดื้อยา ผู้ป่วยมองว่าตนเองมีคุณค่าเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับยาต้านไวรัส เมื่อมารับยาต้านไวรัสผู้ป่วยกลับมาสนใจดูแลสุขภาพตนเองในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น การป้องกันและแพร่กระจายเชื้อ พบว่า จากเดิมที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย เมื่อรับรู้ว่าติดเชื้อผู้ป่วยมีการใช้และเข้าถึงถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้น 3)เพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย พบว่า เมื่อผู้ป่วยสุขภาพแข็งแรงดีหลังรับยาต้านไวรัสจะมีความต้องการอยากมีเพศสัมพันธ์ โดยผู้ป่วยชายต้องการมีเพศสัมพันธ์ทันทีเมื่อร่างกายแข็งแรง ผู้ป่วยหญิงมีความต้องการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 ปี หลังรับยาต้านไวรัส  ผู้ป่วยต้องการมีครอบครัวเหมือนกับคนปกติโดยให้เหตุผลว่าต้องการมีเพื่อน ต้องการความอบอุ่น ไม่ต้องการเป็นภาระทางบ้าน ต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องการมีลูกสืบสกุล  การมีเพศสัมพันธ์ พบว่า ผู้ป่วยจะกำหนดความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เนื่องจากมีความเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์บ่อยจะทำให้ร่างกายทรุดโทรมทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชื้อ ระหว่างคู่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาและมีเพศสัมพันธ์ โดยสวมถุงยางอนามัย 2-3 ชั้น และมีผู้ป่วย 1 ราย ที่ไม่มีเพศสัมพันธ์เลยตั้งแต่รู้ผลการติดเชื้อ 
              จากการวิจัยสามารถสรุปได้ว่าผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัส เมื่อสุขภาพแข็งแรงแล้วมีการรับรู้เกี่ยวกับเพศคืออยากมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนคนปกติ จึงมีครอบครัวใหม่และผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสมีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อดื้อยา โดยมีการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ , มีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย (Safe Sex) และผู้ป่วยบางรายงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้คือ1) ควรมีการจัดบริการที่เสริมสร้างแรงจูงใจเพื่อให้พฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมของผู้ป่วยยังคงอยู่อย่างยั่งยืน 2) จัดกิจกรรมเสริมสร้างพลังอำนาจในการป้องกันพฤติกรรมทางเพศที่นำสู่การดื้อยาในกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสและ 3) พัฒนาเครื่องมือในการเฝ้าระวังพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการดื้อยาในกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัส

สนับสนุนทุนพัฒนานักวิจัย โดย 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาลชุมชน

ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 63819เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท