ชีวิตที่พอเพียง : 3005. เขียนถึงคนเก่งที่ผมรักเหมือนน้องสาว



ทีมงานที่ สกว. นำโดย ดร. กิตติ สัจจาวัฒนา จะจัดงานเลี้ยงอำลา ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย พ้นจากการทำงานที่ สกว.    ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๐   และขอให้ผมเขียนถึง ดร. สีลาภรณ์ ไว้เป็นอนุสรณ์     จึงขอนำข้อเขียนมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้

 

สีลาภรณ์ผู้เปี่ยมปัญญาภรณ์

 

วิจารณ์ พานิช

อดีตผู้อำนวยการ สกว. (๒๕๓๖ - ๒๕๔๔)

.................

 

 

ดร. (นางสาว) สีลาภรณ์ นาครทรรพ ลาออกจากการเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติมาทำงานที่ สกว. ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙    ด้วยคำแนะนำของ ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัยในขณะนั้น    โดย สกว. ต้องการผู้นำ มาเปิดหน้างานใหม่    คือฝ่ายสนับสนุนการวิจัยชุมชน เพื่อใช้การวิจัยสร้างความเข้มแข็งของชุมชน   

หากไม่มีความเชื่อมั่นในความเฉียบแหลมของท่านประธาน สกว. ในการมองคน    ผมในฐานะ ผู้อำนวยการ สกว. คงไม่กล้ารับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน  และมีอายุเพียงสามสิบกลางๆ มาเป็นผู้อำนวยการฝ่าย ซึ่งต้องการความสามารถและภาวะผู้นำสูงมาก 

เวลาผ่านไปไม่นาน ความกังวลของผมก็ผ่อนคลาย    ว่าผมเชื่อคนถูก    พิสูจน์ด้วยผลงาน และระบบงานของฝ่ายสนับสนุนการวิจัยชุมชน    แถมด้วยความรู้ความสามารถด้านการศึกษาที่เธอเรียนมา ในระดับปริญญาเอก    ทำให้ สกว. ก้าวเข้าสู่การวิจัยด้านการศึกษาได้อย่างมั่นใจ   และได้รับการยอมรับสูง ในเวลาต่อมา 

ในสมัยนั้น สกว. ใช้วิธีเปิดหน้างานใหม่ๆ ด้วยการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นใหม่นั้นมาร่วมประชุมระดมความคิด    ใช้เวลาตั้งแต่ครึ่งวันที่ สกว.  ไปจนถึงสองสามวัน โดยออกไปจัดในต่างจังหวัด    ภาระหนักของผู้บริหารของ สกว. ในการประชุมแบบนั้นคือ จะต้องสังเคราะห์ ประเด็นจากที่ประชุม ออกมาเป็นแนวทางดำเนินการต่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้เข้าร่วมประชุม    ซึ่ง สกว. เน้นเชิญคนที่มีความแตกต่างหลากหลายมาร่วมประชุม  

ผู้บริหารหน่วยงานวิชาการอย่าง สกว. จะได้รับการยอมรับนับถือหรือไม่ ส่วนหนึ่งมาจากท่าทีรับฟัง และฝีมือการสรุปเชิงสังเคราะห์ออกมาเป็นแนวทางดำเนินการสนับสนุนการวิจัยต่อไป  

ปรากฏว่า ดร. สีลาภรณ์ นาครทรรพ ได้รับการยอมรับนับถืออย่างรวดเร็ว    และในหลายการประชุม ที่ผมร่วมอยู่กับ ดร. สีลาภรณ์ และผมรู้สึกงงๆ ว่าจะสรุปออกมาอย่างไรดี    ปรากฏว่า ดร. สีลาภรณ์สรุปออกมา ได้อย่างงดงามน่าชื่นชม    และผมนึกในใจว่า ผมเองได้รับคำชมเสมอมาว่ามีความสามาถในการจับประเด็น และสังเคราะห์ข้อสรุป   มาเจอ ดร. สีลาภรณ์ที่มีความสามารถสูงกว่า    ทำให้เวลาใดที่ผมร่วมประชุมกับ ดร. สีลาภรณ์ ผมมักออมแรงด้วยการตกลงให้ ดร. สีลาภรณ์ ทำหน้าที่สรุปประเด็น 

ในช่วงนั้น ที่ สกว. มีการประชุมประจำเดือน ที่ใช้ชื่อว่า การประชุมบริหารงานวิจัย    มีลักษณะเป็นวง แลกเปลี่ยนเรียนรู้  ซึ่งในภาษาปัจจุบันของผมเรียกด้วยภาษา KM ว่า วง BAR (Before Action Review) และ AAR (After Action Review)    ที่เรานำเอาเป้าหมายการพัฒนางานไปข้างหน้ามาปรึกษาหารือกัน (BAR)     รวมทั้งนำเอาผลการดำเนินงานบางเรื่องมาหารือกัน (AAR)    พบว่ามุมมองของผู้บริหารน้องใหม่สาวสวย ช่วยเพิ่มพูนปัญญาในวงประชุมเป็นอันมาก 

ความสามารถในการริเริ่มสร้างสรรค์งานของ ดร. สีลาภรณ์ ในฐานะผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่าย และต่อมาเป็นรองผู้อำนวยการ สกว.  มีประจักษ์พยานที่ผลงานที่เป็นโครงการใหญ่ๆ เช่นโครงการ ABC, Area-Based Research, โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เป็นต้น    น่าจะมีผู้เขียนได้ครบถ้วนกว่าผม   

หากผมจะไม่เล่าที่มาของการเปลี่ยนนามสกุลไปเป็น “บัวสาย” ก็คงไม่มีคนเล่าไว้    จึงขอเล่าย่อๆ ว่า     หลังจากย้ายมาทำงานที่ สกว. ได้ระยะหนึ่ง    ดร. สีลาภรณ์ ก็มาปรารภกับผมว่า คุณหมอสุภกร บัวสาย หนึ่งในทีมผู้บริหารของ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ที่ขณะนั้น นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นผู้อำนวยการ    มาใช้งานเธอมากขึ้นเรื่อยๆ    โดยที่บางงานก็ไม่อยู่ในความชำนาญหรือถนัดของ ดร. สีลาภรณ์    ผมก็พาซื่อให้คำแนะนำว่าอย่าไปรับช่วย   ความมาแตกในภายหลังว่าคุณหมอสุภกรใช้วิธีจีบสาว ที่มีความสามารถสูงโดยวิธีเข้ามาแสดงความยอมรับในความสามารถ    เป็นวิธีที่ล้ำลึกจริงๆ    ต่อมาคุณหมอ สุภกร ได้เป็นผู้ก่อตั้ง สสส.  และเวลานี้กำลังก่อตั้ง สสค.   และเป็นบิดาของลูกชายที่มีความฉลาดสูงยิ่ง สองคน

ที่จริงตระกูลของ ดร. สีลาภรณ์ กับตระกูลของผมมีความใกล้ชิดกันมากตั้งแต่สมัยที่คุณตาของเธอ คือพระยาอมรฤทธิ์ธำรง (พร้อม ณ ถลาง) ดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย ภาค ๕ (ภาคใต้ทั้ง ๑๔ จังหวัด) ได้นิมนต์ท่านพุทธทาสภิกขุ (ผู้เป็นลุงของผม) เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทั่วภาคใต้    ท่านทั้งสองรักใคร่นับถือกันมาก   ในประวัติของท่านพุทธทาสจะต้องเอ่ยถึงพระยาอมรฤทธิ์ธำรงเสมอ 

คุณแม่ของ ดร. สีลาภรณ์ คือ ศ. ฐะปะนีย์ นาครทรรพ เป็นลูกคนโตของพระยาอมรฤทธิ์ธำรง    มีชื่อเสียงมากในฐานะครูภาษาไทย ถือเป็นบรมครูภาษาไทย    และ ดร. สีลาภรณ์ ก็ได้รับพรสวรรค์นี้มาจากแม่  มีความสามาถแต่งโคลงกลอนได้เป็นอย่างดี    คุณน้าของ ดร. สีลาภรณ์ ที่ผมสนิทสนมที่สุดคือ รศ. นพ. อติเรก ณ ถลาง (ผู้ล่วงลับ) คณบดีคนที่ ๔ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    โดยที่ระหว่างที่ ท่านดำรง ตำแหน่งท่านขอให้ผมช่วยเป็นรองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา     ท่านได้ชื่อว่าเป็นคนสนุกสนาน ตลกโปกฮา  เป็นที่เล่าลือว่าท่านมีโจ๊กสัปดนที่สาวๆ ก็ชอบฟัง    เพราะมีวิธีเล่าที่ไม่น่าเกลียด    คุณน้าคนอื่นๆ ที่ผมคุ้นเคยจากการได้ร่วมงานกัน คือ ดร. วทัญญู ณ ถลาง (ผู้ล่วงลับ)    ศ. ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง  และ ผศ. กิติยวดี บุญซื่อ    จะเห็นว่า ตระกูลของ ดร. สีลาภรณ์ เป็นตระกูลแห่งปราชญ์

ในสมัยที่ผมทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สกว. (พ.ศ. ๒๕๓๖ - ๒๕๔๔) เป็นช่วงของการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา วิธีจัดการงานวิจัย    ให้การลงทุนสนับสนุนการวิจัยเกิดผลอย่างมีคุณภาพ    พูดง่ายๆ คือเรายังทำงาน ไม่ค่อยเป็น    อยู่ในช่วงของการเรียนรู้    ทั้งผู้บริหารและพนักงานต้องเอาข้อมูลและแนวคิดวิธีทำงานมาเสนอ และรับฟังความเห็นจากคนอื่น    ซึ่งในวัฒนธรรมไทยเรามักเกรงใจกัน  โดยเฉพาะการเกรงใจผู้อาวุโสกว่า     ทำให้ความคิดเห็นแบบสร้างสรรค์สุดๆ    หรือใหม่เอี่ยมหลุดโลก โผล่ออกมาในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยากมาก     แต่ ดร. สีลาภรณ์ เป็นกรณียกเว้น     ในช่วงที่ผมทำงานอยู่ เราได้รับฟังข้อคิดเห็นที่สร้างสรรค์สุดๆ จาก ดร. สีลาภรณ์บ่อยมาก    และในหลายกรณีเธอดำเนินการออกมาในเชิงปฏิบัติได้ผลดีเยี่ยม  

ในฐานะผู้สูงอายุ ผมมองว่าเมื่อละครเปิดฉาก ก็ต้องถึงเวลาปิดฉากเข้าสักวัน    ผมเคยบอกตัวเองว่า ความคิดของผมที่จะทำงานอยู่ที่เดียวจนเกษียณอายุนั้น เป็นวิธีคิดแบบเก่า     และผมทำงานอยู่ในบาง หน่วยงานนานเกินไป    ทำให้ขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานต่างแบบ    ดร. สีลาภรณ์ทำงานที่ สกว. ประมาณ ๒๒ ปี ผมก็เคยบอกเธอว่านานเกินไป    บัดนี้ ละครแห่งชีวิตการทำงานที่ สกว. ของ ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย ที่สกว. ถึงคราวปิดฉาก    ผมเชื่อว่า ฉากใหม่ในชีวิตการทำงานสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ของ ดร. สีลาภรณ์ จะเริ่มขึ้นในไม่ช้า    และขออวยพรให้เป็นผลงานที่มีคุณค่า และมีความสำเร็จยิ่งใหญ่ ขึ้นไปอีก

 

วิจารณ์ พานิช

๑ สิงหาคม ๒๕๖๐

…………………….

 


หมายเลขบันทึก: 636782เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2017 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2017 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

'คุณหมอ...ใช้วิธีจีบสาว ที่มีความสามารถสูงโดยวิธีเข้ามาแสดงความยอมรับในความสามารถ    เป็นวิธีที่ล้ำลึกจริงๆ'.

Though, history can show many cases of successful inter-national relations, but in this case 'love is an overwhelmingly strong inspiration'. ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท