ความเป็นมาของพระไตรปิฏก


p>             คำอธิบาย: http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/image/name1.gif </p>

 

 

 

ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

          การกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก จำเป็นต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ยังมิได้จดจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งหลักฐานเรื่องการท่องจำ และข้อความที่กระจัดกระจายยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่ จนถึงมีการสังคายนา คือจัดระเบียบหมวดหมู่ การจารึกเป็นตัวหนังสือการพิมพ์เป็นเล่ม

          ในเบื้องแรกเห็นควรกล่าวถึงพระสาวก ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ           ๑. พระอานนท์ ผู้เป็นพระอนุชา (ลูกผู้พี่ผู้น้อง) และเป็นผู้อุปฐากรับใช้ใกล้ชิดของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก           ๒. พระอุบาลี ผู้เชี่ยวชาญทางวินัย ในฐานะที่ทรงจำวินัยปิฎก           ๓. พระโสณกุฏิกัณณะ ผู้เคยท่องจำบางส่วนแห่งพระสุตตันตปิฎก และกล่าวข้อความนั้นปากเปล่าในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ได้รับสรรเสริญว่าทรงจำได้ดีมาก ทั้งสำเนียงที่กล่าวข้อความออกมาก็ชัดเจนแจ่มใส เป็นตัวอย่างแห่งการท่องจำในสมัยที่ยังไมมีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นตัวหนังสือ           ๔. พระมหากัสสป ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มให้มีการสังคายนา จัดระเบียบพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่ ในข้อนี้ย่อมเกี่ยวโยงไปถึงพระพุทธเจ้า พระสาริบุตร และพระจุนทะ น้องชายพระสาริบุตร ซึ่งเคยเสนอให้เห็นความสำคัญของการทำสังคายนา คือจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ดังจะกล่าวต่อไป

พระอานนท์เกี่ยวกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?

          เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้แล้วแสดงธรรมโปรดเจ้าลัทธิกับทั้งพระราชาและมหาชนในแว่นแคว้นต่าง ๆ ในปลายปีแรกที่ตรัสรู้นั้นเอง พระพุทธบิดาก็ทรงส่งทูตไปเชิญเสด็จพระศาสดาให้ไปแสดงธรรมโปรด ณ กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์แสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติแล้ว พระประยูรญาติต่างพากันเลื่อมใสให้โอรสของตนออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก

          พระอานนท์เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนศกายะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา เมื่อนับโดยเชื้อสายจึงนับเป็นพระอนุชาหรือลูกผู้น้องของพระพุทธเจ้า ท่านออกบวชพร้อมกับราชกุมารอื่น ๆ อีก คือ ๑. อนุรุทธะ ๒. ภัคคุ ๓. กิมพิละ ๔. ภัททิยะ รวมเป็น ๕ ท่านในฝ่ายศากยวงศ์ เมื่อรวมกับเทวทัตซึ่งเป็นราชกุมารในโกลิยวงศ์ ๑ กับอุบาลี ซึ่งเป็นพนักงานภูษามาลา มีหน้าที่เป็นช่างกัลบกอีก ๑ จึงรวมเป็น ๗ ท่านด้วยกัน ใน ๗ ท่านนี้เมื่ออกบวชแล้วก็มีชื่อเสียงมากอยู่ ๔ ท่าน คือ พระอานนท์ เป็นพุทธอุปฐาก ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก พระอนุรุทธ์ ชำนาญในทิพยจักษุ พระอุบาลี ทรงจำและชำนิชำนาญในทางพระวินัย กับพระเทวทัต มีชื่อเสียงในทางก่อเรื่องยุ่งยากในสังฆมณฑล จะขอปกครองคณะสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า

          กล่าวเฉพาะพระอานนท์ เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะรับหน้าที่นี้ ท่านได้ขอพรหรือนัยหนึ่งเงื่อนไข ๘ ประการจากพระพุทธเจ้า เป็นเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ ๔ ข้อ เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ข้อ คือ

เงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ           ๑. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์           ๒. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานบิณฑบาต (คืออาหาร) อันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์           ๓. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์           ๔. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์

เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง           ๕. ถ้าพระองค์จัดเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้           ๖. ถ้าข้าพระองค์จักนำบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ที่ไกล ให้เข้าเฝ้าได้ในขณะที่มาแล้ว           ๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น และ           ๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงข้อความอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ครั้นเสด็จมาแล้วจักตรัสบอกข้อความอันนั้นแก่ข้าพระองค์

          พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ที่ขอเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธนั้นเพื่ออะไร พระอานนท์กราบทูลว่า เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่าท่านอุปฐากพระพุทธเจ้าเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ ส่วนเงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ข้อนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถาม ท่านก็กราบทูลว่า ๓ ข้อต้น เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่า พระอานนท์จะอุปฐากพระพุทธเจ้าทำไมในเมื่อพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ ส่วนเงื่อนไขข้อสุดท้ายก็เพื่อว่าถ้ามีใครถามท่านในที่ลับหลังพระพุทธเจ้าว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในที่ไหน ถ้าพระอานนท์ตอบไม่ได้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า พระอานนท์ตามเสด็จพระศาสนาไปดุจเงาตามตัว แม้เรื่องเพียงเท่านี้ก็ไม่รู้ เมื่อพระอานนท์กราบทูลชี้แจงดังนั้นแล้ว พระศาสดาก็ทรงตกลงประทานพรหรือเงื่อนไขทั้งแปดข้อ

          เฉพาะพรข้อที่ ๘ เป็นอุปการะแก่การที่จะรวบรวมพระพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่อย่างยิ่ง เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม (พระอุบาลี วินัย) เพื่อจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งกระทำภายหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน

          ในสมัยที่วิชาหนังสือยังไม่เจริญพอที่จะใช้บันทึกเรื่องราวได้ดั่งในปัจจุบัน อันเป็นสมัยที่ไม่มีการจด มนุษย์ก็ต้องอาศัยความจำเป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกเรื่องราวนั้น ๆ ไว้ แล้วบอกเล่าต่อ ๆ กันมา การทรงจำและบอกกันด้วยปากต่อ ๆ กันมานี้ เรียกในภาษาบาลีว่า มุขปาฐะ

          พระอานนท์เป็นผู้ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่ามีความทรงจำดี สดับตรับฟังมาก นับว่าท่านได้มีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ สืบมาจนทุกวันนี้

พระอุบาลีเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?

          เรื่องของพระอุบาลี ผู้เคยเป็นพนักงานภูษามาลาอยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ท่านออกบวชพร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่น ๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น และในฐานที่ท่านเป็นคนรับใช้มาเดิมก็ควรจะเป็นผู้บวชคนสุดท้าย แต่เจ้าชายเหล่านั้นตกลงกันว่าควรให้อุบาลีบวชก่อน ตนจะได้กราบไหว้อุบาลีตามพรรษาอายุ เป็นการแก้ทิฏฐิมานะตั้งแต่เริ่มแรกในการออกบวช แต่ท่านก็มีความสามารถสมกับเกียรติที่ได้รับจากราชกุมารเหล่านั้น คือเมื่อบวชแล้วท่านมีความสนใจกำหนดจดจำทางพระวินัยเป็นพิเศษ มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฎก (เล่มที่ ๗) ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วทรงสรรเสริญวินัย กับสรรเสริญท่านพระอุบาลีเป็นอันมาก ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี นอกจากนั้น ในวินัยปิฎก (เล่มที่ ๙) มีพระพุทธภาษิตโต้ตอบกับพระอุบาลีในข้อปัญหาทางพระวินัยมากมาย เป็นการเฉลยข้อถามของพระเถระ เรียกชื่อหมวดนี้ว่า อุปาลิปัญจกะ มีหัวข้อสำคัญถึง ๑๔ เรื่อง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ท่านพระอุบาลีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวินัยปิฎก จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการช่วยรวบรวมข้อพระวินัยต่าง ๆ ทั้งของภิกษุและภิกษุณีให้เป็นหมวดหมู่หลักฐานมาจนทุกวันนี้

 

              พระโสณกุฏิกัณณะเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?

          ความจริงท่านผู้นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็นหลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก อันช่วยให้เกิดความเข้าใจดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก จึงได้นำเรื่องของท่านมากล่าวไว้ในที่นี้ด้วย เรื่องของท่านผู้นี้ปรากฎในพระสุตตันตปิฎกเล่ม ๒๕ มีใจความว่า เดิมท่านเป็นอุบาสก เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดของพระมหากัจจานเถระ พำนักอยู่ใกล้ภูเขาอันทอดเชื่อมเข้าไปในนคร ชื่อ กุรุรฆระ ในแคว้นอวันตี ท่านเลื่อมใสในพระกัจจานเถระและเลื่อมใสที่จะบรรพชาอุปสมบท พระเถระกล่าวว่าเป็นการยากที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ท่านจึงแนะนำให้เป็นคฤหัสถ์ ประพฤติตนแบบอนาคาริกะ คือผู้ไม่ครองเรือนไปก่อน แต่อุบาสกโสณกุฏิกัณณะรบเร้าบ่อย ๆ ท่านจึงบรรพชาให้ ต่อมาอีก ๓ ปี จึงรวบรวมพระได้ครบ ๑๐ รูป จัดการอุปสมบทให้ หมายความว่าพระโสณะต้องบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ

          ต่อมาท่านลาพระมหากัจจานเถระเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตวนาราม กรุงสาวัตถี เมื่อไปถึงและพระพุทธเจ้าตรัสถาม ทราบความว่า เดินทางไกลมาจากอวันตีทักขิณบถ คืออินเดียภาคใต้ จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้จัดที่พักให้ พระอานนท์พิจารณาว่า พระองค์คงปรารถนาจะสอบถามอะไรกับภิกษุรูปนี้เป็นแน่แท้ จึงจัดที่พักให้ในวิหารเดียวกันกับพระพุทธเจ้า

          ในคืนวันนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเสด็จเข้าสู่วิหาร แม้พระโสณกุฏกัณณะก็นั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเข้าสู่วิหาร ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสเชิญให้พระโสณะกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง ๑๖ สูตร อันปรากฏให้อัฏฐกวัคค์ (สุตตนิบาต พระสุตตันติปิฎก เล่มที่ ๒๕) จนจบ เมื่อจบแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ และท่วงทำนองในการกล่าว ว่าไพเราะสละสลวย แล้วตรัสถามเรื่องส่วนตัวอย่างอื่นอีก เช่นว่ามีพรรษาเท่าไร ออกบวชด้วยมีเหตุผลอย่างไร

          เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก ว่าได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ใครสามารถหรือพอใจจะท่องจำส่วนไหน ก็ท่องจำส่วนนั้น ถึงกับมีครูอาจารย์กันเป็นสาย ๆ เช่น สายวินัยดังจะกล่าวข้างหน้า

พระจุนทะเถระผู้ปรารถนาดี

          เมื่อกล่าวถึงเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ทำสังคายนาก็ดี ถ้าไม่กล่าวถึงพระจุนทะเถระ ก็ดูเหมือนจะมองไม่เห็นความริเริ่ม เอาใจใส่ และความปรารถนาดีของท่าน ในเมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน เพราะจากข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ท่านได้เข้าพบพระอานนท์ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกพระอานนท์ชวนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้งหลังเมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีก ขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ โดยแสดงโพธิปัขิยธรรมอันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการสุดท้ายได้ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการ ที่เรียกว่าสาราณิยธรรม อันเป็นไปในทางสงเคราะห์ อนุเคราะห์และมีเมตตาต่อกัน มีความประพฤติและความเห็นในทางที่ดีงามร่วมกัน เรื่องนี้ปรากฏในสามคามสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๔๙ ซึ่งควรบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อบูชาคุณ คือความปรารถนาดีของพระจุนทะเถระ ผู้แสดงความห่วงใยในความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา

</strong></u></em><hr><p>http://www.larnbuddhism.com/tr…</p>








หมายเลขบันทึก: 635516เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2017 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2017 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท