​ชีวิตที่พอเพียง : 2979b โรงงานผลิตปัญญา : 6. วิธีเรียนของนักศึกษา


มหาวิทยาลัยของฝรั่งตั้งแต่หลายร้อยปีมาแล้ว เน้นเรียนแบบวิพากษ์ ทำความเข้าใจความรู้จากมุมมองของตนเอง จากการใช้เหตุผล และจากการประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

ชีวิตที่พอเพียง  : 2979b โรงงานผลิตปัญญา :  6. วิธีเรียนของนักศึกษา

บันทึกชุด โรงงานผลิตปัญญา ตีความจากหนังสือ Wisdom’s Workshop :  The Rise of the Modern University    สำหรับตอนที่หกนี้ ตีความจากบทที่ 2  Oxbridge ในตอนกลางๆ บท ที่เล่าเรื่องนักศึกษา

ช่วงเวลาที่กล่าวถึงส่วนใหญ่อยู่ในศตวรรษที่ 15 - 17  นักศึกษามาจากครอบครัวคนรวยหรือสูงศักดิ์ ประมาณครึ่งหนึ่ง มาจากลูกชาวบ้านอีกประมาณครึ่งหนึ่ง     กลุ่มหลังนี้มักต้องได้รับทุนเล่าเรียน    โดยผมเดาว่ากลุ่มหลังนี้แหละที่ช่วยผดุงคุณภาพสูงของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ไว้

เข้าศตวรรษที่ 16 ทั้งสองมหาวิทยาลัยปรับตัวมาเน้นรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี อายุเริ่มเข้าเรียนตั้งแต่ ๑๖ ปี ขึ้นไป    และนักศึกษาทั้งหมดต้องอยู่หอในมหาวิทยาลัย     เด็กหนุ่มลูกผู้สูงศักดิ์หรือลูกเศรษฐี มาอยู่ร่วมกันจำนวนมาก จะมีเรื่องวุ่นวายให้ต้องดูแลขนาดไหนน่าจะพอนึกออก    หนังสือเล่มนี้เล่าไว้เยอะมาก 

นักศึกษาเรียนโดยไปฟังเล็กเชอร์ของมหาวิทยาลัย  แล้วมาฟังเล็กเชอร์เสริมหรือการติวของวิทยาลัย     และเมื่อเวลาผ่านไป เล็กเชอร์ระดับมหาวิทยาลัยก็เสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆ    ทดแทนด้วยเล็กเชอร์ระดับ วิทยาลัย    เพราะอาจารย์ระดับติวเต้อร์หนุ่มๆ รู้ใจศิษย์มากกว่า     และค้นคว้ามาสนองความต้องการของศิษย์ได้ ตรงกว่า    รวมทั้งช่วยเหลือนักศึกษาเป็นรายคน ให้ได้เรียนตรงกับเป้าหมายชีวิตในอนาคตของแต่ละคน     ที่จะออกไปเป็นพระ  เป็นข้าราชการ  หรือเป็นเจ้าที่ดิน

สังคมสมัยนั้น เป็นสังคมศักดินาเต็มรูป เต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพล ที่จะหลบเลี่ยงกติกาให้แก่ลูกของตน    เช่นให้สอบผ่าน  ให้ไม่ต้องเรียนบางวิชา  ให้เรียนจบเร็วๆ   ให้ไม่ต้องถูกลงโทษเมื่อประพฤติซุกซน ผิดวินัย นักศึกษา   มหาวิทยาลัยก็ต้องหาวิธีธำรงมาตรฐานคุณภาพไว้ ให้ได้    โดยการรับนักศึกษาหัวดี มุมานะตั้งใจเรียนที่มาจากครอบครัวชาวบ้านเข้ามาเรียน    นักศึกษาเหล่านี้มักตั้งใจเรียนจนได้รับปริญญา     ในขณะที่นักศึกษาลูกท่านหลานเธอมักมาเรียนเพียงสองปี    พอให้ได้ประสบการณ์ในมหาวิทยาลัย    ไม่มีความจำเป็นต้องได้ปริญญาเอาไปไต่บันไดทางสังคม    เพราะตนอยู่ชั้นบนอยู่แล้ว

ในหนังสือหน้า ๘๔ เอ่ยถึงติวเต้อร์พิเศษ (private tutor) ที่นักศึกษานิยมไปเรียนวิชาฟันดาบ  เต้นรำ  และขี่ม้า    ซึ่งผมตีความว่าติวเต้อร์เหล่านี้เป็นผู้เชี่ยวชาญการฝึกจริงๆ    เป็นการฝึกทักษะ ไม่ใช่สอนทฤษฎี    เมื่อกว่ายี่สิบปีมาแล้วเพื่อนของผมคนหนึ่งเล่าว่าลูกสาวของเขาไปสอบเทียบ ม. ๖   สอบวิชาพลศึกษาวิชาย่อยบาสเก็ตบอลโดยไปนั่งสอบในห้องสอบ    ตอบคำถามทางทฤษฎีเท่านั้น     และสอบผ่านฉลุย โดยมีคนช่วยติวให้สองสามชั่วโมงเท่านั้น    การสอบเทียบที่สมัยลูกสาวของผมเรียนเมื่อ สามสิบปีก่อน เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว

ในสมัยนั้น นักศึกษาที่ทำผิดวินัย อาจถูกเฆี่ยน  หรือจองจำ    เขาไม่ได้บอกว่า สภาพเช่นนั้นหมดไป ในสมัยไหน  

เข้าใจว่า หลังจากมีเครื่องพิมพ์หนังสือในปี 1450 เป็นต้นมา    นักศึกษาเรียนจากการอ่านหนังสือสะดวก ขึ้นมาก   อาจเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้การบรรยายวิชาทั่วๆ ไปในระดับมหาวิทยาลัยเสื่อมความนิยมลง    หนังสือน่าจะช่วยให้นักศึกษาและติวเต้อร์ร่วมกันกำหนดวิชาที่จะเรียนแบบจำเพาะรายคนได้    สมัยนั้นการสอน ยังไม่ใช้แนวทางสอนเหมือนๆ กันหมดเป็นชั้นใหญ่อย่างในปัจจุบัน   

 

สหรัฐอเมริกา ศตวรรษที่ ๑๗ (บทที่ ๓)

ตอนนั้นมีมหาวิทยาลัยเดียว คือฮาร์วาร์ด  ในปี 1642 หลักสูตร ๓ ปี  เน้นเรียนภาษาละตินและกรีก,     วิชาการคล้าสสิค (rhetoric, logic, philosophy), ประวัติศาสตร์โบราณ, คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เบื้องต้น (ฟิสิกส์ ในปี ๑, ดาราศาสตร์ในปี ๒, และพฤกษศาสตร์ทุกฤดูร้อน)    ช่วงเช้าท่านอธิการบดีจะบรรยาย “บทเรียนแห่งวัน”   ซึ่งนักศึกษาในชั้นเรียนทั้งสาม (rhetoric, ประวัติศาสตร์, และพฤกษศาสตร์) เข้าฟังพร้อมกัน    หลังจากนั้นเป็น “ชั่วโมงเรียน” ที่นักศึกษาเตรียมตัวนำเสนอความเข้าใจ และข้อถกเถียงของตนกับเพื่อนๆ  ต่อวิชาที่เรียนในตอนเช้า     รวมทั้งการฝึกนำวิชาที่เรียนในตอนเช้า ไปใช้ในชีวิตจริง    โปรดสังเกต ว่าการเรียนเมื่อสามร้อยปีก่อน เขาก็ไม่ได้เน้นการท่องจำอย่างการศึกษาไทยสมัยนี้นะครับ  

เพราะภาษาคือช่องทางเข้าถึงความรู้จากแหล่งที่หลากหลาย  มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจึงกำหนด ให้นักศึกษาต้องเรียนภาษาโบราณที่ใช้จารึกคัมภีร์ไบเบิ้ล คือภาษา ฮิบรู, เซมิติก (Chaldee / Aramaic), และภาษาซีเรียโบราณ     สะท้อนภาพว่า ในสมัยนั้นความรู้ด้านศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนมีการศึกษาสูง     แต่ไม่ใช่แค่รู้ตามตัวอักษรนะครับ    หนังสือบอกว่า เพื่อให้นักศึกษาสามารถแปลคัมภีร์ในภาษาดั้งเดิมออกสู่ ภาษาละติน    และนำมาตรวจสอบความเป็นเหตุเป็นผลของสาระดังกล่าว     จะเห็นว่า การเรียนของเขา เน้นความไม่เชื่อ มากกว่าความเชื่ออย่างงมงายนะครับ

   อาจารย์ติวเต้อร์กับศิษย์จะพบกันวันละสองครั้ง  เพื่ออ่านหนังสือด้วยกัน และสวดมนตร์ภาวนา ด้วยกัน    มีรายการอีกมากที่นักศึกษาทุกคน (ไม่ใช่เฉพาะสาขาเทววิทยาเท่านั้น) เรียนวิชาและภาคปฏิบัติเพื่อ “เรียนรู้สู่พระเจ้า” (godly learning)    ต่างจากนักศึกษาสมัยนี้ที่ตั้งตัวเป็นพระเจ้าเสียเอง ()

godly learning ในศตวรรษที่ ๑๗ น่าจะเทียบได้กับ transformative learning ในศตวรรษที่ ๒๑

สมัยนั้น การเรียนรู้สู่พระเจ้าสำคัญกว่าการเรียนรุ้สู่การอาชีพหรือการมีงานทำ     ต่างจากสมัยนี้โดยสิ้นเชิง    

ถ้อยคำในย่อหน้าที่แล้วน่าจะผิด     หากตีความว่า godly learning หมายถึงการเรียนรู้สู่ความดีงาม    ในประเด็นนี้ ไม่ว่ายุคสมัยใด เป็นสุดยอดของการเรียนรู้เสมอ 

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ค. ๖๐  ปรับปรุงเพิ่มเติม ๑๖ ส.ค. ๖๐    

 

หมายเลขบันทึก: 633665เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2017 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2017 08:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การเรียนรู้สู่ความดีงาม....ขอบคุณค่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท