ชีวิตที่พอเพียง 2992. วิจัยนโยบายเพื่อลดมายาคติ



ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันคลังสมองของชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐ มีวาระแจ้งเพื่อทราบและขอคำแนะนำเรื่อง สำนักประสานงาน  งานวิจัยเชิงนโยบายเกษตรและเสริมสร้าง เครือข่ายงานวิจัยเชิงนโยบาย    ที่ได้รับทุนจาก สกว. มาดำเนินการ 

ผมอ่านรายละเอียดเงื่อนไขของงานที่ได้รับจาก สกว. แล้วครุ่นคิดกับตนเอง โดยตั้งคำถามว่า     เป้าหมายส่วนที่อยู่ลึกและมีคุณค่าที่สุดของงานวิจัยเชิงนโยบายคืออะไร     แล้วตอบตนเองว่า ผมไม่มีความรู้ เรื่องระบบการเกษตรเพียงพอที่จะตอบคำถามนี้     แต่ก็ยังอยากลองตอบว่า “เพื่อตอบสนองเป้าหมาย ประเทศไทย ๔.๐”   ซึ่งหมายความว่า การเกษตรของไทยต้องมีนวัตกรรมสูง  เป็นการเกษตรคุณภาพสูงและมูลค่าสูง    รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม    คืออยู่ใต้คำขวัญ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

มีคำถามเชิงนโยบายต่อ ว่า     หากอยู่เฉยๆ ไม่มีการดำเนินการเชิงนโยบายใดๆ อีก    การเกษตรของไทย จะเดินไปสู่สภาพใด    ผมไม่มีความรู้เพียงพอที่จะวาดภาพอนาคตหลายๆ แบบ มาให้ดู    แต่จะลองวาดแบบ ตั้งคำถาม ว่า กิจการด้านเกษตรไทยจะถูกผูกขาดโดยรายใหญ่ จนเกษตรกรรายย่อยอยู่ไม่ได้    เหมือนอย่างที่เกิดกับ ร้านค้าปลีกในปัจจุบันหรือไม่    หากเราห่วงใยสงสัย    จะตั้งโจทย์วิจัยเชิงนโยบายอย่างไร


การกำหนดนโยบายในประเทศไทยส่วนใหญ่เน้นใช้เหตุผล (reasoning)    ซึ่งยิ่งนับวันผมก็ตระหนักว่า มีจุดอ่อนตรงที่เราหยิบเอาปัจจัยเกี่ยวข้องมาพิจารณาได้ไม่หมด    วิธีคิดที่สมเหตุสมผลยิ่งภายใต้ข้อมูลไม่ครบ    เมื่อเอาไปใช้ในสภาพจริงจึงก่อผลไม่ตรงกับเป้า     หรือบางทีเป้าที่ผู้กำหนดนโยบายเพ่ง เป็นเป้าเล็ก   แต่มาตรการก่อผลที่ซับซ้อน   นอกจากเกิดผลที่เป้าเล็กแล้ว ยังก่อผลเชิงระบบที่ไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าด้วย    เช่นการทำลายรายย่อย    แต่หากทำวิจัยศึกษาประสบการณ์ในประเทศที่เคยเดินล่วงหน้าไปก่อนประเทศเรา    นำเอาข้อเสียของนโยบายนั้นๆ มาเป็นข้อมูลหรือความรู้ประกอบการวิจัยพัฒนานโยบาย แบบเน้นอิง ข้อมูลหลักฐาน (evidence-based)  


นโยบายของประเทศที่ไม่เน้นข้อมูลหลักฐาน จึงเสี่ยงต่อการตกหลุมมายาคติ    เพราะสวมแว่น ผลประโยชน์ของกลุ่มที่เข้าถึงกระบวนการกำหนดนโยบาย    การวิจัยนโยบายที่ดีจะช่วยลดการตกหลุมนั้น


แต่หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยต้องมีทักษะในการตั้งโจทย์วิจัยที่ตั้งคำถามเชิงระบบภาพใหญ่ ที่สนองต่อ ประเทศไทย ๔.๐ อย่างแท้จริง 


วิธีหนึ่งคือหาคนที่เหมาะสมจากหลายหลายมุมมอง หลากหลายประสบการณ์ มาช่วยกันออกความเห็น ว่าระบบเกษตรที่ดีสำหรับประเทศไทย ๔.๐ เป็นอย่างไรบ้าง     แล้วสรุปออกมาสัก ๕ - ๑๐ ประเด็นสำคัญๆ    สำหรับใช้เป็นแนวทางในการตั้งโจทย์วิจัย    และในการประเมินข้อเสนอโครงการวิจัย    คนที่เหมาะสม จากต่างมุมเช่น ผู้ตัวแทนผู้บริโภค  ผู้ผลิตรายย่อย  ผู้ผลิตรายใหญ่  นักวิชาการด้านอาหาร  นักวิชาการด้าน ระบบเกษตร  ตัวแทน FAO  นักวิชาการด้านระบบสุขภาพ   นักวิชาการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ 


วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.ค. ๖๐

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 633650เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2017 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2017 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท