ชีวิตที่พอเพียง : 2974b โรงงานผลิตปัญญา : 5. หลักสูตรและการเรียนการสอน


ในศตวรรษที่ 16 มีแค่ปริญญา B.A, (๔ ปี) กับ M.A. (๓ ปี) โดยถือว่าปริญญาตรีเป็นปริญญาสูงสุด สำหรับคนทั่วไป คนที่เรียน M.A. ก็เพื่อเป็นนักวิชาการ

ชีวิตที่พอเพียง  : 2974b โรงงานผลิตปัญญา :  5. หลักสูตรและการเรียนการสอน 

บันทึกชุด โรงงานผลิตปัญญา ตีความจากหนังสือ Wisdom’s Workshop :  The Rise of the Modern University    สำหรับตอนที่ห้านี้ ตีความจากบทที่ 2  Oxbridge ในตอนกลางๆ บท ที่เล่าเรื่องหลักสูตร

ช่วงเวลาที่กล่าวถึงส่วนใหญ่อยู่ในศตวรรษที่ 15 - 17  หลักสูตรมีรากมาจาก the Seven Liberal Arts      ของอาณาจักรโรมันยุคท้ายๆ ซึ่งประกอบด้วย trivium (grammar. logic, และ rhetoric) และ quadrivium (arithmetic, geometry, music, และ astronomy)    ในปี 1549 มีข้อกำหนดให้สอน ๔ วิชาใน quadrivium อยู่ในชั้นปีที่ ๑ ของหลักสูตรปริญญาตรี  

เป็นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (renaissance)   หลักสูตรจึงเน้นเรียนศาสตร์พื้นฐาน (classic) เสริมด้วยศาสตร์ก้าวหน้า     โดยมีจุดเน้น ๓ ประการคือ (๑) เน้นให้อ่านหนังสือคลาสสิคที่ดีที่สุด ในภาษาละติน และภาษากรีก  (๒) ทำความเข้าใจบริบททางวัฒนธรรมและทางประวัติศาสตร์ของหนังสือดังกล่าว เพื่อให้ เข้าใจลึก และได้เรียนรู้มิติด้านคุณธรรม  (๓) เลือกบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ สำหรับเป็นฮีโร่หรือโรลโมเดล ของตน เพื่อฝึกฝนเลียนแบบ

ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 ความสำคัญของจุดเน้นเรียนเกี่ยวกับมนุษย์ (humanist) ค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น    แทนที่จุดเน้นที่พระเจ้าและศาสดาในยุคกลาง    ซึ่งพอจะเดาได้ว่าจะต้องเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งกันมากในยุคนั้น    แต่ผมเข้าใจว่าแนวทางนี้เข้มแข็งขึ้นได้เพราะวงการคริสตศาสนาขัดแย้งกันเองระหว่างคาทอลิค กับโปรเตสแต๊นท์ (เริ่มปี 1517) ซึ่งในอังกฤษเป็นนิกายแองกลิคัน     

 วิชาที่กลุ่ม humanist เน้นคือวาทศาสตร์ (rhetoric) แนว humanist   ซึ่งเขาต้องการให้แทนที่ ตรรกศาสตร์ (dialectic)    ซึ่งผมไม่ค่อยเข้าใจความต่างระหว่างสองศาสตร์นี้    หนังสือบอกว่า วาทศาสตร์แนว humanist มีลักษณะพิเศษคือ ใช้ภาษาธรรมดาๆ  กล่าวอย่างคล่องแคล่ว  และใช้ศิลปะของ การจูงใจ ในการสื่อสารทุกชนิด    เขาบอกว่าการเรียนเรื่องตรรกะ (logic)  ต้องเปลี่ยนจากการให้เหตุผลหักล้างทางวิชาการ    มาเป็นศิลปะที่ใช้ในการสื่อสารโต้ตอบกันในชีวิตตามปกติ    อ่านถึงตรงนี้ผมนึกถึงคำแนะนำเรื่องการเรียน การสอนวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ไม่ได้เรียนสายวิทยาศาสตร์    ว่าต้องเรียนเพื่อให้เข้าใจ วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน    ไม่ใช่เพื่อปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ดัง บันทึกชุดนี้   

หลักสูตรมีการปรับตัวลดความสำคัญของคำสอนของ Aristotle ลง    เพราะวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ กำลังก่อตัวและพิสูจน์ว่าคำสอนของอริสโตเติ้ลผิด     เช่น Nicolas Copernicus ประกาศว่าโลกหมุนรอบ ดวงอาทิตย์ในปี ค.ศ. 1543    ซึ่งต่อมาผลการวิจัยของนักดาราศาสตร์ Galileo Galilei (1564-1642) แสดงหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีใหม่นี้    และเกิดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว     หลักสูตรจึงปรับให้มีวิชาด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น 

วิชาที่ถูกลดความสำคัญลงคือ metaphysics   ซึ่งมากับคำสอนของ Aristotle ทั้งชุด    เขาจึงเก็บ อริสโตเติ้ลไว้เฉพาะส่วนที่เป็นปรัชญาคุณธรรม และปรัชญาการเมือง    เอาส่วนวิทยาศาสตร์ของอริสโตเติ้ล ออกไป  แทนที่ด้วยวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบใหม่    

วิชาที่เพิ่มความสำคัญในศตวรรษที่ ๑๖ คือคณิตศาสตร์  สำหรับเป็นพื้นฐานเรียนวิทยาศาสตร์สมัยใหม่    ในปี 1500 เคมบริดจ์เพิ่มการบรรยายระดับมหาวิทยาลัยในวิชาคณิตศาสตร์    จากเดิมมีการบรรยายวิชา humanities, logic, philosophy

หลักสูตร M.A. กำหนดให้เรียน arithmetic กับ music ในปีที่หนึ่ง    เรียน geometry and perspective ในปีที่สอง    และเรียน astronomy ในปีที่สาม 

ในปี 1549 นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่หนึ่งใช้เวลา ๖ ถึง ๗ เดือนแรกเรียนวิชา arithmetic  และ geometry     โดยที่โรงเรียนระดับมัธยมในสมัยนั้นที่เรียกว่า grammar school ไม่สอน    หรือสอนแบบเก่า ที่ใช้เลขโรมัน ไม่ได้ใช้เลขอารบิก   

ตั้งแต่ปี 1570 เป็นต้นไป เคมบริดจ์ กำหนดให้ทดสอบผู้สมัครเข้าเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ และตรรกศาสตร์ (logic)   และกำหนดว่า นักศึกษาจะไม่ได้ปริญญา B.A. หากยังไม่ได้เรียนวิชาคณิตศาสตร์     

อาจารย์สอนให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์โดยการพาไปประยุกต์ใช้วิชานี้ใน ภาคสนาม ในกิจกรรม surveying, navigation, optics, astronomy และ geography   โดยต้องมีเครื่องมือนำไปใช้ ในกิจกรรมหลายอย่าง เช่น เข็มทิศ  แผนที่ สไลด์รูล  ลูกโลก เป็นต้น

The College of Philadelphia (ต่อมาเป็น The University of Pennsylvania) ตั้งขึ้นในปี 1749    ในช่วงปี 1750s  หลักสูตร B.A. ร้อยละ ๔๐ เรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ 

เมื่อคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้น ก็มีผลกระทบต่อวิชาด้านมนุษยศาสตร์    เกิดวิชาจริยศาสตร์ (ethics) สมัยใหม่ เข้าแทนที่ metaphysics  และตรรกวิทยา (logic) สมัยโบราณ

สมัยนั้นมีแค่ปริญญา B.A, (๔ ปี)  กับ M.A. (๓ ปี)    โดยถือว่าปริญญาตรีเป็นปริญญาสูงสุด สำหรับคนทั่วไป    คนที่เรียน M.A. ก็เพื่อเป็นนักวิชาการ  เมื่อจบต้องทำงานชดใช้มหาวิทยาลัย ๒ ปีที่ อ็อกซฟอร์ด และ ๕ ปีที่ เคมบริดจ์  ในฐานะอาจารย์ติวเต้อร์    ซึ่งทำหน้าที่ดูแลให้ศิษย์เข้าฟังเล็กเชอร์ และทำแบบฝึกหัด   เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา   และดูแลความประพฤติส่วนตัว  

แปลกที่ปริญญา B.D. (Bachelor of Divinity) ถือเป็นปริญญาระดับเดียวกันกับ M.A.  และได้รับความนิยมถัดจากปริญญา M.A.    ส่วนปริญญาด้านวิชาชีพก็มีหมอกับนักกฎหมาย     เขาบอกว่าช่วงศตวรรษที่ ๑๖ มีคนเรียนน้อยลงมาก    และวิชาการที่ อ็อกซฟอร์ด ล้าหลัง    คนที่ต้องการเรียนแพทย์มักได้รับคำแนะนำให้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในภาคพื้นทวีป ได้แก่ที่ Padua, Leiden, Bologna, Paris, และ Montpellier   ผมเข้าใจว่าสภาพที่วิชาการแพทย์ของอังกฤษล้าหลังนี้ยังดำเนินต่อมาแม้สมัย เซอร์ วิลเลียม ออสเลอร์ ในศตวรรษที่ ๑๙ ดังบันทึก ,

นอกจากนั้นติวเต้อร์ยัง สวดมนตร์ประจำวันกับนักศึกษา    ไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ด้วยกัน    และทำหน้าที่รับฝากเงินของนักศึกษา และควบคุมการใช้จ่ายเงินไม่ให้ใช้ไปในทางเสื่อม เช่นสุรานารีกีฬาบัตร    ติวเต้อร์บางคนถึงกับไปส่งและไปรับลูกศิษย์ที่บ้านตอนปิดและเปิดเทอม    

ในแต่ละวิทยาลัย (college) มีอาจารย์ติวเต้อร์จำนวนหนึ่ง ทำหน้าที่สอนเสริม (หรือบางทีสอนแทน) การบรรยาย ของมหาวิทยาลัย    ติวเต้อร์จะช่วยปรับหลักสูตรจากหลักสูตรบังคับของมหาวิทยาลัย เป็นหลักสูตรปรับเฉพาะตัว ให้เหมาะกับงานที่นักศึกษาจะไปทำหลังเรียนจบ    ด้วยวิชาที่สมสมัยยิ่งขึ้น รวมทั้งมีรายการหนังสือให้อ่านเฉพาะตัวนักศึกษาเป็นรายๆ

นักศึกษาทุกคนอยู่ในหอพักด้วยกัน   แต่อย่าคิดว่าจะได้อยู่ห้องพักเหมือนๆ กันอย่างที่เราเคยมี ประสบการณ์นะครับ    สมัยห้าร้อยปีก่อนสังคมคนชั้นสูงกันชาวบ้านแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน    และสภาพนี้ก็จำลองเข้าไปไว้ในวิทยาลัยด้วย    โดยที่ลูกคนรวย มีเงินจ่ายค่าที่พักส่วนที่อยู่สบาย    ลูกคนจนก็อยู่ส่วนที่ต้องทนเอา    ลูกคนรวยสามารถจ่ายค่าตอบแทนอาจารย์ ช่วยให้อาจารย์พออยู่ได้สบาย เพราะเงินเดือนของมหาวิทยาลัยไม่สูง  

โปรดสังเกตว่าสมัยนั้นการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นกิจของผู้ชายเท่านั้น    ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ 

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ค. ๖๐     

 

หมายเลขบันทึก: 632672เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2017 05:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2017 05:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท