ชีวิตที่พอเพียง ๒๕๖๐. ชีวิตของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ ( ๒)



ขึ้นเล่มที่สอง ค.ศ. 1905 เป็นชีวิตช่วงไปเป็น “ศาสตราจารย์แห่งพระราชา” (Regius Professor) ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซเฟิร์ต ซึ่งตอนนี้เขาอายุ ๕๖ ปี และตั้งใจจะดำรงตำแหน่งนี้ ๔ ปี คือเลิกทำงานทั้งสิ้นเมื่ออายุ ๖๐ ปี ซึ่งความตั้งใจของเขาจะล้มเหลว เขาจะตายคางานเมื่ออายุ ๗๐ ปี ในปี 1919

ปีหลังๆ ที่บัลติมอร์ ชีวิตของเขายุ่งมาก ทำงานหนัก แต่ก็มีผู้ช่วยพรักพร้อมสำหรับรับมือกับงาน แต่ที่อ็อกซเฟิร์ต งานไม่หนัก มีตำแหน่งใหญ่โตและมีเกียรติ มีแวดวงสังคมชั้นสูง มีสำนักงานหลายที่ แต่ไม่มีทีมงาน แต่คนนิสัยแบบนี้ก็ค่อยๆ สร้างทีมงานจนได้

เงินเดือน (ปีละ ๕๐๐ ปอนด์) ที่อ็อกซเฟิร์ต น้อยกว่าที่ จอห์นสฺ ฮ็อปกิ้นสฺ แต่ถึงตอนนี้ ออสเลอร์รวยมากโดยรายได้จาก หนังสือที่เขาเขียน และปรับปรุงใหม่ทุก ๓ ปี

ที่จริงก่อนหน้านั้นเขาเกือบได้ไปเป็นศาสตราจารย์ที่เอดินเบรอะห์ แต่คณะกรรมการคัดเลือกไม่ยอมเชิญ ต้องให้สมัครแข่งกับผู้สมัครคนอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนกับเขา มีคนมาชักจูงแกมอ้อนวอนให้ตัดใจสมัคร เขาส่งใบสมัครไปแล้ว โทรเลขบอกถอนในภายหลัง เอดินเบรอะห์ไม่ได้คนดีไปเพราะหัวเก่ายึดติดพิธีกรรม ที่จริงเขาอยากไปอยู่อังกฤษเพราะ อยากให้ลูกชาย (คนเดียว) ได้รับการศึกษาที่อังกฤษ

อ็อกซเฟิร์ตใช้วิธีชักชวนเป็นการภายใน และล็อบบี้ให้นายกรัฐมนตรีผ่านข้อเสนอแต่งตั้งไปยังพระเจ้าแผ่นดิน จึงได้ตัว “ผู้วิเศษ” ที่อ่อนน้อมถ่อมตน ตามคติที่ท่านยึดถือคือ Aequanimitas ที่ผู้แปลแปลว่า “ความสงบนิ่ง” แต่ผมชอบคำว่า “ความไม่หวั่นไหว” มากกว่า

ชีวิตการเป็นศาสตราจารย์แห่งพระราชาที่ อ็อกซเฟิร์ต ทำให้เขาต้องเดินทางไปลอนดอน เคมบริดจ์ เอดินเบรอะห์ และไอร์แลนด์บ่อย ภารกิจเขียนและจัดพิมพ์หนังสือยังคงอยู่ ภารกิจกล่าวสุนทรพจน์มากขึ้น ภารกิจตรวจรักษาผู้ป่วยไม่ค่อยมีการกล่าวถึง และภารกิจเป็นกรรมการเรื่องใหญ่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย

ปี 1908 อายุ ๕๙ ปี เขาไปอยู่ปารีส เพื่อพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศ ๓ เดือนครึ่ง ได้ไปสัมผัสวัฒนธรรม “เสรีภาพ” ที่จะประท้วง แบบฝรั่งเศส เห็นได้ชัดเจนว่า ในช่วงเวลากว่าร้อยปีก่อน คนชั้นสูงสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในชีวิต โดยไปพักผ่อนต่างประเทศเป็นเวลานานหลายเดือน

ข้อความในบทที่ ๒๙ (หน้า ๒๗๓ เป็นต้นไป) เป็นเรื่องราวเมื่อท่านอายุ ๖๐ ปี ต่อจากการไป “ปัดฝุ่นสมอง” ที่ฝรั่งเศส บอกผมว่า ชายผู้นี้ไม่เคยหยุดเรียนรู้ แม้จะได้รับการยกย่องมากมาย และจดหมายที่ท่านเขียนความประทับใจ สะท้อนภาพการต่อยอดปัญญา จากผู้ยิ่งใหญ่ทางปัญญารุ่นต่อรุ่น โดยที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นกับความรู้หรือความเชื่อในยุคก่อน แต่นำมาตีความใหม่ในสถานการณ์ใหม่ ต่อยอดปัญญาขึ้นไป เป็นสิ่งที่สังคมไทยเราขาดแคลน

ข้อความในหน้า ๓๗๙ กล่าวถึงการที่ออสเลอร์ สนับสนุน “ศรัทธาบำบัด” (faith healing) ที่ลงพิมพ์ใน British Medical Journal ปี 1910 และยกตัวอย่างสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีศรัทธาแรงกล้า หนังสือกล่าวคำว่า Christian Science ซึ่งผมคิดว่า ศรัทธาบำบัดไม่ได้จำเพาะศาสนา เป็นเรื่องที่มีมานานตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนศาสนา และก่อนการแพทย์ตะวันตก

ในหน้า ๓๘๔ กล่าวถึงเรื่องที่เขาเขียนลง Journal of The Outdoor Life สะท้อนบุคลิกที่ไม่ใช่แค่คงแก่เรียนของ วิลเลียม ออสเลอร์ และผมชอบข้อความในหน้า ๔๑๒ มาก “มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สองประการ - เรียน และพัฒนาการเรียนรู้” คำกล่าวนี้ เป็นสากล และเป็นอกาลิโก แต่โปรดสังเกตว่า มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้ทำทั้งสองอย่าง แต่เน้นสอน

ไม่ทราบว่าจะถูกต้องไหม หากผมจะตีความว่า อัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ ใช้ชีวิตมุ่งหาความรู้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งจากการทดลอง และจากการปฏิบัติ นำมาสังเคราะห์บูรณาการเข้ากับความรู้ที่มีอยู่เดิม ในหนังสือ วารสาร และวิถีปฏิบัติของ บุคคล วงการ หรือสถาบัน ที่มีชื่อเสียง เป็นความรู้เชิงภาพใหญ่ และเชิงระบบ ดังนั้น ความเป็นปราชญด้านการแพทย์ของท่าน จึงควบคู่ไปกับความเป็นนักการสาธารณสุขไปด้วย

ที่น่าสนใจมาก อยู่ในหน้า ๔๒๐ - ๔๒๕ ที่เป็นข้อความในจดหมายที่ออสเลอร์เขียนลง นสพ. เดอะเนชั่น เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๑๙๑๐ เล่าเรื่องประชาธิปไตยทางวิชาการที่ อ็อกซเฟิร์ต ในการต่อสู้เพื่อยกเลิกวิชาภาษากรีกเป็นวิชาบังคับ

แล้วก็เข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่พ่อลูกต้องเข้ารับใช้ชาติยามสงคราม เซอร์วิลเลียมในฐานะหมอ เรอเวียร์ลูกชายในฐานะเด็กหนุ่มอายุ ๑๙ ปี ได้เห็นความห่วงใยชีวิตของลูก กับเรื่องราวการหาทางให้ลูกไม่ต้องออกไปแนวหน้าของสนามรบในยุโรป ซึ่งเขาเขียนไม่ชัดว่า เซอร์วิลเลียมหรือเลดี้ ใช้เส้นสายหรือไม่

ย่อหน้าแรกของบทที่ ๓๖ หน้า ๗๙๙ มีข้อความที่ทำให้ผมตกใจ และยินดีที่ได้รับรู้ “สงครามทำให้สำนึกรับผิดชอบต่องานของครูและอาจารย์ทุกชั้นการศึกษาสูงขึ้น...” ตกใจว่าในสังคมไทยเป็นเช่นนี้ไหม ยินดีที่ในอังกฤษได้เกิดปรากฏการณ์นี้ และนี่น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้อังกฤษชนะสงคราม ข้อความในอัญญประกาศนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจดหมายของเลดี้ออสเลอร์ ที่บอกว่าในช่วงนั้น เซอร์วิลลเลียมวิ่งไปโน่นไปนี่ไม่หยุดหย่อน ก็เพราะการทำหน้าที่เป็นแนวหลังของสงคราม

ในตอนต่อๆ มามีเรื่องราวของสภาพสังคมที่ผู้ชายไปรบ ผู้หญิงต้องทำงานแทนผู้ชาย เช่นขับรถเมล์ และออสเลอร์เอ่ยถึงโรคทางประสาทแปลกๆ ที่พบในทหาร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น การไปรบหมายความว่าโอกาสตายกับโอกาสรอดพอๆ กัน ครอบครัวออสเลอร์ครอบครัวเดียวมีผู้ชายไปรบ ๕๐ คน รวมทั้งเรอเวียร์ ลูกชายของเซอร์วิลเลียม ที่เป็นร้อยโท ออกรบในกองทหารปืนใหญ่ในแนวรบในประเทศฝรั่งเศส ที่จดหมายถึงพ่อในหน้า ๘๕๑ - ๘๕๒ และอีกฉบับหนึ่งในหน้า ๘๕๒ - ๘๕๓ บอกสภาพแนวหน้าของสมรภูมิเมื่อร้อยปีที่แล้ว ได้อย่างชัดเจน ว่ามันโหดร้าย และไร้สาระเพียงใด

เป็นสภาพที่คนแก่อายุ ๖๗ ที่ไม่มีใครเอาไปรบ ได้เรียนรู้จากลูกชายในวัยหนุ่มฉกรรจ์ อายุ ๒๐ ปี เล่าเรื่องราวจากสนามรบจริง ให้พ่อได้เรียนรู้ และดำเนินการเพื่อสังคมตามบทบาทหน้าที่ของพ่อ ทำให้ผมหวนมาเปรียบเทียบกับตัวผม ที่เฝ้าเรียนรู้จากลูกๆ ที่เขามีโอกาสเดินทางผจญภัยแห่งชีวิต ที่เรื่องราวของเขาช่วยให้ “การศึกษา” แก่ผม (อายุ ๗๓) อย่างมีค่ายิ่ง แต่ผมไม่ต้องเสียสละในชีวิตมากเท่าเซอร์วิลเลียม เพราะท่านต้องสูญเสียลูกคนเดียวไปกับสงครามครั้งนี้ เช่นเดียวกับเพื่อนๆ และญาติๆ อีกจำนวนมาก

จดหมายเรื่อง หนอนหนังสือ ในหน้า ๘๖๕ - ๘๖๖ ที่เขียนในช่วงสงคราม บอกผมว่า อัจฉริยบุคคลคือคนที่มีสมาธิจดจ่อได้ทันที เมื่อใจไปอยู่ที่เรื่องใด ไม่มีสิ่งใดมาทำให้วอกแวกได้ คนที่ฝึกฝนตนจนมีคุณสมบัตินี้จะมีชีวิตที่ดี

อ่านมาถึงหน้า ๘๗๙ ผมก็ปิ๊งแว้บขึ้นว่า สาระในหนังสือบอกว่า ในช่วงวัยอาวุโส เซอร์วิลเลียม ทำงานขับเคลื่อนสังคมในลักษณะของ Third Sector หรือภาคประชาสังคม ที่ยืนอยู่บนฐานวิชาการ ท่านได้รับเลือกเป็นกรรมการสมาคมต่างๆ เต็มไปหมด และพยายามใช้อิทธิพลหรือชื่อเสียงผลักดันกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อบ้านเมือง และต่อโลก หากท่านอยู่ในเมืองไทยขณะนี้ (๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘) ท่านคงโดนกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนในกรณี สสส.

ในตอนสุดท้ายของหนังสือ ปี ค.ศ. 1919 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบ ท่านยังคงดำรงความเป็นนักรณรงค์เพื่อประโยชน์ระยะยาวของสังคม เช่นต่อต้านวัณโรค รณรงค์เพื่อกองทุนต่อต้านทุพภิกขภัย และรณรงค์ให้มีการฝึกอบรมแพทย์หลังปริญญา ปีนี้ท่านอายุครบ ๗๐ ปี และมิตรสหายจัดงานฉลองให้อย่างเอิกเกริก แต่ท่านก็สุขภาพไม่ดีแล้ว น้ำหนักลด และโรคประจำตัวคือปอดบวมกำเริบเป็นระยะๆ อาการทรุดหนักจนถึงแก่กรรมก่อนวันคริสตมาส ๑ วัน

ตลอดสองเล่มของหนังสือ บอกเราว่าชีวิตของเซอร์วิลเลียม อยู่กับหนังสือและห้องสมุด แต่ท่านไม่ใช่แค่เป็นหนอนหนังสือ ยังเป็นนักปฏิบัติด้วยตนเอง และนักยุยงส่งเสริมให้คนอื่นปฏิบัติด้วย ผมตีความว่า ท่านเป็นนักเชื่อมโยงการปฏิบัติเข้ากับความรู้ทฤษฎี คือดำรงชีวิตเป็นนักจัดการความรู้ โดยที่ในสมัยนั้นไม่มีคำนี้

ผมอ่านหนังสือ ๒ เล่มหนากว่าสองพันหน้า และพลิกดูเชิงอรรถอีกเล่มหนึ่ง หนาเกือบพันหน้าเช่นเดียวกัน อ่านๆ หยุดๆ เป็นช่วงๆ รวมเวลากว่า ๓ เดือน จึงอ่านจบในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ด้วยความอิ่มเอม

ขอขอบคุณ โครงการหนังสือเพื่อสังคม ที่ส่งหนังสือเล่มนี้มาเป็นอภินันทนาการ


วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 598526เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2015 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2015 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท