ชีวิตที่พอเพียง ๒๕๕๙. ชีวิตของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์


ต่อจากเรื่องสมาธิดี ผมจับประเด็นได้ว่า ออสเลอร์มีวิธีเรียนจากการสังเกตเก็บข้อมูลด้วยตนเอง จากการปฏิบัติและ ไตร่ตรองด้วยตนเองซึ่งเวลานี้วงการวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้บอกว่า เป็นรูปแบบของการเรียนรู้ที่แท้จริง


หนังสือแปล ชีวิตของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ แปล (โดยวิภาดา กิตติโกวิท) จากหนังสือสารคดีชีวประวัติ รางวัลพูลิตเซอร์ ปี ค.ศ. 1926 The Life of Sir William Osler (ที่แต่งโดยนายแพทย์ Harvey Cushing) ) เป็นหนังสือ ๓ เล่มใหญ่ปกแข็ง หนาเล่มละกว่าพันหน้า ให้ความรู้สุดพรรณา

แค่อ่านคำนำของ นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ รวมสิบแปดหน้าครึ่ง ก็สุดคุ้มแล้ว เพราะคุณหมอประเสริฐสนใจเรื่อง การศึกษา จึงชี้ให้เห็นตัวอย่างของเด็กซน คึกคะนอง ที่อาจถึงขั้นพิเรนทร์ และก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคม ที่อยู่ในประวัติ ของเซอร์ วิลเลียม ออสเลอร์ ชี้ให้เห็นว่านั่นคืออาการหนึ่งของชีวิตที่เกิดมาพร้อมกับอัจฉริยภาพ ขึ้นอยู่กับว่ามีคนช่วยโค้ช หรือเป็น mentor พัฒนาอัจฉริยภาพนั้นหรือไม่

โชคดีที่วิลเลียม ออสเลอร์ มีสาธุคุณวิลเลียม อาร์เธอร์ จอห์นสัน ที่โรงเรียนเวสตัน เมื่อออสเลอร์อายุ ๑๗ ปี จึงเปลี่ยนพลังคึกคะนอง แผลงๆ เพี้ยนๆ ไปเป็นพลังเรียนรู้ธรรมชาติ วางพื้นฐานการเป็นแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตในเวลาต่อมา

คนปูพื้นฐานชีวิตที่แท้จริงของคนเราคือแม่ นี่คือความเชื่อของผม และผมก็ได้เห็นหลักฐานนี้ จากจดหมายของแม่ คือเอลเล็น พิคตัน ออสเลอร์ ที่เขียนถึงออสเลอร์เป็นระยะๆ ผมเชื่อว่ามีจดหมายมากกว่าที่เอามาลงในหนังสือนี้ ข้อความในจดหมาย สะท้อนความเอาใจใส่ติดตามลูกที่ไปเรียนห่างไกลบ้าน อยู่ทุกฝีก้าว นี่คือส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่แม่ ที่คนในปัจจุบันมักจะละเลย

เอลเล็น ออสเลอร์ มีลูกถึง ๙ คน ถือเป็นแม่ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูก เพราะลูกแต่ละคนประสบความสำเร็จ ยิ่งใหญ่ในชีวิต คนแรกคือ ฟีเธอร์สตัน ออสเลอร์ และคนที่ ๒ คือ บริตตัน บาธ ออสเลอร์ เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงของ แคนาดา, คนที่ ๕ คือเซอร์เอ็ดมันด์ บอยด์ ออสเลอร์ เป็นนักธุรกิจและนักการเงินที่ยิ่งใหญ่

ผมคิดว่า ศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน ที่อนุญาตให้พระแต่งงานมีลูกและประกอบสัมมาชีพได้ ช่วยให้มีครอบครัวพระ ที่มีลูกที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยความเป็นคนดีให้แก่สังคม ความเป็นคนที่มุ่งอุทิศชีวิตให้แก่สิ่งที่มีคุณค่า แก่ความดีที่ตนศรัทธา ดังตัวอย่างกรณีครอบครัวออสเลอร์นี้ น่าเสียดายที่โลกยุคปัจจุบัน มนุษย์ถูกกล่อมเกลาให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ เลยจากประโยชน์ของตนเอง ดังท้ายจดหมายของ ดับบลิว เอ. จอห์นสัน ถึงศิษย์ ดับบลิว โอ “ขอพระเจ้าประทานพร....และมีความกระตือรือร้นในความสุขของคนอื่น” (เล่ม ๑ หน้า ๑๕๒)

แต่นอกจากแม่ ออสเลอร์ยังมีคนช่วยปูพื้นฐานอีกด้านหนึ่ง คือความรักชีววิทยาถึง ๓ ท่าน คือสาธุคุณ วิลเลียม จอห์นสัน, ดร. เจมสฺ โบเวลล์, และ โรเบิร์ต พาล์มเมอร์ โฮเวิร์ด

ผมประทับใจข้อความในหนังสือเล่ม ๑ หน้า ๑๐๔ ที่เล่าคุณสมบัติความมีสมาธิดี ของออสเลอร์ ที่มีมาตั้งแต่วัยรุ่น ผมคิดว่านี่คือพลังสำหรับการมีชีวิตที่สามารถทำสิ่งยากๆ ให้บรรลุผลได้ และพลังนี้ฝึกฝนได้ ที่สำคัญการศึกษาในระบบ ต้องเอาใจใส่ฝึกฝนสิ่งนี้ให้แก่นักเรียนตั้งแต่เด็ก

หนังสือเล่มนี้ เขียนแบบให้ความลึก หรือความซับซ้อนของสังคมโดยรอบชีวิตของออสเลอร์ ทั้งก่อนที่เขาจะอุบัติขึ้น ในโลก และในช่วงที่เขาเติบโต และดำรงชีวิต จนตาย ดังนั้น การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงได้ความรู้หลากหลายด้าน ที่นอกเหนือจาก ความรู้เกี่ยวกับตัวออสเลอร์ ผมได้เห็นภาพการที่คนผิวขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอังกฤษ เข้าไปยึดครองทวีปอเมริกาเหนือ จนในที่สุดสหรัฐอเมริกาแยกตัวออกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (โดยการช่วยเหลือของฝรั่งเศส) แต่แคนาดารวมตัวกัน เป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพ

ต่อจากเรื่องสมาธิดี ผมจับประเด็นได้ว่า ออสเลอร์มีวิธีเรียนจากการสังเกตเก็บข้อมูลด้วยตนเอง จากการปฏิบัติและ ไตร่ตรองด้วยตนเองซึ่งเวลานี้วงการวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้บอกว่า เป็นรูปแบบของการเรียนรู้ที่แท้จริง

ช่วงเวลาที่ออสเลอร์เรียนแพทย์ คือประมาณช่วง ค.ศ. 1870 เป็นช่วงเวลาของการต่อสู้ระหว่างความเชื่อ “พระเจ้าสร้าง” กับ “ธรรมชาติสร้าง” หรือทฤษฎีวิวัฒนาการ และที่น่าสนใจคือครูคนสำคัญของออสเลอร์ คือ ดร. โบเวลล์ เป็นศาสตราจารย์ ด้าน เทววิทยาธรรมชาติ ทำให้ผมได้กลิ่นที่วงการวิชาการนำเอา ๒ ศาสตร์ (ที่เป็นขั้วตรงกันข้าม) มาบรรจบกัน และกลายเป็น เครื่องมือเปลี่ยนศาสนาที่งมงายอยู่กับความเชื่อดึกดำบรรพ์ มาเป็นศาสนาแห่งวิทยาศาสตร์ มีการตีความคำสอนด้านความเชื่อ พระผู้เป็นเจ้า เสียใหม่ ทั้งสองขั้ววิชาการ ก็ยังดำรงยั่งยืน ทำคุณประโยชน์ให้แก่มนุษย์มาจนปัจจุบัน

เรื่องราวของการไปฝึกวิชาแพทย์ต่อในลอนดอน และยุโรป ช่วงปี ค.ศ. 1872 – 174 นั้นมีเรื่องราวน่าสนใจมากสำหรับผม เนื่องจากเป็นเรื่องราวของพัฒนาการแพทย์ในช่วงหนึ่งร้อยปีก่อนผมเข้าเรียนแพทย์ มันล้าหลังกว่ากันลิบลับ จึงไม่ต้องสงสัยว่า การเรียนแพทย์ในปัจจุบัน หลังผมเรียนห้าสิบปี ก็จะก้าวหน้ากว่าที่ผมเรียนอย่างมากมาย

แต่สภาพของโรคภัยไข้เจ็บในแคนาดาเมื่อร้อยปีก่อนผมเรียนแพทย์ กับเมื่อผมเรียนแพทย์ก็เป็นโรคกลุ่มเดียวกันเป็นหลัก คือโรคติดเชื้อ แต่โรคกลุ่มหลักที่แพทย์กำลังรับมืออยู่ในขณะนี้ คือโรคไม่ติดเชื้อ (ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจ) ระบาดวิทยาของโรคเปลี่ยนภาพไปโดยสิ้นเชิง โรคติดเชื้อกลายเป็นสิ่งท้าทาย ที่จะเกิดการระบาดใหญ่จากโรคอุบัติใหม่ ดังที่ไทยเรากำลังรับมือการระบาดของโรค MERS ในขณะนี้

ในที่สุดออสเลอร์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเล็กเชอเรอร์ (ข้ามตำแหน่งดีมอนสเตรเตอร์) และอีก ๑ ปีต่อมาเป็นศาสตราจารย์ ที่มหาวิทยาลัยแม็กกิล ที่มีชื่อเสียงที่สุดของแคนาดา เมื่ออายุเพียง ๒๖ ปี (ค.ศ. 2475) แต่น่าเห็นใจว่า ท่านเป็นศาสตราจารย์ กระเป๋าแห้ง เพราะอาจารย์สมัยนั้นไม่มีเงินเดือน มีรายได้จากค่าเล่าเรียนที่นักศึกษาจ่ายแก่ อาจารย์โดยตรง และอาจารย์ก็ ต้องจ่ายค่าเตรียมการสอนเองทั้งหมด เงินที่ออสเลอร์ได้รับจากนักศึกษา ส่วนใหญ่จ่ายเป็นค่าเตรียมการสอน ส่วนน้อยเท่านั้น ที่ใช้ในการยังชีพของตน การเป็น อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์จึงถือเป็นความสุข ความพึงพอใจในงานค้นคว้าวิชาการ และงานสอนที่ตนรัก ไม่ใช่เพื่อความร่ำรวยเงินตรา

ในหน้า ๒๓๒ กล่าวถึงการที่ออสเลอร์สั่งซื้อกล้องจุลทรรศน์ ๑๒ กล้อง จากปารีส ด้วยเงินของตนเอง สำหรับเอามาสอน นักศึกษา โดยต้องหาลำไพ่ด้วยการทำงานพิเศษ คือทำงานในวอร์ดไข้ทรพิษ (ในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับปลูกฝี) และห้องเก็บศพ โดยที่โรงพยาบาลของโรงเรียน แพทย์ในขณะนั้นมีขนาดเพียง ๑๕๐ เตียง มีพยาบาลขี้เมา (หน้า ๒๓๓) สะท้อนภาพความด้อยพัฒนาของโรงเรียนแพทย์ ในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ เกือบ ๑๕๐ ปีมาแล้ว

“หลังจากปักหลักที่มอนทรีอัลได้ไม่นาน ออสเลอร์ก็ได้ริเริ่มสโมสรวารสารในหมู่เพื่อนร่วมงาน เพื่อซื้อและเวียนกัน อ่านวารสารจากต่างประเทศ ในฤดูใบไม้ผลิปี 1877 นี้เอง แพทยสมาคมแห่งแม็คกิลล์ (McGill Medical Society) ก็ได้ก่อตั้งขึ้นด้วยอิทธิพลของเขา เพื่อประโยชน์สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ...... สำหรับสมาคมของนักศึกษานั้น .... วัตถุประสงค์ .... ‘ให้โอกาสชนิดที่พวกคุณจะไม่ได้รับอีกหลังจบไปแล้ว นั่นคือ จะได้เรียนรู้วิธีเขียนบทความ และแสดงความคิดเห็นได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่การประชุมของพวกคุณจะเอื้อต่อการฝึกฝนศาสตร์ยากๆ แห่งการอภิปราย’ ออสเลอร์เป็นประธานคนแรก เจ้าหน้าที่คนอื่นล้วนเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ….” จะเห็นว่า อาจารย์แพทย์หนุ่มอายุ ๒๘ ปี คิดวางรากานการศึกษาที่เวลาผ่านไป ๑๓๘ ปี จนปัจจุบันก็ยังไม่ล้าสมัย

ที่น่าสนใจยิ่งสำหรับผมคือ ความก้าวหน้าและความเขลาเรื่องทฤษฎีเชื้อโรค ที่หลุยส์ ปาสเตอร์ ค้นพบในช่วงนั้น เป็นที่ไม่เชื่อถือ และสื่อมวลชนในสมัยนั้นล้อเลียนกันมาก ออสเลอร์ก็อยู่ในกลุ่มไม่ตระหนักในความสำคัญของเรื่องนี้ด้วย (หน้า ๓๐๖ - ๓๐๘) คนเราไม่ว่าจะยิ่งใหญ่และเก่งเพียงไร ก็ไม่ใช่ว่าจะถูกเสมอไป และการค้นพบที่ยิ่งใหญ่และตรงกันข้าม กับความเชื่อเดิม มักจะถูกเย้ยหยันเสมอ

เมื่ออายุ ๓๕ ทำงานเป็นอาจารย์ที่แม็คกิลล์มา ๑๑ ปี สร้างผลงานและชื่อเสียงขจรขจาย ออสเลอร์ก็ได้รับการชักชวน ให้ยอมรับการเสนอชื่อเป็นผู้แข่งขันเข้ารับการคัดเลือกเป็นศาสตราจารย์เกียรติยศทางเวชศาสตร์คลินิก ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และเมื่อทางมหาวิทยาลัยแม็คกิลล์ทราบข่าวก็เสนอตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติยศให้เช่นกัน ในด้านพยาธิวิทยาและพยาธิวิทยา เปรียบเทียบ โดยเสนอรายได้ให้ปีละ ๑,๖๐๐ ดอลล่าร์ โดยสิบปีก่อน มีตัวเลขที่เขาหารายได้ปีละ ๑,๒๐๐ ดอลล่าร์ จากค่าเล่าเรียน ที่นักศึกษาจ่าย และจากการหาลำไพ่โดยดูแลหอผู้ป่วยโรคไข้ทรพิษ เรื่องโภคทรัพย์ไม่ใช่เรื่องสำคัญในชีวิตของเขา เขารับ ตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และต่อมาก็ย้ายไปมหาวิทยาลัยใหม่ คือจอห์น ฮอพกิ้นสฺ ซึ่งมีแผนตั้งโรงเรียนแพทย์ใหม่

พลังของความอยากรู้แบบที่ไม่มีที่สิ้นสุด บวกกับพลังของความขยัน พลังของความไม่โลภ และพลังสมองที่เป็นเลิศ ทำให้เขาได้รับการยอมรับไปทั่ววงการแพทย์ตะวันตก คือในอเมริกาเหนือและยุโรป

ผมอ่านไปเขียนบันทึกนี้ไป ตอนนี้อ่านมาถึงช่วงปี 1897 – 1898 เห็นชัดเจนว่าสมัยนั้นเป็นยุคของโรคติดเชื้อ ทั้งวัณโรค มาเลเรีย ไทฟอยต์ บิดมีตัว โดยที่ความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรคที่ก่อโรคติดเชื้อเพิ่งเริ่มต้น แพทย์ชั้นแนวหน้าจะไม่แยกงานด้านการ วินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ และการชัณสูตรทางพยาธิวิทยา ออกจากงานดูแลผู้ป่วยทางคลินิกอย่างเด็ดขาด รวมทั้งแพทย์ทางคลินิก อายุรศาสตร์อย่างออสเลอร์ ยังสนใจทำงานวิจัยและเสนอแนะการพัฒนาระบบสุขาภิบาลของเมืองด้วย เท่ากับงานทางการแพทย์ คลินิกยังแนบแน่นอยู่กับงานด้านสาธารณสุข ไม่แยกออกจากกันจนบูรณาการงานกันยาก อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ่านมาถึงปี 1899 ที่ออสเลอร์อายุ ๕๐ ปี ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์มากมาย แปลกที่เป็นนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติม ศักดิ์ทั้งสิ้น ได้รับการยกย่องเป็น F.R.S. ของอังกฤษ ท่านยุ่งมากกับงานไปดูผู้ป่วยตามเมืองต่างๆ เขียนหนังสือ เขียนบทความ และกล่าวปาฐกถาพิเศษ ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า ร้อยปีก่อน หมอไปหาผู้ป่วยนะครับ แต่เดาว่าคงเป็นผู้มีฐานะสูงมาก และเดาว่า ออสเลอร์คงจะได้รับค่าตอบแทนสูงมาก คือท่านเป็นหมอเทวดาไปแล้ว ทั้งด้านการบำบัดโรค และด้านจิตวิญญาณ สมกับที่มี พ่อเป็นศาสนาจารย์

ขอขอบคุณ โครงการหนังสือเพื่อสังคม ที่ส่งหนังสือเล่มนี้มาเป็นอภินันทนาการ (ต่อตอนหน้า)



วิจารณ์ พานิช

๑๗ ส.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 598479เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2015 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2015 08:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท