จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

lesson study ที่วรพัฒน์ (2)


ผมมักจะพูดในห้องเรียนให้นักศึกษาหรือในการเป็นวิทยากรอบรมเกี่ยวกับการสอนบ่อยๆ ว่า ห้องเรียนที่เป็น active learning การสอนแบบบูรณาการจะต้องมีปรากฏการณ์หลักๆ ดังนี้ครับ 

อย่างแรก เมื่อเราเดินเข้าไปในห้องเรียนเราจะต้องเจอหลักฐานแน่นอนโดยไม่ต้องรอดูจากการสอนของครู ดังนั้นถ้าโรงเรียนไหนบอกว่าเขาสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่พอถามว่าไหนหลักฐาน เขาบอกว่าให้ไปดูตอนครูสอน แสดงว่าโรงเรียนนั้นยังไม่ใช่ครับ การสอนที่เน้นผู้เรียนยังไม่เกิด หลักฐานที่ผมกำลังพูดถึงหมายถึงผลงานเด็กครับ เพราะผลงานเด็กคือหลักฐานบ่งบอกว่าในการเรียนเด็กได้ลงมือทำจนเกิดการเรียนรู้และกระบวนการนั้นจะสร้างความภูมิใจให้กับเด็กด้วย ดังนั้นเด็กจะพร้อมโชว์ผลงานของเขา ผลงานที่ว่าไม่ใช่ว่าเอาแบบฝึกหัดท้ายบทมาจัดแสดงโชว์นะครับ เพราะแบบนั้นจะเหมือนกันหมด แต่ผลงานที่นำเสนอจะมีความแตกต่างแล้วแต่ความสนใจของเด็ก เวลาที่ผู้ปกครองเข้ามาชมชั้นเรียนเขาจะรู้สึกเพลิดเพลินกับการเดินชมผลงานของลูกหลานเขา ซึ่งเมื่อผมมาที่โรงเรียนวรพัฒน์ผมก็เห็นสิ่งนี้ครับ (หาไม่ยากอยู่แล้ว) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าไปยังห้องเรียน


ผลงานที่ถูกแปะไว้นี่นอกจากจะสร้างความภูมิใจของเด็กแล้ว ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กได้อีกด้วยครับ ดังนั้นเสร็จจากการเรียนรู้ในแต่ละสัปดาห์ สิ่งที่ครูควรทำต่อคือการให้เด็กคัดเลือกผลงานของเขาที่ดีเด่นในรายสัปดาห์เอามาโชว์ไว้ที่ผนังห้องครับ เป็นกลยุทธ์ที่ไม่ซับซ้อนแต่ได้ผลดีครับ (ผมเชื่ออย่างนั้น)

อย่างที่สอง เนื้อหาครูสอนจะเปลี่ยนไป ครูมีอิสระในการเลือกเนื้อหามาสอนได้มากขึ้น หนังสือกลายเป็นแค่คำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น หนังสือจะเหมือนคู่มือที่ติดมาพร้อมกับกล่องโทรศัพท์มือถือที่ซื้อมา ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มักไม่หยิบมาอ่าน แต่ครูจะแสวงหาโจทย์ หรือประเด็นที่จะเอามาใช้เพื่อให้นักเรียนได้ช่วยกันค้นหาคำตอบ เนื้อหาจะถูกลดบทบาท แต่ประเด็นปัญหาจะเป็นเรื่องสำคัญที่จะการันตีว่าเด็กจะเกิดการเรียนรู้ได้ตามที่ต้องการหรือไม่

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่มีการพูดคุยกันมานานแล้วครับ โดยมีข้อสรุปว่า เนื้อหาที่เราพยายามยัดเยียดให้เด็ก ณ วันนี้นั้น ความจริงแล้วที่จำเป็นจริงๆ สำหรับเด็กในการใช้งานอาจจะมีไม่ถึง 30% และตัวที่จะเข้ามามีบทบาทแทนเนื้อหาคือทักษะการเรียนรู้และทักษะการคิด ดังนั้นกระบวนการจัดการเรียนรู้จะมุ่งออกแบบให้เด็กได้ลงมือค้นหาความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้เป็นหลัก การสรุปเนื้อหาหลังการเรียนจึงเป็นกิจกรรมสุดท้ายสำหรับ 30% ของเนื้อหาที่เด็กควรจำและให้ความสำคัญ

(หนังสือไม่ถูกเปิดในระหว่างการเรียนรู้)

อย่างที่สาม การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้รายบุคคลของนักเรียนพร้อมกับการสร้างทักษะการทำงานกลุ่ม ดังนั้นภาพกิจกรรมหลักคือการค้นหาความรู้ คำตอบโดยนักเรียน แล้วก็เอาความรู้ที่ได้ไปสู่การแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม การออกแบบกิจกรรมเป็นเครื่องวัดความสามารถในการสอนของครูไปโดยอัตโนมัติครับ ครูที่สอนดีไม่ใช่ครูที่บรรยายสนุก แต่ต้องเป็นครูที่ออกแบบกิจกรรมให้เด็กได้เล่นได้อย่างสนุกเพลิดเพลิน ซึ่งโจทย์ที่นำมาใช้จึงต้องเป็นโจทย์ที่ใกล้ตัวเด็ก มีความท้าทายในการหาคำตอบ การออกแบบให้เด็กได้ลงมือหาคำตอบด้วยตัวเขาเองแล้วแล้วนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนเป็นกลวิธีในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และสร้างความพร้อมของพวกเขาในอนาคต

การบรรยายของครูในชั้นเรียนจะน้อยมากไปจนถึงไม่มีเลย เพราะความรู้มาจากการที่เด็กหาคำตอบของเขาเอง การสอนแบบนี้เชื่อว่าเด็กจะหาความรู้ใหม่ๆ ได้จากการเชื่อมโยงสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นกับประสบการณ์เดิม แล้วจะทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ไปเรื่อยๆ จากการลงมือทำของเขาเอง ดังนั้นจากการบรรยายจึงเปลี่ยนเป็นการตั้งคำถามเพื่อการทำให้การหาคำตอบเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเห็นวิธีการในการพิสูจน์ความสมมติฐานที่เด็กตั้งไว้

อย่างที่สี่ การเรียนรู้ของเด็กไม่จะไม่ใช่การเรียนแบบลำดับขั้น ต้องรู้เรื่องที่นี้ก่อนแล้วจึงจะไปเรียนเรื่องลำดับต่อไป แต่การเรียนแบบนี้การเรียนรู้มันอาจจะกระโดดไปมาระหว่างหัวข้อขึ้นอยู่กับบริบท ทักษะของครูเพื่อให้เด็กได้คำตอบที่ถูกต้องคือการใช้คำถามเข้าช่วย หรือเข้าไปแนะนำเป็นรายคน รายกลุ่ม ความรู้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เด็กจะต้องรับมาจากการฟังว่าครูอธิบายว่าอะไร ครูจะเปลี่ยนบทบาทของตัวเองเป็นไปผู้ช่วยในการเรียนรู้ของเด็ก (อันนี้แหละครับที่มาของคำว่า เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ) 


(ครูเข้าไปช่วยเหลือเด็กได้ตลอดเวลา)

อย่างที่ห้า ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ปลอดภัยแรกคือ ปลอดภัยจากข้อตำหนิ ปลอดภัยจากคำว่า ผิด เด็กไม่ต้องลุ้นว่าเขาตอบถูกหรือเปล่า เด็กไม่กลัวคำเฉลยจากครู เมื่อเด็กตอบผิด คำเฉลยจากครูไม่ใช่ว่าผิด แต่เป็นคำถามใหม่ที่ช่วยให้เขาคิดใหม่จนได้คำตอบที่ถูกต้องและเป็นที่พอใจ ซึ่งการสอนแบบนี้ครูต้องใจเย็นมากๆ กับการเรียนรู้ของเด็กครับ ครูใจร้อนสอนแบบนี้ไม่ได้เลยเพราะจะพาลโมโหเด็กได้ ยิ่งไปกว่านั้น ห้องเรียนต้องเต็มไปด้วยคำชม กำลังใจเพื่อให้เด็กกระตือรือร้นในการเรียนต่อไปจนจบ

อย่างที่หก การสรุปบทเรียนจะเป็นตัวคัดกรองความรู้ที่สำคัญและสร้างข้อสรุปร่วมกันในชั้นเรียน นักเรียนอาจจะศึกษาแล้วไม่ได้ตามเป้าหมายที่ครูตั้งไว้ แต่นั้นก็ไม่ใช่ปัญหาครับ เพราะอย่างน้อยเด็กได้ทักษะในการเรียนรู้แล้ว แต่การออกแบบกิจกรรมเพื่อการสรุปเนื้อหาท้ายคาบจะทำให้เด็กมีข้อสรุปความรู้ที่ถูกต้องและตรงกัน ทั้งนี้การสรุปก็ไม่ใช่หน้าที่ครูนะครับ แต่เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ที่สำคัญการสรุปจะนำไปสู่การสร้างโจทย์สำหรับการเรียนรู้ในครั้งต่อไป


ผมคิดว่ากว่าจะเปลี่ยนครูให้สามารถสอนได้แบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ และไม่ใช่ว่าคนจบครูใหม่ๆ มาจะสอนได้แบบนี้เลย บทบาทสำคัญที่จะสามารถเปลี่ยนครูให้มาสอนได้เหมาะกับยุคสมัยได้แบบนี้ต้องอาศัยกระบวนการพัฒนาครูในโรงเรียน อย่างตัวอย่างที่วรพัฒน์ได้ทำเป็นเรื่องของการพัฒนาการสอนเป็นทีม ทีมที่ไม่ใช่เข้าไปสอนพร้อมกันแต่เป็นทีมที่ช่วยกันออกแบบการสอนและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การพัฒนาแบบนี้เป็นการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุดครับ และเราจะเห็นครูเก่งขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นบทบาทของโรงเรียนในการขับเคลื่อนเรื่องนี้สำคัญมาก ค่อยมาเล่าต่อในบันทึกฉบับต่อไปนะครับ (อินชาอัลลอฮ์)

หมายเลขบันทึก: 632588เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2017 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2017 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท