ถอดบทเรียนอย่างไร...ไม่ยาก (ตอนที่ 6) วิธีการถอดบทเรียน...ทำอย่างไร ไม่ยาก


วัฒนธรรมที่ควรสร้างก่อนเริ่มต้นการถอดบทเรียนดังกล่าวมาข้างต้นคือ “การประเมินตนเอง” ของผู้ถอดบทเรียน ดังนั้น จึงควรสร้างแบบประเมินตนเอง เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลตั้งต้นผ่านตัวผู้ถอดบทเรียนก่อน

วิธีการถอดบทเรียน

          วิธีการถอดบทเรียนต้องผสมผสาน วิธีการได้มาซึ่ง “บทเรียน” ที่ดี จึงไม่ได้จำกัดว่าจะต้องใช้วิธีการแบบเดียว นักถอดบทเรียนมีวิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก รอบด้านจริงๆ ในกระบวนการถอดบทเรียนยังเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge transfer) และบูรณาการความรู้ (Knowledge integration) ร่วมกันไปด้วย

          วัฒนธรรมที่ควรสร้างก่อนเริ่มต้นการถอดบทเรียนดังกล่าวมาข้างต้นคือ “การประเมินตนเอง” ของผู้ถอดบทเรียน ดังนั้น จึงควรสร้างแบบประเมินตนเอง เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลตั้งต้นผ่านตัวผู้ถอดบทเรียนก่อน

เเบบประเมินตนเองก่อนถอดบทเรียน มีประเด็นย่อยๆที่ต้องประเมินดังนี้

          มองในสองมุมมอง คือ “เรียนรู้อดีต” และ “มองอนาคต”

          ส่วนที่ 1 เรียนรู้อดีต

          ตัวอย่างคำถาม

  • คำถาม 1.1  : ความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจนั้นคืออะไร  (คำถามนี้ต้องการให้สกัดBest Practice ในมุมมองของผู้ปฏิบัติ) 
  • คำถาม 1.2  : ท่านเกี่ยวข้องอย่างไรกับความสำเร็จนั้น (คำถามนี้ต้องการเห็น   ความเกี่ยวข้องของผู้ปฏิบัติที่มีส่วนกับความสำเร็จนั้น)
  • คำถาม 1.3 : กิจกรรม หรือกลยุทธ์ที่สำคัญๆ ที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จในข้อที่ 1.1 นั้นคืออะไร เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยเงื่อนไขใด อะไรคือบทเรียนที่สำคัญ  (เคล็ดลับ) การทำงาน

 

          ส่วนที่ 2 : มองอนาคต

          (ส่วนนี้จะสอบถามเกี่ยวกับมุมมองอนาคต ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงเกิดการสังเคราะห์อย่าง       รวดเร็วจากข้อมูลในส่วนที่ 1)

          ตัวอย่างคำถาม

  • คำถาม 2.1 การกำหนดความสำเร็จแบบใหม่ในอนาคต จะเหมือนเดิม หรือแตกต่าง อย่างไร?
  • คำถาม 2.2 เพื่อให้บรรลุความสำเร็จแบบใหม่ ท่านคิดว่า ต้องมีกลยุทธ์/การดำเนินการใหม่ๆอย่างไร (ข้อเสนอต้องมีความเป็นรูปธรรม และสามารถปฏิบัติได้จริง)

 

          หลังจากที่ผู้ถอดบทเรียนได้ประเมินตนเองแล้ว จะมีกระบวนการถอดบทเรียนต่อจากนั้น โดยหลักการทั่วไป วิธีการถอดบทเรียนเพื่อให้เกิดพลังในการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม จะเลือกเทคนิค วิธีการที่เปิดโอกาสให้ทีมงานถอดบทเรียน และผู้เข้าร่วมถอดบทเรียนเกิดการเรียนรู้ ในระหว่างการทำกระบวนการกลุ่มและได้บทเรียนพัฒนาวิธีการทำงานให้ดีขึ้น ส่วนใหญ่เราจะใช้วิธีการ Group Learning โดยใช้ การพูดคุยแบบ Dialogue ในการเป็นเครื่องมือในการสนทนาแบบธรรมชาติเพื่อสร้างพลัง วิธีการสนทนาแบบนี้มีความเป็นธรรมชาติ และผ่อนคลาย แต่ต้องการผู้นำกระบวนการเรียนรู้ที่มีทักษะ ความสามารถในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ มีประสบการณ์ หรือ บางครั้งอาจใช้ กระบวนการ Focus Group Discussion ได้ แต่ดูจะเป็นทางการมากเกินไป หากว่าเราต้องการรายละเอียดเชิงลึกที่ไม่ได้เก็บจากการพูดคุย หรือต้องการข้อมูลเพิ่ม ก็ใช้วิธีการสัมภาษณ์ทั่วไป (Interview) และสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กลุ่มเป้าหมายได้เช่นกัน

วิธีการที่ได้มาซึ่งบทเรียนมีอย่างไรบ้าง?

 

 จากประสบการณ์ของผู้เขียน ได้ใช้กระบวนการเข้าถึงข้อมูล “บทเรียน” สรุปได้ดังนี้

 

  • ผู้ปฏิบัติถอดบทเรียนด้วยตนเอง โดยใช้คำถามถอดบทเรียน 4 ข้อ แต่ต้องระมัดระวังการให้ข้อมูลที่ต้องเป็นกลาง ตรงไม่ตรงมา
  • การเรียนรู้จากเพื่อน หรือ Peer Assist: PA โดยการใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนกัน ถอดบทเรียนเพื่อให้เกิดประโยชน์ในทันที
  • การสัมภาษณ์เชิงลึก (in - depth interview) วิธีการนี้จะได้ข้อมูลเชิงลึกแต่ใช้เวลาและความสามารถของผู้ถอดบทเรียนในการจัดการข้อมูล
  • การสนทนากลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)  วิธีการนี้จะต้องใช้ศักยภาพของการทำหน้าที่ Facilitator ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และการดึงข้อมูลที่เป็นบทเรียนออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วย การถอดบทเรียนแบบเล่าเรื่อง (Story telling) เป็นกระบวนการถอดบทเรียนที่มีความเป็นธรรมชาติ ปลดปล่อย และสอดคล้องกับวิถีปกติของผู้คน
  • การเรียบเรียงจากเอกสาร และข้อสรุปจากการดำเนินงาน วิธีการนี้มีข้อจำกัดในการได้มาซึ่งมุมมองที่หลากหลายของผู้ปฏิบัติ  
  • การถอดบทเรียนจาก การนำเสนอผลงาน เวทีเสวนา ฯลฯ ใช้ทักษะการจับประเด็นอย่างเร็วๆ เพื่อสรุปให้เห็น “บทเรียน” อย่างรวดเร็ว
  • การเก็บข้อมูลถอดบทเรียนโดยใช้แบบสอบถาม หรือ แบบรายการ (Check list) วิธีการนี้คล้ายกับการถอดบทเรียนแบบสรุปจากเอกสาร ผลงานวิชาการต่างๆ จะได้ข้อมูลบทเรียนเพียงบางส่วนซึ่งอาจไม่ครอบคลุมและขาดทัศนะที่หลากหลาย
  • การถอดบทเรียนเรียนแบบประเมินโครงการ ในแบบต่างๆ  เช่น Empower Evaluation, Outcome mapping

 

          วิธีการต่างๆ ข้างต้นเป็นวิธีการได้มาซึ่งบทเรียน และการถอดบทเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงจะมีการ ลงพื้นที่จริง (กรณีกิจกรรมหรือโครงการนั้นมีพื้นที่การทำงานที่เป็นรูปธรรม) ด้วย  อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีการที่หลากหลาย ย่อมได้บทเรียนที่หลากหลาย รอบด้านไปด้วย ให้นักถอดบทเรียนพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะเลือกใช้วิธีการต่างๆ ตามความเหมาะสม

ติดตามตอนต่อไป..

ถอดบทเรียน ตอนที่ 7 (มีทั้งหมด 9 ตอน)

-----------------------

ท่านสามารถ Download เอกสารชุดความรู้ถอดบทเรียนฉบับย่อ "ถอดบทเรียน...ไม่ยาก" จาก QR Code นี้

..............................................................

สามารถเเลกเปลี่ยน พูดคุยกับผู้เขียนได้โดยตรงที่

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

e-mail : [email protected]

LINE : thaicoach

หมายเลขบันทึก: 631863เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2017 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2018 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สาระมากมี  ประโยชน์เยอะ  ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท