หนังสือประวัติครู คือแหล่งปฐมภูมิ(primary source)หนึ่งทางประวัติศาสตร์ของการศึกษาไทย


            ตามที่ผมเคยเขียนถึงความเป็นมาของหนังสือประวัติวัติครู ของคุรุสภาไว้ในบันทึกก่อนหน้านี้ว่า แต่ละคนที่เขียนประวัติครูแต่ละท่านลงในหนังสือประวัติครูล้วนเป็นบุตร เป็นเครือญาติ เป็นผู้ร่วมงาน เป็นเพื่อนที่สนิทชิดเชื้อกัน  จึงสามารถสรรหาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอันเป็นจุดเด่นมาเล่า  ผมจึงถือว่าหนังสือนี้เป็นแหล่งปฐมภูมิ(primary source)หนึ่งทางประวัติศาสตร์ของการศึกษาได้เลย  เพราะแต่ละคนเขียนเล่าขณะยังมีชีวิตอยู่ นั้น       
           ผมอยากยกตัวอย่างประวัติครูท่านหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือประวัติครู พ.ศ.2502 คือ พระสารประเสริฐ(ตรี  นาคะประทีป) ซึ่งท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4  มิถุนายน 2488 และคนเขียนประวัติท่านก็คือ พระยาอนุมานราชธน (ยง  เสถียรโกเศศ)  ซึ่งพวกเราคงจำกันได้ว่า สองท่านนี้คุ้นเคยกันมาก โดยแปลหนังสือร่วมกันหลายเรื่องโดยใช้นามปากกาว่า “เสถียรโกเศศและนาคะประทีป”  หนังสือเด่นๆที่แปลร่วมกัน คือ หิโตปเทศ  กามนิต  ลัทธิของเพื่อน  เป็นต้น         
           หนังสือประวัติครู พ.ศ. 2502 ตีพิมพ์ประวัติครูทั้งหมด 19 ท่าน แต่ละท่านล้วนเป็นสุดยอดครูทั้งนั้น  โดยเฉพาะประวัติพระสารประเสริฐ พระยาอนุมารราชธนท่านเรียบเรียงไว้ถึง 33 หน้า เล่าประวัติชีวิตพระสารประเสริฐอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุม  หากคนอื่นเขียนไหนเลยจะเล่าได้ลึกซึ้งถึงเพียงนี้               ผมคิดว่าหลายคนคงอยากทราบถึงเรื่องราวตอนแปลหนังสือเรื่องกามนิต (ทั้งภาคพื้นดินและภาคสวรรค์) วรรณคดีรักโรแมนติก อิงพุทธศาสนาที่เราเคยเรียนกันว่าพระยาอนุมานราชธนท่านเขียนไว้ในประวัติของพระสารประเสริฐว่าอย่างไร  ผมจึงขอยกข้อความบางตอนมาให้อ่านกันเลยครับ        “หนังสือเรื่องกามนิตต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ  ข้าพเจ้า(หมายถึงพระยาอนุมานราชธน...ผู้เขียน)สั่งซื้อเข้ามานานหลายปีทีเดียวจึงได้แปลสู่ภาษาไทย  เมื่อข้าพเจ้าได้หนังสือกามนิตเข้ามาใหม่ๆอ่านแล้วจับใจ  เล่าเรื่องให้พระสารประเสริฐ  หลวงสรรสารกิจและ “ธัญยวัน” ฟัง  ทั้ง 3 คนก็ขอร้องให้แปล  แต่ก็ไม่ได้แปล  เพราะหนังสือเรื่องนั้นเกี่ยวกับวรรณคดีอินเดีย  และของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  ซึ่งเวลานั้นเรา(หมายถึงพระยาอนุมานราชธนกับพระสารประเสริฐ)ยังมีความรู้เรื่องเหล่านี้ไม่พอ แต่เป็นเรื่องที่เราหมายใจไว้แล้วว่าจะต้องแปล  ระหว่างนั้นคิดหาคำไทยได้เหมาะกับคำภาษาอังกฤษ  คำใดที่มีอยู่ในหนังสือกามนิต  เราก็จดคำนั้นไว้ เช่น gateway ก็จดไว้ว่า ทวารบถ  เป็นต้น ...จนถึงปีอะไรก็จำไม่ได้ หลวงสรรสารกิจจะมีอายุครบ 3 รอบดำริมีงานทำบุญอายุเป็นพิเศษ  เราเห็นว่ามีความรู้บ้างแล้วพอจะทำได้  จึงตกลงแปลเรื่องกามนิตจากภาษาอังกฤษออกเป็นภาษาไทยลงในหนังสือพิมพ์ไทยเขษมก่อน แล้วยกเรื่องทั้งหมดให้เป็นของขวัญของหลวงพระสรรสารกิจในวันเกิดนั้น  การแปลภาคพื้นดินตอนที่กามนิตโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า  ข้าพเจ้าจงใจแปลให้เป็นคำดาดๆ ง่ายๆ ให้มีคำเป็นศัพท์แสงน้อยที่สุด  และขอร้องไม่ให้พระสารประเสริฐแก้เป็นคำศัพท์  นอกจากจำเป็นจริงๆ  ส่วนภาคบนสวรรค์จะใช้ศัพท์สูงๆอย่างไรก็ได้  เพราะฉะนั้นท่านที่เคยอ่านเรื่องกามนิต  จะเห็นข้อความตอนภาคสวรรค์แพรวพราวไปด้วยศัพท์เพราะๆและงามๆ   ข้าพเจ้าจำได้ว่าแปลคำว่า mat ในภาษาอังกฤษว่า อาสนะ  เพราะเป็นเรื่องพระพุทธเจ้าทรงลาดอาสนะลง  พระสารประเสริฐเห็นแล้วก็หัวเราะ  บอกว่าที่รองนั่งของพระพุทธเจ้าเขาไม่เรียกว่าอาสนะ  เขามีคำใช้เฉพาะเรียกว่า  นิสีทนสันถัด ต่างหาก  แล้วก็กล่าวต่อไปว่า  จะติก็ติไม่ลง  เพราะเป็นเรื่องของศาสนา  ถ้าไม่ได้เรียนก็ไม่รู้  อย่างไรก็ดีหนังสือกามนิตสำเร็จเป็นภาษาไทยได้งดงาม  เป็นเพราะพระสารประเสริฐเลือกหาคำมาใช้ได้เหมาะๆ เป็นอย่างที่ในภาษาอังกฤษว่า “คำเหมาะอยู่ในที่เหมาะ” ฉะนั้น  ถ้าท่านมีโอกาสเปรียบเทียบเรื่องกามนิตฉบับภาษาอังกฤษกับฉบับแปลเป็นภาษาไทย  จะเห็นว่าเราแปลใกล้กับต้นฉบับตลอดไป  ยกเว้นแต่ตอนเดียวซึ่งกล่าวด้วยรหัสยลัทธิของโจร  ที่ว่าเอาดาบตัดคอใครขาดก็ไม่มีใครฆ่าใคร  เพราะไม่มีคอของใครขาด  ตอนนี้ต้องศึกษาปรัชญาของโจรเสียเวลาอยู่หลายวัน  พอเข้าใจบ้างแล้วจึงเรียบเรียงใหม่เอาจากความเข้าใจมากกว่าแปลตามตัว...”         
           พระสารประเสริฐท่านบวชที่วัดเทพศิรินทราวาสหลายพรรษา  ได้เปรียญ 7 ประโยค  พระยาอนุมานราชธนจะเรียกท่านว่า มหาตรี  ท่านเกิดวันที่ 25 พฤศจิยายน 2432  ส่วนพระยาอนุมานราชธนท่านเกิด  14 ธันวาคม  2431  จึงแก่กว่าพระสารประเสริฐ 1 ปี  แต่พระสารพระเสริฐท่านถึงแก่กรรมก่อน   ส่วนพระยาอนุมานราชธนท่านมาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2512  และประวัติท่านพระยาอนุมานราชธนที่ตีพิมพ์ในหนังสือประวัติครูเมื่อ พ.ศ. 2514  ผู้ที่เรียบเรียงประวัติท่านก็เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับท่านเช่นกัน  คืออาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์             
           ดังนั้นเมื่อเราอ่านประวัติครูหลายๆท่านก็จะเกิดความเชื่อมโยงกัน  ผมจึงยืนยันอีกครั้งว่าหนังสือประวัติครู คือแหล่งปฐมภูมิ(primary source)หนึ่งทางประวัติศาสตร์ของการศึกษาจริงๆครับ...                     

หมายเลขบันทึก: 631242เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2017 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2017 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท