​ “รร.ชุมชนวัดหาดถั่ว” ชวนเด็กนักเรียน “กินผัก-ผลไม้” สร้างสรรค์เมนู “มื้อกลางวัน” ลดเสี่ยงภาวะทุพโภชนาการ


“รร.ชุมชนวัดหาดถั่ว” ชวนเด็กนักเรียน “กินผัก-ผลไม้” สร้างสรรค์เมนู “มื้อกลางวัน” ลดเสี่ยงภาวะทุพโภชนาการ

สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ โรงเรียนชุมชนวัดหาดถั่ว ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ จัดทำ โครงการ“เด็กหาดถั่วสุขภาพดีและน่ารักเพราะกินผักผลไม้” เพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงทุพโภชนาการจากการรับประทานอาหารไม่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ

ครูนันท์นภัส หนูแก้ว กล่าวว่า โรงเรียนชุมชนวัดหาดถั่ว เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 261 คน ส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานของแรงงานจากภาคอีสานที่มาทำงานในโรงงานปาล์มน้ำมัน ในสวนปาล์ม และสวนยางพารา โดยเด็กกว่าร้อยละ 80 มีรูปร่างผอม จัดว่าอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ไม่ได้รับประทานอาหารมื้อเช้าเนื่องจากครอบครัวไม่ได้มีเวลาในการดูแล และยังมีนิสัยไม่ชอบรับประทานผักผลไม้ จึงหาแนวทางที่จะให้เด็กๆ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนโดยเฉพาะมื้อกลางวันที่ทางโรงเรียนจัดเตรียมไว้ให้ตามนโยบายของรัฐบาล

“ทางโรงเรียนได้จัดประชุมคณะครูร่วมกับผู้ปกครอง มีตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้และช่วยกันเพื่อให้เด็กได้กินผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น ให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญ เชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลปลายพระยามาให้ความรู้ ส่วนแกนนำนักเรียนก็จะคอยดูว่าเด็กคนไหนมีเศษผักเหลือในจานหรือไม่ ทุกวันจะต้องจดและชั่งเศษอาหารที่เหลือไว้ดูด้วย หากพบว่าเด็กคนไหนมีปัญหาเรื่องการกินผักก็จะช่วยกันเปลี่ยนเมนูให้รับประทานได้ง่ายขึ้น เช่น นำเห็ด แครอท ใส่ลงไปในไข่เจียว และเปิดให้เด็กๆ คิดเมนูที่มีผักที่อยากรับประทานในแต่ละสัปดาห์ด้วย” ครูนันท์นภัสกล่าว

นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังจัดให้มีเมนูขนมจีนที่จะต้องกินกับผักสัปดาห์ละหนึ่งครั้งด้วย ยังมีการดำเนินงานผ่านกิจกรรมที่หลากหลายในการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการกินผักและผลไม้ของเด็กนักเรียน เช่น กิจกรรมเสียงตามสายที่ดำเนินรายการโดยนักเรียน กิจกรรมผักแปลงร่าง การจัดนิทรรศการส่งเสริมความรู้และประโยชน์ของผัก กิจกรรมการกินผักต้านโรคฯลฯ

แม้จะเริ่มดำเนินงานรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนได้เพียงไม่กี่เดือน แต่จากความมุ่งมั่นและตั้งใจของทุกฝ่าย ในการแสวงหาแนวทางเพื่อสร้างให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ทำให้ผลสำรวจการกินผักและผลไม้ของนักเรียนล่าสุดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กๆ ได้เติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาพที่แข็งแรงสมวัยแล้ว ยังช่วยทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการหายไปในท้ายที่สุด.

คำสำคัญ (Tags): #สสส.
หมายเลขบันทึก: 631212เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2017 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2017 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท