โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

คุยกับต้นไม้


โสภณ เปียสนิท

...............................................

เช้าวันหนึ่งต้นเดือนกรกฏาคมปี 2560 ผมตื่นเช้ามากกว่าปกติ พบว่าตนเองนอนอยู่ในบ้านหลังเล็กกลางป่าใหญ่ ในหมู่บ้านท่ามะนาว เมืองกาญจนบุรีบ้านเกิดที่ผมห่างหายหน้าลาไกลไปสามสิบกว่าปี เพื่อการศึกษาเรียนรู้ เพื่อการทำมาหากิน สมกับที่มีผู้รู้แจ้งชีวิตบางคนเปรียบชีวิตไว้ว่า เหมือนกับการเดินทาง ชีวิตของผมก้าวเดินทางมายาวนานเกินกว่าครึ่งชีวิตเข้านี่แล้ว เหมือนแปลกแต่เป็นเรื่องจริง เพราะนี่คือชีวิต

นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นมา ผมขับรถคู่ใจเดินทางไกล 500 กิโลเมตร ไปกลับระหว่างหัวหิน-เมืองกาญจนบุรี เพื่อติดตามการสร้างบ้านน้อยในป่าใหญ่ ราวสี่เดือนแล้วเสร็จ ผมยังคงเดินทางกลับเมืองกาญบ้านเกิดอย่างต่อเนื่องทุกเสาร์อาทิตย์ เพื่อปลูกต้นไม้เพื่ออนาคต อีกสี่ปีข้างหน้าวันเวลาพาชีวิตผมถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เคยคิดดิ้นรนอยากอยู่หัวหิน แต่เหมือนคนขาดความอบอุ่นห่างไกลพี่น้อง เลยคิดว่ากลับบ้านเกิดดีกว่าอยู่ใกล้พี่น้อง และอีกอย่างหนึ่งแม่นกเอี้ยง หรือไมตรี เปียสนิท มอบที่ดินไว้ให้สองสามผืนรวมแล้วสามสิบกว่าไร่ ผมแค่หอบสังขารอันร่วงโรยของชายวัย 60 พร้อมครอบครัว ไปสร้างบ้าน และ ปลูกต้นไม้เท่านั้น เพื่อปรับปรุงผืนดินของแม่ให้เป็นเรือนอยู่ เรือนตายอันผาสุกบั้นปลายของปัจฉิมวัย

ก่อนฟ้าสางแสงเงินแสงทองจับขอบฟ้า ผมเดินออกจากชายคาบ้านทอดสายตามองผ่านแสงสลัวไปยังผืนดินอันมีขอบเขตชัดเจนว่าจะทำอะไรก่อนดีวันนี้ แว่วได้ยินเสียงใครบางคนพูดเหมือนเยาะเย้ยว่า “ไงละ หนีไปตั้งหลายปี ยังจะกลับมาทำไมอีก” ผมตกใจเล็กน้อย หันมองรอบด้าน เพื่อดูให้เห็นว่า ใครกำลังพูดกับผม แต่ก็ยังไม่ทันเห็นใคร ทั้งที่พอกำหนดได้ว่าเสียงมาจากทางไหน “มองเลยไปแล้ว คนเรานะ มีตาแต่เหมือนถั่ว” เอ๊ะ ผมถูกต่อว่าเข้าอีก ทอดตาลงต่ำเห็นกออ้อยที่ปลูกเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมาทอดสายตามองตรงมาที่ผม “อ้าว คุณอ้อยนี่เอง” อ้อยต้นนั้นพยักหน้า “ใช่ ฉันเอง จำได้ว่า หนีท้องไร่ท้องนาไปหลายสิบปีแล้วจะกลับมาทำไมอีก” “คุณอ้อยรู้เรื่องของผมดีอย่างนั้นเลยหรือ” ผมงงว่า อ้อยรู้เรื่องของผมได้อย่างไร ต้นอ้อยแกว่งใบเล็กนิดหน่อยแล้วตอบว่า “ใช่ซิ เผ่าพันธุ์อ้อยของฉันอยู่ในไร่ของพ่อ ของแม่คุณมาตลอด จนกระทั่ง คุณเองหนีไป และพ่อคุณตายจากไปหลังจากนั้นไม่นาน ทำไมฉันจะไม่รู้”

ลมเย็นก่อนรุ่งอรุณพัดโชยแผ่วเบา บรรยากาศเงียบสงบพัดพาความคิดของผมย้อนกลับไปถึงเรื่องราววัยเด็กที่พ่อแม่พาผมออกจากบ้านเข้าวัดบวชเป็นเณรน้อยเล่าเรียนหนังสือ “ผมไม่ได้หนีหรอก ผมไปเรียนหนังสือ” ผมแก้ตัวน้ำขุ่นๆ” ต้นอ้อยค้อนขวับเข้าให้ “นั่นแหละ เขาเรียกหนี ตอนนี้ไร้ทางไปอีก จึงกลับมา” หมดทางเถียงจึงพูดว่า “มันแล้วไปแล้ว ผมกลับมาบ้านก็ดีแล้ว กลับมาปลูกต้นไม้บนแผ่นดินแม่ ไม่ดีหรือไง” “มันก็ดีที่กลับมาหารกรากเดิม แต่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ และงานก็หนัก จะทนไหวหรือ” ต้นอ้อยพูดเหมือนลองใจผมอยู่กลายๆ

“สบายใจได้ สู้ไหวแน่ เพราะผมไม่มีที่ไปอีกแล้ว และผมผ่านชีวิตมามาก มีประสบการณ์มาบ้าง คงไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งเหมือนรุ่นพ่อแม่เคยทำกันมา” ผมพูดตามที่คิดไว้ “อ่อ อย่างนั้นหรือ แล้วจะทำอย่างไร เมืองกาญร้อนมากด้วยนะ” ต้นอ้อยถามด้วยความห่วงใย เกรงว่าผมจะแก่เกินกว่าจะทำอะไรได้ “ร้อนก็สร้างบ้านให้เย็นๆหน่อย กำลังคิดหาทางอยู่ ต้นไม้เราก็ปลูกตอนเช้ากับตอนเย็น กลางวันก็หลับพักผ่อน งานหนักเกินก็จ้างเขาทำบ้าง เป็นต้น” ต้นอ้อยพยักพเยิดเห็นด้วย แล้วชวนคุยต่อ “แล้วปลูกต้นอะไรไปบ้างหละ” “หลายอย่างเลย ผมเลือกเอาที่ปัญญาดีมาปลูก” “ต้นอะไรกัน ที่ปัญญาดี มีด้วยหรือ” ต้นอ้อยถามด้วยสีหน้างุนงง “มีครับ ต้นที่ไม่ต้องรดน้ำมากก็เจริญเติบโตได้ เรียกว่าต้นไม้ปัญญาดี หากินเองได้ ส่วนต้นที่ต้องรดน้ำประคับประคองหากินเองไม่เป็น คือต้นไม้ปัญญาอ่อน ผมกะว่าจะปลูกให้น้อยหน่อย”

ปลูกต้นอะไรไปบ้างแล้วนะ” ต้นอ้อยชวนคุยต่อ ผมมองไปรอบๆ “มีต้นมะขาม เกินกว่าสิบต้นแล้ว เพราะให้ร่มมาก ยืนต้นได้ดี ไม่ค่อยล้ม หากินเก่ง ยามแล้งก็ไม่แห้งตาย ต้นขี้เหล็ก ทน และโตเร็ว มะขามเทศก็ปลูกไปสองสามต้น กะว่าไว้เสียบยอดพันธุ์ดีไว้กินบ้าง สักก็ปลูกไว้สิบกว่าต้น พยุง ประดู่ อย่างละสองต้น ไผ่อีกห้าต้น ไทรทองอีกสองสามต้น เฟื่องฟ้าสองสามต้น มะกรูดมะนาว มะม่วงหาวมะนาวโห่อีกสองต้น ลีลาวดีอีกหลายต้นหน่อย...” ต้นอ้อยขัดคอขึ้นว่า “ปลูกทำไมเล่า ลีลาวดี กินไม่ได้” ผมชี้แจงไปว่า ที่ปลูกเพราะต้องการให้เป็นพืชนำ คุณสมบัติของลีลาวดีคืออึด ทน ตายยาก ตัดกิ่งมาปลูกได้ทันที ดอกสวยมากหลากสี มีกลิ่นหอม”

ต้นอ้อยทำท่างุนงง ถามขึ้นกลางลำ “เดี๋ยว พืชนำคืออย่างไร” “คือพืชที่ปลูกนำไว้ก่อน ปลูกอย่างอื่นร่วมไปด้วยในคราวเดียวกัน ทั้งพืชหลักและพืชรอง” “ร่วมไปด้วยคืออย่างไรเล่า” “ก็ปลูกร่วมกันไปหลายๆ อย่าง แต่ต้องเป็นพืชต่างระดับกัน เช่น เราปลูกต้นมะขาม ขุดหลุมไว้หลุ่มหนึ่ง ปลูกต้นไม้อื่นอีกสองสามอย่างในหลุมเดียวกัน ปลูกพืชตระกูลเถา เช่นแตงกวา ฟักทอง ฟัก พริก มะเขือ กระดุมทอง หญ้าแฝก กล้วย ไว้ในหลุมเดียวกัน” ต้นอ้อยทำหน้างงหนัก “อะไรกัน หลุมเดียวปลูกขนาดนั้น จะอุจจาระเกียจไปหน่อยไหม พืชเหล่านั้นจะอยู่กันอย่างไร จะให้ผลได้หรือไม่ เอ ไม่เข้าท่าเสียแล้ว”

ผมทำไม่รู้ไม่ชี้ ตอบแบบสบายอารมณ์ต่อไปว่า “ เข้าท่าซิ พืชเถาปลูกง่ายโตเร็ว สามเดือนเก็บกินผลได้แล้ว ถัดมาเราก็เก็บพริกมะเขือกินได้เรื่อยๆ ปีหนึ่งก็ได้กล้วยกินอีก กว่ากล้วยจะโทรม ต้นมะขามก็เริ่มโตแล้ว” “อ้าว แล้วกระดุมทองปลูกเข้าไปด้วยได้ไง” “ไม่ต้องห่วง นั่นปลูกไว้สำหรับเป็นพืชคลุมดิน ในหลวงรัชกาลที่9 บอกว่า “อย่าเปลือยเดิน” เราก็ปลูกพืชคลุมดินไว้ให้ดินเย็น ดินเย็นจะได้เลี้ยงพืชอื่น พืชอื่นๆ เหล่านั้นก็จะเลี้ยงเราอีกที” “แล้วยังแถมปลูกหญ้าแฝกเข้าไปด้วยอีก มันจะดีหรือ” “ดีซิ หญ้าแฝกจะฝังรากลึกลงไปในดิน รากหญ้าแฝกนำรากไม้ชนิดอื่นลงไปด้วยกัน ทำให้พืชเติบโตได้แม้ในดินดาน”

อ้อยทำหน้าเข้าใจ “แล้วมีหลักการอะไรอีกหรือเปล่า” มีได้ทียิ้มแล้วค่อยตอบ “หลายหลักการซิ พ่อหลวงรัชกาลที่9 สอนเอาไว้หลายอย่าง ผมค่อยๆ เก็บเอาหลักการเหล่านั้นมาใช้ เดินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อ” คุณอ้อยพูดด้วยสีหน้าเศร้าหมองว่า “พ่อหลวงมีพระคุณต่อเกษตรกรชาวไทยอย่างแท้จริง” “อ้าว พูดไปแล้วจะร้องไห้หรือไง หน้าเศร้าจัง” ผมทักท้วงขึ้นเมื่อเห็นคุณอ้อยทำหน้าเศร้า “คิดถึงในหลวงรัชกาลที่9 พ่อหลวงของเรา ท่านมีพระคุณใหญ่หลวงต่อประชาชน แม้กระทั่งต้นไม้ใบหญ้าบนแผ่นดินนี้ แต่ตอนนี้พระองค์ท่านจากไปแล้ว น่าเสียดายยิ่งนัก” ผมแอบคิดในใจว่า ขนาดต้นอ้อยยังรำลึกถึงพระคุณของพ่อหลวงเหมือนกับคนไทยทั้งประเทศ”

เราต่างคนต่างเงียบมองไปที่เส้นขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก แสงเงินยวงจับตีนฟ้าเป็นแนวสว่าง ไก่ป่าขันเจือยแจ้วอยู่ท้ายไร่ป่ารก ผมรำพึงแผ่วเบา “สวยงามสงบเงียบสงัดงัน” ต้นอ้อยแห่งยุคบรรพบุรุษยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ “คุณมีความเป็นกวีอยู่ไม่น้อย” ผมยิ้มให้เย็นๆ สบายอารมณ์ “ก็น่าจะมีบ้างนะ เพราะผมชอบอ่านบทกวี และผมเรียนวรรณคดี หลายปีที่คลุกคลีอยู่กับบทกวีด้วยความรักความหลง” “นั่นซิ ฉันมองเห็นความเป็นกวีในถ้อยคำของคุณ”

ต้นอ้อยบนแผ่นดินแม่เห็นผมนิ่งมองที่โพ้นขอบฟ้านานเนิ่น จึงสอบถามว่า “คุณชอบยามเช้าที่นี่หรือ” ผมตอบขณะที่ไม่ละสายตาจากขอบฟ้าอันเรื่องรุ่ง “จะพูดอย่างนั้นก็ได้ โดยแท้แล้วผมชอบทุกยามของที่นี่ เพราะมันคือบ้านเกิดเรือนตายของผม” แต่คุณก็จากมันไปไกลหลายปี” “ใช่ นั่นเป็นเพราะวิชาและอาชีพ เป็นความจำเป็น แต่ผมก็กลับมาแล้ว กลับมาเพื่อเดินหน้าสู่ความตายอันงดงาม” คุณอ้อยทำหน้าประหลาดใจ “คุณกล่าว่า ความตายอันงดงามทั้งที่ไม่ใครชอบความตาย” ผมกล่าวเรื่อยๆ สีหน้าเฉยชาตามความรู้สึก “ใช่ซิ นั่นคือความจริง คือความเป็นธรรมดาของชีวิต ของทุกทุกชีวิต ไม่ว่าคุณ ไม่ว่าผมต่างต้องตายตามหลักแห่งพระศาสนาที่สอนเรื่อง “ไตรลักษณ์” ไว้ว่า สรรพสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตนยึดถือไม่ได้”

คุณอ้อยมองหน้าผมนิ่ง เหมือนกำลังหยั่งความรู้สึกแท้จริงของผม “น่าสนใจนะ ไม่ว่าคนว่าสัตว์เมื่อพูดถึงความตายแล้วจะรู้สึกหวาดกลัว ไม่ยอมรับ ไม่อยากได้ยิน ถือว่าเป็นลางไม่ดีด้วยซ้ำ” ผมฟังคำพูดของอ้อยด้วยความเข้าใจ “คนทั่วไปที่ไม่ศึกษาศาสนาก็เป็นอย่างนี้หมด แต่ผมต่างไปเล็กน้อย เพราะโชคดีได้เรียนรู้คำสอนพุทธองค์เข้าใจความเป็นจริง ทำใจได้ ยอมรับความเป็นจริงว่า เราไม่อาจฝืนแข็งขืนได้ดังใจ สิ่งใดที่เห็นว่าแข็งขืนไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไปตามที่ควรจะเป็น เรียกว่ายอมรับกฎธรรมชาติ ความเป็นธรรมดาของชีวิต”

ผมเพิ่งสังเกตเห็นว่า มีต้นอ้อยอยู่กอเดียวหลังบ้าน “อ้าว แล้วนี่มางอกงามอยู่ที่นี่กอเดียวได้อย่างไร” ถามอย่างประหลาดใจ ต้นอ้อยมองหน้าผมนิ่งๆ ทอดสายตาไปที่ก่อหญ้าเจ้าชู้กำลังทอดยอดไปตามพื้นดินแห้งอย่างทรหด รากเกาะแน่นเรียบติดพื้น รากทำหน้าที่ชอนไชลงบนดินหินแห้งผาก ใบเรียวชูขึ้นรับน้ำค้างชุ่มชื้นแล้วค่อยๆ ดึงความชุ่มชื้นลงสู่ดินเพื่อทำให้ดินนุ่มช่วยรากสอดแทรกลงลึกทีละน้อย ลำต้นค่อยๆ แตกยอดออกดอกขยายเมล็ดพันธุ์ อันอุดมด้วยปลายขนเล็กๆ เพื่อยึดเหนี่ยวติดไปกับทุกสิ่งที่เคลื่อนไหวผ่านไปมา เพื่อขยายออกไปงอกงามในทุกที่ที่หลุดลงบนพื้นดิน ก่อนตอบด้วยสำเนียงเรียบเฉย “ฉันพยายามทำตามต้นหญ้าเจ้าชู้นั่น พยายามขยายเผ่าพันธุ์ แม้จะสู้เขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยฉันก็รอดมาจนพบเจอกับคุณ เจ้าของไร่รุ่นหลัง”

ผมพยักหน้าเห็นด้วย “ใช่ การดำรงชีวิตอยู่แม้นไม่ยาก แต่มันก็ไม่ง่าย ที่สำคัญต้องฉลาดดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด” คุณอ้อยยิ้มเย็นๆ “ขณะที่เพื่อนร่วมไร่ของฉันทยอยล้มตายลงตามลำดับ ผมเองเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ก็ยังพยายามรักษาความต่อเนื่องของชีวิตไว้จนผ่านพ้นหน้าแล้งอันโหดร้ายมาได้ทุกปี แล้วจะปลูกอะไร เป็นเพื่อนฉันอีกบนที่ดินแปลงนี้” “ก็จะปลูกไปเรื่อยๆ ละครับ ทุกอย่างที่ทรหดอดทนรอดได้ โตเร็ว ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก ไม้รับประทาน...” อ้อยกล่าวแทรกอย่างเร็วว่า “ไม้แดกก็พูดตรงๆ ไปเถอะ” ผมยิ้มเขินๆ “อ่อ อย่างนั้นก็ได้ ไม้ดอก ไม้แดก ไม้ประดับ ผมปลูกหมด แต่ต้องอดทนนะ”

คุณอ้อยยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ “ดีแล้ว มาถูกทาง เพราะโดยส่วนมากคนที่นี่เขาชอบปลูกพืชเชิงเดี่ยว เสาเดียวค้ำฟ้า ขณะที่รายจ่ายมีหลายทาง รายได้มีทางเดียว อย่างนี้ก็จนแย่” “เห็นด้วยครับ” “อีกอย่างดินก็เสียไปเรื่อยๆ เพราะแห้งแล้ง ขาดน้ำ ขาดปุ๋ยธรรมชาติ เขาก็เอาปุ๋ยเคมีใส่เข้าไป อัดเข้าไป แรกๆ ก็ดี นานเข้าดินแข็งเป็นหัวไอ้โจร คำพูดนี้คุณพ่อของคุณเคยพูดไว้ ผมไม่ได้พูดเอง” “วันหน้าจะมาคุยต่อนะครับ วันนี้ต้องลาก่อน สายแล้ว ผมจะไปหาอะไรรองท้องสักหน่อย” “ครับลาก่อน”

หมายเลขบันทึก: 631209เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2017 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2017 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ดีเลยครับอาจารย์ปลูกลายๆอย่าง

จะกลับมาบ้านเราเมื่อใด

จะได้แวะไปเยี่ยม

ขอบคุณครับ

-สวัสดีครับครู

-ผมชักสนุกกับการพูดคุยของคุณอ้อย

-เอาไว้หากวันใดครูมีเวลาก็แวะมาพักผ่อนที่บ้านไร่ของผมได้นะครับ

-ด้วยความระลึกถึงครับ


ยายธี

ขอบคุณยายธีครับ

เป็นนักอ่านตัวยงจริงๆ เรียกกว่าหนอนหนังสือก็ไม่ค่อยเหมาะ หนอนโกทูโนวดีกว่านะครับ


ขจิต ฝอยทอง

ถึงตอนนั้น ต้องเชิญอาจารย์มาบ่อยแน่ครับ

วันศุกร์ที่ผ่านมาคุณมะเดื่อไปเยือน ไปถึงบ้านก่อนผมเสียอีก

รีบมาต้อนรับ ผมลืมลูกกุญไว้ที่บ้านพี่ชาย เลยไม่ได้เข้าบ้าน

คุยนอกบ้าน มอบต้นมะกอกินใบให้ผมสามต้นแล้วไปเที่ยวต่อเลย

https://www.facebook.com/photo...


เพชรน้ำหนึ่ง

คุณครูมะเดื่อบอกผมว่าจะไปบ้านน้องเพชรน้ำหนึ่งเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา

ไม่รู้ว่าได้แวะพักทักทายกันหรือเปล่าครับ


เพชรน้ำหนึ่ง


อนาคต เด็กที่อยากฝึกฝน บทกวี ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง คงต้องไปขอเรียนกับอาจารย์ที่บ้านค่ะ เป็นโรงเรียนแห่งใหม่

ยอดเยี่ยมค่ะ

คุณลิขิต



ลิขิต

อยากให้มีคนขอมาเรียนแบบนี้ครับ

อยากให้เป็นโรงเรียนเชิงเกษตรด้วยครับ

แต่ไม่ค่อยมีใครอยากเรียนเลย อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท