ชีวิตที่พอเพียง : 2960b. โรงงานผลิตปัญญา : 2. วงจรกึ่งสหัสวรรษของมหาวิทยาลัย


บัดนี้ ห้าร้อยปีให้หลัง มหาวิทยาลัยน่าจะค่อยๆ ปรับตัว ให้มีประชากรนักศึกษาผู้ใหญ่มากขึ้น ใช้ผู้มีแวดวงและประสบการณ์เหล่านี้ ช่วยให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ social engagement ได้ดียิ่งขึ้น

ชีวิตที่พอเพียง : 2960b. โรงงานผลิตปัญญา :  2. วงจรกึ่งสหัสวรรษของมหาวิทยาลัย

บันทึกชุด โรงงานผลิตปัญญา ตีความจากหนังสือ Wisdom’s Workshop : The Rise of the Modern University  เขียนโดย James Axtell บทที่ 2 Oxbridge เล่าเรื่องกำเนิด และการเปลี่ยนโฉม (transformation) ของสองมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ    ซึ่งตั้งมาราวๆ หนึ่งพันปี    เทียบกับของเรามหาวิทยาลัยแห่งแรก คือจุฬาฯ เพิ่งฉลองอายุครบหนึ่งร้อยปีเมื่อเร็วๆ นี้   

ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด และ เคมบริดจ์ มาเข้มข้นมากในช่วงศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗    ที่มหาวิทยาลัยต้องยืนหยัดต่อสู้กับสภาพความเป็นจริงในสังคม    เพื่อดำรงความเป็นสถาบันวิชาการที่เป็นอิสระ และมีคุณภาพ  

ปัจจัยแรกที่ต้องต่อสู้ (และรอมชอม) คืออำนาจของเจ้า ขุนนาง และพระ    หนังสือเล่าสภาพที่ พระเจ้าแผ่นดิน และขุนนางฝากคนเข้าเรียน    ที่มหาวิทยาลัยรอมชอมในรายย่อย    แต่ก็มีหนังสือกราบบังคมทูล หลักการเป็นครั้งคราวว่า หากจะให้มหาวิทยาลัยมีคุณภาพสูง จะต้องมีกฎไม่รับฝากเด็กเข้าเรียน  ไม่ว่าจากใคร ก็ตาม    คือเขาพยายามรับนักศึกษาที่มีคุณภาพดีเป็นหลัก    หนังสือเล่าว่า นักศึกษาที่ไม่เอาใจใส่การเรียน สำมะเลเทเมา มักเป็นลูกของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่    นักศึกษาที่เป็นลูกคนจน ตะเกียกตะกายเข้าเรียน ในมหาวิทยาลัย มักจะเอาใจใส่การเรียน มีความมานะพยายามสูง

ที่น่าสนใจคือ พระเจ้าแผ่นดินบางองค์ก็เป็นผู้ริเริ่มเรื่องการออกกฎกติกาเพื่อคุณภาพการศึกษาเอง

ปัจจัยที่สองคือเรื่องการสร้างความเป็นธรรมหรือความเท่าเทียมกันในสังคม    กล่าวง่ายๆ คือ ให้เด็กจากครอบครัวยากจนมีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเท่าๆ กันกับเด็กลูกคนรวยหรือบุญหนักศักดิ์ใหญ่    เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความเท่าเทียมกันในสังคน    ที่น่าสนใจมากว่า เขาเริ่มกันมาตั้งแต่ ห้าร้อยปีก่อน   

ระหว่างปี 1560 – 1640 มีทุนเล่าเรียนใหม่เพิ่มขึ้นถึง ๕๐๐ ทุน สำหรับสนับสนุนนักศึกษายากจน ในมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดและเคมบริดจ์    ช่วยให้จำนวนนักศึกษาที่มาจากครอบครัวยากจนมีพอๆ กันกับ ลูกคนรวยและสูงศักดิ์    นักศึกษายากจนเหล่านี้ยังช่วยทำงานบางอย่างให้เพื่อนที่รวย เพื่อรับค่าจ้างสำหรับ เลี้ยงชีพด้วย      

ปัจจัยที่สาม คือความพยายามจัดระบบนักศึกษา ให้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งหมด    ยกเลิกนักศึกษา ที่ไปพักอาศัยอยู่ตามบ้านชาวบ้านในเมือง   

เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ผมก็จับประเด็นได้ว่า ราวๆ กลางศตวรรษที่ ๑๖  มหาวิทยาลัยทั้งสอง ก็รับนักศึกษาที่ เป็นเยาวชน ศึกษาระดับปริญญาตรี (ได้รับปริญญา B.A.) เป็นหลัก    โดยที่ก่อนหน้านั้นมีนักศึกษาผู้ใหญ่ ทำงานแล้วจำนวนมาก เข้าไปศึกษาเพื่อยกระดับความรู้ของตนเอง  

ขณะอ่านผมก็ต้องเตือนตนเองว่าเรื่องราวที่กำลังอ่าน อยู่ก่อนยุควิทยาศาสตร์สมัยใหม่  ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม   การเรียนเน้นการเรียนความรู้ตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน ต่อเนื่องมา    การเรียนรู้เน้นเรียนความรู้ย้อนหลัง    ต่างจากสมัยปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ที่เราเรียนความรู้แบบก้าวไปข้างหน้า    ความรู้ใหม่เข้าไปทดแทนความรู้เดิมอยู่ตลอดเวลา   

คือเมื่อครึ่งสหัสวรรษที่แล้ว มนุษย์เรา Learn อย่างเดียว    แต่ในปัจจุบัน เราต้องทั้ง Learn, Unlearn, และ Relearn ไปพร้อมๆ กัน

บันทึกนี้ตั้งใจบอกท่านผู้อ่านว่า     เมื่อห้าร้อยปีก่อน มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด และเคมบริดจ์ นำหน้าโลกด้วยการพัฒนาเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ให้การศึกษาอบรมบ่มเพาะเยาวชน เพื่อเรียนระดับ ปริญญาตรีเป็นหลัก    เปลี่ยนมาจากเดิมประชากรนักศึกษามีสภาพคละ มีทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนอยู่ด้วยกัน

บัดนี้ ห้าร้อยปีให้หลัง     มหาวิทยาลัยน่าจะค่อยๆ ปรับตัว ให้มีประชากรนักศึกษาผู้ใหญ่มากขึ้น    ใช้ผู้มีแวดวงและประสบการณ์เหล่านี้ ช่วยให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ social engagement ได้ดียิ่งขึ้น   

วนกลับไปคล้าย (แต่ไม่เหมือน) มหาวิทยาลัยเมื่อห้าร้อยปีก่อน 

วิจารณ์ พานิช

๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 631111เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2017 03:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2017 03:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท