จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๙๖: Professionalism conference Part V: หลักสูตรซ่อนเร้น/หลักสูตรต้องห้าม


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๙๖: Professionalism conference Part V: หลักสูตรซ่อนเร้น/หลักสูตรต้องห้าม

มาคราวนี้ได้เจอ educators (นักการศึกษา) หลายท่าน เพราะเป็นงานประชุมแพทยศาสตรศึกษา ก็ไม่มีปัญหาอะไรและตนเองก็สนใจในศาสตร์แห่งธรรมชาติของการเรียนรู้ หรือความรู้อยู่แล้ว แต่ได้ยินคำบางคำที่น่าสนใจ ก็คือการจัดหมวดหมู่ของ "หลักสูตร" ออกเป็นสี่แบบ คือ
๑) formal curriculum ขอเรียก "หลักสูตรทางการ"
๒) informal curriculum ขอเรียก "หลักสูตรไม่เป็นทางการ"
๓) hidden curriculum ขอเรียก "หลักสูตรซ่อนเร้น"
๔) null curriculum ขอเรียก "หลักสูตรต้องห้าม"
จะชอบหรือไม่ชอบ การเรียนรู้ของนักศึกษาจะถูกกระทบโดยหลักสูตรทั้งสี่ประเภทอยู่ตลอดเวลา ไม่เกี่ยวกับว่าคนจัดหลักสูตรจะทราบว่ามีทั้งสี่หรือไม่เสียด้วยซ้ำไป


สองประการแรกก็ไม่ลึกลับมาก อันแรกเชื่อว่าทุกๆที่ที่ทำการเรียนการสอนจะต้องทราบดีอยู่แล้ว มีวัตถุประสงค์การเรียน มีห้องเรียน ตารางสอน ตารางกิจกรรม การสอบ การทดสอบ และการประเมิน ที่เขียนไว้ในคู่มือก็จะเป็นพวกเป็นทางการ ทีนี้ในการเรียนแบบผู้ใหญ่ ก็จะมี "ชั่วโมงหลวมๆ" ที่เปิดให้ผู้เรียนแสวงหาโอกาสเรียนด้วยตนเอง ไปห้องสมุด ไปค้นคว้า เดินไปถามอาจารย์ตามระเบียงทางเดิน ไปค้นอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ดังนั้น formal + informal จะเป็นอะไรที่คณะหรือภาควิชารู้เห็นและตระหนักถึง และอาจจะแฝงๆออกแบบไปด้วยนิดๆด้วยซ้ำไป

แต่หลักสูตรซ่อนเร้น (hidden curriculum) กับหลักสูตรต้องห้าม (null curriculum) ที่หากเราไม่นึกถึงมัน หรือไม่เชื่อว่ามีสองประเภทนี้ปนๆอยู่ อาจจะเกิดปัญหาที่เราไม่เข้าใจ และยากต่อการแก้ไขได้

หลักสูตรซ่อนเร้น (hidden curriculum)

คือ "วัฒนธรรมการทำงานจริง" ในการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เป็นการเรียนเพื่อไปทำงานจริงๆ วิชาแพทย์ก็คือไปปฎิบัติงานในโรงพยาบาลจริง เจอคนไข้ เจอหมอ เจอญาติจริงๆ ไปเยี่ยมบ้านจริงๆ จะพบว่าในการ "ทำงานจริง" มีวัฒนธรรมหลายๆอย่างที่ไม่เคยมีสอนในหลักสูตร ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ การมีปฎิสัมพันธ์ของหมอรุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นปู่ กับรุ่นต่างๆ กับเพื่อนร่วมงาน ทั้งในวิชาชีพเดียวกันและต่างวิชาชีพ คำพูดคำจา ภาษาและอวจนภาษา ไปจนถึงจริยธรรม คุณธรรม และ values ประเภทต่างๆที่อาจจะเคยได้ยินในตำรา พอมาเป็นชีวิตจริง นี่คือกระบวนการเรียนที่สำคัญมาก เพราะนักศึกษาจะจับได้อย่างรวดเร็วว่า ไอ้ที่เคยสอนๆ เรียนๆ พูดๆ ในห้องบรรยายน่ะ มันจริงแท้ในทางปฏิบัติสักกี่มากน้อย ไอ้ที่บอกว่าให้ดูแลเพื่อนต่างอาชีพเช่นพยาบาลให้สมศักดิ์ศรี จริงๆแล้วออกมาเป็นพฤติกรรมอย่างไร จะเป็นออดอ้อนฉอเลาะสุภาพ หรือกักขฬะกเฬวราก ไอ้ที่บอกว่าให้พูดจากับผู้ป่วยให้ดี มี doctor-patient relationship ดีๆน่ะ หมายความว่ายังไงในการกระทำ ไอ้ที่บอกว่าแพทย์ต้องเป็นคนดี ต้องสื่อสารอย่างลึกซึ้ง ก็จะได้เห็น ได้สัมผัสอย่างซาบซึ้งตรึงตาว่า อ้อ...ของจริงมันแบบนี้นี่เอง ไอ้ที่บอกว่าคนไข้รักและเคารพวิชาชีพของเราอย่างสูงนั้น ก็จะได้เจอปฎิกิริยาต่างๆนานาที่อาจจะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเหมือนกัน


หลักสูตรซ่อนเร้นสำหรับ andragogy เป็น "ของจริงยิ่งกว่าจริง" เพราะเห็นทุกวันว่าทำ/ไม่ทำกันยังไง มี action/interaction ยังไง ทุกสิ่งทุกอย่างในตำราหลอมรวมออกมาเป็นการ form personality ระบบคิด และพฤติกรรม

หลักสูตรต้องห้าม (null curriculum)

ก็เป็นภาคปฏิบัติอีกเช่นกัน หมายถึง "ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไม่ทำ และไม่พูดถึง ก็แปลว่าไม่สำคัญ ไม่ต้องคิดถึงมัน"
ไม่เกี่ยวว่าตอนชั้นปรีคลินิกจะพูดถึง เน้น หรือบอกว่าสำคัญแค่ไหน และที่มีนัยสำคัญที่สุดก็คือ ถ้าในบรรยากาศจริง ในที่ทำงานจริงๆ สิ่งเหล่านั้นถูก drop ออกไป ทุกอย่างที่ถูกละเลยจะถูกบรรจุอยู่ใน "ส่วนเกิน" นี้ทันที และไม่ถูกนำมาคิด นำมาใคร่ครวญ ก็จะถูก demote หรือ classified เป็น null curriculum ทั้งหมด


ที่ต้องนำมาบรรจุไว้ในหลักสูตร ก็เพราะทั้ง hidden และ null curriculum เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเรียนรู้ว่าใน authentic situation ในที่ที่ทำงานนั้น อะไรกันแน่ที่นักศึกษาต้องเรียน ต้องปฏิบัติ ต้องกระทำ และไม่ต้องเรียน ไม่ต้องปฏิบัติ และไม่ต้องกระทำ เราคงเห็นแล้วว่าในบางบริบทที่อาจจะสมมติให้สุดโต่ง ที่ทำงานที่การสื่อสารล้มเหลว ไม่มีการทำงานเป็นทีม การใช้ภาษาที่กักขฬะหยาบคาย มารยาทเป็นของฟุ่มเฟือยหรือแค่เสแสร้ง การเคารพในตัวคนอื่นมีน้อยมาก มีแต่อัตตาส่วนตัวเป็นใหญ่ในทุกมุม ทุกแห่ง นี่ก็เป็นหลักสูตรที่จะทรงอิทธิพลต่อผลลัพธ์ ต่อผลผลิตบัณฑิต ที่จะถูกเหลากล่อมเกลาปั้นแต่งโดย hidden and null curriculum ทั้งสองแบบนี้เอง


ก็น่าสนใจว่า ทุกๆแห่งน่าจะมี formal and informal curriculum ที่สวยงาม ตั้งโชว์ได้ อวดได้ วัดได้ ให้รางวี่รางวัลกันได้ เราอาจจะต้องใช้เวลาสักนิดนึงดีไหม ที่จะหันมาดูทั้งหลักสูตรซ่อนเร้น และหลักสูตรต้องห้ามของบริบทจริง ว่าเอื้อต่อการผลิตบัณฑิตในแบบใด

หมายเลขบันทึก: 631104เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท