822. "Theory U"


ผมอยากเริ่มวันนี้ด้วยคำถาม ประสบการณ์ คืออะไร ?

คำตอบคือ

... มันคือการลองผิดลองถูก   

ประสบการณ์มีประโยชน์อะไร ประสบการณ์ทำให้เราเร็วขึ้น เพราะลองผิดลองถูกมาแล้ว ทำให้เราตัดสินใจ ดำรงชีวิตได้ง่ายๆขึ้น จินตนาการว่าถ้าคุณเห็นน้ำดื่มบนโต๊ะ แล้วคุณต้องค้นหาว่าไอ้ที่อยู่ตรงหน้านี่คืออะไร ทุกครั้ง ชีวิตคงดำรงอยู่ได้ยาก   

ประสบการณ์ทำให้เราตอบโต้ต่อสิ่งเร้าอย่างมีทิศทาง 

หิว เห็นน้ำ ถ้ามันเป็นน้ำขวดในร้านที่เขาขาย...กินได้แน่นอน ..หยิบกินชีวิตก็สบาย ไม่ยุ่งยาก 

ประสบการณ์ที่ผ่านการพิสูจน์มาในชีวิตทำให้เกิดความคิด และการกระทำแบบไม่ต้องคิด หรือความคิดอัตโนมัติ ...มีลักษณะของการทำนาย

มาถึงแมงสาบ...

นึกถึงแมงสาบแล้วคุณเห็นอะไร...เหม็น สกปรก เชื้อโรค แมงโรคจิต ชอบจ้องหน้าแล้วบินสวนมา  บางคนบอกเห็นแล้วต้องตี

คราวนี้แหละครับ มาเข้าเรื่องกัน

นี่คือประสบการณ์ของทั้งชีวิตของผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของผมในฐานะผู้เรียน หรือลูกศิษย์นับพันคน

ผมเลยขอโอาสว่า ให้ผมพูดได้ไหม ....ขออนุญาตให้ผมพูด ...ทุกคนอนุญาต 

ที่สุดผมก็เล่าให้ฟังว่า มีคนสังเกตเห็นแมงสาบมีการเดินที่เสถียรมากๆ ไม่ล้มง่าย... 90% จะเห็นด้วยกับที่ผมพูด

แล้วนักวิทยาศาสตร์คนนั้นเลยเอาแนวคิดของระบบการเดินของแมลงสาบไปออกแบบระบบการเดินของหุ่นยนต์กู้ภัย ที่จะไม่ล้มง่ายๆ เวลาเคลื่อนที่ไปในพื้นที่ลำบาก  

นี่ไงครับประสบการณ์คุณเปลี่ยนไหม ความเชื่อเปลี่ยนไหม ...หลายคนตื่นเต้นกับข้อมูลนี้ ...

นักวิทยาศาสตร์คนนั้น เมื่อเปิดรับข้อมูลใหม่ ข้อมูลใหม่ ประสบการณ์ใหม่ ไปผสมผสานกับประสบการณ์เก่า ก็จะเกิดการทบทวนกัน กลายไปวิสัยทัศน์ใหม่ และการกระทำใหม่ๆ 

นั่นหมายถึงว่าถ้าคนเราเปิดรับประสบการณ์ใหม่ จะเกิด Innovation ใหม่ๆ จริงใหมครับ ...

มีลูกศิษย์ผู้หญิงท่านหนึ่งถึงกับบอกว่า “รักแมงสาบเลยอาจารย์”

นี่แหละครับเราเรียกว่าภาวะของ Theory U  ...ภาวะที่คนเราเปิดโอกาสให้เรารับประสบการณ์ใหม่ ที่จะทำให้เราเกิดการทบทวน และสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับตัวเราเอง 

วิธีการจะทำให้เกิด Theory U ก็คือการที่เราต้องเปิดโอกาสให้เรารับรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเราต้องเอาประสบการณ์เดิมไปห้อยแขวนไว้ก่อน ฝรั่งเรียก Delay of Judgement คือเราต้องระวังความคิดอัตโนมัติของเรา เวลาเราอยู่ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งไม่ว่าจะนั่งฟังใคร หรือมองอะไร เรามักจะดึงประสบการณ์เดิมมาประมวลผล เหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า แล้วก็คิด ทำไปแบบอัตโนมัติ 

มาดูภาคปฏิบัติดีกว่า ลองดูกรณีศึกษาที่ผมไปทำจริงนะครับ อาทิตย์ก่อน ผมมีโอกาสไปทำ Theory U ให้เทศบาลนครขอนแก่น เราจัด Theory U กัน เพื่อดึงประสบการณ์คนทำงานออกมาสร้างสรรค์องค์กรครับ  

วิธีการจัดมีง่ายๆ เอา Basic นะครับ ...

จับคู่กัน เอาคนต่างวัย ต่างแผนก ต่างเพศ 

ให้คนหนึ่งพูดอีกคนหนึ่งฟัง เน้นให้ฟังอย่างเดียว พูดอย่างเดียวคนละครึ่งชั่วโมง 

ให้เล่าเรื่องความสำเร็จในงาน... เพราะวัตถุประสงค์คือเราอยากพัฒนางาน ... 

ผมบอกให้ทุกท่านเราเรื่องผลงานที่ภูมิใจ สักหลายๆเรื่อง (ส่วนใหญ่ครึ่งชั่วโมง ประมาณ 3-4 เรื่อง) อาจผสมเรื่องส่วนตัวสักเรื่องก็ได้ 

พอเล่าจบผมก็จะตั้งคำถามถาม ง่ายๆ คือ

  1. ประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับผู้ที่เราสนทนาด้วยคืออะไร
  2. ที่ฟังนี่ปิ๊งอะไร
  3. เรื่องที่ปิ๊งทำให้เรามองเห็นอะไรในตัวเอง
  4. ทิศทางใหม่ของเราคืออะไร 
  5. เราจะสร้างสรรค์อะไร  (Action)
  6. ผลดีที่คาดว่าจะเกิดคืออะไร

มีสองท่านที่ผมอยากเล่าเพราะประทับใจมาก

หลังฟังไปครึ่งชั่วโมง รุ่นพี่ฟังรุ่นน้องที่อายุน้อยกว่ามากๆ เล่าว่า 

  1. ประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับผู้ที่เราสนทนาด้วยคืออะไร

ก็คิดว่าเป็นเด็กจบใหม่ ไม่มีอะไรมากยังไม่มีประสบการณ์

   2. ที่ฟังนี่ปิ๊งอะไร

น้องคนนี้ทำงานด้านโภชนการ เพิ่งเข้ามาใหม่ แต่เคยมีประสบการณ์ทำงานที่เขตราษบูรณะ  กท ก่อนย้ายมาขอนแก่น ... เขาเล่าว่าที่เขตแบ่งความรับผิดชอบงานออกเป็นบล๊อกๆ บล๊อกละ 2 ตารางกิโลเมตร  ทำให้เวลาเกิดปัญหาเช่น เกิดปัญหาเรื่องโรคระบาด...เขาจะรู้เลยว่าสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าไม่ใช่แค่ปัญหาตรงนั้น แต่มันเชื่อมโยงไปกับเรื่องอื่นๆ เช่นปัญหาขยะ และอีกหลายเรื่อง ทำให้ไม่มองอะไรแยกส่วน สามารถทำงานได้จบ เป็นระบบ

   3. เรื่องที่ปิ๊งทำให้เรามองเห็นอะไรในตัวเอง

จริงๆ เป็นเรื่องที่อยากทำ เพราะปัจจุบันหน่วยงานดูแลพื้นที่กว่า 47 ตร.กิโลเมตร ทำให้ไม่เห็นความเชื่อมโยงอย่างที่น้องเคยทำที่เขตราษฎรบูรณะ ... เรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจ เพราะก็พึ่งรู้ว่ามีตัวอย่างมีคนทำได้

    4. ทิศทางใหม่ของเราคืออะไร 

จะเอาเรื่องนี้ไปเสนอผู้บริหาร 

     5. เราจะสร้างสรรค์อะไร  (Action)

จะลองใช้ราษฎรบูรณะ Model ที่ขอนแก่น 

โดยจะพากันไปดูงานก่อน

     6. ผลดีที่คาดว่าจะเกิดคืออะไร

จะทำให้มองปัญหาได้เชื่อมโยง แก้ปัญหาเรื่องสุขอนามัยได้ตรงประเด็นมากขึ้น 

นี่ครับ Theory U 

คุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทันทีที่มนุษย์คนหนึ่งห้อยแขวนประสบการณ์เดิม ผ่านกระบวนการฟัง แบบไม่แย้ง หยุดความคิดอัตโนมัติตัวเองลงได้ 

มาอีก case 

ความคิดอัตโนมัติ หรือความเชื่อเดิมของผู้บริหารกับพนักงานใหม่ๆ เป็นเพียงเด็กจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ พอผ่านกระบวนการห้อยแขวน ฟังแบบไม่ถามเลยครึ่งชั่วโมง ท่านพบเลยว่าเด็กคนนี้เคยจับทุจริตได้ทั้งๆที่ทำงานไม่กี่เดือน ตอนหลังผมถามว่าทำอะไรว่า เธอบอกเธอเคยอยู่บริษัททำบัญชีมาก่อน ...อ้อ ถึงว่าเก่งเรื่องการตรวจสอบ 

ผู้บริหารท่านนั้นเลยเห็นความเชื่อเดิมของตัวเองเลยว่า จริงๆ เชื่อมาตลอดว่าเด็กจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ยังไม่มอบงานอะไรท้าทายให้ ...ตอนนี้คิดใหม่แล้วครับ ว่าพนักงานใหม่อาจมีประสบการณ์บางเรื่องที่สามารถนำมาคิดการใหญ่ได้  

จริงๆนี่เจอสอง Case เลย น่าทึ่งไหมครับ

ผู้บริหารเจอพนักงานใหม่ ความคิดอัตโนมัติคือ ...พนักงานใหม่ๆ ไม่มีอะไรดี จะว่าไปพอๆกับที่ทุกคนเห็นแมงสาบ

พอผ่าน Theory U เกิดแนวคิด และการกระทำใหม่ๆ ทันที

ที่สำคัญ เคยเห็นเรื่องผู้ใหญ่สอนเด็กไหม ...เด็กฟังและทำตามไหม...ยากมากๆ

ไม่ต้องพูดถึงว่าเด็กจะไปสอนผู้ใหญ่ แทบเป็นไปไม่ได้

พอจัด Theory U จะเห็นปรากฎการณ์ใหม่นั้นคือ เด็กเรียนจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เรียนจากเด็ก เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มใจ ไม่ต้องผลักใส ไม่ต้องบังคับ 

นี่จัดแบบ Basic นะครับ ถ้าไกลกว่านี้ทำเป็นกลุ่ม 4-5 คนหรือทีเดียว 30-40 คนได้ อันนั้นเอาไว้ว่ากันครั้งต่อๆ ไปครับ

และนี่ครับ Theory U  

ลดความคิดอัตโนมัติลง แล้วคุณจะเห็นโลกใบใหม่ 

คุณล่ะ...คิดอย่างไร

วันนี้พอเท่านี้นะครับ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ 

Credit ภาพ: ขุนพล https://www.facebook.com/lul9i...

หมายเลขบันทึก: 630882เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2017 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2017 08:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท