ชีวิตที่พอเพียง : 2950b. ความแออัดกับชีวิตช้าๆ


มนุษย์ในยุคปัจจุบันที่ประชากรหนาแน่นขึ้นๆ ดำเนินชีวิตตามทฤษฎี slow life history คือมีลูกช้าลง และมุ่งให้ได้ลูกที่มีคุณภาพสูง

ชีวิตที่พอเพียง : 2950b. ความแออัดกับชีวิตช้าๆ  

บทความเรื่อง Does Living in Crowdwd Places Drive People Crazy? ในนิตยสาร Scientific American Mind  ชี้ให้เห็นผลทางจิตวิทยาของการอยู่ในที่มีคนมากหรือแออัด   โดยความรู้นี้รู้มานานแล้ว จากการทดลอง ในหนู    เขาพบว่าหากเลี้ยงหนูในกรงโดยปล่อยให้แพร่พันธุ์โดยไม่แยกออกไปจากกรง    ความหนาแน่นรุนแรง ของประชากรหนูในกรง สร้างพฤติกรรมโหดร้ายต่อกันอย่างไม่น่าเชื่อ   คือกินกันเอง มีทารกตายมาก และมีหนูที่ไม่คบใคร เป็นต้น 

 ผลการวิจัยในหนู ทำให้กังวลกันว่า เมื่อคนเพิ่มจำนวนมากเข้า   และต้องอยู่กันอย่างแออัด จะเกิดปัญหาด้านพฤติกรรม   แต่ผลการวิจัยเบื้องต้นบอกว่า ความกังวลดังกล่าวไม่มีหลักฐานสนับสนุน   นั่นคือเรื่องราวเมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้ว

มีการฟื้นการวิจัยผลของความแออัดขึ้นใหม่ โดยใช้ทฤษฎี life history theory  ที่กล่าวว่าสัตว์ จัดแบ่งเวลาเพื่อการเติบโต การสืบพันธุ์ และการเลี้ยงลูก ต่างกันตามสภาพแวดล้อม 

ตอนแรกเชื่อกันว่า หากสัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความหนาแน่นของสัตว์ชนิดนั้นต่ำ   สัตว์จะใช้ยุทธศาสตร์ fast life history   คือรีบสืบพันธุ์มีลูกมากๆ โดยไม่ลงแรงมาก   ไม่สนใจคุณภาพของลูก    คำอธิบายคือ เพราะมีทรัพยากรหรืออาหารมากอย่างไม่จำกัด ไม่ต้องแย่งกัน   

แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป   มีสัตว์ชนิดนั้นอยู่หนาแน่น ต้องแข่งขันกัน   สัตว์แต่ละตัวต้อง ใช้เวลาฝึกฝนความเข้มแข็งของตนเองเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน   ส่งผลให้เริ่มสืบพันธุ์ช้าลง    และเมื่อมีลูกก็ไม่เน้นจำนวน แต่เน้นคุณภาพ   เรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า slow life history strategy 

จึงเกิดคำถามว่า ทฤษฎีนี้เป็นจริงในมนุษย์หรือไม่   วิธีตอบคำถามน่าสนใจมาก   วิธีแรกเป็นการเก็บข้อมูลความหนาแน่นของประชากรของประเทศ และของรัฐ ในสหรัฐอเมริกา   นำมาเปรียบเทียบกันตาม life history theory   และพบว่าความเป็นจริงสอดคล้องกับทฤษฎี   

วิธีที่สอง มุ่งดูผลระยะสั้น   โดยทดลองให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี และคนที่ทำงานแล้ว แต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว อ่านบทความเรื่องประชากรหนาแน่น   แล้วให้ตอบแบบสอบถามเรื่องแผนชีวิต    พบว่านักศึกษามีแผนมีแฟนเป็นตัวตนมากกว่ามีกิ๊กจำนวนมาก   ส่วนคนทำงานแล้วก็หวังมีครอบครัว เลี้ยงลูกที่ได้รับการศึกษาดี   

สรุปว่า มนุษย์ในยุคปัจจุบันที่ประชากรหนาแน่นขึ้นๆ   ดำเนินชีวิตตามทฤษฎี slow life history   คือมีลูกช้าลง และมุ่งให้ได้ลูกที่มีคุณภาพสูง    

วิจารณ์ พานิช

๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 630592เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2017 05:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2017 05:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท