1 กรกฎาคม วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ


1 กรกฎาคม

วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

ดร.ถวิล อรัญเวศ

รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

       วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติชองไทย ตรงกับวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี

ทำไมจึงกำหนดวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

เราควรมาทำความรู้จักกันก่อน เพราะลูกเสือถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ในการจัดการศึกษาไทย กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี เป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนใน

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551


         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้

ทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454

จึงได้ยึดถือวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี

วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ

ซึ่งได้จัดให้มีกิจกรรมการเดินสวนสนามของลูกเสือ

ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี ใน

แต่ละปี จะมีลูกเสือทั้งในส่วนกลางส่วนภูมิภาคและ

ปริมณฑลมาร่วมเดินสวนสนาม

ประมาณ 10,000 คน เพื่อแสดงความเคารพ

และกล่าวทบทวนคำปฏิญาณ

ต่อองค์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ

เพื่อประกาศความเป็นลูกเสืออย่างแท้จริง


กำเนิดลูกเสือโลก

       พลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell)

หรือ B-P ชาวอังกฤษ ถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก

       การถือกำเนิดลูกเสือเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรกในโลก

เมื่อ พ.ศ.2451 โดยพลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell)

หรือ B-P

       มูลเหตุจูงใจที่ตั้งกองลูกเสือขึ้นมาก็คือ ท่านไปรับราชการทหาร

โดยไปรักษาเมืองมาฟฟิคิง (Mafiking) อันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษใน

สหภาพแอฟริกาใต้ ขณะนั้นเกิดสงครามขึ้นกับพวกบัวร์ (Boer)

        ในการผจญศึกใหญ่คราวนั้น ท่านได้ฝึกเด็กขึ้นหน่วยหนึ่ง

เพื่อช่วยราชการสงคราม เช่น เป็นผู้สื่อข่าว สอดแนม รักษาความสงบเรียบร้อย

ภายใน รับใช้ในการงานต่างๆ เช่น ทำครัวเป็นต้น ปรากฏว่าได้ผลดีมาก

เพราะเด็กที่ได้รับการฝึกเหล่านั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่

ที่ใช้รับมอบหมายได้ อย่างเข้มแข็งว่องไว ได้ผลดีไม่แพ้ผู้ใหญ่

และบางอย่างกลับทำได้ดีกว่าผู้ใหญ่เสียอีก

          ท่านลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ ( บี.พี. ) เป็นผู้ก่อตั้ง

กิจการลูกเสือครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ

เมื่อปี พ.ศ. 2450 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทหาร

และฝึกให้คนบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม หลังจากนั้นกิจการลูกเสือ

ก็เริ่มแพร่ขยายเข้าไปในประเทศยุโรปที่ไม่มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร

กระทั่งแพร่ขยายเข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกา

และได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นประเทศที่ 2




           เมื่อกิจการลูกเสือแพร่หลายขึ้น ในปี พ.ศ. 2451

ท่านลอร์ด บาเดน เพาเวลล์

จึงได้แต่งหนังสือฝึกอบรมลูกเสือขึ้น

เพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน

โดยหนังสือเล่มดังกล่าวมีชื่อว่า 

"Scouting For Boys" 

และคำว่า "Scout" ซึ่งใช้เรียกแทน

 "ลูกเสือ" มีความหมายตามตัวอักษร คือ

          S : Sincerity หมายถึง ความจริงใจ มีน้ำใสใจจริงต่อกัน

          C : Courtesy หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้มีมารยาทดี

          O : Obedience หมายถึง การเชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในโอวาท

          U : Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้รักสามัคคี

          T : Thrifty หมายถึง ความมัธยัสถ์ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

                         

กำเนิดลูกเสือไทย

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ทรงมีพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา

กองลูกเสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454

เพื่อฝึกอบรมข้าราชการพลเรือน ให้เรียนรู้วิชาการด้านการทหาร

ไว้สำรองยามเกิดศึกสงครามและช่วยบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

และยังมีไว้ช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย ยามจำเป็น พระองค์ทรงมองเห็นว่า

กองกิจการลูกเสือนั้นจะช่วยให้คนไทยรักชาติ มีมนุษยธรรม มีความเสียสละ

สามัคคีและมีความกตัญญู และได้ยึดเอาวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

ทุกปี ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่สามของโลกที่มี

การจัดกองลูกเสือของโลกขึ้น โดยทุกๆปีจะมีการจัด

ให้มีการเดินสวนสนามของลูกเสือ ณ สนามศุภชลาศัย

สนามกีฬาแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี แต่ในปี พ.ศ. 2556

จัดที่ลานพระราชวังดุสิต) ในแต่ละปีจะมีลูกเสือทั้งใน

ส่วนกลางและปริมณฑลมาร่วมเดินสวนสนาม ประมาณ 10,000 คน

เพื่อแสดงความเคารพและกล่าวทบทวนคำปฏิญาณ

ต่อองค์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ

เพื่อประกาศว่าตนเป็นลูกเสืออย่างแท้จริง

         อีก 2 เดือนถัดมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงเห็นว่ากิจการเสือป่าจริญก้าวหน้ามั่นคงดีแล้ว พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการ

จัดตั้งกองลูกเสือขึ้น ในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่จัดตั้ง

กองลูกเสือขึ้น ต่อจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

โดยผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรก

คือ "นายชัพพ์ บุนนาค"

         จากนั้นนานาชาติในยุโรปจึงจัดตั้งกองลูกเสือของตนขึ้นบ้าง

ทำให้ลูกเสือกลายเป็นองค์การสากล และมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก

โดยถือว่าลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด




พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการลูกเสือไทย

         ลูกเสือกองแรกของไทยก่อตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเรียก เรียกว่า

"ลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1" ก่อนที่จะขยายตัวไปจัดตั้งตามโรงเรียน และสถานที่ต่าง ๆ

โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานคติพจน์ เพื่อให้เด็กที่จะเข้า

ประจำการในกองลูกเสือได้ปฏิญาณตนว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์"

         ในสมัยนั้นกิจการลูกเสือไทยเลื่องลือไปยังนานาชาติว่า

"พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงใฝ่พระทัยในกิจการลูกเสือเป็นอย่างยิ่ง"

ถึงกับทำให้กองลูกเสือที่ 8 ของประเทศอังกฤษ ได้มีหนังสือขอพระราชทานนามนามลูกเสือกองนี้ว่า

"กองลูกเสือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม" ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

พระราชทานให้ตามความประสงค์ และลูกเสือกองนี้ได้ติดเครื่องหมายช้างเผือกที่แขนเสื้อ

ทั้งสองข้าง และยังปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

         หลังจากทรงสถาปนากิจการลูกเสือขึ้นมาแล้ว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ

ให้ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ และตั้งสภากรรมการจัดการลูกเสือ

แห่งชาติขึ้นโดยพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก ต่อมาทุกครั้งที่พระองค์เสด็จไป

ยังจังหวัดใดก็ตามก็จะโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธีเข้าประจำกองลูกเสือประจำจังหวัดนั้น ๆ ให้ด้วย

         หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ได้ทรงฟื้นฟู

กิจการลูกเสืออีกครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2470 พระองค์โปรดเกล้าฯ

ให้มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์

และจัดให้อบรมลูกเสือหลายรุ่น กระทั่งรุ่นสุดท้ายในปี พ.ศ. 2475

ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น กิจการลูกเสือจึงได้รับการปรับปรุงใหม่

โดยรัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยยุวชนทหาร และรับเด็กที่เคยเป็นลูกเสือมาแล้วมาฝึกวิชาทหาร

ส่วนกิจการลูกเสือก็ขยายให้กว้างขวางขึ้น โดยมีการจัดตั้งกองลูกเสือเหล่าเสนา

และลูกเสือเหล่าสมุทรเสนาขึ้น เพื่อฝึกร่วมกับยุวชนทหาร ทำให้กิจการลูกเสือซบเซาลงบ้างในยุคนี้


         ใน ปี พ.ศ. 2490 กิจการลูกเสือกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง หลังจากทางราชการ

ได้จัดชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ และ

ส่งเจ้าหน้าที่ในกองลูกเสือไปรับการฝึกอบรมวิชาลูกเสือตามมาตรฐานสากล

และตามแบบนานาประเทศ กระทั่งมีพระราชบัญญัติลูกเสือบังคับใช้

โดยคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้บริหาร


         วัตถุประสงค์ของขบวนการลูกเสือได้รับการปรับปรุงและ

เน้นให้เห็นชัดเจนรัดกุมยิ่งขึ้น มีความว่า

"คณะลูกเสือแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย

สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี

มีความรับผิดชอบสร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า

เพื่อความสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ"




ความสำคัญของวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

         เพื่อเป็นการระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือไทยให้พัฒนารุ่งเรือง มาจวบจนทุกวันนี้

ทางราชการจึงกำหนดให้ทุกวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี เป็น

"วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ" หรือ "วันลูกเสือ"

         โดยในวันนี้บรรดาลูกเสือไทยจะจัดกิจกรรมที่เป็นการระลึกถึง

พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน รวมทั้งนำ

พวงมาลาไปถวายบังคมที่พระบรมรูปฯ สถานพระบรมราชานุสรณ์

และจัดให้มีการสวนสนามในโรงเรียน หรือสถานที่

ต่าง ๆ เช่น ณ สนามศุภชลาศัย หรือสนามกีฬาแห่งชาติ

สนามโรงเรียน ซึ่งทุกปี จะมีเหล่าลูกเสือจำนวนกว่าหมื่นคน

มาร่วมเดินสวนสนาม เพื่อแสดงความเคารพ และกล่าวทบทวน

คำปฏิญาณต่อองค์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ

เพื่อประกาศความเป็นลูกเสืออย่างแท้จริง


ประเภทของลูกเสือไทย

         - ลูกเสือสำรอง : อายุ 8-11 ปี เทียบชั้นเรียน ป.1-ป.4 มีคติพจน์คือ ทำดีที่สุด (DO YOUR BEST)

         - ลูกเสือสามัญ : อายุ 12-13 ปี เทียบชั้นเรียน ป.5-ป.6 มีคติพจน์คือ จงเตรียมพร้อม (BE PREPARED)

         - ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ : อายุ 15-17 ปี เทียบชั้นเรียน ม.1-ม.3 มีคติพจน์คือ มองไกล (LOOK WIDE)

         - ลูกเสือวิสามัญ : อายุ 17-23 ปี เทียบชั้นเรียน ม.4-ม.6 มีคติพจน์คือ บริการ (SERVICE)

         - ลูกเสือชาวบ้าน : อายุ 15-18 ปี มีคติพจน์คือ เสียชีพอย่าเสียสัตย์

         - ส่วนผู้หญิงให้เรียกว่า "เนตรนารี" และแบ่งประเภทเหมือนลูกเสือ


คำปฏิญาณของลูกเสือ

         "ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า"

         - ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

         - ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

         - ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ


กฎของลูกเสือ มีทั้งหมด 10 ข้อ คือ

                                                                           

         ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้

         ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

         ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

         ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก

         ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย    

         ข้อ 6 ลูกเสือมีความเตตากรุณาต่อสัตว์

         ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ

         ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความลำบาก

         ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์                                                                                  

         ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ


ราชสดุดีเพลงลูกเสือ

         ข้าลูกเสือเชื้อไทยใจเคารพ              ขอน้อมนบบาทบงสุ์พระทรงศรี

       พระบาทมงกุฎเกล้าฯ จอมเมาลี         ทรงปรานีก่อเกื้อลูกเสือมา

         ทรงอุตส่าห์อบรมบ่มนิสัย               ให้มีใจรักชาติศาสนา

      ทรงสั่งสอนสรรพกิจวิทยา                  เป็นอาภาผ่องพุทธิ์วุฒิไกร

        ดังดวงจันทราทิตย์ประสิทธิ์แสง         กระจ่างแจ้งแจ่มภพสบสมัย

      พระคุณนี้จะสถิตสนิทใน                    ดวงหทัยทวยราษฎร์ไม่คลาดเอย



พิธีการสวนสนามและกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ

เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ 1 กรกฎาคม

----------------------------------

 การสวนสนามและกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ

       วันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี ถือว่าเป็นวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ

เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

พระองค์ได้ทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทยขึ้นเป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ทางคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

จึงได้ถือเอา วันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันที่ ลูกเสือทุกคนทุกประเภท

จะต้องแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ คือ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน โดยการกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ

เฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือตัวแทนพระองค์

หรือพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

และกระทำพิธีสวนสนาม ซึ่งมีขั้นตอนและพิธีปฏิบัติดังนี้

               


          พิธีการนี้เป็นการจัดในระดับอำเภอหรือที่โรงเรียนซึ่งไม่มีธงคณะลูกเสือแห่งชาติ

หรือธงลูกเสือประจำจังหวัด

การจัดเตรียมสถานที่

1. ในการจัดพิธีภายในจังหวัดให้นำธงลูกเสือประจำจังหวัดอัญเชิญ

โดยกองลูกเสือเกียรติยศมาประจำแท่นที่เตรียมเพื่อรับการเคารพ

2. เครื่องหมายหรือธงที่จะแสดงจุดที่จะให้ลูกเสือแสดงความเคารพ จะมี 3 จุด คือ

ธงที่ 1 ธงเตรียมทำเคารพอยู่ห่างจากผู้รับการเคารพไปทางซ้ายมือของผู้รับการเคารพ    20 ก้าว

ธงที่ 2 ธงเริ่มทำความเคารพอยู่ห่างจากผู้รับการเคารพไปทางซ้ายมือของผู้รับการเคารพ 10 ก้าว

ธงที่ 3 ธงเลิกทำความเคารพอยู่ถัดจากผู้รับการเคารพไปทางขวามือของผู้รับการเคารพ 10 ก้าว

 

ลูกเสือและผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่จะเข้าร่วมพิธีสวนสนาม

1. ประธานในพิธีแต่งเครื่องแบบลูกเสือตามตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง

กางเกงขาสั้น ซึ่งประธาน สำหรับพิธีใน

   จังหวัดจะได้แก่ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด

หรือรองผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด ประธานในพิธีสำหรับอำเภอ

   ได้แก่ผู้อำนวยการลูกเสืออำเภอหรือรองผู้อำนวยการลูกเสืออำเภอ



2. แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมในพิธีแต่งเครื่องแบบลูกเสือกางเกงขาสั้นตามตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง

3. ผู้กำกับกองลูกเสือและรองผู้กำกับกองลูกเสือแต่งเครื่องแบบลูกเสือกางเกงขาสั้นตามประเภทของลูกเสือที่ตนทำหน้าที่เป็นผู้กำกับกองและรองผู้กำกับกอง ถ้าเป็นลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ลูกเสือวิสามัญ จะต้องมีไม้ถือของลูกเสือตามประเภทของลูกเสือ ส่วนลูกเสือสำรองไม่ต้องมีไม้ถือ

4. ลูกเสือแต่งเครื่องแบบลูกเสือตามประเภทของตน ลูกเสือสามัญ มีไม้พลอง นายหมู่มีธงหมู่ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่และลูกเสือวิสามัญ มีไม้ง่าม นายหมู่มีธงหมู่ ลูกเสือสำรองไม่มีไม้พลองหรือไม้ง่าม

5. ลูกเสือผู้ทำหน้าที่ถือป้ายกองลูกเสือ 1 คน แต่งเครื่องแบบตามประเภทที่ตนสังกัด

6. ลูกเสือผู้ทำหน้าที่ ถือธงประจำกองลูกเสือ 1 คน แต่งเครื่องแบบตามประเภทที่ตนสังกัด

7. ลูกเสือ 1 กองจะประกอบด้วยลูกเสือ 6 - 8 หมู่ หมู่ 1ประกอบด้วยลูกเสือ 7 - 8 คน

8. ผู้กำกับกองลูกเสือ 1 คนและรองผู้กำกับกองลูกเสือ 1 คน ต่อลูกเสือ 1 กอง

9. วงดุริยางค์ที่ร่วมในพิธีแต่งเครื่องแบบลูกเสือตามประเภทที่ตนสังกัด

10. ลูกเสือชาวบ้านแต่งชุดปกติสวมผ้าผูกคอลูกเสือชาวบ้านติดเครื่องหมายคณะลูกเสือแห่งชาติ 

 




การเตรียมแถวและรูปขบวนเพื่อทำพิธีสวนสนาม

1. ลูกเสือที่ทำหน้าที่ถือป้ายชื่อกองลูกเสือยืนอยู่ด้านหน้าสุด

2. ลูกเสือที่ทำหน้าที่ถือธงประจำกองลูกเสือยืนห่างจากผู้ถือป้ายกองลูกเสือ 5 ก้าว

3. ผู้กำกับกองลูกเสือ 1 คน ยืนห่างจากผู้ถือธงประจำกองลูกเสือ 5 ก้าว

4. รองผู้กำกับกองลูกเสือ 1 คน ยืนห่างจากผู้กำกับกองลูกเสือ 5 ก้าว

5. ลูกเสือจัดแถวหน้ากระดานหมู่ปิดระยะ นายหมู่อยู่ทางขวามือ ห่างจากรองผู้กำกับฯ 3 ก้าว

6. ระยะห่างระหว่างหมู่ 1 ก้าว

7. ลูกเสือแต่ละกองจะมีผู้กำกับฯ 1 คน และรองผู้กำกับฯ 1 คน ยืนต่อกันไปด้านหลังจากกองที่ 1

8. กองลูกเสือของแต่ละโรงเรียนจะยืนเรียงกันไป ระยะห่างระหว่างกอง 5 ก้าว

9. แถวกองผสม ซึ่งหมายถึงผู้กำกับฯที่มาร่วมพิธีและไม่ได้ประจำกองลูกเสือ จัดแถวหน้ากระดาน เรียง 8

  โดยมีผู้บังคับขบวนสวนสนามยืนตรงกลางหน้าสุด เมื่อเริ่มเดินสวนสนาม

10. แท่นรับความเคารพและพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    อยู่ตรงหน้าแถวลูกเสือทั้งหมด

 

การเริ่มพิธีสวนสนามและกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ

1. กองลูกเสือตั้งแถวตามที่กำหนดไว้ ยืนอยู่ในท่าตามระเบียบพัก

2. กองผสมตั้งแถวอยู่ที่หัวขบวน

3. ผู้บังคับขบวนสวนสนามยืนประจำที่เตรียมพร้อมที่จะกล่าวรายงานต่อประธานในพิธี

4. แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมพิธีตั้งแถวรอรับประธาน

5. เมื่อถึงเวลาประธานในพิธีมาถึงบริเวณพิธี ผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง

"ลูกเสือทั้งหมดตรง" เคารพประธานในพิธี (ตรงหน้า-,ทางขวา,ทางซ้าย-ระวัง) 

"วันทยาวุธ" ลูกเสือทุกคนทำความเคารพ ผู้ที่มีไม้พลอง ไม้ง่าม ทำวันทยาวุธ

ผู้กำกับลูกเสือทำความเคารพด้วยท่าไม้ถือ แขกผู้มีเกียรติ และผู้ที่ไม่มีไม้ถือ

ให้ทำวันทยาหัตถ์ ลูกเสือสำรองยืนในท่าตรงไม่ต้องทำ วันทยาหัตถ์

วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ผู้ที่ถือธงทำความเคารพด้วยท่าธง

ผู้ถือป้าย ยืนตรงไม่ต้องทำวันทยาหัตถ์ประธานในพิธีและผู้ติดตาม

ที่แต่งเครื่องแบบลูกเสือรับความเคารพ ด้วยการทำวันทยาหัตถ์ จนจบเพลงหมาฤกษ์

6. เมื่อวงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์จบ ผู้บังคับขบวนสวนสนาม

วิ่งไปรายงานจำนวนผู้บังคับบัญชา ลูกเสือและจำนวนลูกเสือที่มาร่วมในพิธีและ

เชิญประธานตรวจพลสวนสนามและเดินตามประธานตรวจพล พร้อมผู้ติดตาม

ในขณะนั้นทุกคนทำวันทยาวุธและท่าตรง เมื่อประธานเดินผ่านกองลูกเสือใดให้ผู้ถือธง

ประจำกองลูกเสือทำความเคารพด้วยท่าเคารพธง

จนตรวจครบทุกกองผู้บังคับขบวนสวนสนามส่งประธาน

ประจำที่และกลับประจำที่เดิมสั่ง " เรียบ-อาวุธ " ทุกคนปฏิบัติตาม

7. ตัวแทนลูกเสือกล่าวรายงานกิจการลูกเสือในรอบปี หรือถ้ามีลูกเสือได้รับเครื่องหมายลูกเสือสรรเสริญ

   หรือเหรียญสดุดีลูกเสือหรือได้รับเครื่องหมายวูดแบด ก็อาจจะทำพิธีมอบในเวลานี้

8. ผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง "ลูกเสือสำรองเตรียมกล่าวปฎิญาณ - ตามข้าพเจ้า -แสดงรหัส" ทุกคนแสดง

   รหัสลูกเสือสำรองแสดงรหัสลูกเสือสำรอง ด้วยการทำวันทยาหัตถ์ 2 นิ้ว ลูกเสืออื่น และผู้อยู่ใน

    บริเวณพิธีแสดงรหัสลูกเสือ 3 นิ้ว ไม่ต้องกล่าวตาม ลูกเสือสำรองกล่าวตาม 

" ข้าสัญญาว่า"

ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ข้อ 2 ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรองและบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน

เมื่อกล่าวจบ ผู้บังคับขบวนสนามสั่ง " ลูกเสือสามัญ -ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ๋-ลูกเสือวิสามัญ-ลูกเสือ ชาวบ้าน-กล่าว

คำปฎิญาณตามข้าพเจ้า" ทุกคนยังแสดงหรัสอยู่และกล่าวคำปฎิญาณตาม ส่วนลูก เสือสำรองยืนในท่าตรง

ไม่ต้องกล่าว

" ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า"

ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

เมื่อกล่าวจบ ผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง " เอามือลง - ตามระเบียบพัก " ในการแสดงรหัสของลูกเสือที่ถือไม้พลองหรือไม้ง่าม ให้เอาไม้ง่ามหรือไม้พลองพิงไว้ที่ไหล่ซ้ายโคนไม้ อยู่ระหว่างปลายเท้าทั้ง 2 แขนซ้ายงอตั้งฉาก มือขวาแสดงรหัส ผู้ที่ถือธงก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ที่ถือไม้ง่าม หรือไม้พลอง ผู้ที่ถือป้านให้ถือป้ายด้วยมือซ้ายมือขวาแสดงรหัส

ผู้กำกับที่มีไม้ถือก็แสดงรหัสด้วยมือขวา มือซ้ายถือไม้ถือ ลูกเสือหรือผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ไม่มีไม้ถือ ก็ให้ยืนตรงแสดงรหัสด้วยมือขวา

9. เมื่อกล่าวคำปฏิญาณจบประธานให้โอวาท เมื่อจบแล้ว ผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง "ลูกเสือทั้งหมดตรง" "

เตรียมสวนสนาม" หากมีแตรเดี่ยว แตรเดี่ยวก็จะวิ่งมาตรงหน้าประธานและเป่าแตรเตรียมสวนสนาม เมื่อแตรเป่าจบผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง "ขวาหัน" ดุริยางบรรเลงเพลงเดินสวนสนาม เช่น เพลงสยามมานุสติ ผู้บังคับขบวนสวนสนามวิ่งไปยืนหน้ากองผสม สั่ง "กองผสม-หน้าเดิน" เมื่อเดินผ่านประธานแล้วให้วิ่งไปยืนทางด้านข้างประธานในท่าวันทยาวุธ ส่วนกองผสมเดินผ่านไปแล้วเข้าประจำที่เดิม

10. สำหรับกองลูกเสือแต่ละกองเมื่อพร้อมแล้ว รองผู้กำกับฯของแต่ละกองสั่ง "แบกอาวุธ" "หน้าเดิน

11. เมื่อผู้กำกับกองลูกเสือเดินผ่านธงที่ 1 ให้อยู่ในท่าบ่าอาวุธ ผ่านธงที่ 2 ให้ทำความเคารพ ผ่านธงที่ 3

ให้เลิกทำความเคารพ

12. เมื่อรองผู้กำกับกองลูกเสือผ่านธงที่ 1 ให้สั่ง "ระวัง" และอยู่ในท่าบ่าอาวุธ เมื่อผ่านธงที่ 2 ให้สั่ง

    "แลขวาทำ" ตัวรองผู้กำกับก็ทำความเคารพ เมื่อผ่านธงที่ 3 ก็ให้เลิกทำความเคารพ

13. กองลูกเสือเมื่อรองผู้กำกับสั่ง "แบกอาวุธ"ก็แบกอาวุธและหน้าเดิน เมื่อได้ยินรองผู้กำกับฯ

สั่ง "ระวัง" ทุกคนก็เตรียมตัวทำความเคารพ เมื่อรองผู้กำกับฯสั่ง "แลขวาทำ " ทุกคนสลัดหน้าไปทางขวายกเว้น นายหมู่ให้หน้ามองตรง แขนแกว่งปกติทุกคน ทั้งนี้ให้เริ่มทำเมื่อได้ยินคำสั่งไม่ต้องรอให้ถึงธงที่ 2 และเมื่อเดินถึงธงที่ 3 ให้เลิกทำเองโดยไม่ต้องรอคำสั่ง

14. สำหรับลูกเสือสำรองซึ่งไม่มีไม้พลองหรือไม้ง่าม เมื่อได้ยินคำสั่ง "ระวัง"ก็เดินปกติ เมื่อได้ยินคำ

สั่ง "แลขวา-ทำ" ก็สลัดหน้าไปทางขวายกเว้นนายหมู่หน้ามองตรงไปข้างหน้า แขนทั้ง 2 ข้าง

 แนบลำตัวไม่ต้องทำวันทยาหัตถ์ เมื่อผ่านธงที่ 3 ก็เดินแกว่งแขนปกติไม่ต้องรอคำสั่ง

15. เมื่อลูกเสือทุกกองเดินผ่านประธานครบแล้วก็เดินกลับประจำที่เดิมรอส่งประธาน

16. ผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง "ลูกเสือทั้งหมด-ตรง" "เคารพประธาน-ตรงหน้าระวัง "

"วันทยาวุธ" ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทุกคนทำความเคารพเหมือนเมื่อตอนที่ประธานมา

17. เมื่อวงดุริยางค์บรรเลงจบ ประธานกลับ ผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง

"เรียบ - อาวุธ" "เลิกแถว" เป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้น

อาจจะมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ของลูกเสือแต่ละกอง

 

การทำความเคารพของผู้ถือธงประจำกองลูกเสือ

ขณะอยู่กับที่

           ให้ถือธงด้วยมือขวา โคนคันธงจดพื้นและแนบกับลำตัว แขนซ้ายแนบลำตัวอยู่ในท่าตรง เมื่อได้ยินคำสั่งให้ทำความเคารพ ใช้มือซ้ายจับคันธงเหนือมือขวาและยกคันธงขึ้นมาด้วยมือซ้ายมือขวาจับคันธงเหยียด ตรงแนบลำตัว

ยกคันธงขึ้นมาจนแขนซ้ายเสมอบ่าขวา ข้อศอกซ้ายตั้งได้ฉาก ครั้นแล้วทำกึ่งขวาหัน ลดปลายธงลงข้างหน้าช้าๆ จนคันธงขนานกับพื้น มือซ้ายอยู่เสมอแนวบ่าห่างจากตัวพอสมควร มือขวาจับโคนคันธงแขน เหยียดตรงไปทางด้านหลังตามแนวคันธง แล้วค่อยๆยกคันธงขึ้นช้าๆ จนคันธงตั้งตรง ทำกึ่งซ้ายหัน ใช้มือซ้ายจับคันธงลดลงมา จนมือซ้ายชิดมือขวา โค่นคันธงจดพื้น สลัดมือซ้ายกลับอยู่ในท่าตรง ท่าตามระเบียบพักก็ยืนเหมือนกับที่ตรง เพียงหย่อนเข่าซ้ายหรือขวาเล็กน้อย


ขณะเดิน

         เมื่อได้ยินคำสั่งให้สวนสนามและแบกอาวุธให้ใช้มือซ้ายจับคันธงเหนือมือขวาแล้วชิดมือขวายกคันธงขึ้นมา ด้วยมือซ้ายมือขวาจับคันธงเหยียดตรงแนบลำตัว ยกคันธงขึ้นมาจนแขนซ้ายเสมอบ่าขวาข้อศอกซ้ายตั้ง ได้ฉากปล่อยมือซ้ายกลับลงที่เดิม งอข้อศอกขวา 90 องศา คันธงอยู่บนบ่าขวา อยู่ในท่าแบกอาวุธ เมื่อเดิน ถึงธงที่ 1 (ธงระวัง) ให้ลด

ธงลง จากบ่ามาแนบลำตัว มือซ้ายจับคันธงข้อศอกงอตั้งฉากขนานกับพื้นแขนขวาเหยียดตรงข้างลำตัว ปลายธงชี้ ตรง เมื่อถึงธงที่ 2 (ธงทำความเคารพ) ให้เหยียดแขนซ้ายตรงไปข้างหน้ากำคันธงไว้ ให้คันธงเอนออกไปข้างหน้า ประมาณ 45 องศา แขนขวาเหยียดตรงแนบข้างลำตัว ตาแลตรงไปข้างหน้า เมื่อถึงธงที่ 3 (ธงเลิกทำความเคารพ) ให้ดึงธงขึ้นมาอยู่ในท่าตรงสลัดแขนซ้ายกลับที่เดิมงอข้อศอกขวาคันธงอยู่บนบ่าขวาอยู่ในท่าแบกอาวุธเดินไปตามปกติ โอกาสที่จะทำความเคารพจะทำเมื่อ มีการบรรเลงเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาฤกษ์เพลงมหาชัย เพลงสรรเสริญเสือป่า เมื่อธงคณะลูกเสือแห่งชาติ ธงลูกเสือจังหวัดที่เชิญผ่านไป องค์พระ ประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ประธานในพิธีการลูกเสือที่แต่งเครื่องแบบ

 

การทำความเคารพของผู้ถือป้ายประจำกองลูกเสือ

ขณะอยู่กับที่

ให้ถือป้ายโดยใช้มือขวากำคันป้ายชิดกับแผ่นป้ายมือซ้ายกำต่อจากมือขวา โคนป้ายอยู่ระหว่างปลายเท้าทั้งสอง เมื่อได้ยินคำสั่งให้ทำความเคารพก็ยืนในท่าตรงปกติมืออยู่ที่เดิม เมื่อได้ยินคำสั่งให้แบกอาวุธ ให้ ปล่อยมือขวาลงมือซ้ายยกป้ายไปไว้ที่รองไหล่ขวา มือขวาจับที่โคนคันป้าย แขนซ้ายงอขนานกับพื้น แขนขวา เหยีดตรง แผ่นป้ายอยู่เหนือศีรษะเล็กน้อย


ขณะเดิน


        เดินถือป้ายในท่าแบกอาวุธ หน้ามองตรง เมื่อเดินก่อนถึงธงที่ 1 ประมาณ 20 ก้าวให้บิดป้ายไปทางขวา

และเดินไปเรื่อยๆจนผ่านธงที่ 3 ให้บิดป้ายกลับ

 

การใช้ไม้ถือของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

ขณะทำความเคารพอยู่กับที่


      ผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับกองลูกเสือสามัญ,สามัญรุ่นใหญ่, วิสามัญ

และผู้ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับขบวนสวนสนามเมื่อร่วมพิธีสวนสนามและทบทวนคำปฏิญญาณจะต้องมีไม้ถือ

มีข้อปฏิบัติ คือ


1. ท่าถือปกติ ใช้มือซ้ายถือไม้ถือ โดยเอาหนีบไว้ใต้ซอกรักแร้ แขนซ้ายท่อนบนขนานกับลำตัวและ หนีบไม้ไว้แขนซ้ายท่อนล่างเหยียดตรงไปข้างหน้า มือซ้ายกำโคนไม้ถือ ห่างปลายโคนไม้ถือประมาณ 1 ฝ่ามือหงายฝ่ามือขึ้นให้ไม้ถือขนานกับพื้น


2. ท่าบ่าอาวุธ เอามือขวาจับที่โคนไม้ถือ โดยคว่ำฝ่ามือลง แล้วดึงไม้ถือออกจากซอกรักแร้ ชี้ไม้ถือให้เฉียงประมาณ 45 องศา ปลายชี้ขึ้นฟ้า แขนขวาเหยียดตรง ปล่อยแขนซ้ายลงข้างลำตัว หลังจากนั้นดึงไม้ถือเข้าหาปากห่างจากปากประมาณ 1 ฝ่ามือ แขนขวางอตั้งฉากขนานกับพื้น ไม้ถือชี้ขึ้นตั้งตรงมือขวากำโคนไม้ถือ นิ้วทั้ง 4 เรียงกันด้านนอก นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านใน จากนั้นจับไม้ถือเข้าหาร่องไหล่ขวา แขนขวาเหยียดตรงแนบลำตัว โคนไม้ถืออยู่ระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือ ปลายไม้ชี้ขึ้นตรงอยู่ในร่องไหล่ขวา



3. ท่าวันทยาวุธ จะต้องทำต่อจากท่าบ่าอาวุธ ซึ่งในขณะนั้นไม้ถืออยู่ที่ร่องไหล่ขวา ให้ยกไม้ถือขึ้น เสมอปากห่างจากปากประมาณ 1 ฝ่ามือ แขนขวางอขนานกับพื้น จากนั้นให้ฟาดไม้ลงให้ปลายไม้ชี้ที่พื้นดิน เฉียงประมาณ 45 องศา ปลายไม้ห่างจากพื้นดินประมาณ 1 คืบ แขนขวาแนบลำตัว แขนซ้ายแนบลำตัว เหมือนอยู่ในท่าตรง หน้ามองตรง

4. ท่าเรียบอาวุธ ทำต่อจากท่าวันทยาวุธ ยกไม้ถือขึ้นเสมอปากแล้วดึงไม้ถือเข้าหาร่องไหล่ขวา เหมือนท่าบ่าอาวุธ (เป็นจังหวะที่ 1 ซึ่งเมื่อสั่ง "เรียบ-อาวุธ" จะทิ้งจังหวะให้ทำในจังหวะที่ 1 ก่น คือสั่งว่า "เรียบ" แล้วทิ้งช่วงไว้จนทำเสร็จจังหวะที่ 1 แล้วสั่งว่า "อาวุธ" จึงเริ่มทำจังหวะที่ 2) จากนั้นกำโคนไม้ถือ เหยียดแขนขวาขึ้นเฉียงขึ้น 45 องศา ปลายไม้ถือชี้ขึ้นฟ้า หักข้อมือขวาลงให้ปลายไม้ถือชี้เข้าหาซอกรักแร้ ซ้ายงอแขนซ้ายขึ้นรองรับไม้ถือ จับไม้ถือด้วยมือซ้ายเหมือนท่าถือปกติ

 

การทำความเคารพด้วยไม้ถือจะทำเมื่อได้ยินคำสั่ง ดังนี้


ครั้งที่ 1 สั่งเมื่อประธานในพิธีมาถึงและวงดุริยางค์บรรเลงเพลง มหาฤกษ์ จนจบเพลง

"เคารพประธานในพิธี-ตรงหน้าระวัง" ก็ดึงไม้ถือจากท่าถือปกติมาเป็นท่าบ่าอาวุธ

"วันทยาวุธ" จับไม้ถือจากท่าบ่าอาวุธเป็นท่าวันทยาวุธ "เรียบ"

จากท่าวันทยาวุธมาเป็นท่าบ่าอาวุธ "อาวุธ" จากท่าบ่าอาวุธกลับมาเป็นท่าถือปกติ

ครั้งที่ 2 เมื่อจะเริ่มสวนสนาม ดุริยางค์บรรเลงเพลงเดิน เช่น เพลงสยามมานุสติ

"แบกอาวุธ" ทำจากท่าถือปกติมาเป็นท่าบ่าอาวุธ

ครั้งที่ 3 สั่งเมื่อส่งประธานในพิธีกลับ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์

"เคารพประธานในพิธี-ตรงหน้าระวัง"

ก็ดึงไม้ถือจากท่าถือปกติมาเป็นท่าบ่าอาวุธ

"วันทยาวุธ" จับไม้ถือจากท่าบ่าอาวุธเป็นท่าวันทยาวุธ "เรียบ"

จากท่าวันทยาวุธมาเป็นท่าบ่าอาวุธ "อาวุธ" จากท่าบ่าอาวุธกลับมาเป็นท่าถือปกติ

 

ขณะเดินสวนสนาม

1. เมื่อเริ่มเดินจะถือไม้ถืออยู่ในท่าบ่าอาวุธ แขนซ้ายแกว่งปกติ แขนขวาแกว่งเล็กน้อย

2. เมื่อเดินถึงธงที่ 1 ยกไม้ถือจากท่าบ่าอาวุธมาเสมอปาก ปลายไม้ชี้ขึ้นฟ้าแขนขวางอขนานกับพื้น แขนซ้ายแกว่งปกติ ผู้กำกับฯทำเองเมื่อเดินถึงธงที่ 1 รองผู้กำกับฯ เมื่อถึงธงที่ 1 ให้ทำพร้อมกับออกคำสั่งว่า "ระวัง"

3. เมื่อเดินถึงธงที่ 2 ก็ฟาดไม้ลงเหมือนท่าวันทยาวุธ แขนซ้ายไม่แกว่ง สลัดหน้าไปทางขวาผู้กำกับฯทำเมื่อถึงธงที่ 2 รองผู้กำกับฯทำพร้อมออกคำสั่งว่า "แลขวา-ทำ" เมื่อเดินถึงธงที่ 2

4. เมื่อเดินถึงธงที่ 3 ก็ดึงไม้กลับจากท่าวันทยาวุธกลับมาเป็นท่าบ่าอาวุธ ผู้กำกับฯและรองผู้กำกับฯทำเมื่อเดินผ่านธงที่ 3 โดยไม่ต้องออกคำสั่ง การทำความเคารพด้วยไม้ถือขณะเดินให้ทำไปพร้อมกับเดินโดยทำและออกคำสั่งเมื่อจังหวะตบเท้าซ้าย


กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

            ๑. ทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านผู้ให้กำเนิดลูกเสือแห่งประเทศไทย

            ๒. จัดนิทรรศการ เผยแผ่ ประวัติความเป็นมาของลูกเสือและผลงานต่างๆ

            ๓. ร่วมกิจกรรมต่างๆในวันลูกเสือ เช่น การนำพวงมาลาไปถวายบังคมที่พระบรมรูปฯ สถาน

พระบรมราชานุสรณ์ หรือที่ที่ทางราชการกำหนด

            ๔. เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ

            ๕. เดินสวนสนามทบทวนกฎ คำปฏิญญาลูกเสือ เนตรนารี


แนวปฏิบัติวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ 1 กรกฎาคม

ระดับเขตพื้นที่การศึกษา

-----------------------

- กองลูกเสือ เนตรนารี จากสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาตั้งแถวในสนาม

- ประธาน (ผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา) มาถึง และขึ้นยืนบนแท่นเคารพ

ผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง “ลูกเสือ – ตรง”

“ทำความเคารพผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา”

“ตรงหน้า, ระวัง วันทยา - วุธ” วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ จบเพลงมหาฤกษ์

ผู้บังคับขบวนสวน สนามสั่ง “เรียบ – อาวุธ” (ทุกคนยังคงยืนอยู่ในท่าตรง)

- ประธานเดินไปหน้าโต๊ะหมู่ที่ตั้งพระบรมฉายาลักษณ์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ ถวายความเคารพ

(วันทยหัตถ์) ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “ลูกเสือ ,ถวายความเคารพแด่พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ”

“ตรงหน้า , ระวัง” ประธานเปิดกรวยดอกไม้ถวายราชสักการะ เสร็จแล้ว ถอยหลัง 1 ก้าว ถวายความเคารพ

(วันทยหัตถ์) ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “วันทยา – วุธ” วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงสรรเสริญ

พระบารมี จบเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง

“เรียบ – อาวุธ” “ ตามระเบียบ , พัก”

- ประธานขึ้นยืนบนแท่นเคารพ รองผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษากล่าวรายงานกิจการลูกเสือในรอบปี

- ประธานมอบโล่แก่ผู้มีอุปการคุณ หรือเกียรติบัตรแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น หรือเข็มลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์แก่ลูกเสือ

- ผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา นำลูกเสือทบทวนคำปฏิญาณ

“ลูกเสือเตรียมกล่าวคำปฏิญาณ , ตรง”

“ลูกเสือสำรอง กล่าวคำปฏิญาณตามข้าพเจ้า” (ทุกคนแสดงรหัส ลูกเสือสำรองทำวันทยหัตถ์

ขณะทบทวนคำปฏิญาณให้ประธานหันหน้าไปยังโต๊ะหมู่ที่ตั้งพระบรมฉายาลักษณ์และแสดงรหัส)

“ข้าสัญญาว่า /

ข้อ 1 / ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ / ศาสนา / พระมหากษัตริย์ /

ข้อ 2 / ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรอง / และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

ทุกวัน” / (ทุกคนลดมือลง อยู่ในท่าตรง)

“ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ลูกเสือวิสามัญ (ถ้ามี) และเนตรนารี

(ถ้ามี) กล่าวคำปฏิญาณตามข้าพเจ้า” (ทุกคนแสดงรหัส ลูกเสือสำรอง ทำวันทยหัตถ์)

“ด้วยเกียรติของข้า / ข้าสัญญาว่า /

ข้อ 1 / ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ / ศาสนา / พระมหากษัตริย์ /

ข้อ 2 / ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ /

ข้อ 3 / ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ” /

(ทุกคนลดมือลง อยู่ในท่าตรง)

- ประธานให้โอวาท จบคำให้โอวาท ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง

“ตรงหน้า, ระวัง วันทยา – วุธ”

วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ จบเพลงมหาฤกษ์ ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “เรียบ – อาวุธ”

(ทุกคนในสนามยังคงยืนอยู่ในท่าตรง)

- แตรเดี่ยวเป่าให้สัญญาณเตรียมสวนสนาม 2 ครั้ง ผู้บังคับขบวนสวนสนาม

สั่ง “ลูกเสือเตรียมสวนสนาม” “แบก – อาวุธ”

- แตรเดี่ยวเป่าให้สัญญาณหน้าเดิน 2 ครั้ง ผู้บังคับขบวนสวนสนาม

สั่ง “เลี้ยวขวา, หน้า – เดิน”

- ขบวนลูกเสือ – เนตรนารี เดินสวนสนาม เมื่อถึงธงที่ 1 สีเหลือง (ธงเตรียมทำความเคารพ)

รองผู้กำกับลูกเสือ สั่ง “ระวัง” (การสั่งให้ตกเท้าขวา) ก่อนถึงธงที่ 2 สีแดง (ธงทำความเคารพ) 2 ก้าว

รองผู้กำกับลูกเสือ สั่ง “แลขวา – ทำ” (การสั่งให้ตกเท้าขวาเสมอ)

เมื่อตับใดผ่านธงที่ 3 สีเขียว

(ธงเลิกทำความเคารพ) ให้เลิกทำความเคารพ

- ขบวนลูกเสือ-เนตรนารี เดินกลับเข้าสู่ที่ตั้งในสนาม และอยู่ในท่าพักตามระเบียบ

1.    ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่งลูกเสือทำความเคารพประธานในพิธี

“ตรงหน้า, ระวัง วันทยา – วุธ”

วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์

- จบเพลงมหาฤกษ์ ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “เรียบ – อาวุธ”

- ประธานเดินทางกลับ

- ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “แยก”

----------------------------

การทำความเคารพของผู้ถือป้าย

๑. เวลาอยู่กับที่ถือป้ายทั้งสองมือ คือมือขวากำคันป้ายชิดแผ่นป้าย มือซ้ายกำต่อลงมาชิดมือขวาโคนคันป้ายจรดพื้นตรงหน้ากึ่งกลางระหว่างปลายเท้าทั้งสอง เวลาทำความเคารพขณะอยู่กับที่ผู้ถือป้ายทำท่าตรงเท่านั้น

๒. เวลาเคลื่อนที่ ให้ถือป้าย โดยมือขวาจับคันป้าย ในลักษณะคว่ำมือ โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางจับที่สำหรับจับ (ถ้ามี) ถ้าไม่มีที่สำหรับจับ ก็ให้โคนคันป้ายวางอยู่บนอุ้งมือขวา โดยหันฝ่ามือเข้าหาตัว แขนขวาเหยียดตรงแนบลำตัว มือซ้ายจับคันป้ายในแนวเสมอไหล่ขวา และตั้งได้ฉากกับลำตัว หันหน้าป้ายไปข้างหน้า

๓. การทำความเคารพในขณะเดินสวนสนาม ให้ถือป้ายตามปกติ ตามองตรงไปข้างหน้าขนานกับพื้น (ไม่ต้องสะบัดหน้าไปยังประธานในพิธี) แต่ให้หันหน้าป้ายเข้าหาประธานในพิธีก่อนที่จะถึงธงที่ ๑ ประมาณ ๒๐ ก้าวและหันป้ายกลับที่เดิม เมื่อผ่านพ้นธงที่ ๓ แล้ว

การทำความเคารพของผู้ถือธงประจำกองลูกเสือ

๑. เวลาอยู่กับที่ให้ผู้ถือธงอยู่อยู่ในท่าตรงและหย่อนเข่าขวา ถือธงด้วยมือขวา โคนคันธงจรดกับพื้นประมาณโคนนิ้วก้อยเท้าขวา คันธงแนบกับลำตัวอยู่ร่องไหล่ขวา เวลาทำความเคารพ ให้ผู้ถือธงทำความเคารพด้วยท่าธงติดต่อกันไป โดยอาศัยคำสั่งว่า “ตรงหน้า,ระวัง” ดังนี้

๑.๑ ให้ผู้ถือธงใช้มือซ้ายไปจับคันธงชิดมือขวาและเหนือมือขวา แล้วใช้มือซ้ายยกคันธงขึ้นมาใน

แนวตรงเสมอไหล่ขวา ข้อศอกซ้ายตั้งเป็นมุมฉากกับลำตัว มือขวายังคงเหยียดตรง และจับคันธงไว้ แล้วทำกึ่งขวาหัน

เมื่อได้ยินคำว่า “วันทยา – วุธ” (วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์)

๑.๒ ค่อยๆลดปลายคันธงลงไปทางไหล่ซ้ายอย่างช้าๆ ตามจังหวะของเพลง พร้อมกับเลื่อนมือซ้ายที่กำคันธงอยู่ทางแนวไหล่ขวา มาทางด้านไหล่ซ้าย โดยการลดข้อศอกซ้ายลงแนบลำตัว จนคันธงอยู่ในแนวขนานกับพื้น มือซ้ายอยู่เสมอแนวไหล่ซ้ายห่างจากตัวเล็กน้อย มือขวาจับคันธงยกขึ้นจนแขนขวาเหยียดตรงไปทางขวามือตามคันธง และให้คันธงวางอยู่บนร่องระหว่างนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ของมือขวา (เมื่อเพลงบรรเลงไปได้ครึ่งเพลง)

๑.๓ ครั้นแล้วให้ยกปลายคันธงกลับขึ้นช้าๆให้ได้จังหวะเช่นเดียวกับขาลงโดยใช้มือขวา

กดโคนคันธงลงจนคันธงตั้งตรง และแขนขวาแนบลำตัว ข้อศอกซ้ายตั้งเป็นมุมฉากกับลำตัว เมื่อเพลงบรรเลงจบลง

๑.๔ เมื่อได้ยินคำสั่ง “เรียบ” ให้ทำกึ่งซ้ายหันกลับ และเมื่อได้ยินคำสั่ง “อาวุธ” ให้ลดคันธงลงจรดพื้นข้างนิ้วก้อยเท้าขวา นำมือซ้ายกลับลงข้างลำตัวและยืนอยู่ในท่าตรง

๒. เวลาเคลื่อนที่ ให้แบกธงด้วยบ่าขวา ยกธงขึ้นด้วยมือขวาและใช้มือซ้ายช่วย นำคันธงขึ้นพาดบนบ่าขวา ต้นคันธงเฉลียงลงเบื้องล่าง ข้อศอกขวาทำมุม ๙๐ องศากับลำตัวแล้วลดมือซ้ายกลับมาอยู่ที่เดิม

๓. การทำความเคารพในขณะเดินสวนสนามให้ปฏิบัติ ดังนี้

- เมื่อถึงธงที่ ๑ สีเหลือง (ธงระวัง) ให้ลดธงลงจากท่าแบกมาแนบลำตัว โดยการเหยียด

แขนขวาให้ตึง คันธงตั้งตรง มือขวากำคันธง ยกมือซ้ายมาจับคันธงในแนวไหล่ซ้าย ยก

ข้อศอกซ้ายให้ตั้งได้ฉากกับลำตัว


- เมื่อถึงธงที่ ๒ สีแดง (ธงทำความเคารพ) ให้เหยียดแขนซ้ายตรงออกไปข้างหน้า

มือซ้ายกำคันธงไว้ ให้คันธงเอนไปข้างหน้าประมาณ ๔๕ องสา มือขวาแนบลำตัว ตาแลตรงไปข้างหน้า ขนานกับพื้น

- เมื่อผ่านธงที่ ๓ สีเขียว (ธงเลิกทำความเคารพ) ให้ยกธงขึ้นมาอยู่ในท่าแบกธงตามเดิม และลดมือซ้ายลงแกว่งแขนตามปกติ

๔. การทำความเคารพของลูกเสือในขณะเดินสวนสนาม

ด้านหน้าปะรำพิธี จะมีธงเป็นเครื่องหมายอยู่ ๓ ธง ธงที่ ๑ สีเหลือง คือธงเตรียมเคารพ ธงที่ ๒ สีแดง คือธงเคารพ และ

ธงที่ ๓ สีเขียว คือธงเลิกทำความเคารพ

๑. ก่อนถึงธงที่ ๑ ลูกเสือในแถวเมื่อได้ยินรองผู้กำกับสั่ง “ระวัง” ให้ลูกเสือทุกคนตบเท้าอย่างเข้มแข็ง ก่อนถึงธงที่๒ เมื่อได้ยินรองผู้กำกับสั่ง “แลขวา – ทำ” ให้ลูกเสือทุกคนสะบัดหน้าไปทางขวา ยกเว้นคนที่ขวาสุดของแถวไม่ต้องสะบัดหน้า คงมองตรงไปข้างหน้าขนานกับพื้น ลูกเสือที่มีไม้พลองหรือไม้ง่าม เวลาสะบัดหน้าต้องแกว่งแขนด้วย ส่วนลูกเสือที่ไม่มีไม้พลองหรือไม้ง่าม เวลาสะบัดหน้าแขนทั้ง ๒ ข้างไม่แกว่ง

หมายเหตุ ลูกเสือเมื่อได้ยินคำสั่ง “แลขวา – ทำ” ลูกเสือทุกคนต้องทำ(ยกเว้นคนขวาสุด)ถึงแม้จะยังไม่ถึงธงที่ ๒ ก็ตาม เมื่อถึงธงที่ ๓ ตับใดผ่านก่อนก็ให้สะบัดหน้ากลับโดยพร้อมเพรียงกัน

๒. ผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ไม่มีไม้ถือ เมื่อถึงธงที่ ๒ ให้ทำวันทยหัตถ์พร้อมกับสะบัดหน้าไปทางขวา แขนไม่แกว่ง จนผ่านธงที่ ๓ จึงสะบัดหน้ากลับ และเดินแกว่งแขนตามปกติ

ผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่มีไม้ถือ ให้เดินท่าบ่าอาวุธ เมื่อถึงธงที่ ๑ ให้ยกไม้ถือขึ้นมาเสมอปาก ห่างจากปากประมาณ ๑ ฝ่ามือ แขนซ้ายยังคงแกว่งอยู่ เมื่อถึงธงที่ ๒ ให้ทำท่าวันทยาวุธ พร้อมกับสะบัดหน้าไปยังประธานในพิธี แขนซ้ายไม่แกว่ง เมื่อผ่านธงที่ ๓ ให้สะบัดหน้ากลับ ยกไม้ขึ้นเสมอปาก แล้วลดลงในท่าบ่าอาวุธ และเดินแกว่งแขนตามปกติ

๓. รองผู้กำกับลูกเสือ เมื่อถึงธงที่ ๑ ให้สั่ง “ระวัง”(พร้อมกับยกไม้ถือขึ้นมาเสมอปาก) ให้แถวลูกเสือเดินเข้าระเบียบอย่างดีที่สุด และเมื่อใกล้ถึงธงที่ ๒ (ประมาณ ๒ ก้าว) ให้รองผู้กำกับสั่ง “แลขวา - ทำ” (การสั่งให้ตกเท้าขวาเสมอ) ขณะเดียวกันให้ผู้สั่งทำความเคารพด้วยไม้ถือพร้อมกับคำว่า “ทำ” (ตัวเองทำวันทยาวุธ พร้อมกับสะบัดหน้าไปทางขวา แขนซ้ายไม่แกว่ง) จนผ่านธงที่ ๓ จึงสะบัดหน้ากลับเลิกทำความเคารพ แล้วเดินแกว่งแขนตามปกติ

(ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก

ว่าที่ ร้อยโทณัฏฐ์ ยุวยุทธ

ประธานฝ่ายสวนสนามวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ)

หมายเหตุ แต่งเครื่องแบบลูกเสือชุดฝึก ใช้ผ้าผูกคอตามสังกัด

แหล่งข้อมูลอ้างอิง


http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4491.html

https://hilight.kapook.com/view/38711

http://www.w-nikro.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=513614&Ntype=4





หมายเลขบันทึก: 630558เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2017 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2017 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท